ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนสำรวจคอมมูนิตี้คราฟท์เบียร์ไทยที่เข้มแข็ง การสร้าง Ecosystem ผ่านโมเดลกบฎเปิดมิติใหม่วงการเบียร์ไทย แม้มีคำกล่าวว่า “ไม่มีใครรวยจากธุรกิจคราฟท์เบียร์” มีแต่คำว่า “เจ๊ง” และ “จน” แถมถูกปิดกั้นด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่ทำไมคราฟท์เบียร์สัญชาติไทยเกิดขึ้นตลอดเวลา มีนักดื่มคอคราฟท์เบียร์ให้การสนุนแบรนด์ไทยอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
หลายปีที่ผ่านมา คนไทยได้ทำความรู้จัก “คราฟ์เบียร์” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่นด้วยรสชาติ ความเป็นไปของวงการคราฟท์เบียร์ไทยวันนี้เป็นอย่างไร ร่วมพูดคุยกับ Keyman ผู้ปลุกกระแสคราฟท์เบียร์ในเมืองไทย “พี่ชิต” หรือ “พ.อ.ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า” พี่ใหญ่วงการคราฟท์เบียร์ไทย เจ้าของแบรนด์CHIT BEERแบรนด์คราฟท์เบียร์ไทยบนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องการทำ Homebrew เปิดสอนต้มเบียร์ ปัจจุบันมีลูกศิษย์ไม่ต่ำกว่า 7,000 – 8,000 คน ซึ่งเป็นแสดงออกอย่างสร้างสรรค์โดยแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ให้เห็นว่าคราฟท์เบียร์ไม่ใช่สิ่งมอมเมาสังคม และสิ่งที่ต้องการสื่อสารคือ “สอนทุกคนพึ่งพาตัวเอง”
Slow Focus Sharing เป็นหลักคิดของ CHIT BEER ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา CHIT BEER จุดประกายสร้างมูฟเม้นแนวคิดป่าล้อมเมือง สร้างกองทัพคนต้มเบียร์ สอนให้พึ่งพาตนเอง ซึ่งหลายคนต่อยอดก็ไปต่อสร้างแบรนด์เกิดคราฟท์เบียร์สัญชาติไทยขึ้นมากกว่า 20 -30 แบรนด์ เกิด Ecosystem ใน จ. นนทบุรี ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเมืองหลวงคราฟท์ก็ไม่เกินจริงนัก
“ว่าด้วยเรื่องการต้มเบียร์ในเมืองไทย บางทีกฎหมายมันก็ผิดธรรมมะกฎหมายผิดธรรมชาติ การต้มเบียร์เพื่อการศึกษาต้องทำได้ การต้มเบียร์เพื่อกินเองควรเป็นสิทธิเสรี มองว่าทำไมคนเรามันยอมง่ายไม่หือไม่อือต่อความแปลกประหลาดเลยหรอ ยกตัวอย่าง 60 ล้านคน ดื่มเบียร์รายใหญ่อยู่ 2 ยี่ห้อ ฉะนั้น ลองกบฎดูบ้างเป็นไร ซึ่งมัวรอวันฟ้าเปิดโดยที่ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ และการทำคนเดียวก็เกิดมูฟเม้น ซึ่ง CHIT BEER กำลังแสดงให้เห็นว่าต้มเบียร์เป็นการพึ่งพาตัวเอง เป็นมารวมหัวกบฎกันต่อโดยใช้เบียร์เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงในสังคม”
หลายปีมานี้วงการคราฟท์เบียร์ไทยเข้มแข็งขึ้นแต่ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจคราฟท์เบียร์มีให้เล่นหลายตั้งแต่อยู่ใต้ดิน เปิดบาร์มีเบียร์ใต้ดินเสิร์ฟ อิมพอร์ตเข้ามาขาย หรือต้มโรงเบียร์ต่างประเทศนำเข้ามา ซึ่งตอนมีออฟฟชั่นใหม่ โรงเบียร์ OEM ที่บางประกง ซึ่งมีออฟชั่นโรงผลิตเบียร์เหมือนน้ำ OEM อย่างโรงแรมที่มีแบรนด์น้ำเป็นของตัวเอง อนาคตวงการเบียร์ไทยจะเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
ดร.วิชิตพี่ใหญ่วงการคราฟท์เบียร์บอกด้วยว่า “ขายคราฟ์เบียร์ไม่มีใครรวยสักคน มันก็แค่สร้างความฟิลกู้ดของเมคเกอร์ของศิลปิน” ย้ำชัดๆ ว่า “ไม่มีใครรวยจากธุรกิจคราฟ์เบียร์ มีแต่เจ๊งและจน”
