xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การใช้ภาษาจีนในไทย (4)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 การปลดปล่อยภาษาจีนเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ไม่เพียงทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยทำได้กว้างขวางและอิสระกว่าเดิมเท่านั้น หากจุดเปลี่ยนสำคัญยังอยู่ที่ผู้เรียนที่เปลี่ยนไปอีกด้วย นั่นคือ เปลี่ยนจากเดิมที่มักเป็นลูกหลานจีนมาเป็นบุคคลทั่วไป 

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การเรียนภาษาจีนมิใช่เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมจีนอีกต่อไป หากเป็นไปด้วยเหตุผลที่หลากหลายอย่างยิ่ง

 มีงานศึกษาเกี่ยวกับเหตุผลในการเรียนภาษาจีนชิ้นหนึ่ง ที่ได้สัมภาษณ์ผู้เรียนภาษาจีนแล้วพบว่า เหตุผลที่มาเรียนจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น เรียนเพื่อที่จะได้อ่านนิยายจีนจากภาษาจีน ใช้ประกอบธุรกิจ คุยกับคนรักที่เป็นคนจีน คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นชาวจีน หรือดูหนังดูละครจีน ฯลฯ 

 มีแม้กระทั่งว่า อยากรู้ภาษาจีนเฉยๆ ไม่ได้เรียนเพื่ออะไรทั้งนั้น 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เห็นไปด้วยว่า ผู้เรียนภาษาจีนมิใช่ลูกหลานจีนที่มีรูปร่างหน้าตาที่เป็นจีนอีกต่อไป หากคือคนไทยทั่วไปที่ไม่มีภูมิหลังอะไรที่เกี่ยวกับจีน อีกทั้งช่วงวัยที่เรียนนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้อยู่ในวัยเรียนดังแต่ก่อน หากมีวัยผู้ใหญ่อยู่ด้วยมากมาย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการลดน้อยถอยลงของการใช้ภาษาจีนถิ่น ที่ลูกหลานจีนในชั้นหลังมิได้ใช้ภาษาจีนถิ่นกับคนในครอบครัวดังอดีต เกิดขึ้นท่ามกลางบรรพชนรุ่นที่หนึ่งหรือสองค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป และเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาจีนถิ่นได้เป็นอย่างดี

เมื่อคนกลุ่มดังกล่าวค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป ภาษาจีนถิ่นก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากการใช้ เหลือรอยอดีตให้ลูกหลานจีนใช้อ้างแต่เพียงว่า ตนมีบรรพชนเป็นจีนถิ่นไหนเท่านั้น ที่จะให้ตนพูดภาษาจีนถิ่นดังลูกหลานจีนในอดีตแทบจะหายไปหมดแล้วในทุกวันนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ลูกหลานจีนในปัจจุบันก็มิใช่ทุกคนที่ได้เรียนภาษาจีนอีกต่อไป ส่วนผู้ที่เรียนจริงๆ ก็คือบุคคลที่มีที่มาหลากหลายดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

การเปลี่ยนแปลงนี้จึงทำให้เกิดผลสรุปอย่างน้อยในสองประการด้วยกัน

 ประการแรก ภาษาจีนถิ่นในไทยถูกลดบทบาทในการใช้ลง ประการที่สอง ภาษาจีนที่เข้ามาแทนที่ภาษาจีนถิ่นคือภาษาจีนกลาง และมีแนวโน้มว่าจะแทนที่อย่างค่อนข้างจะถาวร 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลต่อการศึกษาภาษาจีนในเรื่องหนึ่งไปด้วย การศึกษาที่ว่านี้เรียกกันในทางวิชาการว่า  สัทจีนศึกษา (Sinophone Studies) 

สัทจีนศึกษาคืออะไร?

 สัทจีนศึกษาก็คือ การศึกษาที่ว่าด้วยการออกเสียงภาษาจีน หากว่ากันตามความหมายนี้ก็หมายความว่า การศึกษาการออกเสียงภาษาจีนจะไม่เพียงศึกษาเฉพาะภาษาจีนกลาง หากยังศึกษาถึงการออกเสียงภาษาจีนถิ่นต่างๆ ที่มีอยู่นับร้อยสำเนียงในจีนอีกด้วย 

ถ้าว่ากันเฉพาะในไทยแล้วก็คือ การศึกษาการออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง จีนไหหลำ และจีนแคะ ใช่แต่ภาษาจีนกลางเท่านั้น

แต่ความจริงก็คือว่า ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาการออกเสียงภาษาจีนถิ่นในไทยแทบจะกล่าวได้ว่ามีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ แต่กับภาษาจีนกลางแล้วกลับมีการศึกษากันเป็นปกติ

คำถามจึงมีว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ทำให้การใช้ภาษาจีนในไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่?

