xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (53): พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ บรรณานุกรมในพระราชนิพนธ์เรื่อง The War of the Polish Succession

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


การประเมินว่า หนังสือเล่มใดที่ได้รับการตีพิมพ์และวางขายอยู่ต่อหน้ามีคุณภาพมากน้อยนั้น นอกจากจะดูที่สำนักพิมพ์แล้ว ก็อาจดูที่คำนำของผู้เขียน เพราะผู้เขียนมักจะกล่าวโดยสังเขปถึงความเป็นมาของการเขียนหนังสือ และอาจจะกล่าวขอบคุณบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการตรวจสอบ ทบทวนฉบับร่างให้สมบูรณ์ก่อนที่จะไปถึงขั้นตีพิมพ์และจำหน่ายสู่สาธารณะ จะสังเกตได้ว่า หนังสือวิชาการภาษาอังกฤษในปัจจุบัน (ที่พูดยกตัวอย่างหนังสือภาษาอังกฤษ เพราะผมไม่รู้ภาษาตะวันตกอื่นๆ ครับ) ในคำนำ (Preface, Introduction หรือ “กิตติกรรมประกาศ” (กิตติกรรมประกาศหรือในภาษาอังกฤษคือ Acknowledgment หมายถึง ข้อความที่กล่าวถึงผลงาน และกล่าวขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือที่ให้ความช่วยเหลือ มักเขียนไว้ตอนต้นของวิทยานิพนธ์ หรือหนังสือ) ผู้เขียนก็จะกล่าวขอบคุณบุคคลที่มีส่วนทำให้เขาเขียนหนังสือจนสำเร็จและอยู่ในเงื่อนไขที่ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ และบุคคลที่ผู้เขียนอ้างถึง ก็มักจะเป็นปรมาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในศาสตร์นั้นๆ (ถ้าอ้างได้ !) ที่มักจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรือเป็นผู้อ่านและตรวจสอบร่างที่ผู้เขียนๆขึ้นและส่งไปให้ปรมาจารย์ท่านนั้นได้ช่วยกรุณาอ่าน

 คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวขอบคุณไว้ในคำนำของหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง The War of the Polish Succession หรือ “สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์” บุคคลผู้นั้นคือ อาเธอร์ แฮสซอล (Arthur Hassall) ผู้เป็นพระอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพระองค์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และทั้งพระอาจารย์และพระองค์ก็สังกัดคณะเดียวกันด้วย นั่นคือ คณะไคร้สต์ เชิร์ช (Christ Church) 

โถสมัยกรีกโบราณ ที่มีการวาดภาพคนอ่าน scroll

ลักษณะของการอ่าน scroll
หากท่านผู้อ่านอยากทราบสรรพคุณของพระอาจารย์ และยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้วที่ ก็ขอให้ย้อนกลับไปอ่านตอนก่อนหน้านี้ได้ครับ

นอกจากการขอบคุณปรมาจารย์ผู้มีส่วนทำให้การเขียนเสร็จสมบูรณ์ด้วยดีมีคุณภาพจนสำนักพิมพ์รับตีพิมพ์และจำหน่าย การดูหนังสืออ้างอิงหรือหนังสือที่ผู้เขียนใช้ประกอบการเขียนหนังสือของตน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราพอจะคาดเดาล่วงหน้าได้บ้างว่า หนังสือเล่มนั้นดีมีคุณภาพหรือไม่ ?

หลายคนที่กำลังจะซื้อหนังสือวิชาการสักเล่ม นอกจากเขาจะอ่านกิตติกรรมประกาศแล้ว เขาอาจจะพลิกไปดูบรรณานุกรม (บรรณานุกรมที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Bibliography คือ บัญชีรายชื่อหนังสือที่ใช้ประกอบการค้นคว้า, บัญชีรายชื่อ หนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยุคใดยุคหนึ่ง หรือของผู้เขียนคนใดคนหนึ่ง มีรายละเอียดของการจัดพิมพ์และจัดเรียงตามลำดับตัวอักษร) เพราะหากบัญชีรายชื่อหนังสือปรากฎชื่อหนังสือหรือผู้แต่งที่มีชื่อเสียง คนที่คิดจะซื้อก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น

เพราะถ้าจะให้ยืนอ่านทั้งเล่มที่ร้านขายหนังสือ มันก็จะเสียเวลาไม่ใช่น้อย อาจเป็นวันหรือหลายวัน แม้ว่าร้านหนังสือส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะในบ้านเราหรือในต่างประเทศก็ไม่ได้ห้ามลูกค้ามายืนอ่านหนังสือนานๆ แต่โดยรวมๆแล้ว ไม่มีลูกค้าคนไหนจะมาเสียเวลามากมายขนาดนั้น (นอกจากคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่ก็ตระหนี่ถี่เหนียวมาก) สิ่งที่เขาจะเสียเวลาทำได้ ก็แค่ดูคำนำหรือกิตติกรรมประกาศ หรือดูบรรณานุกรม

Scroll ของจีน ซึ่งจีนเขียนว่า ?? (อ่านว่า G?nd?n )

 ฉากการต่อสู้ในห้องสมุด (Scroll) ในภาพยนตร์เรื่อง Hero (วีรบุรุษที่แท้จริง)
ผมจำได้ว่า ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว มีลูกศิษย์บางคนสงสัยว่า คำว่า บรรณานกุรมที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า bibliography นั้น ตัวเขามักจะจำสับกับคำว่า biography เสมอ เขาเลยถามว่า ตกลงแล้ว มันมีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าระหว่าง bibliography กับ biography ? เพราะหน้าตามันก็คล้ายๆกันอยู่ บอกเป็นพี่เป็นน้องกัน ก็น่าเชื่อไม่น้อย !

