xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ครูบ้านนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วันครูปีนี้เพื่อนคนหนึ่งส่งคลิปหนังเกี่ยวกับครูที่ต่างจังหวัดมาให้ผมได้ดู คลิปนี้ตัดมาจากหนังเรื่องหนึ่ง ความยาวของคลิปมีอยู่ไม่กี่นาที เมื่อดูคลิปนี้แล้วทำให้ผมคิดถึงหนังไทยเรื่องหนึ่งขึ้นมาทันที

หนังเรื่องนั้นคือ  ครูบ้านนอก 

 ครูบ้านนอก ที่ผมกล่าวถึงอยู่นี้เป็นหนังที่ออกฉายเมื่อปี 2521 กำกับการแสดงโดยสุรสีห์ ผาธรรม ซึ่งเป็นคนละฉบับกับที่ผู้กำกับฯ คนเดียวกันนี้นำมาสร้างใหม่แล้วออกฉายเมื่อปี 2553 อันเป็นตอนที่ผมยังไม่ได้ดู 

ก่อนที่ ครูบ้านนอก  ฉบับที่ผมกล่าวถึงอยู่นี้จะออกฉายในปี 2521 คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษากำลังตกอยู่ในความทรงจำอันเลวร้ายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศทางการเมืองในปี 2521 ยังมิได้เปิดกว้างมากนัก

แต่ก็เปิดกว้างกว่าสมัยรัฐบาลเผด็จการพลเรือนธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และมีอายุรัฐบาลหนึ่งปีก็ถูกรัฐประหารโดยทหารกลุ่มเดิมกับที่รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

การรัฐประหารมีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และหลังจากนั้นการเมืองไทยก็มีรัฐบาลทหารโดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนถึงเดือนมีนาคม 2523 รวมอายุรัฐบาลสองปีเศษๆ

แม้รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์จะค่อนข้างเปิดมากกว่ารัฐบาลธานินทร์ก็ตาม แต่โดยรวมแล้วบรรยากาศทางการเมืองก็มิอาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ที่ดีขึ้นบ้างก็คือ นิสิตนักศึกษาเริ่มหายใจหายคอทำกิจกรรมได้บ้าง แม้จะไม่เต็มที่แบบที่เคยเป็นหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็ตาม

โดยที่หากกล่าวเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองแล้ว นิสิตนักศึกษาเวลานั้นต้องใช้วิธีพลิกแพลงต่างๆ นานา จะว่าจะกล่าวอะไรก็ระมัดระวังและเป็นไปโดยอ้อม แต่ก็สามารถสื่อสารกับสังคมโดยรวมได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ กิจกรรมค่ายชนบทได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการกลับมาอย่างคึกคักมีชีวิตชีวา ถึงแม้จะอยู่ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงของรัฐโดยตลอดก็ตาม

อย่างครั้งหนึ่งที่ผมได้ไปออกค่ายดังกล่าวที่จังหวัดทางภาคอีสานนั้น คืนแรกที่ไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาบรรยายให้พวกเราฟังถึงภัยของคอมมิวนิสต์ พวกเราซึ่งมีทั้งที่เป็นและไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ต่างก็นั่งฟังด้วยความตั้งใจ ส่วนตัวผมแล้วยอมรับว่า วิทยากรบรรยายได้น่าฟัง และมีความรู้เรื่องยุทธวิธีของขบวนการคอมมิวนิสต์ดีจริงๆ

จากบรรยากาศทางการเมืองดังกล่าว ทำให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาโหยหากำลังใจจากผลงานศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก เพราะบรรยากาศเช่นนั้นยากที่จะมีสื่อ “ก้าวหน้า” ใดกล้าที่จะเสนอตัวออกมาให้ได้เห็น

จนวันหนึ่งผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับหนังชิ้นหนึ่งใน  สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์  บทความชิ้นนี้เล่าว่า มีผู้สร้างหนังคณะหนึ่งกำลังสร้างหนังเรื่อง  ครูบ้านนอก ด้วยความพิถีพิถันเอาใจใส่อย่างไรบ้าง พร้อมกับบอกด้วยว่า หนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครูที่มีอุดมการณ์คนหนึ่งที่อุทิศตัวไปสอนยังถิ่นทุรกันดาร

เมื่ออ่านจบผมก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะด้วยความที่เป็นคนชอบดูหนังและทำกิจกรรมเช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น หนังเรื่องนี้จึงน่าที่จะสร้างกำลังใจที่พวกเรากำลังโหยหาได้ไม่น้อย ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนนักศึกษาของผม (ที่ไม่ชอบดูหนังเหมือนผม) ฟัง ทุกคนต่างก็ให้ความสนใจเช่นกัน

