xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยในปีที่ยากลำบาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

แนวโน้มในปี 2565 การเมืองไทยจะมีการต่อสู้แข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจที่เข้มข้นและแหลมมากยิ่งขึ้น จะมีการขยายตัวของท้าทายระบอบอำนาจรัฐและความเชื่อดั้งเดิม เครือข่ายอำนาจรัฐมีแนวโน้มยกระดับมาตรการในการควบคุมและปราบปรามผู้ท้าทาย ในส่วนของรัฐบาลจะมีเสถียรภาพลดลง เกิดความระส่ำระสายมากขึ้นจากความขัดแย้งภายในและแรงกดันภายนอก ด้านรัฐสภาก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และระหว่าง ส.ส. กับส.ว. จะทวีความรุนแรงขึ้น


การท้าทายระบอบอำนาจรัฐและความเชื่อจารีตดั้งเดิมปรากฎตัวต่อสาธารณะอย่างชัดเจนช่วงต้นปี 2563 โดยกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ทำงานที่อายุต่ำ 35 ปีลงมาเป็นหลัก การต่อสู้เน้นในเรื่องการปรับเปลี่ยนสมการอำนาจของระบอบและอุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมทางสังคม อาณาบริเวณการต่อสู้ครอบคลุมทั้งการชุมนุมในที่สาธารณะ สื่อสังคมออนไลน์ สื่อกระแสหลัก เวทีรัฐสภา เวทีวิชาการ และเวทีสาธารณะอื่น ๆ

การชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงปี 2563 แต่มีแนวโน้มลดขนาดลงในปี 2564 ซึ่งมาจากปัจจัยหลักสองประการคือ การแพร่ระบาดของโควิด 19 และการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐ ซึ่งมีการจับกุม ดำเนินคดี และกักขังแกนนำมวลชนหลายคนและใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แต่แม้ว่าการชุมนุมจะลดลงทั้งในแง่ของขนาดและความถี่ แต่กระแสความคิดของการท้าทาย การต่อต้าน และการต่อสู้ในอาณาบริเวณอื่น ๆ ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ในทางกลับกันดูเหมือนว่า มีการขยายตัวมากยิ่งกว่าเดิมตามการพัฒนาของเทคโนโลยีสังคมออนไลน์ กระแสการท้าทายจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองทั้งย่อยและใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง และผู้เข้าร่วมชุมนุมมิใช่ มีแต่เพียงกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น หากแต่จะประกอบด้วยผู้คนหลากรุ่น หลายกลุ่มอาชีพเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความล้มเหลวของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง ความปรองดองทางสังคม และความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลมีแนวโน้มอ่อนแอลงและมีเสถียรภาพน้อยลงด้วยสาเหตุภายใน 3 ประการคือ 1) การเสื่อมความนิยมอย่างต่อเนื่องของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลมาจากการไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความกังขาของผู้คนต่อสติปัญญาในการบริหารประเทศของผู้นำ ที่นับวันเปิดเผยออกมาให้เห็นมากขึ้น และบุคลิกและอารมณ์ที่ไม่คงเส้นคงวา กลุ่มหลักที่มีความนิยมต่อนายกรัฐมนตรีลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพทางการเมืองมากคือ กลุ่มที่เคยสนับสนุนนายกรัฐมนตรีมาก่อน เช่น กลุ่มชนชั้นนำทางสังคม กลุ่มนักธุรกิจ และชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยม กระแสความคิดที่แพร่หลายในกลุ่มเหล่านี้ในปัจจุบันคือ ยังมีความคุ้มค่าอีกหรือไม่ในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีผู้นี้ต่อไป เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศที่ผ่านมา และสิ่งที่สัมผัสได้อีกอย่างคือ ความรู้สึกอับอายต่อการพูดเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในที่สาธารณะของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมที่มีชื่อเสียงบางคนถึงขนาดกล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาที่นายกฯผู้นี้เสนอขึ้นมาเหมือนกับวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลสฤษดิ์ในอดีตอันยาวไกล

2) ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล อันเนื่องมาจากการช่วงชิงผลประโยชน์และความนิยมทางการเมืองระหว่างพรรค ซึ่งแสดงออกมาทั้งในเวทีการเลือกตั้งซ่อมและเวทีการบริหารปกติ การใช้วาจาเชือดเฉือน (เช่น ไม่มีมารยาททางการเมือง) การบั่นทอนความน่าเชื่อถือซึ่งกัน การข่มกันในเรื่องความนิยมโดยใช้โพลรับจ้าง และประชาสัมพันธ์ผลงานตนเองมีแนวโน้มมากขึ้นตามลำดับ และ 3) การช่วงชิงอำนาจของกลุ่มฝักฝ่ายภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างฝักฝ่ายของเลขาธิการพรรคที่ขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี กับฝักฝ่ายของกรรมการบริหารพรรคกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฎตัวเมื่อ 2564 และคาดว่าจะยังคงดำรงต่อไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้นในปี 2565