คราฟท์เบียร์ครองส่วนแบ่งการตลาด 5% ถึงกระนั้นนักดื่มคอคราฟท์เบียร์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนักดื่มคราฟท์เบียร์เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ คนดื่มคราฟท์เบียร์ในไทยมีอยู่ราวๆ หลักแสน และอาจพุ่งไปหลักล้านก็เป็นไปได้
และตลาดคราฟท์เบียร์มีข้อดีคือไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรกำลังซื้อตลาดคราฟท์เบียร์ไม่มีตก
นอกจากนี้ เมื่อเทียบ พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ตลาดคราฟท์เบียร์ไทยถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุด เป็น local market กลุ่มใหญ่ มีคนดื่มคราฟท์เบียร์จำนวนมาก แต่ไม่ต้องกังวลว่าคราฟท์เบียร์จะนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพราะด้วยมีราคาแพงขวดเล็ก 330 มล. ราคาหลักร้อยบาทขึ้นไป เป็นการจำกัดกลุ่มผู้บริโภคอยู่แล้ว
ผลิตภัณฑ์คราฟท์เบียร์หาซื้อง่ายขึ้น อีกทั้งนายทุนใหญ่ต่างออกผลิตทางเลือกสร้างสีสันในตลาดเบียร์ แต่หากผู้บริโภคฉลาดดื่มฉลาดซื้อก็จะรู้ว่าเป็นการออกผลิตภัณฑ์แบบลูบหน้าปะจมูก ไม่ได้ทำแบบหัตถกรรม ไม่ได้ทำแบบคราฟท์ ยังผลิตเป็นอุตสาหกรรม ต้นทุนลดสุดๆ แค่ออกฉลากใหม่ สีใหม่ กลิ่นใหม่ ไม่ได้เป็นวิถีคราฟท์ สุดท้ายแล้วเบียร์รสไม่ได้ต่างกันมาก แต่อยู่ที่ว่ายืดหยัดเพื่ออะไร
และเป็นที่ยอมรับว่า “คราฟท์เบียร์ไทย” มีชื่อเสียงโด่งดังไกลระดับโลก คว้ารางวัลระดับอิเตอร์มาแล้วมากมาย แต่ในประเทศกลับถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายที่เขียนเอื้อนายทุนแค่ไม่กี่รายมาตั้งแต่ต้น ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์สัญชาติไทยแบรนด์ SPACECRAFT เจ้าของ 6 รางวัลคราฟท์เบียร์ระดับโลก ตัดพ้อว่าต่อให้ทั่วโลกจะชื่นชมแค่ไหน แต่ในไทยกลับดูไร้ค่า เพราะแค่ต้มเบียร์อย่างอิสระยังไม่สามารถทำได้ ซึ่ง SPACECRAFT ต้องไปจ้างโรงงานผลิตในประเทศเวียดนาม เพราะง่ายกว่าการเพื่อแก้ไขข้อกฎหมายในไทย
ประเด็นการผลักดันอุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ ว่าด้วยเรื่องการแก้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้รัฐทบทวนกฎหมายที่เกิดการผูกขาดทางการตลาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ เป็นอีกประเด็นสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพิจารณาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสแก่ผู้ประกอบการรายเล็ก
รวมทั้ง การส่งเสริมคราฟท์เบียร์ไทยให้เป็นสินค้าโอท็อปหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นช่องทางกระจายรายสู่ชุมชน เป็นประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับศึกษาอย่างรอบด้าน
“ประเทศเราชอบมองว่า เป็นสิ่งไม่ดี แต่หารู้ไม่ว่าแอลกอฮอล์กับวัฒนธรรมของมนุษย์ อยู่คู่กันมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว การที่ในชุมชนในหมู่บ้านหนึ่งมีเบียร์เป็นของตัวเอง แล้วยิ่งใส่สิ่งที่มีอยู่ท้องถิ่นจะทำให้เกิดความแตกต่าง มันจะเป็นสินค้าดีๆ ที่ทำให้ต่างประเทศอยากจะมาเยี่ยมชมแน่นอน และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล” กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช เจ้าของแบรนด์คราฟท์เบียร์ SPACECRAFT กล่าว
ท้ายที่สุดรัฐเป็นตัวกำหนดทิศทาง “คราฟท์เบียร์ไทย” หากผ่อนคลายกฎหมายรวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ในประเทศ น่าจะเป็นอีกฟันเฟืองเล็กๆ ขับเศรษฐกิจไทยอย่างเข้มแข็ง