xs
xsm
sm
md
lg

“ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๔) : เสมหะและลมกองหยาบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สำหรับผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวก ย่อมทราบว่าตำรับยานี้มีทั้งความ“ขม” และ“เผ็ดร้อน”ภายในตำรับเดียวกัน [๑]-[๒]

โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยด้วยแล้ว นอกจากจะมีโรคเกี่ยวกับธาตุลมพิการ (สมุฏฐานวาโย)แล้ว ยังมีอาโป (ธาตุน้ำ) แทรกด้วย [๓] โดยเครื่องยาในการปรุงเป็นตัวยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้สามารถจำแนกออกได้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มยารสร้อน ขับลมในทางเดินอาหารและชับลมในเส้น

กลุ่มยาระบาย เพื่อขับถ่ายพิษในระบบทางเดินอาหาร และขับถ่ายระบายเสมหะ

กลุ่มยารสขม บำรุงธาตุ บำรุงน้ำดี ดับพิษโลหิต ช่วยย่อยอาหารพวกไขมัน[๒],[๔]

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะสร้างความประทับใจหนึ่งในสรรพคุณประการสำคัญสำหรับผู้รับประทานที่เป็นผู้สูงวัยซึ่งภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็คือ การลดเสมหะในคอ ปอด และช่วยการขับลม และขับถ่ายเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ ที่ได้มีการรับประทานยานี้

วารสารทางด้านยา Medicines ได้เผยแพร่งานการทบทวนวรรณกรรมของคณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศบราซิล เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งวิเคราะห์ให้ความเห็นจากผลการศึกษาว่า

“โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ ที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Disorder) ทำให้เสียสมดุลในระบบภูมิคุ้มกันทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการทำนายความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป [๕]-[๖] แต่ในทางตรงกันข้ามการติดเชื้อก็กลับทำให้เกิดความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน” [๕], [๗]-[๙]

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นต่อไปจากการศึกษาของคณะวิจัยร่วมกันจากสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสารในด้านเภสัชวิทยาและการบำบัดทางเดินอาหาร Alimentary Pharmacology and Therapeutics ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๗ ได้สำรวจผู้ป่วยกว่า ๒๓,๔๑๗ คน พบว่า

“ความผิดปกติในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร (Functional Gastrointestinal Disorders) จะส่งผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Disorder)มากกว่าร้อยละ ๔๙ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้มีปัญหากับระบบทางเดินอาหารผิดปกติ” [๑๐]

ตัวอย่างในรายละเอียดของงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นยังพบด้วยว่า

“ผู้ที่ป่วยเป็นโรค“ท้องผูกเรื้อรัง” chronic idiopathic constipation (CIC) ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความเสี่ยงภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๗๕”[๑๐]

แม้หลักฐานข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าสุขภาพในระบบทางเดินอาหารนั้น มีความสัมพันธ์ต่อความสมดุลในระบบภูมิคุ้มกัน“อย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งแม้นการแพทย์แผนไทยจะไม่ได้ระบุในเรื่อง“ภูมิคุ้มกัน”โดยตรง แต่การแพทย์แผนไทยได้ระบุเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ของ“พิกัดธาตุน้ำ”(อาโปพิกัด) เอาไว้เช่นกัน

โดยพิกัดธาตุน้ำ (อาโปพิกัด) ในการแพทย์แผนไทยนั้นประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ๑๒ ประการ (ทวาทะศะอาโป) ซึ่งจะเกิดขึ้น (ชาติ) เคลื่อนไหวไป (จะละนะ) และภินนะ (แตกสลาย) ได้นั้นก็ต้องอาศัย “กลไก”ของ “เสมหะทั้ง ๓” ได้แก่ เสมหะในคอ (ศอเสมหะ) เสมหะในปอด (อุระเสมหะ) และเสมหะในอุจจาระ (คูธเสมหะ) ที่มีความเชื่อมโยงถึงกันและกัน ดังปรากฏในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย อธิบายเอาไว้ว่า

“อันว่าสมุฏฐานอาโปธาตุพิการนั้น เปนที่ตั้งแห่งทวาทะศะอาโป ซึ่งจะวิปริตเปนชาติจะละนะภินนะ ก็อาไศรยแห่ง สอเสมหะ, และอุระเสมหะ, คูธเสมหะ, ทั้ง ๓ นี้ เปนอาทิ ให้เปนเหตุในกองอาโปธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง”[๑๑]

เนื่องด้วยยาลม ๓๐๐​ จำพวก มีกลุ่มเครื่องยา“ขับถ่าย” และ“ระบายเสมหะ”อยู่ด้วย จึงสามารถลดเสมหะในคอ เสมหะในอก และช่วยขับถ่ายระบายพิษเสมหะและชำระเมือกมันในลำไส้ไปได้ และส่งผลช่วยทำให้บรรเทาความผิดปกติของธาตุน้ำไปได้

ดังนั้นหากใครรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกแล้ว มีการขับถ่ายร่วมด้วย ย่อมถือเป็นปกติ โดยเฉพาะในช่วง ๗ วันแรก แต่ก็ยังต้องปรับสภาพตามความเป็นจริงของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

ตัวอย่าง เช่น บางคนมีอุจจาระแข็งมากขวางทางลำไส้อยู่ไม่สามารถขับถ่ายได้ก็อาจจำเป็นต้องมีการใช้การสวนล้างลำไส้เพื่อช่วยระบายออกเพิ่มขึ้น หรือใช้สมุนไพรที่ช่วยเสริมในการขับถ่ายไปก่อน

หรือบางคนขับถ่ายมากก็ต้องมีการรับประทานน้ำเกลือแร่กลับเข้าไปเพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำและแร่ธาตุมากไป

หรือบางคนธาตุเบาทำให้ขับถ่ายมากเกินไปก็ต้องลดปริมาณการรับประทานยาลงให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน

และสิ่งที่สัมพันธ์ตามกันมาต่อการขับถ่ายระบายพิษเสมหะในร่างกายแล้ว ยาลม ๓๐๐ จำพวกยังเป็นยาแก้ธาตุลมให้ขับเคลื่อนไปในระบบทางเดินอาหารคู่ขนานกันไปด้วย


สำหรับในเรื่องนี้รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้วคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นเอาไว้ว่าตำรับยานี้ แก้“ลมกองหยาบ” ไม่ใช่“ลมกองละเอียด” คือเน้นไปเรื่องการขับลมให้เกิดการเคลื่อนตัวไปในระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก[๑๒] ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “ลมกองหยาบ” ก็กระทบต่อ “ลมกองละเอียด”ด้วยเช่นเดียวกัน

สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกระทรวงสาธารณสุข ได้เคยเผยแพร่ข้อมูลในการอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของ “ลมกองหยาบ” และ “ลมกองละเอียด” เอาไว้ปรากฏในหนังสือธรรมะลีลา พ.ศ. ๒๕๕๔ ความว่า :

ธาตุลมในแพทย์แผนไทย มีทั้งหมด ๖ ประเภท โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ลมกองหยาบ ๔ ชนิด และลมกองละเอียดอีก ๒ ชนิด ดังนี้

“ลมกองหยาบ (โอฬาริกะวาตะ) เป็นลมที่เกิดขึ้นในช่องท้อง เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ซึ่งแนวของลมชนิดนี้ อยู่ในแนวแกนกลางของร่างกาย

หากลมกองนี้เกิดความไม่สมดุลไป อาจทำให้เกิดท้องผูก ท้องเสีย อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่น สาเหตุของการเกิดลมกองหยาบไม่สมดุลมาจากระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิด และแนวทางเดินของธาตุลมนั้นๆ” [๑๓]

