ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าจะออกลูกพลิ้วลำบากซะแล้ว สำหรับ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พ่วงด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ถูกแช่แข็งมานานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เมื่อปี 2559
เพราะหลังการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จบลง ก็กลายเป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ต้องจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. และนายกเมืองพัทยา ให้จบ หลังยื้อยุดมานาน
ว่ากันว่าเป็นเพราะความไม่พร้อมของ “พรรคพลังประชารัฐ-รัฐบาล”
เอาเข้าจริงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.” ไม่ได้สลักสำคัญเท่าไร เพราะอย่างไร กทม.ที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับ “มหานคร” ก็ต้องพึ่งพา “รัฐบาลกลาง” อยู่ดี
แต่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีความเกี่ยวพันกับ “กระแส” และเป็น “ตัวชี้วัด” การเมืองระดับชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่การเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมีขึ้นในอีกราว 1 ปีหลังจากนี้
ในแง่ของพรรคการเมืองย่อมต้องวางเป็นฐานในสนาม กทม.เพื่อต่อยอดไปถึงสนามทั่วประเทศ
หากพรรคพลังประชารัฐที่ถือเป็นแชมป์เมืองหลวง ได้ ส.ส.มา 12 จาก 30 ที่นั่งเมื่อการเลือกตั้งต้นปี 2562 เกิดพลาดพลั้งเสียทีในสนามนครบาล ก็อาจกระทบไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต
หรือระยะสั้นย่อมสะท้อนไปถึงภาพลักษณ์และการยอมรับของรัฐบาล และตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตรงนี้เองที่ “ฝ่ายอำนาจ” ต้องคิดหนัก และคิดนานเป็นพิเศษ
ครั้นจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือ ส.ก. ก็ดูไม่น่าใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องของพรรคใหญ่ และแชมป์นครบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ
และหากส่งก็ต้อง “ชนะ” สถานเดียว
ล่าสุดข่าวว่า “กกต.กทม.” เคาะแล้ว และเตรียมเสนอ “กกต.ใหญ่” ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในช่วงต้นเดือน ก.พ.65 และให้มีการจัดเลือกตั้งภายใน 60 วันตามกฎหมาย คาดว่าลงล็อกในวันที่ 3 เม.ย.2565
อยู่ที่ว่า “ฝ่ายอำนาจ” จะเห็นดีเห็นงามกดไฟเขียวให้หรือไม่
ซ้ำร้ายผลการสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง "อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯกทม." ครั้งที่ 8 ก็ยิ่งไม่เข้าทางรัฐบาล
เมื่อบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม.อันดับ 1 ยังเป็น “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ที่ร้อยละ 34.37 ทิ้งห่างอันดับ 2 “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่ได้ร้อยละ 17.07 เกือบเท่าตัว
ขณะที่อันดับ 3 ร้อยละ 11.68 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 ร้อยละ 6.37 ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 6.15 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 6 “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล ได้ ร้อยละ 5.54 อันดับ 7 “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ร้อยละ 4.86
อันดับ 8 ร้อยละ 3.03 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 9 ร้อยละ 2.88 ไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO) อันดับ 10 ร้อยละ 2.66 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 11 ร้อยละ 2.20 จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันดับที่ 12 ร้อยละ 1.37 ผู้สมัครจากพรรคกล้า อันดับ 13 ร้อยละ 1.21 “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. และร้อยละ 0.61 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย
เมื่อวิเคราะห์จากผลโพลเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 7 เดือน พ.ย.64 ก็พบว่า สัดส่วนของผู้ที่จะเลือก “ชัชชาติ” ก็ยังเพิ่มขึ้น
ความอลเวงในซีกของรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ มาจากการที่ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ที่เดิมเก็งกันว่าจะเป็นผู้สมัครที่พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุนประกาศ “กลืนเลือด” ถอนตัวไปอย่างช้ำๆ เมื่อเดือนที่แล้ว
ทั้งที่เปิดตัวแรง วางทีมงานทำพื้นที่ ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน สุดท้ายชิงดับเครื่อง ถอนตัวก่อนระฆังจะดังไปดื้อๆ ว่ากันว่าเพื่อไปรอรับภารกิจที่ใหญ่กว่า
ขณะที่ “อัศวิน” ที่ส้มหล่นได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ในยุครัฐบาล คสช.นับวันยิ่งดูห่างเหินจากพรรคพลังประชารัฐไปทุกที
ถอดรหัสได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ “ประธานตู่” จักรพันธ์ พรนิมิต ส.ส.กทม.ในฐานะหัวหน้าภาค กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ว่า “ส่วนที่มีกระแสข่าว เป็นชื่อของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่จะลงผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย ในนามพรรคพลังประชารัฐนั้น ยืนยันว่า ไม่มี และตัว พล.ต.อ.อัศวินเองก็ไม่ได้แสดงความจำนงมายังพรรคแต่อย่างใด และส่วนตัวเชื่อว่าประชาชน กทม. ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของ กทม.ในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน”
ย้ำอีกครั้ง “ในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน” ที่เป็นการตำหนิการทำงานของ “อัศวิน” อยู่ในที
สปอตไลท์ก็เลยจับไปที่ “ผู้ว่าฯ หนึ่ง” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เจ้าของสมญา “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ที่สร้างชื่อจากสถานการณ์ช่วยสมาชิกทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย ครั้งเป็นผู้ว่าฯเชียงราย
โดยมีการเชื่อมโยงกับเมื่อครั้งที่ “ณรงค์ศักดิ์” ดอดเข้าไปที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อรายงานตัวกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังโยกย้ายมาเป็นผู้ว่าฯ ปทุมธานีเมื่อไม่นานมานี้
สอดรับกับกระแสที่ว่า บิ๊กพลังประชารัฐวางสเปกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคว่า ต้อง “เด่น-ดัง-โดน” เพื่อมาชนกับ “ชัชชาติ” ที่คะแนนนำลิ่ว จ่อเข้าป้ายตั้งแต่ยังไม่ลงแข่ง จึงตามจีบ
“ผู้ว่าฯหนึ่ง” อย่างหนัก
อย่างไรก็ดีมีกระแสข่าวในทำนองว่า “ณรงค์ศักดิ์” ปฏิเสธอย่างหนักแน่น ถึงขั้นงัดใบรับรองแพทย์ว่า ป่วย ไม่พร้อมรับภาระหนักอย่างการลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
อีกทั้งด้วยอายุราชการที่ยังเหลืออีกถึง 4 ปี เกษียณ 30 ก.ย.68 ยังมีลุ้นขึ้นชั้น “เบอร์ 1 กระทรวงคลองหลอด” ได้ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตราชการ หลัง “ปลัดคนปัจจุบัน” เกษียณก่อนหน้า 1 ปี และไม่อยากเอาชื่อเสียงที่สั่งสมมา มาทิ้งที่สนาม กทม.
