xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : 'ยาหอม' ลมหายใจแห่งชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โปรยยาหอม” สำนวนเรียบง่ายที่คนไทยใช้กล่าวถึงคำพูดอันไพเราะยามสนทนา ทั้งนี้เพราะยาหอมเป็นตัวแทนของความชื่นอกชื่นใจเคียงข้างคนไทยมาช้านาน ความนิยมและคุณค่าของยาหอมนั้น เดินทางร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาโดยตลอด คล้ายดังลมหายใจที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตคนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

๏ เหตุใดยาหอม..จึงเปรียบดั่งลมหายใจแห่งชีวิต ๏

ชีวิตคืออะไร? คำถามสั้นๆที่หลายคนอาจเคยสงสัย คำตอบของคำถามนี้มีหลายทัศนะต่างกันไป แต่ในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ความหมายของคำว่า “ชีวิต” คือการ ดำรงอยู่คู่กันของรูปและนาม หรือกายและจิต ภายใต้สัจธรรมแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในที่สุดแล้วอะไรเล่าที่เป็นเครื่องแสดงว่าสิ่งๆนั้นยังดำรงชีวิตอยู่

“การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง” คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด เพราะสิ่งใดที่ปราศจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ก็เท่ากับสิ่งนั้นไร้ซึ่งชีวิต ตามแนวคิดของแพทย์แผนไทยกล่าวว่า องค์ประกอบของชีวิต คือสมดุล ของกาย จิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสามส่วนล้วนสัมพันธ์ กับธาตุทั้ง ๔ นั่นก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ในการขับเคลื่อนให้ชีวิตกระทำกิจกรรม หรือดำเนินอยู่ได้ ซึ่งธาตุลม คือ ธาตุที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนให้ธาตุอื่นๆก่อเกิดการเคลื่อนไหว ทั้งยังผลักดันให้สรรพชีวิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง กล่าวได้ว่าหากขาดธาตุลม ทุกกิจกรรมของมนุษย์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถมองเห็น หรือจับต้องธาตุลมได้ แต่ก็สามารถสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของธาตุลม ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น ลมหายใจเข้าออก นั่นเอง

แต่เพราะ “ความเสื่อม” คือ สัจธรรมของทุกสรรพสิ่ง ธาตุต่างๆในร่างกายก็มีเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ซึ่งหากธาตุลมเกิดความเสื่อม หรือไม่สามารถพัดพาได้อย่างเป็นปกติ ก็จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทั้งภายนอกภายในของมนุษย์ผู้นั้น

การบำรุงธาตุลมให้พัดพาอย่างเป็นปกติ จึงเสมือนเครื่องรับประกันหนึ่งว่า ชีวิตจะสามารถดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องได้อย่างดี ซึ่งยาหอม คือ กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของลมทั้งปวงในทุกมิติ ทั้งในด้านของการบำรุง ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาสุขภาพกายและใจที่มีลมเข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อธาตุลมทำให้เกิดการเคลื่อนไหว และการเคลื่อนไหวคือสิ่งแสดงถึงการมีชีวิตอยู่ จึงเปรียบได้ว่า “ยาหอมเป็นเสมือนสิ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้มนุษย์ได้แสดงเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขนั่นเอง”

๏ ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากลมมีอะไรบ้าง ๏


เนื่องจากลมมีความสัมพันธ์กับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในทุกระบบ ดังนั้น หากการพัดพาของลมในร่างกายผิดปกติไป การทำงานต่างๆ ของร่างกายก็จะผิดปกติตามไปด้วย ดังนี้

ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ลมมีหน้าที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวรับความรู้สึก และนำสารอาหารไปเลี้ยง หากลมเกิดความไม่สมดุลเกิดขึ้น จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก เกิดอาการชา เลือดหรือสารอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้แขนขาลีบ

ระบบทางเดินอาหาร ลมมีหน้าที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของลำไส้ ช่วยในการคลุกเคล้าอาหารกับน้ำย่อย ทำให้เกิดการย่อยอาหาร ช่วยในการพัดเอาอาหารที่ถูกย่อย (ผ่านไฟปริมาณามัคคีแล้ว ซึ่งจะทำงานในช่วงลำไส้เป็นหลัก)ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด ความรู้สึกในการรับรส ความรู้สึกอยากอาหาร และทำให้เกิด การขับถ่ายของเสียด้วย หากเกิดความไม่สมดุลของลมจะทำให้เกิดอาหารไม่ย่อย การดูดซึมของสารอาหารลดลง ทำให้เกิดความผิดปกติของการขับถ่าย เช่น ท้องผูก หรือท้องเสีย