คำตอบอาจตอบได้สองประการ  ประการแรก  การใช้ภาษาจีนถิ่นในแง่ของการเรียกขานชื่อบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของต่างๆ ยังคงเดิม เพราะการเรียกขานดังกล่าวกลายเป็นคำเรียกที่ใช้กันค่อนข้างเฉพาะมานานแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเปลี่ยนไปเรียกด้วยคำในภาษาจีนกลาง

เช่น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเรียก ก๋วยเตี๋ยว (จีนแต้จิ๋ว) เป็น ปั่นเถียว (จีนกลาง) เป็นต้น

 ประการที่สอ  เกิดคำเรียกขานบุคคล สถานที่ และสิ่งของต่างๆ ด้วยภาษาจีนกลางมากขึ้น คำเรียกขานนี้โดยมากมักเข้ามาพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ที่มาจากจีน และเป็นสิ่งที่คนไทยหรือคนที่เป็นลูกหลานจีนไม่เคยสัมผัสมาก่อน (จากชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต)

แน่นอนว่า สิ่งใหม่ๆ เหล่านี้เข้ามายังไทยได้ก็เพราะจีนปฏิรูปและเปิดประเทศ ถ้าจีนไม่มีนโยบายที่ว่าเหมือนเมื่อก่อนปี ค.ศ.1978 ก็คงยากที่คนไทยจะได้สัมผัสสิ่งใหม่ที่ว่านั้น และเมื่อไม่ได้สัมผัส คนไทย (หรือลูกหลานจีน) ก็จะยังคงใช้ภาษาจีนกับสิ่งเดิมๆ ต่อไป

 ตัวอย่างสิ่งใหม่ๆ ที่ว่าก็เช่น หม่าล่า (จีนกลาง) หรือ พริกชา ซึ่งเป็นพริกชนิดหนึ่งที่มาจากจีน มีลักษณะคล้ายพริกไทย แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วจะมีอาการชาที่ปากและลิ้น 

ว่ากันว่า วัยรุ่นไทยในปัจจุบันชอบกินกันมาก มากจนร้านอาหารหรือแผงอาหารต้องปิดประกาศว่า ร้านของตนมีรายการอาหารที่ใช้หม่าล่าด้วย


การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้งานวรรณกรรมจีนที่แปลเป็นไทย จึงทับศัพท์ด้วยเสียงภาษาจีนกลางไปด้วย มิใช่ภาษาจีนถิ่น (ที่ส่วนใหญ่คือจีนแต้จิ๋ว) ดังในอดีตอีกต่อไป อีกทั้งงานที่ได้รับการแปลก็มีความหลากหลายมากขึ้น ใช่แต่นิยายกำลังภายในอีกต่อไปเช่นกัน

จากที่กล่าวมาทำให้เห็นได้ว่า สำหรับคนไทยนอกจากจะยังคงใช้ภาษาจีนถิ่นที่ใช้กันมาแต่เดิมแล้ว ก็ยังใช้ภาษาจีนกลางเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่เหมือนเดิมคือ คนไทยยังคงใช้โดยที่รู้หรือไม่รู้ความหมาย ดังที่ตนเคยรู้หรือไม่รู้เมื่อใช้ภาษาจีนถิ่น

ที่สำคัญ คนไทยได้สัมผัสกับความเป็นจีนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และเป็นความเป็นจีนที่มิใช่ในแบบที่ตนเคยรู้ผ่านชาวจีนโพ้นทะเลในอดีตเช่นกัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาจีนในไทยดังกล่าวเปลี่ยนไปนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนดังได้กล่าวไปแล้ว เพราะด้วยนโยบายดังกล่าวได้ทำให้มีการไปมาหาสู่กันระหว่างคนจีนกับคนไทย

การไปมาหาสู่ดังกล่าวกระทำผ่านรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การเดินทางท่องเที่ยว การค้าการลงทุน การเรียนภาษาไทยและภาษาจีน การศึกษา การวิจัย ตอลดจนการแต่งงานระหว่างคนจีนกับคนไทย เป็นต้น

การไปมาหาสู่ดังกล่าวทำให้มีการแลกเปลี่ยนการใช้ภาษาระหว่างกัน และสำหรับไทยก็คือ การได้ใช้ภาษาจีนกลางเพิ่มขึ้นจากภาษาจีนถิ่นที่เคยใช้อยู่แต่เดิม

 เป็นการใช้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน 



กำลังโหลดความคิดเห็น