xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลบนเส้นด้าย: ยุบสภาหรือถูกไล่ออกกลางสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ระดับความเสี่ยงในการดำรงอยู่ของรัฐบาลประยุทธ์เพิ่มสูงขึ้นหลังการเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้และการขับกลุ่มนายธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรคพลังประชารัฐ สถานะของรัฐบาลเสมือนยืนอยู่บนเส้นด้าย ซึ่งสามารถขาดลงได้ทุกเมื่อ ภายในกลางปี 2565 หากรัฐบาลไม่ยุบสภาฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะถูกไล่ออกกลางสภาฯ

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายธรรมนัส กับกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาดำเนินมาหลายเดือนแล้ว ปีก่อนหน้านี้กลุ่มนายธรรมนัส พยายามร่วมมือกับฝ่ายค้านเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ตามมาด้วยการที่พลเอกประยุทธ์ปลดนายธรรมนัสออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นกลุ่มสนับสนุนพลเอกประยุทธ์มีความพยายามปลดนายธรรมนัส ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร. แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกลางเดือนมกราคม 2565 ปี พรรคพลังประชารัฐก็สามารถขับไล่นายธรรมนัส และพวกออกจากพรรคได้สำเร็จ ดูผิวเผินแล้วเหมือนกับว่า พลเอกประยุทธ์และพวกสามารถพิชิตกลุ่มนายธรรมนัสได้อย่างราบคาบแล้ว แต่จะเป็นเช่นนั้นจริง หรือยังมีสิ่งใดซ่อนอยู่

อันที่จริง หลังมีความขัดแย้งระหว่างนายธรรมนัสกับพลเอกประยุทธ์ จนนายธรรมนัสถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ ก็มีสัญญาณที่บ่งบอกว่านายธรรมนัส ไม่ต้องการอยู่ใน พปชร. อีกต่อไป แต่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ขอให้นายธรรมนัสอยู่ในพรรคต่อไป โดยให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเหมือนเดิม นายธรรมนัสจึงกลายเป็นเลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาลผู้เดียวที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของประเทศไทย นั่นคงสร้างความอึดอัดให้แก่นายธรรมนัส มากพอสมควร
เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสงขลาและชุมพร พรรค พปชร. ส่งผู้สมัครแข่งขัน แต่พ่ายแพ้แก่พรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองจังหวัด แกนนำฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งรับผิดชอบการเลือกตั้งซ่อม สื่อสารต่อสาธารณะในทำนองที่ว่า นายธรรมนัสเป็นสาเหตุที่สร้างความพ่ายแพ้แก่พรรค โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา อันเนื่องมาจากการปราศรัยของนายธรรมนัสก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ในทำนองที่ว่า คนเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีฐานะดี จึงสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ กลุ่มผู้สนับสนุนคู่แข่งได้นำคำปราศรัยนี้ไปขยายความว่าเป็นการดูถูกคนใต้ ซึ่งทำให้ผู้เลือกตั้งชาวใต้จำนวนหนึ่งเกิดความรู้สึกรักศักดิ์ศรีและออกมาลงคะแนนเพื่อสั่งสอนพรรค พปชร. ต่อมาไม่นานมีข้อความที่สนทนากันภายในกลุ่มไลน์ของผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์หลุดออกมาสู่สาธารณะ ซึ่งมีใจความหลักว่า ควรทำโพลช้ำนำในทำนองว่า นายธรรมนัสเป็นสาเหตุของความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงระดับความขัดแย้งที่สูงยิ่งภายในพรรค พปชร.

เห็นชัดว่า ทั้งพลเอกประยุทธ์ และกลุ่มผู้สนับสนุนเขาในพรรค พปชร. ไม่ต้องการทำงานร่วมกับนายธรรมนัสอีกต่อไป ทั้งยังต้องการลดบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของนายธรรมนัส วิธีการที่ทำให้อิทธิพลทางการเมืองของการนายธรรมลดลง จนไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อรัฐบาลได้คือ การทำให้นายธรรมนัส พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรค พปชร. อยู่ เพราะเมื่อไม่มีตำแหน่งเลขาธิการพรรคแล้ว ก็ทำให้นายธรรมนัสไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งในการรักษาและขยายอิทธิพลภายในพรรคเพิ่มขึ้นได้ และการที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคจะทำให้นายธรรมนัสต้องปฏิบัติตามกรอบและกฎเกณฑ์ของพรรค ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามมิติพรรคและคำสั่งของหัวหน้าพรรค หากเป็นไปตามแผนนี้ อิทธิพลของนายธรรมนัสก็อาจจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นส.ส. ธรรมดา ที่ไร้ตำแหน่งและขาดอิทธิพล จนไม่อาจสร้างผลกระทบใด ๆ ต่อรัฐบาลได้
นายธรรมนัสรู้ดีว่า การยังคงอยู่ในพรรค พปชร.ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางการเมืองของตนเองได้ โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่การออกจากพรรคโดยยังมีสถานภาพของการเป็น ส.ส. อยู่จะสร้างโอกาสทางการเมืองแก่ตนเองได้มากกว่า เพราะสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ และมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เมื่อได้จังหวะกระบวนการเจรจาต่อรองระหว่างคู่ขัดแย้งจึงเกิดขึ้น และจบลงด้วยการขับกลุ่มนายธรรมนัสออกจากพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำกลุ่มสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ออกมาเปิดเผยภายหลังว่า นายธรรมนัสยื่นข้อเสนอปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งภายในพรรค และพรรคไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ จึงมีมติขับไล่นายธรรมนัสและพวกจำนวน 21 คนออกจากพรรค อันที่จริงนอกจากข้อเสนอเรื่องปรับโครงสร้างพรรคแล้ว ก็ยังมีข่าวออกมาว่า กลุ่มนายธรรมนัสยื่นข้อเสนอขอตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ตำแหน่งด้วย

ทำไมนายธรรมนัสจึงยื่นข้อเสนอที่ตนเองก็รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างการขอตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะอย่างไรเสียพลเอกประยุทธ์คงไม่ยอมรับอย่างแน่นอน หากมองในอีกแง่มมุมหนึ่ง มีความเป็นไปได้ว่าเป็นความตั้งใจเสนอเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น นั่นคือการออกจากพรรคโดยยังสามารถคงสถานภาพการเป็น ส.ส. อยู่ กล่าวง่าย ๆ คือ นายธรรมนัสเองก็อยากให้พรรคขับไล่ตนเองและกลุ่มออกจากพรรคอยู่แล้ว จึงยื่นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ เพื่อให้พรรคไล่ตนเองออกจากพรรคนั่นเอง


การขับกลุ่มนายธรรมนัสออกจากพรรคจึงสมความประสงค์ของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็มองว่า หากนายธรรมนัสออกจากพรรคจะทำให้พรรคมีความสามัคคีและมีเอกภาพมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครคอยมาจ้องทำร้ายข้างหลัง ขณะที่นายธรรมนัสก็อาจคิดว่า การออกจากพรรค พปชร. ไปสังกัดพรรคใหม่ที่ตนเองมีอำนาจเต็มและมี ส.ส. 21 คนอยู่ในสังกัด จะทำให้มีพลังต่อรองทางการเมืองสูง และเป็นพรรคตัวแปรที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอันใกล้ได้

หากพลเอกประยุทธ์ต้องการลดความเสี่ยงของรัฐบาล ก็ต้องยอมให้นายธรรมนัสเป็นรัฐมนตรี แต่การยอมให้นายธรรมนัสเป็นรัฐมนตรีนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างหมดรูป และเป็นการเสียศักดิ์ศรีอย่างรุนแรง คาดว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่เลือกทางนี้ แต่จะเลือกหนทางที่ไม่ประนีประนอมกับนายธรรมนัส และยอมรับความเสี่ยงที่ตามมามากกว่า

ความเสี่ยงแรกคือ ความเสี่ยงของการถูกคว่ำร่างพระราชบัญญัติ เมื่อส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาลหายไป 21 คน ทำให้จำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เหลือ มีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้สถานภาพของรัฐบาลเดินเข้าสู่เขตอันตราย สัญญาณที่ปรากฎในระยะนี้คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มบ่อยครั้ง เพราะองค์ประชุมไม่ครบ คาดว่าการทำงานขับเคลื่อนกฎหมายของรัฐบาลในปี 2565 จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และหากรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าไปในสภาฯ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกคว่ำได้ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. งบประมาณแผ่นดินในกลางปีนี้ (ถ้ารัฐบาลยังอยู่ถึงในเวลานั้น)

ความเสี่ยงที่สองคือ การถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ประมาณเดือนพฤษภาคมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เปิดโอกาสให้กลุ่มนายธรรมนัสร่วมมือกับฝ่ายค้านเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ได้ หากคะแนนไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมดที่อยู่ในสภา พลเอกประยุทธ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

มีความเป็นไปได้ว่า หากมีสัญญาณชัดเจนว่า กลุ่มนายธรรมนัสจะร่วมมือกับฝ่ายค้านแน่ และทำให้เสียงไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ พลเอกประยุทธ์ก็อาจชิงยุบสภาฯ เสียก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า กลุ่มนายธรรมนัสอาจวางแผนและแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้พลเอกประยุทธ์ตายใจและยอมให้ฝ่ายค้านอภิปราย จากนั้นเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายเสร็จสิ้น กลุ่มนายธรรมนัสก็หันไปร่วมมือกับฝ่ายค้านลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ภายใต้เหตุผลว่า ข้อมูลฝ่ายค้านมีความหนักแน่นชัดเจนจนทำให้ไม่สามารถไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก หากจำนวนคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ พลเอกประยุทธ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างเจ็บปวดที่สุด เพราะจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่พ้นจากตำแหน่งโดยมติไม่ไว้วางใจในสภาฯ

นับจากกลางเดือนมกราคมเป็นต้นไป รัฐบาลประยุทธ์มีสภาพเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้ายที่พร้อมจะขาดผึงลงไปทันทีเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ และดูเหมือนสิ่งที่เข้ามากระทบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มีความเป็นไปได้สูงว่า ภายในหกเดือนนี้ หากพลเอกประยุทธ์ไม่ยุบสภาฯ ก็คงจะถูกไล่ออกกลางสภาฯ แต่ถ้าอยู่รอดไปจนถึงมิถุนายน 2565 ได้ ก็นับว่าเป็นปาฏิหาริย์



กำลังโหลดความคิดเห็น