ระบบทางเดินหายใจ ลมที่ทำหน้าที่ในการหายใจ คือ ลมหายใจเข้า และลมหายใจออก (ลมอัสสาสะปัสสาสะ) ทำหน้าที่นำอากาศเข้าไปในร่างกาย และเกิดการเปลี่ยนเลือดเก่าเป็นเลือดใหม่ที่ปอด

ระบบประสาทและสมอง เป็นลมที่เกี่ยวกับความรู้สึก รับรู้ในอายตนะทั้ง ๖ คือ ตามองเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส และยังเป็นลมที่อยู่ในสมอง (มัตถเกมัตถลุงคัง) ที่ใช้ในการสั่งงาน ในการเคลื่อนไหวต่างๆ นอกจากนี้ ลมในหัวใจ หรือหทัยวาตะ ยังเป็นลมที่ช่วยในการแสดงอารมณ์ เนื่องจากลมหทัยวาตะนั้น เกิดแต่น้ำเลี้ยงหัวใจ ซึ่งน้ำเลี้ยงหัวใจจะต่างกันไปเมื่อมีภาวะทางอารมณ์ที่ต่างกัน

ระบบไหลเวียนโลหิต ลมที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิต ทำหน้าที่นำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย (กรีสัง) และพัดเอาของเสียออก มีลมที่หัวใจ หรือหทัยวาตะเป็นตัวทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดไปทั่วร่างกาย

๏ ยาหอม ยาลม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ๏

ยาหอม ยาลม
หมายถึง ตำรับยาที่ประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด โดยส่วนใหญ่มีกลิ่นหอม และมีรสรวมของตำรับ คือ รสสุขุม เพื่อปรับการทำงานของลมชนิดต่างๆ ให้เข้าสู่สภาวะปกติ

ยาหอม
คือ ยาที่ใช้ สำหรับบำรุงหัวใจ แก้ลมกองละเอียด

ยาลม คือ ยาที่ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับลมต่างๆ โดยเน้นที่ลมกองหยาบ เนื่องจากการทำงานของลมเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นธาตุที่ขับเคลื่อนการทำงานของร่างกาย

ดังนั้น ยาหอม ยาลม ที่แท้แล้วไม่ใช่ยาคนแก่แต่เพียงกลุ่มเดียว หากรู้จักใช้ คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ยาหอมยาลมเพื่อสุขภาพที่ดีได้ทั้งนั้น แพทย์แผนไทยสมัยก่อนต้องมียาหอม ยาลม ประจำล่วมยา เพื่อใช้รักษาเบื้องต้น ร่วมกับน้ำกระสายยา แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามภายหลัง

ปัจจุบัน คนทั่วไปจึงอาจเรียกยาหอม และยาลม รวมกันเป็นคำว่า “ยาหอม” เพียงคำ เดียว

๏ ทำไมต้องยาหอม? ๏

หลายคนอาจมองว่า ยาหอมเป็นยาสำหรับอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม และสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ยาหอมใช้ได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งต้องการส่งเสริมการทำงานของธาตุทั้ง ๔ โดยเฉพาะธาตุลม เพราะหากธาตุลมปกติ ก็จะทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติสมดุลตามไปด้วย

แต่หากลมนั้นผิดปกติไป เช่น มีการกำเริบ หย่อน หรือพิการ ก็ส่งผลกระทบทำให้ร่างกายเสียสมดุล และทำงานผิดปกติตามไปด้วย ซึ่งในกรณีลมผิดปกติดังกล่าว ยาหอม คือ ยารสสุขุม กลิ่นหอม ที่บรรพชนแพทย์แผนไทยศึกษา ค้นคว้า รวบรวมไว้เป็นตำรับสืบทอดมายาวนาน ซึ่งปรุงขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลของธาตุลมให้เป็นปกติ ที่สำคัญ เมื่อค้นคว้าลงลึกในระดับประวัติศาสตร์การแพทย์ พบว่า ยาหอมเป็นเอกลักษณ์การปรุงยา ที่ปรับปรุงขึ้นตามแบบแพทย์แผนไทย ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยไม่พบการใช้ยาหอมในแพทย์แผนอื่น หรือจากชนชาติอื่น

จากการวิเคราะห์ตำรับยาหอมในหนังสืออายุรเวทศึกษา พอจะอนุมานได้ว่า ยาหอมมีส่วนประกอบหลักอยู่ ๓ ส่วน คือ

๑. เป็นยารสสุขุม มีกลิ่นหอม โดยอาศัยกลิ่น รส และ สรรพคุณจากสมุนไพรบางกลุ่ม เช่น เกสรทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ อบเชย ขอนดอก กระลำพัก กฤษณา ชะลูด เป็นต้น

๒. เป็นยาที่ใช้ปรับความสมดุลของธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)ในกาย ซึ่งอาจเกิดจากการผิดปกติ หรือการแปรผันไปตามสภาพอากาศของฤดูกาล โดยอาศัยกลุ่มพิกัดยาบางพิกัดเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ พิกัดเบญจกูล พิกัดตรีผลา พิกัดตรีกฎุก พิกัดตรีสาร เป็นต้น

๓. เป็นยาที่ใช้ในการแก้อาการที่ต้องการรักษาโดยตรง เช่น วิงเวียน จุกเสียด ใจสั่น ปวดศีรษะ ฯลฯ

ในการศึกษาตำรับยาหอม ในหนังสืออายุรเวทศึกษา พบว่า ตำรับยาหอมในนั้นสามารถรักษากลุ่มอาการผิดปกติของร่างกายได้ถึง ๙๐ อาการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นอาการหลักๆ ได้ประมาณ ๔๕ อาการ เช่น บำรุงธาตุ เจริญธาตุ แก้ธาตุพิการ บำรุงครรภ์ บำรุงกำลัง คุดทะราด อาการเหน็บชา โรคตาจักษุมืด แก้ต้อต่างๆ แก้เซื่องมึน แก้ชัก แก้คลั่งเพ้อ แก้ระส่ำระสาย แก้ลิ้นกระด้างคางแข็ง แก้สลบ แก้นอนไม่หลับ แก้โรคลม เจริญอาหาร แก้ลมต่างๆ แก้วาโยธาตุกำเริบ แก้กระหายน้ำ แก้มือเท้าตาย แก้ไข้ แก้ร้อนใน บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้พิษ แก้น้ำนม แก้โทษโลหิต แก้อาโปธาตุ แก้กระษัย เป็นต้น

ทั้งนี้ เหตุที่ยาหอมนั้นสามารถที่จะแก้ได้หลายอาการ ก็ด้วยเหตุผล คือ ยาหอมนั้นช่วยในการปรับลม ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายดีมากขึ้น ช่วยในการปรับธาตุที่เสียสมดุลของสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งยังมีตัวยาเฉพาะ ที่ช่วยในการรักษาโรคบางชนิด แสดงให้เห็นถึงความผูกพันกับชีวิตมาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวาระสุดท้ายตามที่กล่าวไว้ สรรพคุณที่ได้จากยาหอมจึงเปรียบ เสมือนลมหายใจที่อยู่คู่กับชีวิตมาตั้งแต่ต้นจนจบนั่นเอง

คุณภาพ เหตุผล และสรรพคุณของยาหอมเหล่านี้ จึงเป็นเสมือนคำตอบให้กับผู้ที่คลางแคลงใจได้ดีว่า การใช้ยาหอมนั้นสามารถช่วยบำรุงรักษาสุขภาพได้ในทุกๆด้านได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังเสมือนการช่วยส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญา และต่อลมหายใจให้กับวัฒนธรรมการปรุงยาของประเทศ ให้ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านานได้อีกด้วย

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ยาหอม ลมหายใจแห่งชีวิต” โดยสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข)

ทำความรู้จักกับชนิดและทางเดินของลมในร่างกาย

ธาตุลมในแพทย์แผนไทย มีทั้งหมด ๖ ประเภท โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ลมกองหยาบ และลมกองละเอียด ซึ่งมีแนวทางการพัดพาผ่านเส้นทางการพัดของลมหลัก ๑๐ เส้นทาง (เส้นประธานสิบ) เชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย และกระบวนการทำงานของร่างกาย ได้แก่

ลมกองหยาบ (โอฬาริกะวาตะ) เป็นลมที่เกิดขึ้นในช่องท้อง เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ซึ่งแนวของลมชนิดนี้ อยู่ในแนวแกนกลางของร่างกาย หากลมกองนี้เกิดความไม่สมดุลไป อาจทำให้เกิดท้องผูก ท้องเสีย อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่น สาเหตุของการเกิดลมกองหยาบไม่สมดุลมาจากระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิด และแนวทางเดินของธาตุลมนั้นๆ ซึ่งในลมทั้ง ๖ ประเภท แบ่งเป็นลมกองหยาบ ๔ ชนิด ดังนี้

• ลมที่พัดในท้อง นอกลำไส้ (กุจฉิสยาวาตา) คือ ลมที่พัดอยู่ภายนอกกระเพาะ และทางเดินอาหาร ถ้าลมชนิดนี้พิการ จะมีอาการเจ็บท้อง ลำไส้เกิดการบีบตัวมาก และในจุดนี้เชื่อมโยงกับเส้นทางพัดพาของลมทั้ง ๑๐ เส้น (เส้นประธานสิบ) เพราะท้องเป็นจุดกำเนิดของเส้นประธานสิบทั้งปวง