จนเวลาผ่านนานนับปีเห็นจะได้ ในที่สุด ครูบ้านนอก  ก็ออกฉายในเดือนมิถุนายน 2521

 ครูบ้านนอก ประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้ที่ได้สูงถึงเก้าล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับยุคที่ข้าวราดแกงจานละสองบาท ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้มีปัจจัยหลายประการที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

ในประการแรก  ครูบ้านนอก เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาและเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนให้ต้องมาคิดมาตีความ โดยเฉพาะภาษาของหนังนั้นเป็นภาษาที่ชาวบ้านธรรมดาๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ประการที่สอง ครูบ้านนอก  ให้ภาพชนบทในภาคอีสานของไทยได้อย่างชัดเจน ไม่มีการปรุงแต่งภาพให้คนดูรู้สึกว่าอีสานบ้านเราย่ำแย่จนน่าสงสาร ภาพที่ออกมาจึงดูบริสุทธิ์ และทำให้คนดูรู้สึกได้เองแบบไม่ต้องยัดเยียด ภาพชนบทที่ยากจน เด็กนักเรียนที่แต่งกายซอมซ่อ หรือสภาพของโรงเรียนและห้องเรียนที่ดูโทรมๆ ฯลฯ ล้วนถูกเสนอให้เห็นอย่างเป็นธรรมชาติ

ประการที่สาม ครูบ้านนอก  ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ดำรงอยู่จริงในระบบการศึกษาไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยรู้มาโดยตลอด เพียงแต่ไม่เคยเห็นภาพจริงว่าเป็นอย่างไร ครั้นได้มาเห็นในหนัง ทั้งความจริงและบรรยากาศของหนังจึงส่งผลสะเทือนทางอารมณ์ของคนดูได้สูง

ประการที่สี่  ครูบ้านนอก ใช้เพลง แม่พิมพ์ของชาติ  ที่แต่งคำร้องและทำนองโดยครูสุเทพ โชคสกุล (พ.ศ.2470-2530) และขับร้องโดยคุณวงจันทร์ ไพโรจน์ (พ.ศ.2478-) เป็นเพลงปิดของหนังเมื่อหนังจบลง เวลานั้นเพลง แม่พิมพ์ของชาติ  เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยมานานแล้ว ด้วยเป็นเพลงที่แต่งขึ้นตั้งแต่ปี 2488

การที่  ครูบ้านนอก นำเพลงนี้มาปิดหนังท้ายเรื่องจึงอยู่เหนือความคาดหมายของเหล่านิสิตนักศึกษา ซึ่งในเวลานั้นมีเพลงเพื่อชีวิตเป็นเพลงประจำใจ เพลงปลุกปลอบขวัญ และเพลงให้กำลังใจ เพลงอื่นๆ ถึงแม้จะสะท้อนปัญหาสังคมไม่ต่างกับเพลงเพื่อชีวิต แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมของนิสิตนักศึกษา

การปิดท้ายหนังด้วยเพลง  แม่พิมพ์ของชาติ จึงไม่เพียงจะสร้างความประทับใจให้กับนิสิตนักศึกษาที่ได้ดูหนังเรื่องนี้เท่านั้น หากยังเข้าถึงคนดูทั่วไปได้ดีกว่าการใช้เพลงเพื่อชีวิตเสียอีก เพลงนี้จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ห่างหายไปหลายปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักสำหรับวงการเพลง

จากปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้  ครูบ้านนอก ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ และเป็นหนังที่ให้กำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้มีอุดมการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยที่หากนับจากปี 2521 ที่ ครูบ้านนอก  เริ่มออกฉายจนถึงปี 2565 นี้แล้วหนังเรื่องนี้ก็มีอายุมากกว่า 40 ปี

หลังจาก  ครูบ้านนอก  แล้ว เรามีหนังที่ให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจน้อยมาก ส่วนกิจกรรมพัฒนาชนบทของนิสิตนักศึกษาในทุกวันนี้ก็น้อยลง ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน การอุทิศตัวเยี่ยงผู้มีอุดมการณ์ก็น้อยลง ซึ่งทำให้เห็นว่าความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นนี้ต่างกับคนรุ่นอดีตอย่างมาก ซ้ำหลายคนยังมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีจนอ้วนพีอีกด้วย

แต่กระนั้น ก็ยังมีครูที่อุทิศตนในถิ่นทุรกันดารเยี่ยงตัวละครในหนัง  ครูบ้านนอก  ให้เห็นแม้ในทุกวันนี้ บุคคลเหล่านี้ต่างหากที่มีอุดมการณ์ที่แท้จริง และควรแก่การคารวะอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น