xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

หลักประกันความสงบของบ้านเมืองอย่างหนึ่งคือ การที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารประเทศได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างทั่วหน้า ทว่า สภาวะเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกต่อต้านจากประชาชนหลากหลายกลุ่มทั้งในกระบวนการร่าง การลงประชามติ เนื้อหาสาระ และการบังคับใช้ เมื่อมีการนำรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ก็ยังมีปัญหาในการปฏิบัติตามมาหลายประการ และที่สำคัญคือการสร้างและขยายความขัดแย้งทางสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย


กลุ่มที่มีอิทธิพลในการกำหนดและออกแบบกระบวนการร่างและเนื้อหารัฐธรรมนูญคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารที่ทำลายรัฐธรรมนูญปี 2550 จินตนาการเชิงนิยายของคสช.เกี่ยวกับตนเองคือ พวกเขาคิดและรู้สึกว่าพวกตนเองเป็นวีรบุรุษกอบกู้ชาติ เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความสงบเรียบร้อย และคืนความสุขแก่ประชาชน พวกเขาคิดว่าการครองอำนาจอย่างยาวนานจะทำให้สามารถจัดการสังคมการเมืองให้อยู่ในกรอบและเป็นไปตามทิศทางที่พวกเขาปรารถนาได้

เมื่อคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นประธานในการร่างไม่อาจตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ ปฏิบัติการทุบทำลายคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงเกิดขึ้นอย่างจงใจ และคณะกรรมร่างชุดใหม่ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานร่าง ซึ่งพร้อมตอบสนองความปรารถนาของพวกเขาก็มารับไม้ต่อ คราวนี้ไม่ผิดหวัง คณะกรรมการชุดนี้สรรสร้างกลไกนานาประการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครอง คสช. อย่างรอบด้าน ขณะเดียวกันได้ออกแบบกลไกการสืบทอดอำนาจเอาไว้อย่างลึกล้ำ และสร้างกำแพงที่สูงลิ่วเพื่อป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลัง สิ่งเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่สร้างความแตกแยกและขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองในภายหลัง จนทำให้โครงสร้างสังคมไทยสั่นคลอนและแตกร้าวในทุกระดับ

ระหว่างกระบวนการร่าง มีประชาชนหลายกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจำกัดและกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง การมีส่วนร่วมถูกดำเนินการภายใต้การควบคุมกำกับอย่างใกล้ชิดของผู้มีอำนาจรัฐ กลุ่มที่มีแนวโน้มเห็นด้วยและสนับสนุน คสช. เพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการร่าง ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย การเข้าถึงและร่วมในเวทีเหล่านั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ มิหนำซ้ำกลุ่มใดที่แสดงการคัดค้านอย่างเอางานเอาการ ก็ถูกอำนาจรัฐคุกคาม จับกุม และดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

มีการหมกเม็ดอำพลางเนื้อหาของการสืบทอดอำนาจอย่างแยบยล ซึ่งซ่อนรูปอยู่ในแบบแผนของการใช้ภาษากฎหมายที่ซับซ้อน ดังใน มาตรา 272 ที่ระบุว่า “... การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา ๑๕๙ เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”
อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไปเลย แม้แต่ผู้มีการศึกษาสูงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดอ่านแล้ว ก็คิดไม่ทันว่า แท้จริงแล้วมาตรานี้คือ การให้อำนาจวุฒิสภาในการลงมติในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั่นเอง การให้อำนาจการเลือกผู้บริหารสูงสุดของประเทศ แก่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกสรรของ คสช. เป็นบั่นทอนสิทธิทางการเมืองและอำนาจของประชาชนโดยตรง และเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ คนทั่วไปยังไม่รับรู้และตระหนักถึงการดำรงอยู่ของมาตรานี้ จนกระทั่งในช่วงการเลือกตั้งและกำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงมีการรับรู้มากขึ้น แต่ก็สายไปเสียแล้ว

นอกจากบั่นทอนอำนาจทางการเมืองของประชาชนโดยตรงแล้ว สาระจำนวนมากหลายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้แกนนำคสช. สามารถผูกขาดอำนาจและควบคุมองค์กรอิสระได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งพรรคพวกตนเองเป็นวุฒิสมาชิกเกือบทั้งหมด ซึ่งกว่าร้อยละห้าสิบของวุฒิสมาชิกเป็นทหารและตำรวจ และพฤติกรรมทางการเมืองในภายหลังที่วุฒิสมาชิกแสดงออกมาก็เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะว่า เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มที่แต่งตั้งตนเองเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้นแกนนำของ คสช. ก็ยังสามารถบงการและควบคุมให้วุฒิสมาชิกเลือกกรรมการองค์กรอิสระต่าง ๆ จากบุคคลที่มีความเชื่อทางการเมืองแบบเดียวกับตนเอง และสามารถสั่งได้ การปฏิบัติงานขององค์การอิสระจึงมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้ครองอำนาจรัฐ มากกว่าดำเนินไปตามหลักนิติธรรมและหลักวิชาการ เช่น การคิดจำนวน ส.ส. ของ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ตีความรัฐธรรมนูญแตกต่างจากความคิดของนักวิชาการนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เกือบทั้งหมด และผลลัพธ์ของการตีความทำให้พรรคการเมืองบางพรรคสูญเสียที่นั่งที่พึงได้อย่างชอบธรรมเกือบสิบที่นั่ง และทำให้พรรคการเมืองจำนวนมากที่ไม่ควรได้ที่นั่ง ส.ส. กลับได้กันอย่างทั่วหน้า

ยิ่งกว่านั้น มีหลักฐานของการใช้รัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจขององค์กรอิสระกรบั่นทอนและทำลายพรรคการเมืองคู่แข่งและกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐอย่างเป็นระบบ ดังเห็นได้จากการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอาศัยการเชื่อมโยงและอรรถาธิบายกฎหมายอย่างพิสดารพันลึกที่เข้าข่ายตรรกะวิบัติในทางวิชาการ หรือกรณีการวินิจฉัยให้การชุมนุมอย่างสงบของนักศึกษาเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย โดยไม่เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างยุติธรรม มีการนำข้อมูลหลักฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เป็นเหตุของคดีเข้ามาเจือสมในการตัดสิน มีการใช้ข้อเท็จจริงเชิงประวัติที่คลาดเคลื่อน และการตีความผลสืบเนื่องที่เกิดจากพฤติกรรมไกลเกินจริง สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนการใช้อำนาจและกฎหมายเพื่อกำหนดผลลัพธ์ตามความต้องการ มากกว่าการใช้บนพื้นฐานของความยุติอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญยังถูกออกแบบให้ คสช. ควบคุมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศร่วมยี่สิบปี ซึ่งเป็นความคิดแบบเพ้อฝันที่ไม่สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ เพราะต่อให้เก่งกาจเพียงใด คณะผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่ คสช.ตั้งขึ้นมาก็ไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและรวดเร็วของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ที่ดีได้ เพียงสามปีหลังประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ก็ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 จนทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้หมดน้ำยาลงไปอย่างรวดเร็ว แผนยุทธศาสตร์ทั้งหลายกลายเป็นกระดาษเปื้อนหมึก ที่บันทึกความล้มเหลวอย่างน่าอดสูทางความคิดของเครือข่ายอำนาจกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน การอวดอ้างความวิเศษของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่โอ้อวดอย่างอหังการว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปและปราบโกงเพื่อสร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แก่ประชาชนก็ถึงคราวอับจน เมื่อความจริงค่อย ๆ เผยตัวออกมา นั่นคือ การปฏิรูปไม่เกิดขึ้นแม้แต่เรื่องเดียว แม้ว่าเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม อย่างเช่น การปฏิรูปตำรวจ หรือ การปราบคนโกงก็ไม่อาจทำได้แม้แต่น้อย กลับยิ่งทำให้การโกงเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ดังค่าคะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบของการมีอยู่และการใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่รุนแรงคือ การสร้างความเสื่อมโทรมแก่ประชาธิปไตยโดยรวมในทุกมิติ เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบก็จบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เสรีภาพของสื่อมวลชนก็ถูกคุกคามอยู่เสมอ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนถูกเพิกเฉยละเลย ในทางกลับกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากอุดมการณ์ของรัฐถูกจับกุมคนแล้ว คนเล่า โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ยิ่งกว่านั้นก็ไปขยายแบบแผนการเมืองน้ำเน่าแบบเดิม ๆ มากขึ้น ทั้งการซื้อเสียงเลือกตั้ง “การดูดส.ส. การสร้างงูเห่า และ การแจกกล้วย” สิ่งเหล่านี้เป็นยาพิษร้ายที่อาจถูกสร้างขึ้นมาอย่างจงใจ เพื่อกัดกร่อนบ่อนทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย และเปิดทางให้กลุ่มอำนาจเหนือสภาเข้ามาแทนที่ในที่สุด

แม้ว่าประชาชนพยายามยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างเย็นชา และถูกต่อต้านอย่างแข็งขันจากเครือข่ายอำนาจรัฐผ่านทางสมาชิกวุฒิสภาในหลายรูปแบบ รวมทั้งการอภิปรายด้วยถ้อยคำที่ดูถูกดูแคลนประชาชน ด้วยท่าทีแบบนัยตาเหนือศีรษะของส.ว. ก็เกิดขึ้นเป็นประจำในรัฐสภา

กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เครือข่ายชนชั้นนำสามารถใช้กลไกทางกฎหมายเสริมสร้างอำนาจ ดำรงรักษาการคงอยู่ของระบบอภิสิทธิ์ชนไว้อย่างมั่นคง และยังเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มเครือข่ายของตนเองอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องปฏิรูปและปราบโกงเพื่อลวงหลอกประชาชนที่มีข้อมูลข่าวสารทางการเมืองน้อยให้เกิดความหวังและยอมจำนนต่ออำนาจ ทั้งยังบั่นทอนอำนาจและจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่คิดต่างอย่างเป็นระบบ และปราบปรามและขจัดผู้ที่ถูกมองว่าเป็นปรปักษ์โดยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย สิ่งเหล่านี้คือวิกฤตพลิงที่โหมไฟแห่งความขัดแย้งให้ลุกลามขยายตัวอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้


กำลังโหลดความคิดเห็น