• ลมที่พัดในท้อง ในลำไส้ (โกฏฐาสยาวาตา) คือ ลมในกระเพาะ และทางเดินอาหาร หากพิการจะทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก อาเจียน เมื่อเทียบกับแนวทางเดินของเส้นประธานสิบ พบว่า ตำแหน่งของลมนี้เป็นทางผ่านของเส้นประธานสิบ ๓ เส้น คือ เส้นสุมนา สหัสรังสี และเส้นจันทภูสัง

• ลมพัดขึ้นเบื้องบน (อุทธังคมาวาตา) คือลมที่พัดนับแต่สะดือถึงศีรษะ ทำให้เรอ อาเจียน และไอ หากพิการ ทำให้หาวเรอบ่อยๆ ทุรนทุราย เมื่อเทียบกับแนวทางเดินของเส้นประธานสิบ พบว่า ตำแหน่งของลมชนิดนี้ เป็นทางผ่านของเส้นประธานสิบถึง ๘ เส้น คือ เส้น อิทาปิงคลา สุมนากาลทารีสหัสรังสี ทวารี จันทภูสัง และรุชัง

• ลมที่พัดลงเบื้องล่าง (อโธคมาวาตา) คือลมที่พัดตั้งแต่สะดือถึงปลายเท้า ทำให้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หากพิการ ทำให้ยกมือเท้าไม่ได้ เมื่อยขบทุกข้อ เมื่อเปรียบกับแนวทางเดินของเส้นประธานสิบ พบว่า ตำแหน่งของลมชนิดนี้ เป็นทางผ่านของเส้นประธานสิบ ๙ เส้น ด้วยกัน คือ เส้นอิทา ปิงคลา กาลทารี สหัสรังสี ทวารี จันทภูสัง รชุง สิกขิณี และสุขุมัง

ลมกองละเอียด (สุขุมะวาตะ) คือ ลมที่มีลักษณะละเอียดอ่อน อ่อนโยน นุ่มนวล ซึ่งลมกองนี้จะอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่พัดนำเอาสารอาหาร (กรีสัง)ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และยังนำเอาของเสียออกมาจากอวัยวะต่างๆ ลมกองละเอียดยังมีหน้าที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดการรับรู้ และโต้ตอบสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตใจ (อายตนะ ๖) ซึ่งลมกองละเอียดนี้ มีความเกี่ยวข้องกับจุดควบคุมลมทั้ง ๓ จุด คือ ๑. ลมในหัวใจ (หทัยวาตะ) ซึ่งทำให้จิตระส่ำระสาย เกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ ๒. ลมในการรับความรู้สึกและการรับรู้ (สัตถกะวาตะ) ๓. ลมที่พัดในแนวกลางลำตัว (สุมนาวาตะ) ซึ่งกรณีหลังนี้เกิดจากลมกองหยาบที่แปรไปเป็นลมกองละเอียด แล้วดันขึ้นไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น หากดันมาที่หน้าอก จะทำให้แน่นหน้าอก สูงขึ้นมาอีก เรียกลมจุกคอ และเมื่อดันขึ้นศีรษะ เรียกลมตีขึ้นเบื้องสูง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม เป็นต้น ซึ่งจากลม ๖ ประเภท แบ่งออกเป็นลมกองละเอียด ๒ ชนิด คือ

• ลมพัดทั่วกาย (อังคมังคานุสารีวาตา) เป็นลมที่พัดในช่วงกลางลำตัว(สุมนาวาตะ) แล่นไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว หากพิการจะมีอาการหูอื้อ ตาลาย เห็น แสงไฟระยิบระยับ เมื่อเปรียบกับแนวทางเดินของเส้นประธานสิบ พบว่า ตำแหน่งของลมนี้เป็นทางผ่านของเส้นการเดินทางหลักของลมทั้ง ๑๐ เส้นทาง (เส้นประธานสิบ) เนื่องจากเป็นลมที่พัดทั่วร่างกาย

• ลมหายใจเข้าออก (อัสสาสะปัสสาสะวาตา) คือ ลมหายใจเข้าออก พัดในแนวกลางของลำตัว ทำให้มีชีวิตคงอยู่ได้ เป็นลมที่พัดในแนวของสุมนาวาตะ เมื่อเปรียบกับแนวทางเดินของเส้นประธานสิบ พบว่า ตำแหน่งของลมอัสสาสะปัสสาสะวาตา เป็นทางผ่านของเส้นประธานสิบเพียงเส้นเดียว คือเส้นสุมนา

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย สถาบันการแพทย์แผนไทย)


กำลังโหลดความคิดเห็น