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “บิ๊กรัฐบาล” พยายามยื่น “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้” เพื่อให้ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เปลี่ยนใจ โดยมี “ออปชั่นพิเศษ” หากพลาดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ก็สามารถกลับเข้ามารับราชการใหม่ได้อีกครั้ง พ่วงด้วยเก้าอี้ที่ใหญ่กว่าในปัจจุบัน
เหมือนครั้งที่ “บิ๊กจูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ลาออกจากราชการมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 แต่แพ้ให้กับ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง
พูดกันอีกว่า การที่ “ณรงค์ศักดิ์” ได้ขยับออกจากพื้นที่ภาคเหนือ มาเป็นผู้ว่าฯปทุมธานี ที่ถือเป็นจังหวัดใหญ่งวดนี้ ก็เพราะ “บิ๊กรัฐบาล” วางเกมให้มาโชว์ผลงานแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ใกล้ กทม. ก่อนขยับมาชิงเก้าอี้พ่อเมืองหลวงในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
น่าสนใจว่า หลังเป็นข่าวหนาหูก็ยังไม่มีคำปฏิเสธออกจากปาก “ณรงค์ศักดิ์” แต่อย่างใด ผิดกับหลายปีก่อนที่เคยตกเป็นข่าวว่าถูกทาบทามให้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนั้น “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งทันที
ที่สำคัญต้องจับตาด้วยว่า อาการป่วยที่ “ผู้ว่าฯ หนึ่ง” แจ้งกับผู้ใหญ่นั้น เป็นอาการ “ป่วยหนัก” จริงตามกระแสข่าว หรือเป็นเพียงอาการ “ป่วยการเมือง” เพื่อเลี่ยงศึกหนัก ที่มีเดิมพันสูงปรึ๊ด
ต้องยอมรับว่า ฝ่ายรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ หากไม่ได้เบอร์ใหญ่อย่าง “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” มาลงผู้ว่าฯ เมืองหลวง ก็ต้องบอกว่า คู่แข่งรายอื่นๆ ยากที่จะต่อกรกับ “ชัชชาติ” ที่นาทีนี้ “ยืนหนึ่ง” ทิ้งห่างแทบไม่เห็นฝุ่น
โดยเฉพาะรายของ “ผู้ว่าฯ อัศวิน” พ่อมเมืองคนปัจจุบัน ที่แม้จะปูพรมทีมงาน “รักษ์กรุงเทพ” เต็มที่ พร้อมๆกับปล่อยของนโยบายบิ๊กโปรเจคต์ในช่วงนี้อย่างหนัก แต่ว่ากันตามเนื้อผ้าชื่อของ “อัศวิน” ยังไม่ขายสำหรับคน กทม. และตะแนนนิยมยังห่าง “ชัชชาติ” ที่ยังแทบไม่ออกอาวุธอยู่หลายช่วงตัว
แล้วยังมีจังหวะโบ๊ะบ๊ะให้วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเสียหายบ่อยครั้ง ทั้งน้ำรอการระบาย-เทเหล้าทิ้ง เป็นอาทิ ภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับ คสช.ด้วยการตีตั๋วหัวหน้า คสช.นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มานานกว่า 6 ปี
คาดหวังเครือข่ายพันธมิตรรัฐบาลอย่าง “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยผูกขาดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มาหลายสมัย เอาชนะ “ชัชชาติ” ที่เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ฟากฝ่ายค้าน เพื่อไม่ให้เสียหน้า ก็ดูจะหวังพึ่งลำบาก
เพราะหลังจากพรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ในสนาม กทม.ไม่ได้ ส.ส.เมืองหลวงแม้แต่ที่นั่งเดียว เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะกู้ศรัทธาแชมป์เก่ากลับมาได้เลย รวมทั้งการเลือกเอา “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาลงสมัคร ก็ดูจะไม่ใช่ตัวเลือกที่เปรี้ยงปังแต่อย่างใด
ขนาดคนในพรรคประชาธิปัตย์ยัง “ด้อยค่า” การที่ผู้บริหารพรรคไปดึงคนนอกอย่าง “พี่เอ้” มาลงสมัคร แทนที่จะเลือกคนในพรรคที่เป็นคนเก่าคนแก่ในพื้นที่ กทม.
หรือการที่ “พี่เอ้-สุชัชวีร์” โยนหินกับสนามผู้ว่าฯ กทม.มาพอสมควรแล้ว แต่ชื่อกลับอยู่รั้งท้ายๆ ของนิด้าโพล คู่กับคะแนนผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ บวกรวมกันแล้วยังได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ด้วยซ้ำ ในขณะที่เต็งหนึ่งอย่าง “ชัชชาติ” ไปไกลแล้ว
ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเร็ว จะช้า จะเปิดคูหาเมื่อไรนั้น ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่คำตอบของ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เท่านั้น.