ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลกับการทำประมงยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตระหนักให้ความสำคัญ
ย้อนกลับไปช่วงปี 2558 ประเทศไทยโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) ติดโผประเทศทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) หากไม่ทำการแก้ไขปรับปรุงจะส่งออกประมงไปยังสหภาพยุโรปไม่ได้
และหลังจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลากว่า 4 ปี ทั้งการกำหนดกฎระเบียบประมงต่างๆ ออก พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 และแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2560 เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ EU กระทั่งในที่สุดประเทศไทยหลุดจากการโดนแบน ได้รับประกาศปลดใบเหลืองเมื่อช่วงต้นปี 2562
อย่างไรก็ตาม นับเป็บบทเรียนครั้งสำคัญของประมงไทยซึ่งในประเด็นนี้ ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตวุฒิสภา และในฐานะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงมาตลอดชีวิต ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน : กรณีประเทศไทย (EU-IUU, pitfall for sustainable fisheries development: Thailand case)” ระบุในตอนหนึ่งความว่า
การดำเนินการแก้ไขประเด็นปัญหาที่เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยได้รับใบเหลืองอย่างเร่งรีบและเข้มงวด ได้ส่งผลกระทบต่อชาวประมงและอุตสาหกรรมประมงของไทยในทุกระดับทั่วประเทศ อุตสาหกรรมประมงขนาดเล็กต้องล่มสลาย เรือประมงที่เป็นทั้งทรัพย์สินและเครื่องมือประกอบอาชีพของผู้ประกอบการต้องกลายเป็นเศษเหล็กและเศษไม้ที่ไร้ค่า ชุมชนประมง ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวประมงตกอยู่ในสภาวะล่มสลาย โดยรัฐไม่มีมาตรการดูแล ช่วยเหลือ หรือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเสียหายปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลปลดใบเหลืองสำเร็จ แต่ความสำเร็จดังกล่าวเป็นเพียง “หลุมพราง” หรือ “กับดักการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน” ในประเทศไทย
เช่นเดียวกันกับ การประกาศกฎระเบียบในการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA)
MMPA มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง การทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ จึงส่งผลให้ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯ และประเทศที่ทำการประมงพาณิชย์ (Havesting Nations) ทั่วโลก ซึ่งอาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการถูกห้ามนำเข้าสินค้าประมง
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและการประมงอย่างยั่งยืน แต่แม้จะพยายามปกป้องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในน่านน้ำของตนเอง เครื่องมือประมงยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประชากรวาฬและโลมา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่นๆ อ้างอิงข้อมูลศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพรายงานว่า สัตว์เหล่านี้จำนวนกว่า 650,000 ตัว ถูกจับและฆ่าโดยไม่ได้ตั้งใจในเครื่องมือประมงทั่วโลก
ดังนั้น MMPA ของสหรัฐฯ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่เกี่ยวข้องกับการประมงเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้ประเทศที่ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาไปยังสหรัฐฯ ต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันกับการทำการประมงเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รวมทั้ง มีการพัฒนาโปรแกรมการกำกับดูแลตามความเหมาะสมซึ่งเทียบเคียงได้มาตรฐานโปรแกรมของสหรัฐฯ
MMPA เป็นการส่งสัญญาณจากสหรัฐฯ ถึงประเทศคู่ค้าสินค้าและผลิตภัณ์ประมง ให้ตระหนักผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในทะเล หากการทำประมงส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนน้อย หรือไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง หรือมีมาตรการดูแลที่มากพอ สหรัฐฯ ก็จะไม่แบนสินค้า
สำหรับ สหรัฐฯ คือประเทศคู่ค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อันดับ 1 ของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลการส่งออกในปี 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐ มีมูลค่าสูงถึง 3.99 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงออกแนวทางการดำเนินการตามข้อบังคับใช้ของกฎระเบียบตามกฎหมาย MMPA) ของสหรัฐฯ เคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564-2565
ในประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบการ อีกทั้งการดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ จะต้องทำควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบต่อประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาครอบคลุมประเด็นที่รอบด้านเป็นระบบ ตลอดจนจะได้สร้างความเชื่อมั่นต่ออาหารทะเลไทยเพื่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ไปพร้อมกับการทำประมงที่ยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติเปิดเผยความคืบหน้าของรัฐบาลไทยต่อกรณีสหรัฐฯ ประกาศข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมาย MMPA โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564-2565
สำหรับแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566– 2570 ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 การติดตามและประเมิน (Monitoring & Estimation) ประกอบด้วย 2 แผนงาน 8 โครงการ กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ประกอบด้วย 5 แผนงาน 11 โครงการ กลยุทธ์ที่ 3 การอนุรักษ์และจัดการ (Conservation & Management) ประกอบด้วย 6 แผนงาน 11 โครงการ กลยุทธ์ที่ 4 การบังคับใช้ (Enforcement) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 7 โครงการ กลยุทธ์ที่ 5 การสื่อสาร (Communication) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 14 โครงการ
โดยมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการใช้เทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มประชากรใกล้ฝั่งและไกลฝั่ง 2. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงและวิธีการทำการประมงเพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
3. โครงการการประเมินผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหา การบรรเทาผลกระทบและการเยียวยาชาวประมง ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ 4. โครงการ การแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อพะยูน 5. โครงการการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (e-License) เพื่อรองรับมาตรการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
6. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำเพื่อรองรับ Marine Mammal Protection Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา 7. โครงการการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 8. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสัตว์ทะเลหายากผ่านระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Smart Marine Patrol) มีวงเงินงบประมาณรวม 225.9 ล้านบาท โดยมอบให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อ. 1 พิจารณารายละเอียดโครงการและงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ กรมประมง ได้จัดส่งข้อมูลการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยให้สหรัฐฯ ในกรอบเวลาที่กำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางสหรัฐฯ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการประกาศผลการพิจารณา ก่อนบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของไทยเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น โดยภายใต้การบริหารจัดการของรัฐที่มีประสิทธิภาพ จึงจะส่งเสริมการการอนุรักษ์สัตว์ทะเลควบคู่กับการทำประมงอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์ทั้งมิติในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศษฐกิจ