ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีทวีความรุนแรง มิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวงเหยื่ออย่างอุกอาจ นับเป็นการลงมือฆาตกรรมเหยื่อทางอ้อม ดังเช่นเหตุการณ์สะเทือนใจกรณีล่าสุดช่วงต้นปี 2565 ผู้หญิงเคราะห์ร้ายวัย 27 ปี ฆ่าตัวตายหลังถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินมัดจำหลายครั้ง เพื่อดำเนินการกู้เงินจำนวน 100,000 บาท รวมมูลค่าเสียหาย 38,200 บาท
เกิดคำถามว่า เหยื่อมีเงินโอนมัดจำเกือบครึ่งของเงินกู้ทำไมยังต้องไปกู้เงินอีก นั่นคงเพราะความหวังว่าจะได้เงินก้อนใหญ่มาตั้งต้นชีวิตอีกครั้ง จึงตัดสินใจโอนเงินมัดจำซึ่งอาจเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้าย เป็นเงินที่หยิบยืมญาติพี่น้องยืมเพื่อน โดยที่เหยื่อหวังว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่จากการกู้เงิน แล้วค่อยนำมาคืนหรือไปลงทุน
แต่สุดท้ายเหยื่อติดกับมิจฉาชีพที่ออกอุบายให้โอนมัดจำเพื่อดำเนินการ หลอกให้โอนเงินมัดจำครั้งแรกยังไม่พอ ยังลวงให้เหยื่อโอนครั้งที่ 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ต่อไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าหากไม่โอนก็จะไม่ได้รับเงินมัดจำที่โอนมากก่อนหน้าคืน และอ้างอีกว่าจะคืนเงินมัดจำทั้งหมดพร้อมเงินกู้เต็มจำนวน สุดท้ายเหยื่อรู้ตัวว่าโดนหลอก ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจนคิดสั้นฆ่าตัวตาย
นี่ไม่ใช่คดีแรกที่เกิดขึ้น และคงไม่ใช่คดีสุดท้าย ลำดับเวลาไล่เรี่ยกัน ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2564 เกิดเหตุชายวัย 44 ปี ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองตาย สาเหตุมาจากความเครียดได้ทำเรื่องขอกู้เงินจำนวน 100,000 บาท และได้โอนเงินให้กับคนร้ายไป 9 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 130,000 บาท หลังไปทำเรื่องกู้เงินจากออนไลน์จาก 6 แอปพลิเคชัน และ 1 เว็บไซต์เงินกู้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องโอนเงินมัดก่อนถึงจะได้รับการอนุมัติเงินกู้ แต่สุดท้ายโอนเงินไปแล้วกลับไม่ได้รับการอนุมัติและสูญเงินมัดจำ
ต่อมา 11 พ.ย. 2564 พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวสืบสวนรวบรวมข้อมูลจนรู้ตัวคนร้ายว่าใช้เว็บไซต์ www.กู้เงินฉุกเฉิน.net ประกาศโฆษณาให้กู้เงินโดยให้ติดต่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อมีเหยื่อติดต่อไป คนร้ายจะแจ้งกติกาต่างๆ โดยต้องโอนเงินให้คนร้ายก่อนที่จะมีการอนุมัติวงเงินกู้ แต่เมื่อโอนเงินไปก็ไม่ได้รับเงินกู้แต่อย่างใด มีการติดตามจับกุมผู้ต้องหา 7 คน ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์
“เตือนประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อไปกู้เงินออนไลน์ เพราะอาจจะตกเป็นเหยื่ออย่างเช่นกรณีดังกล่าวได้ ไม่ได้เงินแถมยังเสียเงินอีก อีกทั้งพึงระวังผู้ใช้มือถือระบบแอนดรอยด์ หากผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอพฯ จำพวกนี้โดยไม่พึงระวัง กดยอมรับการเข้าถึง ข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์จะถูกดึงไปเก็บไว้ที่ระบบทันที เนื่องจากแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มทุนชาวจีนอยู่เบื้องหลังเป็นผู้คิดค้นเขียนคำสั่งให้สามารถดึงข้อมูลส่วนตัวได้” พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. กล่าว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุเกิดจากประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบจากโควิด จึงต้องเข้าหาแหล่งเงินทุนออนไลน์ดังกล่าวกระทั่งถูกหลอกให้โอนเงินไปฟรีๆ ซึ่งผิดจากข้อตกลงเดิมที่ให้ไว้ หรือเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่ากำหนด จนถึงขั้นมีการด่า ข่มขู่ จะเอารูปภาพที่ไม่เหมาะสมแนวลามากอนาจารของผู้เสียหายไปประจานต่อสาธารณะ
แก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำกันเป็นขบวนการมีความผิดหลายข้อหา ตั้งแต่จัดตั้งสถาบันการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด การฉ้อโกง การขู่กรรโชกทรัพย์ และโชว์สื่อลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
โดยกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้าง ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะนำเคสคดีต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาเป็นคดีพิเศษ ซึ่งจะทำงานร่วมกับตำรวจในการสอบสวนเส้นทางการเงิน และจะประสานขอข้อมูลไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่าได้มีประสานงานกับ กสทช. และผู้ให้บริการ รวมทั้ง ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ และหาระบบป้องกัน แต่พบว่ายังมีกฎ ระเบียบ ที่เป็นช่องว่าง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพที่ดำเนินการเรื่องนี้เป็นกลุ่มมาเฟีย ซึ่งกบดานอยู่ในต่างประเทศ
กระทรวงดีอีเอส ตั้งเป้าปี 2565 แก้ไขปัญหาเว็บไซต์พนันออนไลน์ เว็บไซต์เงินกู้ ที่ส่ง SMS หลอกลวงประชาชนลดลง ซึ่งระบบการสื่อสาร ทั้ง sms และโซเชียลมีเดีย นั้นเป็นระบบเปิด เมื่อปิดกั้นแล้วก็ยัง เปิดช่องทางใหม่ได้ ทำให้มีมิจฉาชีพเกิดขึ้นจำนวนมาก โจทย์ใหญ่คือการแก้ปัญหาบัญชีม้า หรือการจ้างเปิดบัญชีรับโอนเงินจากมิจฉาชีพ ที่จะต้องไม่ให้มีในระบบการเงินอีกต่อไป เพราะเป็นต้นตอของการทำผิด ซึ่งจะมีการแก้กฎหมายเพิ่มความผิดคนรับเปิดบัญชีม้า มีบทลงโทษที่เข้มข้นขึ้นต่อไป
แน่นอนว่าปัญหาสำคัญแม้มีการจับกุมแอปฯ เงินกู้ แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน ซึ่งยังมีแอปฯ เงินกู้ผิดกฎหมายเปิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งแอปฯ เหล่านี้ไม่ได้ขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลจากกระทรวงการคลัง
อีกทั้ง แอปฯ เงินกู้ หล่านี้ มักโฆษณาเชิญชวนว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือ ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ เข้าถึงง่ายผ่านหลายช่องทาง SMS, ไลน์, เฟซบุ๊ก ฯลฯ ยิ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ สนใจกู้เงินในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบเพราะคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
ในมุมมองของ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ไว้ความว่า หนี้นอกระบบแม้อัตราดอกเบี้ยทั้งปีอาจสูงถึงร้อยละ 2,000 แต่การกู้ได้ง่าย เอกสารไม่ยุ่งยาก จึงตอบโจทย์ประชาชนที่ต้องการใช้เงินด่วน แต่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ ดังนั้น รัฐต้องลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบเริ่มแก้ไขตั้งแต่โครงสร้างระบบบริหารการเงิน ขยายบริการการเงินในระบบเพื่อลดส่วนแบ่งตลาดของหนี้นอกระบบ และหาวิธีจูงใจให้หนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรช่วยแก้ไขหนี้ครัวเรือน และปราบปรามมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ที่เข้ามาฉกฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
โจทย์ข้อสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ คือ จะลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นได้อย่างไร?