ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
แน่นอนว่า การใช้ภาษาจีนในไทยจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งต้องมาจากผู้รู้ภาษาจีนก่อน ถ้าไม่มีผู้รู้ภาษาจีนเป็นผู้ใช้ก่อนการใช้ย่อมไม่เกิดขึ้น แต่ผู้รู้ภาษาจีนก็มีอยู่สองแบบ แบบหนึ่ง รู้โดยอ่านออกเขียนได้ อีกแบบ รู้โดยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ได้แต่พูดเท่านั้น
ยกเว้นคนไทยที่รู้เพราะต้องคลุกคลีกับคนจีน แต่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ถ้าไม่ได้เรียน
เมื่อกล่าวถึงการเรียนภาษาจีนในไทยแล้วกล่าวกันว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในจังหวัดอยุธยาในพื้นที่ที่เรียกว่า “เกาะหลัก” ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนในปัจจุบัน และไม่รู้ว่าที่เรียนกันนั้นเรียนด้วยภาษาจีนกลางหรือภาษาจีนถิ่น
จากนั้นการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยก็มีเรื่อยมา ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เรียนภาษาจีนแทบทั้งหมดเป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่เกิดในไทย และที่ให้เรียนก็เพราะบุพการีประสงค์ให้ลูกหลานของตนสามารถสืบทอดวัฒนธรรมจีนได้
เหตุผลดังกล่าวนับว่าสำคัญมาก เพราะถ้าไม่รู้ภาษาจีนแล้วก็ยากที่จะสืบทอดวัฒนธรรมจีนได้
ระหว่างที่การเรียนภาษาจีนดังกล่าวดำเนินกันอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเรียนที่ไม่เป็นทางการสู่การเรียนที่เป็นทางการมากขึ้น การเรียนที่ไม่เป็นทางการคือการเรียนตามบ้านที่มีผู้เรียนไม่กี่คน ส่วนการเรียนที่เป็นทางการคือการเรียนในโรงเรียน หรือที่เรียกกันว่า โรงเรียนจีน
ตอนที่มีโรงเรียนจีนเกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในไทยนั้น จีนแผ่นดินใหญ่กำลังอยู่ในยุคสาธารณรัฐ (ค.ศ.1911-1949) ซึ่งใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ ดังนั้น โรงเรียนจีนในไทยจึงใช้ภาษาจีนกลางในการเรียนการสอน
ถึงตรงนี้ก็มีเรื่องย้อนแย้งที่ดูจะเป็นตลกร้ายปรากฏขึ้น...!!!
กล่าวคือ ในประการแรก การสอนด้วยภาษาจีนกลางไม่แน่เสมอไปว่า ครูผู้สอนจะสอนด้วยภาษาจีนกลางที่แม่นยำเสมอไป คือครูบางท่านอาจสอนโดยติดสำเนียงถิ่นอันเป็นภูมิหลังของท่านก็ได้
ในประการที่สอง แม้นักเรียนจะเรียนภาษาจีนกลางในโรงเรียน แต่พอเลิกเรียนกลับไปถึงที่บ้านแล้ว นักเรียนเหล่านี้ก็ใช้ภาษาจีนถิ่นที่ตนพูดกับบุพการีดังเดิม หาได้พูดภาษาจีนกลางไม่ บุพการีเป็นคนจีนถิ่นไหนในเมืองจีน นักเรียนคนนั้นก็พูดภาษาจีนถิ่นนั้น
แน่นอนว่า ภาษาจีนถิ่นที่พูดกันนั้นส่วนใหญ่แล้วก็คือ ภาษาจีนแต้จิ๋ว
ภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋วมีอิทธิพลสูงมาก สูงเรื่อยมาจนถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็ว่าได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีประสบการณ์ตรงที่จะเล่าสู่กันฟังอยู่เรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่างพอให้ได้เห็นภาพ
กล่าวคือ ตอนที่ผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ในปี 2518 (ค.ศ.1975) นั้น บ่อยครั้งผมต้องไปซื้อของที่เยาวราช ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นถิ่นของชาวจีนโพ้นทะเลขนาดใหญ่ และร้านค้าที่ผมไปซื้อนั้นเจ้าของเป็นจีนแต้จิ๋ว ส่วนคนที่ขายเป็นลูกหลานอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม
ปัญหาคือ เวลาที่คนขายคุยกับคนในร้านเขาจะคุยภาษาจีนแต้จิ๋ว ส่วนผมซึ่งเป็นจีนแคะฟังไม่รู้เรื่อง ผมก็เลยถามเด็กวัยรุ่นคนขายว่า พูดจีนกลางได้ไหม เขาตอบว่า ได้บ้าง เราจึงสื่อสารกันเช่นนั้นเกี่ยวกับเรื่องสินค้าที่ผมซื้อด้วยภาษาจีนกลาง
ตอนนั้นผมบอกกับตัวเองว่า ผมก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นลูกจีนคนนั้น ที่เรียนภาษาจีนกลางมาบ้าง (จะในโรงเรียนหรือเรียนพิเศษตามบ้านก็ตาม) แต่เมื่ออยู่ในบ้านก็ใช้ภาษาถิ่นจีนแคะ หาได้ใช้ภาษาจีนกลางไม่ ก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่นคนนั้นที่พูดภาษาจีนแต้จิ๋ว
นอกจากนี้ ครั้นผมโตขึ้นอยู่ในวัยทำงานแล้ว ผมเคยไปนั่งอยู่ในวงของปัญญาชนชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนที่คุยกันอย่างไม่เป็นทางการในวงนั้นจะคุยภาษาไทย แต่พอเริ่มเรื่องที่เป็นทางการแล้ว แทนที่ในวงจะคุยภาษาจีนกลางก็กลับคุยด้วยภาษาแต้จิ๋ว
ผมซึ่งฟังไม่รู้เรื่องจึงได้แต่นั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ
แต่ก็ทำให้รู้ว่า ภาษาจีนแต้จิ๋วนั้นมีการใช้กันในไทยอย่างกว้างขวางจริงๆ ครั้นหันไปดูงานวรรณกรรมจีนที่แปลเป็นไทย (ส่วนใหญ่เป็นนิยายกำลังภายใน) ก็พบว่า คำทับศัพท์ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละคร สถานที่ สิ่งของ ตำรับตำรา ฯลฯ ล้วนเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วทั้งสิ้น ยิ่งชื่อร้านค้าด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง ที่แทบทั้งหมดทับศัพท์ด้วยภาษาจีนแต้จิ๋วกันทั้งนั้น
จะมีภาษาจีนถิ่นอื่นอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที และจากปรากฏการณ์นี้จึงทำให้สิ่งละอันพันละน้อยที่มีพื้นฐานมาจากจีน ต่างถูกเรียก
ทับศัพท์ด้วยภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นหลัก ภาษาจีนถิ่นอื่นอย่างจีนกวางตุ้ง จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำ และจีนแคะ มีให้เห็นเป็นรอง
ปรากฏการณ์นี้ดำรงอยู่ยาวนาน และอยู่ควบคู่ไปกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนจีน จนทำให้คำทับศัพท์ภาษาจีนเหล่านั้นวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย จนคนไทยเองก็ใช้คำจีนเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้
และก็อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่า คนไทยใช้คำจีนเหล่านั้นโดยไม่รู้ภาษาจีน และใช้โดยรู้ความหมายบ้าง ไม่รู้บ้าง ใช้จนคำจีนเหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำไทย
หรือที่ผมเรียกว่า คำจีนสยาม
การใช้ภาษาจีนในไทยดังกล่าวดำรงมาอย่างยาวนาน ดำรงอยู่ท่ามกลางการจำกัดไม่ให้การเรียนภาษาจีนในโรงเรียนเรียนเกินชั้นประถมศึกษาปีที่สี่หรือ ป.สี่ ใครที่ต้องการเรียนสูงเกินกว่านั้นก็ต้องขวนขวายเรียนพิเศษเอาเอง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางบ้านด้วยว่าจะให้เรียนต่อหรือไม่
ถ้าให้เรียนต่อ ภาษาจีนก็จะแข็งแรงขึ้น ถ้าไม่ภาษาจีนก็จะงูๆ ปลาๆ ยิ่งถ้าไม่ได้ใช้ด้วยแล้ว ภาษาจีนเหล่านั้นก็จะคืนครูไปหมด
ส่วนคนไทยที่ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรด้วยกับการเรียนภาษาจีนนั้น ก็ยังคงใช้ภาษาจีนแบบที่ผมว่ามา คือใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในการสั่งอาหารจีน ใช้เรียกชื่อร้านค้า ข้าวของเครื่องใช้หรือของกิน หรือใช้เรียกเพื่อนที่เป็นลูกหลานชาวจีน ฯลฯ
การใช้ภาษาจีนในไทยภายใต้เงื่อนปัจจัยจากที่กล่าวมาอยู่จนถึงต้นทศวรรษ 1990 ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลไทยได้ “ปลดปล่อย” การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยให้มีอิสรภาพ คือไม่ต้องเรียนถึงชั้น ป.สี่อีกต่อไป
การปลดปล่อยในครั้งนั้น ได้นำมาซึ่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาจีนในไทยอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง