xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ระเบิดเวลา “กองทุนชราภาพ” ถังแตก โจทย์ใหญ่ที่ “รัฐบาลลุง” ไม่กล้าแตะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  “กองทุนชราภาพ” ความหวังของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่จะมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยยามแก่เฒ่าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 – 4,000 บาท มีโอกาสกลายเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่ากองทุนนี้มีเม็ดเงินพอจ่ายไปอีกเพียง 20 ปีกว่าเท่านั้น หากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย แต่การขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ที่นำเสิร์ฟในช่วงนี้ก็อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่บรรดานายจ้าง-ลูกจ้างต่างลอยคอกลางวิกฤตโควิด-19 เป็นเหตุให้รมว.แรงงาน ต้องแตะเบรกเอาไว้ก่อน  


กลายเป็นกระแสร้อนฉ่าก่อนถูกดับให้เย็นลงก่อนลุกลาม สืบเนื่องจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โยนหินถามทางเรื่องการขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ โดยยกเหตุผลว่าโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีจำนวนแรงงานลดลง มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น อีกทั้งระบบการแพทย์และสุขภาพที่ดีขึ้นส่งผลอายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญตลอดชีวิตยาวนานขึ้น

สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ทำให้ต้นทุนของกองทุนฯ เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้นมากจนกระทบต่ออัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องนำส่ง สำนักงานประกันสังคม จึงมีนโยบายปรับปรุงอายุที่จะได้รับสิทธิบำนาญหรือที่เรียกกันว่าอายุเกษียณ ให้เกิดความสมดุลกับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ และการควบคุมต้นทุนระบบบำนาญให้เหมาะสม โดยขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ตามแนวทางปฏิรูประบบบำนาญชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่มีอายุน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ

สำนักงานประกันสังคม ยังหว่านล้อมว่า การขยายอายุเกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญในอัตราที่สูงขึ้นด้วย โดยจะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อทุกปีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ ตัวอย่างเช่น หากส่งเงินสมทบกรณีชราภาพตั้งแต่อายุ 30 ปี และทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับทำงาน 25 ปี หากมีค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 15,000 บาท จะได้บำนาญในอัตรา 35% ของ 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 5,250 บาท หากขยายระยะเวลาการทำงานถึงอายุ 60 จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 7.5% ทำให้บำนาญเพิ่มเป็น 42.5% ของค่าจ้าง 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 6,375 บาท (เพิ่มขึ้น 1,125 บาท) ไปตลอดชีวิต

แนวทางดังกล่าวสำนักงานประกันสังคม ได้สำรวจและรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สปส. และมีการสรุปการรับฟังความคิดเห็นให้ทราบด้วยแล้วและอยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ. และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในลำดับถัดไป

ทันทีที่ปรากฏเป็นข่าวคราวขึ้นมา ปฏิกิริยาของสังคม โดยเฉพาะในหมู่ลูกจ้างซึ่งประสบปัญหาในการทำงานช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 กันถ้วนหน้า ต่างไม่อยู่ในอารมณ์รับฟังเหตุและผลที่สำนักงานประกันสังคม ยกขึ้นมากล่าวอ้าง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นาๆ ว่าทำไมรัฐบาลถึงมาซ้ำเติมลูกจ้างที่มีความหวังว่าจะมีเงินจากกองทุนชราภาพมาเลี้ยงชีวิตหลังเกษียณอายุ 55 ปี ซึ่งพนักงานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่มักถูกนายจ้างเลิกจ้างเพราะอายุมาก แล้วช่วงเวลา 5 ปี ระหว่างรอเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพ จะเอาเงินที่ไหนจับจ่ายใช้สอย ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด การทำมาหากินก็ฝืดเคืองกันไปหมด

นอกจากนี้ ยังมีคำถามด้วยว่า ผู้ประกันตนที่ “ใกล้เกษียณอายุ” จะไม่ได้รับผลกระทบนั้น ขีดเส้นไว้ที่อายุเท่าไหร่ และ “ผู้ประกันตนอายุน้อย” จะเริ่มนับจากปีไหนถึงว่าอายุน้อย

กระแสสังคมที่คัดค้านการขยายเวลาเกษียณและความไม่ชัดเจนดังกล่าวข้างต้น ทำให้  นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณายกเลิกแนวคิดที่จะขยายอายุรับสิทธิรับบำนาญจาก 55 ปี ไปเป็น 60 ปี ออกไปก่อน เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่โควิด-19 ทำเอาเศรษฐกิจสาหัส ตกงานกันถ้วนหน้าเท่านั้น หลายๆ เรื่องยังทำให้กระแสความนิยมของ “รัฐบาลลุง” อยู่ในสภาพสาละวันเตี้ยลงอีกต่างหาก ดังนั้นขืนทะเล่อทะล่าปล่อยให้เกิดกระแสโจมตี โดยที่นายสุชาติ ไม่ขยับดับกระแสมีหวังถูกขยายความกลายเป็นประเด็นการเมืองในก๊วนก๊กพรรคพลังประชารัฐ และฝ่ายค้านที่จ้องเล่นทุกประเด็นอีกต่างหาก

มาดูสถานะกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนชราภาพที่จะมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า กองทุนประกันสังคม ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้าย หรือดูแลนับจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ภายใต้หลักการสำคัญคือ การเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน
ปัจจุบันผู้ประกันตนภายใต้กองทุนฯ มีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 สำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการ, ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาแล้วซึ่งถือเป็นภาคสมัครใจ และผู้ประกันตนมาตรา 40 สำหรับผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบและลูกจ้างที่มิใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการ

หากพิจารณาเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นภาคบังคับนั้น พบว่า ในปี 2563 ผู้ประกันตนมีจำนวน 11.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 มีจำนวน 1.7 ล้านคน และ 3.4 ล้านคน ตามลำดับ โดยการจ่ายเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับของผู้ประกันตนในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน

 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นส่วนใหญ่ ขนาดกองทุนจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2563 เงินกองทุนประกันสังคม มีจำนวน 2.283 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนมาตรา 33 และ 39 จำนวน 2.267 ล้านล้านบาท แยกออกเป็นกองทุนกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย มีจำนวน 120,502 ล้านบาท, กองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 1,981,620 ล้านบาท และกองทุนกรณีว่างงาน จำนวน 164,714 ล้านบาท ส่วนเม็ดเงินในกองทุนฯ ตามมาตรา 40 มีจำนวน 16,182 ล้านบาท 

ที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะกองทุนชราภาพจากหลากสำนักว่าจะมีปัญหาไม่เพียงพอเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ โดยงานศึกษาหลายชิ้นสรุปภาพรวมตรงกันว่า เงินกองทุนประกันสังคมที่หร่อยหรอลงและจะมีปัญหาในอนาคตนั้น มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น เพดานค่าจ้างในการจ่ายสมทบไม่ได้ถูกปรับมาเป็นเวลานาน โดยเพดานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน กำหนดมาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งตอนนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98% ของจำนวนลูกจ้าง แต่ข้อมูลล่าสุดปี 2563 พบผู้มีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ขณะที่สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่ได้อิงกับเงินเดือนกลับเพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ค่าทำศพ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บอยู่ในระดับต่ำเกินไป ปัจจุบันอัตราเงินสมทบรวมทั้งสามฝ่ายอยู่ที่ร้อยละ 12.5 ของเงินเดือน รวมทั้งการกำหนดอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพต่ำไป คืออายุ 55 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งขณะนั้นอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 70 ปี แต่ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยและประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าทางสาธารณสุข

ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกได้ขยายอายุผู้มีสิทธิรับบำนาญออกไปเพื่อแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของเงินกองทุน ยกตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย เริ่มขยายอายุผู้มีสิทธิรับบำนาญ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 จากเดิม 66 ปี ออกไป 6 เดือนทุกๆ 2 ปี จนกว่าจะครบ 67 ปี ในปี 2566 หรือสหรัฐอเมริกาที่แม้ว่าจะไม่มีการขยายอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญที่ 62 ปี แต่จะขยายอายุเกษียณปกติของการจ้างงานที่ 65 ปี ออกไปปีละ 2 เดือน จนกระทั่งเป็น 67 ปี โดยหากผู้ประกันขอใช้สิทธิก่อนอายุเกษียณก็จะได้รับเงินบำนาญน้อยลง เป็นต้น

ข้อสรุปของงานศึกษาวิจัยรวมทั้ง สปส. ต่างเห็นตรงกันว่า อนาคตเงินกองทุนประกันสังคม จะไม่เพียงพอที่จะจ่ายตามที่สัญญากับผู้ประกันตนได้โดยเฉพาะกรณีชราภาพ แต่ทั้งที่รับรู้ปัญหาหลายรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึง “รัฐบาลลุง” กลับเพิกเฉยหรือไม่มีความกล้าหาญทางการเมืองเพียงพอที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยนเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม ซึ่งหากรัฐบาลไม่ลงมือทำอะไรเลยปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า ยิ่งเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลจะต้องรับภาระการดูแลคนแก่วัยเกษียณที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

สำหรับข้อเสนอแนวทางการยืดอายุเงินกองทุนฯ สามารถทำได้หลากหลายแนวทาง ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น การเพิ่มรายรับจากเงินสมทบ ชะลอรายจ่ายด้านสิทธิประโยชน์ โดยข้อเสนอที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันและ สปส. ก็รับลูกมาวางแนวทางปฏิรูปกองทุนฯ คือ การยกเลิกเพดานค่าจ้างสูงสุด การปรับขึ้นอัตราเงินสมทบทุกรณีโดยเฉพาะกองทุนกรณีชราภาพ และการขยายอายุสิทธิรับบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวยอมรับว่า กองทุนชราภาพมีปัญหาสูงที่สุด ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ สปส. ปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างสูงสุด ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ และขยายอายุเกษียณรับบำนาญนั้น สปส.ตระหนักดีและมีนโยบายปฏิรูปกองทุนตามข้อเสนอแนะมาตั้งแต่ปี 2559 โดยจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปและทำในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่เหมาะสม

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายรองรับการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ในเบื้องต้น สปส.เสนอปรับเพดานค่าจ้างเป็นเดือนละ 20,000 บาท เพื่อเพิ่มความยั่งยืนของกองทุนและสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีต่างๆ เช่น ชราภาพ ว่างงาน คลอดบุตร เจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิตให้แก่ผู้ประกันตน แต่ระหว่างนี้ได้ชะลอการดำเนินการไว้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

ส่วนการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำ สปส.ได้เสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 5 โดยขยายจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งการดำเนินการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ผู้ประกันปัจจุบันที่ใกล้เกษียณไม่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม กรณีปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ สปส.ยังไม่ได้เสนอปรับแก้ไขใน พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นนโยบายที่ควรดำเนินการในระดับประเทศ ผ่านคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ที่กำลังจะตั้งขึ้น เพื่อให้นโยบายการจัดเก็บเงินสมทบเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันในภาพรวมทั้งประเทศ

เลขาฯ สปส. ย้ำว่า อย่าหวั่นวิตกเกินไป สปส.กำหนดแผนสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนไว้ในแผนปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม โดยกำหนดแนวทางไว้แล้ว เช่น การปรับปรุงเพดานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบมาปรับใช้เป็นระยะๆ แต่การปรับเปลี่ยนที่อาจกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และต่อความรู้สึกของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง สปส.จะสอบถามความเห็นจากผู้มีส่วนร่วมออมเงินทุกฝ่ายเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ขณะเดียวกัน  รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  ผู้ซึ่งมีบทบาทในฐานะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม มีข้อเสนอว่า การเพิ่มอายุเกษียณ จาก 55 ปี เป็น 60 ปีนั้น ต้องทยอยทำโดยอาจเพิ่มทีละ 1-2 ปี โดยใช้เวลา 5 ปี จะยืดอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แล้วจึงจะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์บำนาญได้ การยืดอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี อาจทำให้เสียสิทธิการได้รับเงินบำนาญช้าลง แต่สามารถชดเชยโดยให้ผู้ที่ต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานในวัย 55 ปี ให้รับบำเหน็จได้ หรือเลือกรับบำเหน็จบางส่วน แล้วที่เหลือรับเป็นบำนาญเมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี

แต่หากรัฐบาลไม่ต้องการยืดการเกษียณอายุจาก 55 ปี เป็น 60 ปี รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มในกองทุนชราภาพมากกว่าที่ต้องจ่ายสมทบตามปกติ จากปัจจุบันรัฐบาลจ่ายอยู่ 2.75% ให้เพิ่มเป็น 5% ให้กองทุนประกันสังคม ไม่งั้นรัฐบาลก็ต้องถามผู้ประกันตนว่ายินดีจะยืดอายุเกษียณรับเงินบำนาญช้าลงหรือไม่ หากผู้ประกันตนยินยอมก็ถือเป็นการเสียสละเพื่อให้กองทุนชราภาพมีความมั่นคงทางการเงิน สามารถดูแลลูกหลานคนวัยทำงานรุ่นปัจจุบัน

ขณะที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าการยืดเวลารับบำนาญเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาประชาคมที่มีมายาวนาน เนื่องจากเอาเงินประกันสังคมไปใช้ทางอื่น ไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งยังค้างส่งอยู่มากกว่า 73,000 ล้านบาท อย่าลืมว่าการจ้างพนักงานบริษัทไม่เหมือนข้าราชการ เพราะนายจ้างมักให้พนักงานเกษียณอายุเพียง 55 ปี เพราะต้องการคนใหม่ที่เด็กกว่า ทำงานได้เร็วกว่าและค่าจ้างถูกกว่า หากเกษียณอายุ 55 ปี ไม่ได้บำนาญจากกองทุนฯ จะมีความยากลำบาก งานใหม่ก็หาได้ยาก

สอดคล้องกับ  นายมนัส โกศล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้ประกันตน เพราะบริษัทจำนวนไม่น้อยกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุ 55 ปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก การจ่ายบำนาญตอนอายุ 60 ปี จะทำให้ลูกจ้างเหล่านี้มีช่วงที่ไม่มีรายได้นานถึง 5 ปี ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวอีกนาน ลูกจ้างส่วนใหญ่ต่างมีปัญหาเรื่องรายได้และยากจะมีเงินเก็บ

 “.... คนอายุ 55 ถือว่าอายุมากแล้ว จะไปหางานที่ไหนก็ไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเลื่อนนโยบายนี้ไปใช้ปีไหนก็ไม่เหมาะสมทั้งนั้น” ประธานสภาองค์การลูกจ้าง กล่าว 

ขณะเดียวกัน ประธาน คปค. ก็เชื่อมั่น สปส. ว่าบริหารเงินโดยรวมเป็นไปด้วยดี ขณะนี้กองทุนประกันสังคม มีเงินอยู่ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท มีกำไรทุกปี และมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการดูแลผู้ประกันตนทั้งระบบ ทั้งการรักษาพยาบาล การว่างงาน และบำนาญชราภาพ

 เอาเป็นว่า การยกเลิกนโยบายขยายอายุการรับเงินบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ของนายสุชาติ ชมกลิ่น อย่างฉับไวเป็นที่พออกพอใจของผู้นำแรงงานและลูกจ้างอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถ้าไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลยก็เท่ากับว่า “รัฐบาลลุง” เพิกเฉยในการปลดสลักระเบิดเวลา ที่รู้ทั้งรู้ว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต 

 เมื่อถึงวันนั้นอาจสายเกินไป และกลายเป็นฝันสลายของผู้ประกันตนหลายสิบล้านคนที่ฝากชีวิตบั้นปลายไว้กับกองทุนชราภาพ 




กำลังโหลดความคิดเห็น