xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติหมู สะท้อนอัตลักษณ์การบริหารของรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ระบอบประยุทธ์ที่ครองอำนาจการบริหารปกครองไทยร่วม 8 ปี มีอัตลักษณ์เป็นระบอบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและผู้บริหารระดับสูงอย่างเข้มข้น การกำหนดปัญหาและการตัดสินใจเรื่องสำคัญเกือบทั้งหมดจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้นำทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ความคิดถูกครอบงำด้วยคตินิยมในการรักษาอำนาจ ตำแหน่ง และเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่เป็นหลัก


ภายใต้คตินิยมแบบนี้ ข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการตัดสินใจถูกคัดกรองด้วยระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ และขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งมีแนวโน้มเลือกสรรข้อมูลด้านบวกต่อรัฐบาล และมักปกปิดข้อมูลด้านลบ เพื่อกลบปัญหา ซึ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย กลายเป็นวิกฤติที่กระทบเศรษฐกิจและชีวิตผู้คนอย่างมหาศาล

แบบแผนของวิกฤติหมูมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิกฤติเรื่องอื่น ๆ จำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุคระบอบประยุทธ์ ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะมี 4 แบบแผนหลักปรากฎขึ้นมา แบบแผนแรกคือ การไม่รับรู้ปัญหา ซึ่งเกิดจากกลุ่มคนในผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลที่รับผิดชอบปัญหานั้นขาด “ความไวทางปัญญา” และ “ความคิดเชิงยุทธ์ศาสตร์” ในการจับประเด็นและประเมินได้ว่าประเด็นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาวิกฤติในอนาคต แบบแผนนี้มักจะเป็นแบบแผนหลักที่มักเกิดขึ้นภายใต้การบริหารของระบอบประยุทธ์ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

แบบแผนที่สองคือ การไม่รู้ปัญหาที่เกิดจากการปกปิดปัญหาโดยข้าราชการ ในหลายกรณี ข้าราชการที่รับผิดชอบเห็นปัญหาแล้ว แต่กลับปกปิดและไม่กล้าเสนอเรื่องขึ้นไปให้ผู้บริหารระดับสูงทราบ ด้วยเกรงว่าจะถูกตำหนิหรือลงโทษ ปรากฎการณ์ที่ข้าราชการระดับปฏิบัติกดทับปัญหาเอาไว้มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงภายใต้ระบบบริหารแบบอำนาจนิยม ภายใต้ระบอบนี้เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ผู้บริหารระดับสูงมักคิดว่าตนเองทำถูกต้องเสมอ และมองว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผู้อื่นทำ จึงมักตำหนิและโยนความรับผิดชอบให้แก่ผู้ปฏิบัติ หนักเข้าก็โยนความผิดให้แก่ประชาชน
ที่ผ่านมาเราเห็นถึงการอธิบายและวิธีคิดแบบนี้ของระบอบประยุทธ์อยู่เสมอ เมื่อแนวทางการบริหารของผู้นำเป็น “ข้าพเจ้าถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ความผิดทั้งหลายล้วนเกิดจากผู้อื่นทั้งสิ้น” ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติมีแนวโน้มยึดถือหลักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีโดยปกปิดปัญหาไว้ และปล่อยให้เวลาเป็นตัวช่วยเพื่อให้ปัญหาคลี่คลายโดยตัวมันเอง แต่สิ่งที่เห็นเป็นประจำคือ ปัญหาไม่ได้หายไป แต่กลับลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติ

แบบแผนที่สาม ผู้บริหารปกครองประเทศรับรู้ปัญหาแล้ว แต่ไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่รุนแรงความรุนแรงของปัญหาจึงละเลยและไม่ใส่ใจแก้ปัญหา ปล่อยให้กลไกระบบราชการปกติที่ไร้ประสิทธิภาพทำงานตามหน้าที่อย่างตามมีตามเกิด หลายกรณีถึงแม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจเป็นนักวิชาการและข้าราชการระดับกลางพยายามชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหา แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจและนำไปเป็นข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา การไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาเกิดจากการมีศักยภาพในการคิดและการประเมินผลกระทบปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีแบบนี้เห็นชัดจากวิธีคิดในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงแรก จนมีคำพูดประเภทที่ว่า โรคโควิด 19 เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาหลุดออกมาจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศ

แบบแผนที่สี่ รัฐบาลรับรู้และตระหนักถึงปัญหา แต่กลับปกปิดความจริงเกี่ยวการดำรงอยู่และผลกระทบที่รุนแรงของปัญหา การปกปิดความจริงมีสองระดับคือ 1) การปกปกความจริงแบบสัมบูรณ์ หรือการปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหาอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศของไทยมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever - ASF) อย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีการระบาด

2) การปกปกปิดความจริงบางส่วน ซึ่งเกิดจากการยอมจำนนต่อหลักฐานที่ไม่อาจปกปิดความจริงทั้งหมดได้อีกต่อไป จึงต้องยอมรับว่ามีปัญหาดำรงอยู่จริง แต่กระนั้น รัฐบาลก็พยายามปกปิดความจริงบางส่วนของปัญหาเอาไว้ ทั้งในส่วนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับขนาดของปัญหา เช่น ปัญหาใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นปัญหาเล็ก มีโรคระบาดมากก็บอกว่ามีโรคระบาดน้อย มีการระบาดแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็บอกว่ามีการระบาดเพียงบางพื้นที่เท่านั้น มีคนป่วย คนตายมาก หรือมีสัตว์ตายจำนวนมากก็บอกว่ามีน้อย หรือปกปิดความรุนแรงของปัญหา ทั้งที่ปัญหามีความรุนแรงมาก แต่กลับบอกว่ามีความรุนแรงน้อย

เหตุผลของการปกปิดความจริงที่ผู้บริหารปกครองประเทศมักใช้ในการอ้าง เมื่อความจริงนั้นไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไปคือ กลัวว่าประชาชนตื่นตระหนก และก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคม เหตุผลนี้ ผู้บริหารประเทศที่ใช้การบริหารแบบอำนาจนิยมนำมาอ้างกันเป็นประจำ แต่ไม่ได้หมายความประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะไม่ใช้วิธีนี้

ในระบอบอำนาจนิยม เมื่อรัฐบาลใช้เหตุผลแบบนี้ ประชาชนอาจต้องปิดปากเงียบ หรือส่งเสียงวิจารณ์อย่างระมัดระวัง ส่วนรัฐบาลเองก็หาได้มีความสำนึกถึงความผิดในการปกปิดความจริงต่อประชาชนแต่อย่างใด ยังคงบริหารประเทศต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลปกปิดความจริง สังคมก็จะกดดันให้ผู้บริหารประเทศรับผิดชอบ และมักจบลงด้วยการลาออกของผู้รับผิดชอบ หรือหากเป็นเรื่องที่รุนแรงมากรัฐบาลก็อาจจำเป็นต้องลาออกทั้งคณะ

เหตุผลที่รัฐบาลใช้อ้างเพื่อปกปิดความจริง กับเหตุผลที่เกิดจากความปรารถนาที่แท้จริงซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังมีความแตกต่างกัน เหตุผลหลักที่ผู้บริหารประเทศปกปิดความจริงนั้นมีเป้าหมายเพื่อการรักษาภาพลักษณ์ ความนิยม ตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ชองกลุ่มตนเอง ซึ่งผู้บริหารมีความเชื่อว่า ความจริงจะทำให้ประชาชนไม่พอใจ ทำให้รัฐบาลมีภาพลักษณ์ของความไร้ประสิทธิภาพหรือฉ้อฉล เกิดความเสื่อมถอยของความเชื่อถือ สูญเสียความนิยม นำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง จนสั่นคลอนเสถียรภาพและสูญเสียอำนาจการควบคุมสังคมไป และอาจทำให้รัฐบาลต้องล้มลงได้ เมื่อหลุดจากตำแหน่ง ปราศจากอำนาจผู้บริหารประเทศก็กังวลถึงผลกระทบต่อตนเองที่ตามมาหลังการสูญเสียอำนาจ

มีความเป็นไปได้อีกประการว่า การปกปิดความจริงมาจากการจงใจเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล ดังกรณีอหิวาต์แอฟริกาสุกรที่กำลังระบาดในขณะนี้ เมื่อปกปิดความจริง รัฐบาลก็ไม่ลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำให้โรคระบาดขยายตัวทั่วประเทศจนสุกรของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยตายเป็นจำนวนมาก เหลือเพียงสุกรของกลุ่มทุนใหญ่ การตายของสุกรทำให้เนื้อสุกรที่ขายในตลาดหายไปกว่าครึ่ง กลุ่มทุนใหญ่ที่เลี้ยงสุกรจึงฉวยโอกาสขึ้นราคาเนื้อสุกรและสินค้าบริโภคอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือ ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคจึงต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้นหลายชนิด ส่วนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจำนวนมากก็ประสบกับการขาดทุนและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

วิกฤตสุกรที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอีกวิกฤติหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ของรัฐบาลจนสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง อันเป็นแบบแผนการบริหารประเทศที่เป็น “อัตลักษณ์ของรัฐบาลประยุทธ์” ที่เราเห็นมาโดยตลอดในช่วงแปดปีที่ผ่านมา




กำลังโหลดความคิดเห็น