xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปี 65 ลุงตู่ “พอไปได้” ในเก้าอี้นายกฯ แม้ “ชำรุดยุทธ์โทรม” แต่ “คู่เทียบ” ยังไม่แกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้เกณฑ์ชะตาหรือพื้นดวงของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี 2565 จะยังคง “แข็งแกร่ง” ตามที่โหราพยากรณ์เอาไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะผ่านพ้นไปได้ง่ายๆ ในสถานการณ์จริง


ในปีวัวดุ 2564 ว่าแสนสาหัสแล้ว ใน “ปีเสือ 2565” ก็น่าจะดุไม่น้อยกว่าปีวัว จนใครๆ ก็มองว่าฝ่ายครองอำนาจอย่าง “รัฐบาล 3 ลุง” น่าจะอยู่ในภาวะ “เสือลำบาก” ด้วยปัจจุบันทั้งตัวรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะยังถือไพ่เหนือกว่าทุกฝ่ายใน “เกมอำนาจ” แต่ก็อยู่สภาพ “ชำรุดยุทธ์โทรม” ตามที่สื่อทำเนียบฯ ขนานนามให้

นับจนวันนี้เป็นเวลาเกือบ 8 ปีเต็มที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึงเข้าปีใหม่ 2565

ก็มีคำถามว่า หลังสร้างประวัติการณ์เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี “ป.ประยุทธ์” รวมไปถึงคีย์แมนในองคาพยพ ทั้ง “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะยัง “ยื้อยุทธ์” เข็นเรือเหล็กลำนี้ไปต่อได้ตามโรดแมป “เขาอยากอยู่ยาว”

ตาม “รัฐธรรมนูญ 2560” ที่รู้กันว่าดีไซน์มาเพื่อให้ “ประยุทธ์” อยู่โยงในตำแหน่งนายกฯ 2 สมัย หรือ 8 ปี ที่ไม่รวมกับ 5 ปีในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามเป้าระยะยาวโรดแมปปฏิรูปประเทศ 20 ปี

หรืออาจจะถึงเวลาที่ “3 ป.” ต้อง “ลงจากหลังเสือ” เสียที

เพราะดูเหมือนว่า หลังปรับโหมดเข้าสู่รัฐบาลเลือกตั้ง “คณะ 3 ลุง” ต้องเผชิญกับบททดสอบที่สาหัสสากรรจ์แบบที่ไม่เคยเผชิญในช่วงอำนาจล้นมือยุครัฐบาล คสช. โดยเฉพาะปี 2564 ปีที่ 3 ของ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ที่ไม่เพียงต้องคุกคาม “โควิด-19” ที่ล่อรัฐบาลจนงอมพระรามข้ามปี

ซ้ำร้ายแนวรบด้านการเมืองที่เคยแข็งแกร่งไม่ต่างจาก “เรือเหล็ก” ก็มีอันออกอาการง่อนแง่นให้เห็น จนไม่น่าเชื่อว่า “ลุงตู่” ผู้ทรงอิทธิพล เกือบพลาดพลั้งตกจากเก้าอี้นายกฯ กลางสภาฯ มาแล้ว

ปี 2565 ปี ที่เป็นปีครบรอบ 8 ปียุค “ประยุทธ์” ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่า “รัฐบาลประยุทธ์” จะได้ไปต่อเป็นสมัยที่ 3 หรือไม่ กับ 15 เดือนต่อจากนี้ ก่อนครบเทอมสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ และต้องมีการเลือกตั้งใหญ่ไม่เกินเดือนมีนาคม 2566

โดยต้องจับตาไปที่หลายประเด็นร้อนที่รอต้อนรับรัฐบาล 3 ลุงในปีขาล ที่ส่วนใหญ่เป็นแนวรบด้านการเมือง ทั้งศึกนอก-ศึกใน ที่อาจส่ง “3 พี่น้องบูรพาพยัคฆ์” ต้องลงจากหลังเสือก่อนโรดแมปที่วางไว้ก็เป็นได้

แน่นอนว่าอริราชศัตรูที่รัฐบาลประยุทธ์ยังต้องปะมือไปตลอดปี 2565 หนีไม่พ้นไวรัสมรณะ “โควิด-19” หลังตลอดปี 2564 ต้องเจอกับสายพันธุ์ “เดลตา” ทวีความรุนแรงจนควบคุมไม่อยู่ ถล่มระบบสาธารณสุขไทยจนเกือบล่ม ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานทะลุ 2 ล้านราย และผู้เสียชีวิตอีกมากกว่า 2 หมื่นราย ทำให้ต้องล็อกดาวน์-ปิดประเทศไปกว่าครึ่งค่อนปี

พอเริ่มตั้งหลักได้ เป้าหมายฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสได้เร็วกว่ากำหนด เริ่มเปิดประเทศ คิดออฟแซนด์บ็อกซ์ ฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ได้ไม่นาน ก็มาเจอวายรายสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่แม้ล่าสุดจะมีผลวิจัยยืนยันว่า ไม่มีฤทธิ์รุนแรง อีกทั้งวัคซีนส่วนใหญ่ยังป้องกันได้ แต่ก็ “ติดง่าย-กระจายเร็ว” อย่างหลายประเทศในยุโรป-สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่

ขณะที่สถานการณ์จริงในไทยช่วงส่งท้ายปีเก่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน 2,437 คน ถึง 3,000 คนต่อวัน จำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นรายวันเป็นเท่าตัวอย่างมีนัยสำคัญ

และหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขในระดับ “เลวร้ายที่สุด” หรือเวิสท์ เคส ซีนาริโอ (worst case scenario) หลังเทศกาลปีใหม่ที่ว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อช่วงมีนาคม-กรกฎาคม 2565 จำนวน 30,000-40,000 คนต่อวัน จนต้องย้อนกลับไปล็อกดาวน์-ปิดประเทศอีก ก็เท่ากับลบล้างผลงานโบว์แดงในการฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศได้เร็วและเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไปอย่างสิ้นเชิง

ทำลายความเชื่อมั่น ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ถึงเวลานั้นคะแนนนิยมรัฐบาลคงกู่ไม่กลับ

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ มีการประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ประเทศกำลังพัฒนาโตเฉลี่ยที่ 6.4% ส่วนในอาเซียน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประเมินว่าโตที่ราว 3%

ส่วนเศรษฐกิจไทยกลับโตเพียง 0.9-1% เท่านั้น เท่ากับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ทั้งที่ทุกประเทศเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 เหมือนกันหมด

เชื่อว่าปีนี้รัฐบาลเตรียมงัด “ตัวช่วยพิเศษ” อย่างการกู้เงิน ที่มีการขยายปรับเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% ให้เป็น 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงิน ได้อีกราว 1.6 ล้านล้านบาท

เชื่อว่าตลอดทั้งปีนี้ “นายกฯ ตู่” จะยังคงถูกฝ่ายค้านตามล้างตามเช็ดไม่เลิก สำหรับข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ หรือกรณี “เหมืองทองอัครา” ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ “คณะอนุญาโตตุลาการ”

เป็นผลพวงมาการที่ “ประยุทธ์” ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 จนเป็นคดีฟ้องร้องกัน เพราะเอกชนมองว่าการใช้มาตรา 44 ของ “บิ๊กตู่” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งฝ่ายค้านก็พยายามเล่นประเด็นว่า ประชาชนเจ้าของประเทศอาจต้องรับผิดชอบแทน “บิ๊กตู่” ในกรณีที่มีคำชี้ขาดให้ไทยแพ้ โยงไปถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีอื่น ที่ระบุว่า “บิ๊กตู่” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐตาม

เท่ากับหากแพ้คดี “ประยุทธ์” อาจต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเอง

ล่าสุด อนุญาโตตุลาการในคดีข้อพิพาทเหมืองทอง ได้เลื่อนการออกคำชี้ขาดจากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 เนื่องจากการเจรจาระงับข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่ดี

ในทางคดีหากมีการระงับ หรือยุติข้อพิพาทย่อมเป็นผลดีมากกว่าการให้คณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาด ที่ไม่สามารถคาดเดาผลที่ออกมาได้

หากแต่ฝ่ายค้านก็ออกมาระบุว่า มีกระแสข่าวออกมาเนืองๆว่า รัฐบาลไทยเจรจาในลักษณะ “ยอมทุกประตู” ทั้งการยอมเพิ่มพื้นที่ให้คิงส์เกตสำรวจ และทำเหมืองทองคำเพิ่มเติม หรือการยกคดีด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในศาลไทยทั้งหมด เป็นต้น

แล้วถ้าการเจรจาเป็นจริงอย่างที่ฝ่ายค้านดักคอ น่ากลัวเหลือเกินว่า หากถูกขยายความว่า “ขายชาติเอาตัวรอด” ข้อหาร้ายแรง ก็อาจทำให้ “ประยุทธ์” ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

ช่วงเดือนมกราคม 2565 เช่นกัน ก็จะมีเทศกาลเลือกตั้งซ่อม 3 เขตเลือกตั้ง คือที่เขต 1 จ.ชุมพร, เขต 6 จ.สงขลา และเขต 9 กทม. อันเป็นผลพวงจากคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ที่ให้แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่เป็น ส.ส. 5 คน รวมไปถึง สิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.

น่าสนใจตรงที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัครลงแข่งทั้ง 3 เขต แม้ว่า 2 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้จะเป็นของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพรรคร่วมรัฐบาล ก็ตาม

แถมงานนี้ “กระบี่มือหนึ่ง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยนำพาพรรคชนะเลือกตั้งซ่อมมาทุกสนาม ดูจะเลือกลอยตัวไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างที่ควรจะเป็นในฐานะ “แม่บ้านพรรค”

ส่งให้ขุนพลคนอื่นรับหน้าเสื่อเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ได้แก่ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่ จ.ชุมพร - สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ จ.สงขลา และล่าสุด ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ที่ กทม. เขตหลักสี่-จตุจักร

“สันติ-สุชาติ-ชัยวุฒิ” เป็น 3 ใน 6 รัฐมนตรี ที่ยืนเคียงข้าง “นายกฯตู่” สู้กับ “กบฎผู้กอง” เมื่อหลายเดือนก่อนนั้นเอง

หากพังพาบที่สนามเลือกตั้งไหน ก็ย่อมเสียเครดิต-เสียรังวัด ให้ “ผู้กองนัส” ที่นั่งอยู่บนภูดูสถานการณ์ ใช้ “ขิงใส่” ในทางการเมือง

แล้วยังบลัฟไปได้ถึงความเสื่อมในคะแนนนิยมของตัว “ลุงตู่” ในพื้นที่ภาคใต้-กทม.ที่เคยเข้มขลังอีกด้วย

ต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่ถูกถ่างถ่วงจนยังไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อใด เหตุเพราะ “ค่ายพลังประชารัฐ” ยังควานหาตัวผู้สมัครฯที่สมน้ำสมเนื้อกับผู้สมัครที่ประกาศตัวไปแล้วไม่ได้

และไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะส่ง หรือไม่ส่ง แต่หากปล่อยให้ขั้วตรงข้ามเข้าวิน ก็ไม่พ้นโดนล้อมาถึง “นายกฯ ลุงตู่” อยู่ดี

ถัดมาที่ “ม็อบสามนิ้ว” ของกลุ่มคณะราษฎร ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “รัฐบาลประยุทธ์” มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เปิดหัวด้วยการจุดประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ทะลุป้ายไปถึง “สถาบันเบื้องสูง” เรื่อยไปจนถึงความรุนแรงจากการชุมนุมแบบ “ทะลุแก๊ส” เป็นปัจจัยสำคัญให้ช่วงหลัง “แก๊งสามนิ้ว” ดูจะแผ่วลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่การยอมรับจากสังคมไทย รวมทั้งแกนนำ-แกนตามหลายรายถูกคดีความต้องเข้าไปจองจำในคุกด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดียุยงปลุกปั่นนับสิบราย

ตลอดจนปัญหาความขัดแย้ง-ผลประโยชน์ภายในม็อบสามนิ้วเอง

ทำให้รัฐบาลที่เคยโซซัดโซเซอย่างหนักในช่วงที่ม็อบสามนิ้วพีคๆ ดูจะเบาแรงไปพอสมควร “ข้ออ้าง” ที่ยังพอเลี้ยงกระแสม็อบสามนิ้วได้บ้าง ก็มีแคมเปญ “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว-ให้ประกันผู้ที่ถูกคุมขังอยู่เท่านั้น

พร้อมทั้งฉวยจังหวะผสมโรงกับผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ม็อบบางกลอย ม็อบนาบอน ม็อปพีมูฟ และม็อบจะนะรักษ์ถิ่น เป็นอาทิ ก็ล้วนแล้วแต่จะมี “ม็อบสามนิ้ว-คนการเมือง” โผล่เข้าไปแจมด้วยเสมอ

รูปแบบการทำงานของรัฐบาลช่วงหลัวก็เป็นไปในแบบ “ปะผุ” คอยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ไข เป็นเหตุเมื่อเกิดปัญหาให้ผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ กรีฑาทัพเข้ามาประชิดทำเนียบรัฐบาลบ่อยครั้ง เพราะรู้ว่าเป็นวิธีการกดดันรัฐบาลได้ดีที่สุด

ที่สำคัญยังมีความเดือดร้อนของประชาชนที่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่า น้ำมันแพง-ผักชีแพง มาจนถึงเนื้อหมูราคาแพง ทุกประเด็นปัญหาก่อให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องได้ทั้งสิ้น

หากปล่อยให้ม็อบผุดเป็นดอกเห็ด ถึงเวลาแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกัน บวกกับแรงเสริมของ “คนการเมือง” ทั้งฝ่ายเดียวกัน และฝ่ายตรงข้าม ก็น่ากลัวว่าจะมีการปั่นกระแส-จัดตั้ง “ม็อบการเมือง” แวะมากดดันรัฐบาลไม่เว้นสัปดาห์ ก่อนจะรวบตึงกลายเป็นม็อบใหญ่ขับไล่รัฐบาล

ยิ่งหาก “ม็อบสามนิ้ว” หาทางคัมแบ็กกระแสกลับมาได้ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง

หันกลับมาที่การเมืองในระบบ กับเหตุการณ์ “สภาฯ ล่ม” ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

ทั้งที่ฝ่ายรัฐบาลกุม “เสียงข้างมาก” ในสภา กว่า 275 เสียง แต่รอบ 2 ปีที่ผ่านมากลับเกิดเหตุการณ์สภาฯล่ม มากกว่า 10 ครั้ง

ยังไม่นับรวมอีกหลายต่อหลายครั้งที่ประธานในที่ประชุมต้องตัดบทสั่งปิดการประชุมก่อนกำหนด เพราะเห็นว่าผู้เข้าร่วมประชุมบางตา อาจถูกชิงจังหวะขอนับองค์ประชุมได้

ปี 2564 จึงเป็นอีกครั้งที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา มอบฉายาวิพากษ์กรณีการเกิดสภาฯล่มว่า “สภาอัปปาง” ให้กับสภาผู้แทนราษฎร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็น “เกมการเมือง” ของฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย ที่ไม่ร่วมแสดงตนยามตรวจนับองค์ประชุม

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การทำงานของฝ่ายรัฐบาลในสภาฯ เริ่มหละหลวมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังที่ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นเป็นนักการเมืองสไตล์ “มึงมาพาโวย” เข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาล หรือวิปรัฐบาล
ในความเป็นจริง “นิโรธ” ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลเอง พูดกันถึงขนาดว่า “ไร้บารมี” แต่วาสนาส่งให้มาเป็นประธานวิปรัฐบาลก็เพราะ “สายแข็ง-สายตรง” มีสายสัมพันธ์กับ “เสธ.คนดัง” ที่ประจำการบนตึกไทยคู่ฟ้าเท่านั้น

เมื่อเกมในสภาฯ ของฝ่ายรัฐบาลเสียทรงขนาดนี้ ก็เป็นโอกาสของฝ่ายค้าน ในการงัด “เกมการเมือง” มาเล่นงานได้ทุกจังหวะ โดยเฉพาะหากมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

และที่น่าสนใจไปกว่านั้น มีการจับตามองว่าอาจมีรายการ “ผสมโรง-วางยา” กันเองใน “ฝ่ายรัฐบาล” ด้วยหรือไม่

ส่ง “สัญญาณอันตราย” ฟ้องถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งเรื่องการคุมเสียงของวิปรัฐบาล และปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งหากปล่อยให้สภาล่มเรื้อรังเช่นนี้ แล้วไปเกิดเหตุในช่วงพิจารณากฎหมายสำคัญ หรือกฎหมายการเงิน ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ก็อาจต้องปิ๋วโดยอัตโนมัติ

ขืน “บิ๊กตู่” ยังไม่ให้ราคาสภาฯ อย่างที่เป็นมา ก็น่ากลัวจะเกิดอุบัติเหตุให้ “บิ๊กตู่” ต้อง “อัปปาง” ไปพร้อมกับสภาฯ ได้

ในปี 2565 ไม่เพียงศึกนอกที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องรับมือ แต่ศึกในพรรคพลังประชารัฐเอง หลังจากที่ปี 2564 เกิด “กบฎผู้กอง” ที่กลายมาเป็นเหตุการณ์แห่งปี และเกิดรอยร้าวขึ้นภายใน “3 ลุง” จนน่าห่วงว่า เสถียรภาพของรัฐบาลว่า จะอยู่ต่อไปจนครบเทอม 4 ปี หรือเดือนมีนาคม 2566 หรือไม่
นับแต่นั้นเป็นต้นมา “ลุงตู่-ลุงป๊อก” ก็ต้องประจันหน้ากับ “ทีมลุงป้อม” ที่เป็นหอกข้างแคร่ในรัฐบาลมาตลอด และนานวันเข้าช่องว่างระหว่าง “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” กับ “ผู้กองนัส” ยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆ

แถมทำไปทำมา กลายเป็น “พี่ป้อม” ที่หนุนหลัง “ธรรมนัส” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู กับ “น้องตู่-น้องป๊อก” ที่ “กินใจ” กันเองไปด้วยซ้ำ

ขนาด 2 เก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างอยู่ จนป่านนี้ “3 ลุง” ก็ยังหาจุดลงตัวกันไม่ได้

ทำให้มองกันว่า “ค่ายพลังประชารัฐ” ที่ “ลุงป้อม” นั่งเป็นหัวหน้าค่าย และ “ผู้กองนัส” เป็นแม่บ้านอยู่ อาจจะไม่ใช่นั่งร้านที่จะเชิด “ลุงตู่” ขึ้นเป็นนายกฯ อีกสมัย

แต่ด้วยความที่เป็น “ตัวขาย” ของ “ลุงตู่” โดยเฉพาะในแง่ของสัญลักษณ์ตัวแทนต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ-ม็อบป่วนเมือง ที่พยายามบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเชื่อว่าจะมีพรรคที่พร้อมเสนอชื่อ “ประยุทธ์” ลงลุยเลือกตั้งอีกสมัยอย่างแน่นอน ถึงจะไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐก็ตาม

ไม่ว่า จะเป็น “พรรคปลัดฉิ่ง” ที่ระยะหลังจะเงียบไปแล้ว แต่ก็พร้อมปัดฝุ่นมาว่ากันใหม่ได้ หรือ “ไทยสร้างสรรค์” ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียน ก็มีร่องรอยความเชื่อมโยงว่าเป็นพรรคสำรองของ “ประยุทธ์” เป็นอาทิ

ถึงไม่มีพรรคพลังประชารัฐ ก็เชื่อว่า “ประยุทธ์” ยังลุยไปต่อได้

ปมที่น่าห่วงที่สุดของ “ประยุทธ์” ในปี 2565 น่าจะหนีไม่พ้นประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ว่าจะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด

ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัย คสช.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะต้องอยู่ในตำแหน่งได้ถึงวันที่เท่าไหร่

ตามข้อเท็จจริง “ประยุทธ์” ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หากนับกำหนด 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะหมดวาระในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 อย่างไรก็ดีกรณีนี้มีหลากหลายความเห็นที่แตกต่าง บ้างว่านับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯ บ้างก็ว่าให้นับหลังรับธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในปี 2560 หรือครบกำหนด โดย 8 ปีจะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2568

และให้นับจากวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ในรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นการโปรดเกล้าฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่างจากครั้งแรกที่โปรดเกล้าฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ทว่า ล่าสุดได้มี “ความเห็น” ออกมาจาก ฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบ โดยระบุว่า “การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย”

เท่ากับว่าวาระ 8 ปีของ “นายกฯประยุทธ์” จะไปสิ้นสุดที่ในเดือนมิถุนายน 2570 เท่ากับว่า สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้งในการเลือกตั้งรอบหน้าได้

อย่างไรก็ตาม เป็นเพียง “ความเห็น” ออกมาจาก ฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่สุดแล้วเชื่อว่าเมื่อถึง “ป้ายแรก” วันที่ 23 สิงหาคม 2565 จะต้องมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตีความอย่างแน่นอน

และเมื่อสำรวจตรวจสอบในกระดานการเมืองไทยตอนนี้ ก็เห็นจะมีแต่ “ค่ายเพื่อไทย” ที่เตรียมปั้น “มาดามอุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเข้ามาชิมลางรับตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย เมื่องานประชุมใหญ่พรรคที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น ปลายเดือนนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

พร้อมกับการปล่อยแคมเปญ “พรุ่งนี้เพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” เน้นธีมสี “แดงล้วน” ขาดหาย “สีน้ำเงิน” ในโลโก้พรรคไปอย่างน่าตั้งข้อสงสัย

ถือเป็นการหงายไพ่ใบสำคัญ ที่เดาไม่ยากว่า วางตัว “แพทองธาร ชินวัตร” เพื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เพื่อสานต่อตำนานนายกฯตระกูลชินวัตรคนที่ 3 และตำนานนารีขี่ม้าขาวภาค 2 หลังจากที่เมื่อปี 2554 เคยใช้เวลาแค่ 49 วันปั้นให้ “คุณหนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยมาแล้ว

ในความเป็นจริง หลังเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” ถือว่าเรียกกระแสฮือฮาได้พอสมควร แต่จากนั้น “ลูกสาวนายใหญ่” ก็ดูจะเงียบๆไป ราวกับมีบางอย่างไม่เป็นไปตามแผน อีกทั้งยังมีข้อกังขาในเรื่องประสบการณ์ทำงาน เพราะคนไทยก็เคย “เข็ด” มาแล้วในสมัย “นายกฯ ยิ่งลักษณ์”

ทว่า ก็มีการประเมินกันว่า เส้นทางของ “อุ๊งอิ๊ง” และพรรคเพื่อไทย อาจประสบอุบัติเหตุซ้ำรอยพรรคไทยรักไทยสมัย “ทักษิณ” หรือพรรคพลังประชาชน พรรคในเครือข่ายพัดมา

สำรวจตรวจสอบกรณีที่ “ค่ายเพื่อไทย” ถูกร้องคาไว้ในที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหลายกรณี อาทิ กรณีคนนอกครอบงำพรรค จากคลิปงานเลี้ยง ส.ส.เพื่อไทย ที่มีวิดีโอคอลจาก “ทักษิณ” เกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์พรรค และหัวหน้าพรรคคนใหม่

กรณีขับ “พี่หนวด” ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ “เจ๊ก้อย” พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ออกจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากโหวตสวนมติพรรค ที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกรณี ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย กระทำการเรียกรับเงินต่ออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

กระทั่งกรณีให้การสนับสนุนม็อบล้อล้างการปกครอง อันเป็นปากคำจาก “แอมมี่ The Bottom Blues” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แกนนำคณะราษฎร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการเงินในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง

จนน่ากลัวว่า ไพ่เด็ดอย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แม้จะทรงดี แต่สุดท้ายอาจไม่ได้ใช้งาน พรรคไทยรักษาชาติในเครือข่าย ที่ถูกยุบไปเมื่อก่อนการเลือกตั้ง 2562 ไม่นาน

เอาว่า ตามหน้าเสื่อปัจจุบัน ที่ “ตัวเทียบ”ยังไม่แกร่งมากพอ ก็ต้องยกให้ “ประยุทธ์” ที่พก “ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก” ส.ว. 250 เสียง ยังดูดีที่สุดในบรรดาแคนดิเดต ณ ปัจจุบัน และ “พอไปได้” ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป.




กำลังโหลดความคิดเห็น