xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การใช้ภาษาจีนในไทย (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ผมคิดว่า ที่พี่ผู้หญิงเพื่อนร่วมงานของผมกล่าวมานั้นไม่ใช่เรื่องตลกชวนหัว ตรงกันข้ามมันกลับมีประเด็นที่ชวนคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐานในสำเนียงพูด ว่าใครเป็นคนกำหนด แล้วบังเอิญว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์อำนาจ กรุงเทพฯ ก็เลยเห็นว่า สำเนียงของตนเป็นสำเนียงมาตรฐาน

แต่คนไทยภาคกลางที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ ไม่คิดเช่นนั้น แต่กลับคิดว่าคนกรุงเทพฯ ต่างหากที่พูดเหน่อ

 เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะไม่ใช้คำว่า “เหน่อ” แต่จะใช้คำว่า “ต่าง” แทน อีกอย่างคำว่าเหน่อนั้นบางทีก็ใช้ไปในทางที่ด้อยค่าคนที่พูด “ต่าง” ไปจากตนเช่นกัน 

ทีนี้กลับมาที่ภาษาจีนอีกครั้ง ว่าภาษาจีนจากห้าเมืองที่เป็นภูมิลำเนาเดิมของคนจีนที่เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อร้อยสองร้อยปีก่อนนั้น ไม่เพียงทำให้มีภาษาจีนถิ่นห้าสำเนียงปรากฏขึ้นในไทยเท่านั้น หากในห้าสำเนียงนี้ยังมีความต่างปรากฏอยู่อีกด้วย

อย่างเช่นภาษาจีนฮากกาหรือที่เรียกอีกอย่างว่า จีนแคะ นั้น ในไทยมีการแบ่งเป็นแคะลึกกับแคะตื้น คือถ้าเป็นแคะลึกจะมีสำเนียงพูดแบบหนึ่ง ถ้าเป็นแคะตื้นก็จะอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกแยกเช่นนั้นในด้านหนึ่งจึงหมายถึงสำเนียงที่ต่างกันไปด้วย และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะจีนแคะทั้งสองกลุ่มนี้มาจากพื้นที่ที่ต่างกัน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การที่มีการใช้ภาษาจีนในไทยเกิดขึ้นห้าสำเนียงจากห้าภูมิลำเนาเดิมของชาวจีนในไทย ลึกลงไปแล้วภาษาจีนแต่ละถิ่นของชาวจีนเหล่านี้ก็ยังแฝงความต่างเอาไว้อีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาถิ่นที่ว่าก็จะฟังไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไร ยิ่งคนไทยด้วยแล้วก็ยิ่งไม่รู้เป็นธรรมดา และในฐานะเจ้าบ้าน คนไทยจึงได้แต่ “รับทราบ” แต่เพียงว่าคำในภาษาจีนแต่ละคำหมายถึงอะไรหรือแปลว่าอะไรเท่านั้น




เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงตอนที่ผมกำลังศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ  สามก๊ก  เมื่อสี่ห้าปีก่อนอยู่นั้น ด้วยความที่มิใช่เอตทัคคะในเรื่อง สามก๊ก  ระหว่างที่ศึกษาอยู่ผมจึงต้องอาศัยผู้รู้บางท่านช่วยให้ความกระจ่างในบางเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ และมีอยู่ตอนหนึ่งผู้รู้ได้บอกผมว่า  สามก๊ก  ที่เป็นงานวรรณกรรมนั้น ได้ให้คำทับศัพท์ชื่อเมืองเดียวกันแตกต่างกันไป จนทำให้คนอ่านบางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนละเมือง
ท่านว่า ที่แตกต่างกันนั้นน่าจะมาจากสาเหตุที่ว่า หนึ่ง  ผู้เรียบเรียงชาวไทยที่มีมากกว่าหนึ่งคนฟังผู้แปลชาวจีนเพี้ยนไป คือหมายความว่า ชาวไทยคนหนึ่งฟังแบบหนึ่ง อีกคนหนึ่งฟังไปอีกแบบหนึ่ง เวลาเขียนทับศัพท์ออกมาจึงสะกดต่างกัน

หรือไม่ก็  สอง มีสาเหตุมาจากผู้แปลชาวจีนที่มีมากกว่าหนึ่งคนเช่นกัน แต่ละคนอาจจะออกเสียงต่างกันจนทำให้ผู้เรียบเรียงชาวไทยเขียนสะกดต่างกันไป

ผู้รู้ท่านว่า ปัญหานี้น่าจะมาจากข้อที่สองเป็นหลัก ซึ่งก็คือเพราะชาวจีนผู้แปลออกเสียงคำจีนต่างกัน ชาวไทยผู้เรียบเรียงจึงเขียนตัวสะกดต่างกัน ทั้งที่เป็นคำเดียวกัน

ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างความแตกต่างของสำเนียงภาษาถิ่น ว่าแม้จะเป็นภาษาในถิ่นเดียวกันก็ยังมีสำเนียงต่างกันปรากฏอยู่เช่นกัน ก็เหมือนกับภาษาไทยภาคกลาง (หรือภาคอื่นๆ ก็ตาม) ที่ยังคงมีความต่างกันในแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอดังได้กล่าวไปแล้ว

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อภาษาจีนจากห้าถิ่นดังกล่าวเข้ามาในไทยเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อนแล้ว ภาษาจีนถิ่นเหล่านี้ก็วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวไทย ส่วนชาวไทยจะรับเอาภาษาถิ่นไหนมาใช้มากน้อยแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับชาวจีนถิ่นไหนมีปฏิสัมพันธ์กับชาวไทยมากกว่ากัน

ถึงตรงนี้เราก็จะเห็นในเบื้องต้นว่า เมื่อต้นรัตนโกสินทร์นั้น ในขณะที่ราชสำนักไทยกำลังดำเนินการแปลและเรียบเรียงวรรณกรรม สามก๊ก อยู่นั้น สังคมไทยกลับมีชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาไม่ขาดสาย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลที่ย้อนแย้งเกี่ยวกับภาษาจีนขึ้นมาเรื่องหนึ่งคือ ในขณะที่ตัวภาษาจีนในวรรณกรรม **สามก๊ก** เป็นภาษาจีนถิ่นฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) อยู่นั้น แต่ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามายังไทยกลับเป็นชาวจีนจากเมืองซ่านโถว (ซัวเถา) ของจีนโดยส่วนใหญ่ และเป็นชาวจีนที่ใช้ภาษาถิ่นแต้จิ๋ว (เฉาโจว)

 เรื่องเลยกลายเป็นว่า ในขณะที่ชาวไทยอ่านงานวรรณกรรม สามก๊ก ที่ทับศัพท์ภาษาจีนเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนอยู่นั้น ชาวไทยกลับต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนโพ้นทะเลที่ใช้ภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ชาวไทยจึงมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาจีนถิ่นฮกเกี้ยนกับถิ่นแต้จิ๋วควบคู่กันไป 


โดยที่ไม่รู้ว่าภาษาจีนที่ตนมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นมีสำเนียงที่ต่างกันจากถิ่นที่ต่างกัน และใช้โดยที่รู้และไม่รู้ความหมายในบางคำ

 สภาพการใช้ภาษาจีนดังกล่าวดำรงอยู่อย่างยาวนาน กล่าวคือ ขณะที่ราชสำนักยังคงทำการแปลวรรณกรรมจีนผ่านสำเนียงจีนฮกเกี้ยนต่อไป สำเนียงจีนแต้จิ๋วก็แผ่การใช้ไปทั่วทุกที่ที่มีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ 

แต่ด้วยเหตุที่ภาษาจีนแต้จิ๋วมีการใช้เป็นส่วนใหญ่ ภาษาจีนสำเนียงนี้จึงมีอิทธิพลเหนือภาษาจีนถิ่นอื่นที่มีจำนวนชาวจีนรองลงมา ภาษาถิ่นที่ว่าก็คือ กวางตุ้ง แคะ และไหหลำ

ในขณะเดียวกัน ในขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐมีชาวจีนแต้จิ๋วกระจุกตัวอยู่มากแล้ว จีนที่เหลืออื่นๆ (รวมทั้งจีนแต้จิ๋ว) ก็กระจายไปยังภาคต่างๆ ของไทย แม้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นจีนแต้จิ๋ว แต่บางพื้นที่จีนสำเนียงอื่นกลับมีอิทธิพลมากกว่า

เช่น ในทางภาคใต้นั้น ภาษาจีนฮกเกี้ยนค่อนข้างมีอิทธิพลในหลายจังหวัด ในขณะที่ตัวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาษาจีนแคะกลับมีอิทธิพลสูง

กรณีตัวอย่างของภาษาจีนฮกเกี้ยนกับภาษาจีนแคะในภาคใต้ดังกล่าว ถึงที่สุดแล้วยังคงเป็นพื้นที่ที่มีขนาดของการใช้ภาษาถิ่นทั้งสองไม่กว้างนัก คือถึงอย่างไรก็สู้การใช้ภาษาแต้จิ๋วไม่ได้อยู่ดี

 กว่าที่อิทธิพลของภาษาจีนแต้จิ๋วจะครองฐานะนำในไทย เวลาก็ล่วงเข้าสู่ราวๆ กลางศตวรรษที่ 20 ไปแล้ว ถึงตอนนั้นราชสำนักไทยก็มิได้แปลวรรณกรรมจีนอีกแล้ว คนที่แปลกลับเป็นปัจเจกบุคคล คราวนี้คำทับศัพท์ที่ใช้คือภาษาจีนแต้จิ๋ว มิใช่ภาษาจีนฮกเกี้ยนอีกต่อไป 

 อิทธิพลของภาษาจีนแต้จิ๋วไม่เพียงแผ่ผ่านวรรณกรรมจีนเท่านั้น หากแม้แต่โรงเรียนพาณิชยการบางแห่งยังสอนภาษาจีนเป็นภาษาถิ่นแต้จิ๋วอีกด้วย แทนที่จะเป็นภาษาจีนกลางดังโรงเรียนสายสามัญทั่วไป 


การใช้ภาษาจีนผ่านการเรียนภาษาจีนจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พึงกล่าวถึง




กำลังโหลดความคิดเห็น