ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แคมป์ปิ้งเทรนด์การท่องเที่ยวไทยในยุคโควิด-19 สร้างเม็ดเงินสะพัดสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ลานกางเต็นท์เอกชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นับเฉพาะรัศมี 150 กม. รอบกรุงเทพฯ มากกว่า 500 แห่ง ฤดูหนาวไฮท์ซีซั่นดันธุรกิจแคมป์ปิ้งฟีเวอร์
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Google Trend ชี้ชัดว่ามีการมีแนวโน้มค้นหาเกี่ยวกับลานกางเต็นท์ ผ่านเสิร์ชเอนจินมากขึ้นต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นคำค้นหายอดนิยมในช่วงฤดูหนาวติดต่อกันทุกปี
มีข้อมูลเปิดเผยจาก บริษัท เทรคกิ้งไทย จำกัด เกี่ยวกับธุรกิจลานกางเต็นท์เอกชนในประเทศไทย จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีลานกางเต็นท์เอกชนหลายร้อยแห่งกระจายในทุกภาค จำนวนลานกางเต็นท์เอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มองแค่รอบๆ กรุงเทพฯ ในรัศมี 150 กม. มีลานกางเต็นท์มากกว่า 500 แห่ง อาทิ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, อ.แก่งคอย จ.สระบุรี, อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ฯลฯ นับระดับอำเภอมีลานตั้งแคมป์กว่า 100 แห่ง
รวมทั้ง การท่องเที่ยวพักในรถแคมปิ้งได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะทำเลริมทะเล ทำเลภูเขา เช่น จ.อุบลฯ, จ.ประจวบฯ, สระบุรี, นครราชสีมา และเชียงใหม่
ผลสำรวจของ Booking.com และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เกี่ยวกับแนวโน้มสำคัญของนักเดินทางชาวไทย เปิดเผยว่าคนไทยนิยมท่องเที่ยวสถานที่ใกล้ คุ้นเคย และพร้อมสัมผัสกับความสุขง่ายๆ ปลายทางมากขึ้น และด้านพฤติกรรมนักเดินทางจะตระหนักและคำนึงถึง Social Distancing และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยควบคู่ไปด้วยเสมอ รวมทั้ง นิยมเดินทางด้วยรถส่วนตัวมากขึ้น เลือกเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ เดินทางในระยะสั้นและมองหาพื้นที่พักผ่อนซึ่งไม่ไกลมากนัก ซึ่งแคมป์ปิ้งเข้ามาเป็นเลือกอันดับต้นๆ ของนักเดินทาง
นอกจากนี้ รายงานของ North American Camping Report, sponsored by Kampgrounds of America (KOA) เปิดเผยแนวโน้มแคมป์ปิ้ง ย้อนกลับไปปี 2019 มีครอบครัวที่หลงรักการแคมป์ปิ้งสูงถึง 91 ล้านครอบครัว เพิ่มจากปี 2018 ถึง 2.7 ล้านคน แน่นอนว่า ตัวเลขในปี 2020 และ 2021 เพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาด ทำให้ผู้คนรู้สึกอึดอัดกับการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม โหยหาการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ
เกิดปรากฎการณ์แคมป์ปิ้งฟีเวอร์ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมแคมป์ปิ้งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่องๆ ซึ่งในวันนี้กระแสยังแรงไม่แผ่ว แคมป์ปิ้งกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
อ.วีรกฤตนุ์ ธาระเวทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการการท่องเที่ยว เล่าว่าแต่เดิมพื้นที่กางเต็นท์ตามอุทยานแห่งชาติเป็นหมุดหมายหลักๆ ของการตั้งแคมป์ แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลานกางเต็นท์พื้นที่อุทยานแห่งชาติต้องปิดตัวชั่วคราว ด้านผู้ประกอบการธุรกิจที่พักมองเห็นโอกาสของแคมป์ปิ้ง มีการพัฒนาพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกสบายครบครัน พอเห็นตัวอย่างว่ามีคนทำแล้วกระแสตอบรับดีก็เริ่มลงทุนเปิดลานกางเต็นท์บ้าง ทำให้เกิดลานกางเต้นท์เอกชนแพร่หลายไปทุกพื้นที่ท่องเที่ยว รวมทั้ง กฎหมายเปิดช่องสำหรับธุรกิจประเภทนี้
และปัจจัยที่ทำให้แคมปป์ปิ้งเป็นกระนิยมในปัจจุบัน คือเทรนด์อุปกรณ์แคมป์ปิ้งมีการพัฒนาต่อเนื่อง มีอุปกรณ์แคมป์ปิ้งแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาทำตลาด มีความสะดวกสบายลดเงื่อนไขการกางเต็นท์ที่สมัยก่อนค่อยข้างลำบาก เกิดกลุ่มคนสายอุปกรณ์ตั้งแคมป์เป็นงานอดิเรก บวกกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีมาตรการ social distancing คนเริ่มแบบเว้นระยะห่างทางสังคม มีกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ออกมากางเต็นท์ตั้งแคมป์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยเสริมหนุนกัน
อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไม่พลาดจับเทรนด์แคมป์ปิ้งโดยก่อนหน้านี้เปิดโครงการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่ 17 จังหวัดภาคกลาง ภายใต้แนวคิด “Camping and Camper @ River Legacy” ขับเคลื่อนกิจกรรมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในวิถี New Normal กิจกรรมลดความเสี่ยงการสัมผัส ลดการพบปะผู้คน ซึ่งการเป็นการท่องเที่ยวสอดคล้องกับนโยบาย Social distancing
รวมทั้ง กรมการท่องเที่ยว มีการผลักดันส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตโควิดด้วยธุรกิจลานกางเต็นท์” ให้ความรู้พร้อมแนะนำวิธีการทำลานกางเต็นท์ การบริหารจัดการและเทคนิคต่างๆ สำหรับผู้สนใจเริ่มต้นอยากทำแคมป์ และผู้ที่มีแคมป์ซึ่งต้องการพัฒนาธุรกิจแค้มป์ปิ้งให้สามารถยกระดับเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย มาตรฐานกิจกรรมค่ายพักแรม (Camping)
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นไปอย่างน่าจับตา ซึ่ง ททท. เร่งทำคลอดนโนยายสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อรพลิกฟื้นรายได้ให้กลับมาประมาณ 50% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2562 หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และฟื้นรายได้ให้กลับมาประมาณ 80% ภายในปี 2566 จากการท่องเที่ยวคุณภาพ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น
โดยวางโมเดลเจาะการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและการท่องเที่ยวยั่งยืนภายใต้นโยบาย 3 เปลี่ยน ได้แก่ 1. เปลี่ยนจาก product centric มาเป็น consumer centric 2. เปลี่ยนจากตลาด mass market มาเป็น experience tourism ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์มากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวและพยายามหานวัตกรรมมาตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพเหล่านี้ให้ได้ และ 3. เปลี่ยนลักษณะการทำงานโดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในอุตสาหกรรมและนอกอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
“นักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ ททท.ให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้าเราจับปลาที่ถูกบ่อก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรม เราจะโฟกัสไปที่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม กลุ่ม medical wellness ที่นายกฯเน้นย้ำรวมถึงกลุ่ม Responsible tourist ซึ่งจะทำให้เราสามารถดึงได้รายได้ท่องเที่ยวกลับมา 80 % จากคนแค่ครึ่งหนึ่งและมีความเป็นไปได้สูงที่เราสามารถดึงเข้ามาท่องเที่ยวหลังจากโควิดเบาบาง” นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผย
สำหรับการท่องเที่ยวเที่ยวพักแรมแคมป์ปิ้ง หลังจากนี้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการลงทุนทำลานกางเต็นท์อาจต้องพิจารณากันดีๆ ด้วยเงื่อนไขโลว์ซีซั่นสภาพอากาศไม่เป็นใจ รวมทั้งคู่แข่งในสายธุรกิจที่มีจุดขายเข้มแข็ง
แต่ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องแคมป์ปิ้งยังไปได้ดีในระยะยาว กระแสแคมป์ปิ้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับร้านอุปกรณ์ตั้งแคมป์เพิ่มจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2560 มีการนำอุปกรณ์แคมปิ้งระดับไฮเอนด์เข้ามาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น
ธุรกิจลานกางเต็นท์ทะยายสู่ช่วงพีคสุดแล้ว ท้ายที่สุดอาจมีเพียงไม่กี่แห่งที่อยู่รอดในสังเวียนการท่องเที่ยว แต่ต้องยอมรับว่าเทรนด์แคมปปิ้งเข้ามาสร้างสีสันการท่องเที่ยวไทย สร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ชุมชน