โดยยาลม ๓๐๐ จำพวกมุ่งแก้ไปที่ลมกองหยาบเป็นหลัก ดังนี้

ลมกองหยาบชนิดที่หนึ่ง กุจฉิสยาวาตา คือ ลมที่พัดในท้อง แต่พัดนอกลำไส้และภายนอกกระเพาะอาหาร
[๑๔] และทางเดินอาหาร ถ้าลมชนิดนี้พิการ จะมีอาการเจ็บท้อง ลำไส้เกิดการบีบตัวมาก [๑๓]

ส่วนพระคัมภีร์โรคนิทาน (พระคัมภีร์ว่าด้วยเหตุที่เกิดโรค) ได้กล่าวถึงอาการว่าด้วยลมกุจฉิสยาวาตาเมื่อแตกนั้นว่า

“มักให้ท้องขึ้นท้องลั่นให้เจ็บอก ให้สวิงสวาย ให้แดกขึ้นแดกลง” [๑๔]

ลมกองหยาบชนิดที่สอง โกฐาสยาวาตา คือ ลมที่พัดในท้องในลำไส้และกระเพาะอาหาร [๑๔] และทางเดินอาหาร หากพิการจะทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก อาเจียน [๑๓]

ส่วนพระคัมภีร์โรคนิทาน ได้กล่าวถึงอาการว่าด้วยลม“โกฐาสยาวาตา” เมื่อแตกนั้นว่า

“มักให้เหม็นคาวคอ ให้อาเจียร ให้จุกเสียดให้แตกในอก” [๑๔]

ลมกองหยาบชนิดที่สาม อุธังคมาวาตา ลมพัดขึ้นเบื้องบน หรือลมที่ปกติพัดจากปลายเท้าถึงศีรษะ[๑๔] คือทำให้เรอ อาเจียน และไอ หากพิการ ทำให้หาวเรอบ่อยๆ ทุรนทุราย แต่หากพิจารณาในเรื่องท้องและเส้นประธานสิบ ก็จะพิจารณาเป็นลมที่ปกติพัดจากสะดือถึงศีรษะ[๑๓]

ส่วนพระคัมภีร์โรคนิทาน ได้กล่าวถึงอาการว่าด้วยลม “อุธังคมาวาตา” เมื่อแตกนั้นว่า

“มักให้ดิ้นรนมือเท้าขวักไขว่ ให้พลิกตัวไปๆมาๆ ทุรนทุรายให้หาวเรอบ่อยๆ”[๑๔]

ลมกองหยาบชนิดที่สี่ อโธคมาวาตา ลมที่พัดลงเบื้องล่าง คือลมที่พัดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า[๑๔] แต่หากพิจารณาในเรื่องท้องและเส้นประธานสิบ ก็จะพิจารณาเป็นลมที่ปกติพัดแต่ศีรษะถึงสะดือ [๑๓] ทำให้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หากพิการ ทำให้ยกมือเท้าไม่ได้ เมื่อยขบทุกข้อ [๑๓]

ส่วนพระคัมภีร์โรคนิทาน ได้กล่าวถึงอาการว่าด้วยลม“อโธคมาวาตา” เมื่อแตกนั้นว่า

“ให้ยกมือยกเท้าไม่ได้ ให้เมื่อยขบทุกข้อทุกกระดูก เจ็บปวดยิ่งนัก”[๑๔]

ส่วนลมกองละเอียด (สุขุมะวาตะ) คือลมที่มีลักษณะละเอียดอ่อน อ่อนโยน นุ่มนวล อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่พัดนำเอาสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และยังนำเอาของเสียออกมาจากอวัยวะต่างๆ โดยลมกองละเอียดนี้ยังมีหน้าที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดการรับรู้ และโต้ตอบสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตใจ (อายตนะ ๖)

ลมกองละเอียดนี้ ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ

ลมกองละเอียดชนิดที่หนึ่ง อังคมังคานุสารีวาตา คือ ลมพัดไปทั่วสรรพางค์กายอยู่ทั่วร่างกายตั้งแต่กระหม่อมถึงปลายเท้าตามพระคัมภีร์โรคนิทาน [๑๔] ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว หากพิการจะมีอาการหูอื้อ ตาลาย เห็นแสงไฟระยิบระยับ [๑๓]
โดยพระคัมภีร์โรคนิทาน ได้กล่าวถึงอาการว่าด้วยลม“อังคมังคานุสารีวาตา”เมื่อแตกนั้นว่า

“ให้หูตึงคนเจรจาแล้วไม่ได้ยินแล้วเปนดุจหิ่งห้อยออกจากตา ให้เมื่อยต้นขาทั้ง ๒ ข้างดุจกระดูกจะแตก ให้ปวดในกระดูกสันหลัง ให้สบัดร้อนสท้านหนาว ให้อาเจียรลมเปล่าๆ กินอาหารไม่ได้”[๑๔]

ลมกองละเอียดที่สอง อัสสาสะปัสสาสะวาตา คือ ลมหายใจเข้าออก [๑๔] พัดในแนวกลางของลำตัว ทำให้มีชีวิตคงอยู่ได้ [๑๓] โดยพระคัมภีร์โรคนิทาน ได้กล่าวถึงอาการว่าด้วยลม “อัสสาสะปัสสาสะวาตา” เมื่อแตกนั้นว่า “จะได้ขาดสูญหามิได้ ถ้าสิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะวาตาแล้วเมื่อใด ก็ตายเมื่อนั้นแล”[๑๓]

สำหรับโรคที่ตั้งหรือแรกเกิดของโรคอันเกิดจากธาตุลม หรือที่เรียกว่า “สมุฏฐานวาตะ” นั้น ได้แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ได้แก่ หทัยวาตะ (ลมในหัวใจ อันทำให้หัวใจทำงานเป็นปรกติ) สัตถวาตะ (ลมที่ทำให้เกิดอาการเสียดแทงตามส่วนต่างๆของร่างกาย) และสุมนาวาตะ (ลมในเส้น อันทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย)[๑๕]

สำหรับความเชื่อมโยงไปจากลมกองหยาบไปสู่ลมกองละเอียดได้โดยผ่าน สุมนาวาตะ โดยลมกองหยาบที่แปรไปเป็นลมกองละเอียด แล้วดันขึ้นไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย จนทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ เช่น

หากดันขึ้นมาที่หน้าอก จะทำให้เกิดแน่นหน้าอก สูงขึ้นมาอีก เรียกลมจุกคอ และเมื่อดันขึ้นศีรษะเรียกลมตีขึ้นเบื้องสูง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลมเป็นต้น [๑๓]

ดังนั้นการที่ยาลม ๓๐๐ จำพวกซึ่งแก้ลมกองหยาบนั้น ระบายเสมหะขับลมออกจากระบบทางเดินอาหาร ย่อมส่งผลกระทบทำให้ทุเลาปัญหาลมกองละเอียดได้ด้วย และสำหรับบางคนอาจจะลดอาการปวดของลมในเส้นได้ด้วย

ดังนั้นผู้ที่รับประทานยาลดความดัน จะต้องสำรวจความดันของตัวเองในระหว่างการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกด้วย ดังเช่น
หากระบายมาก ผายลมมาก อาจนำไปสู่การลดความดันร่างกายโดยรวมลง รวมถึงความดันโลหิตด้วย หากรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ควรสำรวจความดันโลหิตให้ดี หากความดันโลหิตลดลง ให้เริ่มลดหรืองดยาความดันโลหิตให้น้อยลง

ในทางตรงกันข้ามหากรับประทานยาไปแล้ว ปรากฏว่าในช่วงการขับถ่ายหรือผายลมยังไม่ได้ ในบางกรณีอาจมีความดันโลหิตสูงขึ้น ให้ทำการสวนทวารล้างลำไส้ หรือรับประทานยาถ่าย และทำการนวดท้องเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนตัว และรับประทานยาถ่ายเพิ่มเติมไป

อย่างไรก็ตามหากใครสามารถก้าวข้ามผ่านความแปรปรวนในช่วงแรกๆ ได้ทั้งรสยาซึ่งขมและเผ็ดร้อน รวมถึงการบริหารเรื่องการขับถ่ายผายลม (ทั้งน้อยเกินและมากเกิน) แล้ว ก็จะสามารถนำไปสู่ช่วงเวลาถัดไปคือความโปร่งโล่งสบาย เบาตัว และสามารถรับประทานต่อเนื่องได้เป็น “ยาอายุวัฒนะ” ที่ตำรับยานี้ได้ให้ปริศนาเอาไว้ในการให้รับประทานต่อเนื่องได้เป็นเวลา ๙ เดือนโดยไม่เว้นเลย

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง

[๑] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๓) : รสยาและสรรพคุณเภสัชไทย, เฟสบุ๊คแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4841690625890868/

[๒] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๓) : MGR Online, วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔
https://mgronline.com/daily/detail/9640000129525

[๓] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ๒๖๔ หน้า, จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม หน้า ๘๔

[๔] สมศักดิ์ นวลแก้ว ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๑๗ น.

[๕] Leonardo Freire-de-Lima, et al., Autoimmune Disorders & COVID-19, Medicines 2021, 8(10), 55; Received: 25 August 2021 / Revised: 21 September 2021 / Accepted: 26 September 2021 / Published: 28 September 2021
https://mdpi-res.com/d_attachment/medicines/medicines-08-00055/article_deploy/medicines-08-00055.pdf

[๖] Zhang, Q.; Bastard, P.; Liu, Z.; Le Pen, J.; Moncada-Velez, M.; Chen, J.; Ogishi, M.; Sabli, I.K.D.; Hodeib, S.; Korol, C.; et al. Inborn errors of type I IFN immunity in patients with life-threatening COVID-19. Science 2020, 370, 1–13
https://www.science.org/doi/10.1126/science.abd4570

[๗] Wang, E.Y.; Mao, T.; Klein, J.; Dai, Y.; Huck, J.D.; Liu, F.; Zheng, N.S.; Zhou, T.; Israelow, B.; Wong, P.; et al. Diverse Functional Autoantibodies in Patients with COVID-19. medRxiv 2020, 595, 283–288.
https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2020.12.10.20247205v5

[๘] Sedaghat, Z.; Karimi, N. Guillain Barre syndrome associated with COVID-19 infection: A case report. J. Clin. Neurosci. 2020, 76,
233–235.
https://www.jocn-journal.com/action/showPdf?pii=S0967-5868%2820%2930882-1

[๙] Toscano, G.; Palmerini, F.; Ravaglia, S.; Ruiz, L.; Invernizzi, P.; Cuzzoni, M.G.; Franciotta, D.; Baldanti, F.; Daturi, R.; Postorino, P.;
et al. Guillain-Barré Syndrome Associated with SARS-CoV-2. N. Engl. J. Med. 2020, 382, 2574–2576.
https://www.nejm.org/doi/10.1056/NEJMc2009191


[๑๐] A. C. Ford, N. J. Talley, M. M. Walker, M. P. Jones, Increased prevalence of autoimmune diseases in functional gastrointestinal disorders: case–control study of 23 471 primary care patients, Alimentary Pharmacology and Therapeutics, 2014, Page 827-834
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1111/apt.12903

[๑๑] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๔๒๖

[๑๒] สมศักดิ์ นวลแก้ว ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๑๗ น.

[๑๓] สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, บทความพิเศษ : 'ยาหอม' ลมหายใจแห่งชีวิต, หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ ๑๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ เผยแพร่เว็บไซต์ MGR Online, เผยแพร่: ๔ มี.ค. ๒๕๕๔, ๑๖.๓๙ น.
https://mgronline.com/dhamma/detail/9540000028417

[๑๔] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๕๘๐-๕๘๑

[๑๕] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร์แห่งประทศไทย กรุงเทพ, ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๒๔๕๙-๕, หน้า ๔๓๐


กำลังโหลดความคิดเห็น