มีปัจจัยภายนอกที่กดดันทำให้รัฐบาลเกิดความระส่ำระสายมากขึ้นอีก 4 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณไตรมาสที่สองของปีนี้ คาดว่าการอภิปรายจะมีความดุเดือด เข้มข้น พรั่งพร้อมด้วยข้อกล่าวหาและข้อมูลหลักฐาน ที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือและความนิยมของรัฐบาลลดลงเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่อาจทำให้รัฐบาลล้มได้คือ การที่ฝักฝ่ายของเลขาธิการพรรค พปชร. หรือพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคแอบร่วมมือกับฝ่ายค้านเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้เมื่อความขัดแย้งภายในรัฐบาลมีความเข้มข้นรุนแรงจนยากแก่การประนีประนอม ซึ่งทำให้กลุ่มฝักฝ่ายและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาคิดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ทางการเมืองได้มากกว่าการอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป

ปัจจัยที่สอง การเสนอตีความระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในกลางปี 2565 ด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้ว่า บุคคลสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี ด้วยมีเจตนารมณ์ไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งครองอำนาจนานเกินไป เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่า การครองอำนาจนานเกินไปก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจและสร้างผลเสียต่อประเทศ แต่ผู้ร่างฯ ไม่ได้ระบุชัดว่าระยะเวลา 8 ปี เริ่มนับเมื่อไร แต่หากดูเจตนารมณ์แล้วดูเหมือนว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อไรไม่ใช่ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นก่อน หรือหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ก็ตาม เพราะประเด็นหลักคือ “ระยะเวลาของการครองอำนาจที่ต้องไม่เกิน 8 ปี” หากตีความเช่นนี้ก็หมายความว่าพลเอกประยุทธ์ ใกล้จะเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญเต็มทีแล้ว แต่ด้วยการที่ไม่เขียนไว้ให้ชัดเจน จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องวินิจฉัยหากมีผู้ร้องเข้าไป และหากศาลรัฐธรรมนูญยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเป็นหลัก ก็เป็นไปได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จะหมดวาระลงภายในปี 2565 แต่หากวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น พลเอกประยุทธ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป แต่จะเป็นกลายเงื่อนไขในการสะสมความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่สาม การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยภาคประชาชน ภายใต้โครงสร้างอำนาจปัจจุบัน ความสำเร็จในการปลดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.มีความเป็นไปได้ต่ำ แม้ว่าการคงอยู่ของอำนาจเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองสูงยิ่งในอนาคตหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนกลุ่ม ส.ว. ที่ครองอำนาจไม่รับรู้และตระหนักถึงความเสียหายต่อประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากนัก จึงคาดว่าพวกเขายังคงยืนกรานรักษาอำนาจของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น

ในทางกลับกัน หากบังเอิญแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จจะทำให้พลเอกประยุทธ์สูญเสียฐานค้ำยันอำนาจที่มั่นคงไป และทำให้อำนาจกำหนดและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอยู่กับ ส.ส. เป็นหลัก พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะมีทางเลือกในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น โดยไม่ต้องถูกจำกัดขอบเขตให้ผูกติดอยู่กับพลเอกประยุทธ์อีกต่อไป และอาจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ได้ รวมทั้งเป็นการถอดชนวนระเบิดทางการเมืองในอนาคตอีกด้วย

ปัจจัยที่สี่ เป็นปัจจัยแทรกซ้อน ที่อาจเกิดจากกลุ่มชนชั้นนำที่เคยเป็นฐานอำนาจพลเอกประยุทธ์ถอนการสนับสนุน และต้องการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี การถอนการสนับสนุนอาจเกิดจากการที่กลุ่มชนชั้นประเมินว่า หากพลเอกประยุทธ์ยังบริหารประเทศอยู่ต่อไป ก็จะยิ่งสร้างความสียหายต่อสถานภาพ อำนาจ ความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง และผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำทั้งมวล กลวิธีการปลดพลเอกประยุทธ์ ที่จะนำมาใช้มีหลายวิธี เช่น การส่งข่าวสารผ่านตัวแทนเพื่อให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเอง หากไม่ลาออกก็ส่งสัญญาณไปให้กลุ่มฝักฝ่ายในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลบางร่วมมือกับฝ่ายค้านเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ หรือให้คว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แต่หากพลเอกประยุทธ์ทราบและประเมินว่า จะมีเหตุการณ์ปลดตนเองกลางสภาเกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า เขาจะตัดสินใจยุบสภาก่อนที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และในกรณีที่ใช้วิธีการอื่น ๆ แล้วยังไม่ได้ผล ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการรัฐประหาร

ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกรุมเร้ากดดันรัฐบาลประยุทธ์ ถึงแม้ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลประยุทธ์สิ้นสุดลงภายในปี 2565 แต่หากมีเหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลยังคงบริหารประเทศต่อไปจนสิ้นปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ไม่เพียงรัฐบาลเท่านั้นที่จะบอบซ้ำทรุดโทรม หากแต่คุณภาพชีวิตของประชาชน ระบอบการเมือง สถาบันทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ และประเทศโดยรวมจะเสียหายยิ่งกว่า การเมืองในปี 2565 จึงเป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยความยากลำบากต่อคนไทยทั้งมวล


กำลังโหลดความคิดเห็น