หน้าตามันคล้ายก็จริงอยู่ นั่นคือ bibli กับ bio แต่ถ้าใจเย็นๆ ดูดี มันต่างกัน อันหนึ่งมัน bibli อีกอันหนึ่งมัน bio
bibli มาจากคำกรีกโบราณ biblia หรือ ta biblia ที่แปลตรงตัวว่า หนังสือ แต่ในสมัยกรีกโบราณ ยังไม่มีหนังสือที่มีหน้าตาเหมือนอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ แต่หนังสือในสมัยนั้นมันจะอยู่ในลักษณะของกระดาษม้วนๆหรือม้วนกระดาษที่อยู่ในสภาพที่เป็นหลอดๆ ซึ่งจะมีคำเรียกหนังสือที่เป็นกระดาษม้วนนี้โดยเฉพาะว่า scroll ซึ่งไม่เฉพาะสมัยกรีกโบราณจะใช้หนังสือที่เป็นกระดาษม้วนนี้ ในสังคมจีนโบราณก็มี

 เมื่อพิจารณาตัวหนังสือของคำว่า bibli หรือ biblia จะเห็นว่า มันคล้ายกับคำว่า bible มากกว่าจะคล้ายกับคำว่า bio และจริงๆ แล้ว ที่มาของคำว่า คัมภีร์ไบเบิล ก็คือคำว่า bibli หรือ biblia ที่แปลว่ากระดาษม้วน และคัมภีร์ไบเบิลก็คือ กระดาษม้วนๆ หนึ่งนั่นเอง 

และเมื่อนำคำว่า bibli หรือ biblia มาเชื่อมกับคำว่า graph ซึ่งเป็นภาษากรีกโบราณเช่นกัน เป็นคำที่แปลว่า การเขียน ดังนั้น bibliography จึงหมายถึง การเขียนหนังสือ เช่น เขียนอย่างไร ได้ข้อมูลมาอย่างไร เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราอ่านบรรณานุกรมที่ผู้เขียนใส่ไว้ท้ายบทหรือท้ายเล่ม เราก็จะเห็นภาพรวมของข้อมูลที่ผู้เขียนใช้เขียนหนังสือของเขานั่นเอง
ส่วน biography ก็คือ การเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิต เพราะ bio แปลว่า ชีวิต เช่น การเขียนชีวประวัติของคนๆ หนึ่ง ก็คือ การเขียน biograph ของคนๆนั้ น และถ้าตัวเองเขียนเล่าชีวิตตัวเอง ก็จะเป็น auto-biography หรืออัตชีวประวัติ

แม้ว่า bibliography กับ biography ไม่ได้มีนัยความหมายตามลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวข้องกัน แต่อย่างไรก็ตาม  “ชีวประวัติทางวิชาการ”  ของนักเขียนก็ปรากฏให้เห็นใน  “บรรณานุกรมที่เขาใช้”  ด้วยเช่นกัน

ทีนี้เรามาดูรายชื่อหนังสือหลักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาใส่ไว้ให้ผู้อ่านได้รับรู้ พระองค์ใช้เอกสารอะไรบ้างในการพระราชนิพนธ์ The War of the Polish Succession ซึ่งมีจำนวนหน้าทั้งหมด 96 หน้า

ภาพถ่ายตัวหนังสือจาก dead sea scroll หรือ หนังสือม้วนที่พบในถ้ำ 11 แห่ง ระหว่าง พ.ศ. 2490 - 2499 ในเมืองคุมรานทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลเดดซี เป็นเอกสารเกี่ยวกับชาวยิวที่เขียนโดยบุคคลร่วมสมัยกับพระเยซู มีอายุประมาณ 2,000 ปี เอกสารสำคัญที่สุดคือคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเก่า


 หนังสือหลักที่พระองค์ให้รายชื่อไว้มีทั้งหมด 7 เล่ม ตามลำดับ ดังนี้

มีสองเล่มเป็นของพระอาจารย์แฮสซอล นั่นคือ The Balance of Power, by Arthur Hassall และ A Handbook of European History, 476-1871

เล่มที่สามคือ The Pupils of Peter the Great โดย R. Nisbet Bain

เล่มต่อมาเป็นหนังสือในภาษาฝรั่งเศสชื่อ line Ambassade Pranfaise en Orient sou^ Louis XV โดย Albert Vandal
เล่มที่ห้าคือ Elisabeth Farnese โดย Edward Armstrong

เล่มที่หก Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon โดย William Coxe

และเล่มสุดท้าย เล่มที่เจ็ด Frederick the Great ของ Thomas Carlyle  


คราวหน้า เราจะมาไล่เรียงทำความรู้จัก หนังสือและผู้แต่ง ทั้งเจ็ดเล่มนี้ เพื่อที่จะได้ประเมินว่า หนังสือที่พระองค์ท่านใช้จัดอยู่ในระดับไหนในวงการวิชาการประวัติศาสตร์สมัยนั้นและรวมทั้งมองปัจจุบันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น