“สนธยา” นายกเมืองพัทยา ประกาศขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ 5 ปี พลิกโฉมหน้าพัทยาสู่เมืองท่องเที่ยวแห่งอนาคต เพิ่มทักษะอาชีพทางเลือกในโลกยุคดิจิทัล เมืองสุขภาพนานาชาติบริการแบบ Wellness สร้างสมดุลให้คุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (6 ธ.ค.64) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำ “แผนพัฒนาเมืองพัทยา พ.ศ.2566-2570” โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ยกระดับบุคลากรเข้าสู่ยุดใหม่หลังโควิด-19 ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกมิติ ทั้งสุขภาพ การศึกษา สังคมและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีทางเลือกประกอบอาชีพนอกเหนือจากธุรกิจท่องเที่ยว และใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการบริการ
“ผลจากโควิดทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวขนานใหญ่ แต่ก็นับว่าสอดรับพอดีกับแนวทาง NEO PATTAYA ที่เราเริ่มมาแล้ว 3 ปี เพื่อปรับใหญ่ให้พัทยามีภูมิคุ้มกัน ยืนได้อย่างมั่นคงในอนาคต ฉะนั้นในการจัดทำแผนพัฒนาเมืองพัทยาระยะ 5 ปีจึงเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันคิด ซึ่งสรุปได้ว่าเรามุ่งโครงการที่มีศักยภาพสูงเป็นเรือธงรองรับการเป็นศูนย์กลาง EEC การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม ทำให้พัทยาเป็นเมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจชั้นนำระดับนานาชาติอีกครั้ง” นายกเมืองพัทยา ระบุ
นายสนธยา กล่าวต่อว่า ปัจจัยความท้าทายที่สำคัญของพัทยาที่นำมาพิจารณาจัดทำแผนมีห้าด้าน ประกอบด้วย 1.การที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ, 2.ตลาดท่องเที่ยวที่หันไปหาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม, 3.การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล, 4.ความก้าวหน้าของอีอีซีที่มีผลต่อเมืองพัทยา และ 5.ความสามารถของประชากรพัทยาในการปรับตัวรับสิ่งใหม่
ดังนั้นแผนพัฒนาเมืองพัทยา พ.ศ.2566-2570 จึงประกอบด้วยห้างานหลัก ได้แก่ 1.ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยสำหรับทุกคน, 2.ยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีอีซี, 3.ส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, 4.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ 5.
การยกระดับการบริหารเมืองพัทยาเป็นองค์กรที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง
ในส่วนแผนปฏิบัติการจะมีทั้งเชิงรุกและเชิงรับด้วยงบประมาณที่จำกัดแต่มีสมรรถนะสูง สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนแม่บทการท่องเที่ยว และแผนการขยายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ 1.แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาทิ การเร่งส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวในประเทศโดยกำหนดให้มีกิจกรรมการตลาดทุกเดือน พัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ยกระดับตลาดชุมชนนาเกลือเป็นแหล่งทางวัฒนธรรมชุมชนและการท่องเที่ยวธรรมชาติบนเกาะล้าน
2.แผนพัฒนาความสามารถของประชากร อาทิ โครงการอบรมทักษะอาชีพคนรุ่นใหม่ อาทิ ธุรกิจ Wellness , รถยนต์ EV , E-Commerce, โปรแกรม Coding และ Robot รวมถึงยกระดับการเรียนการสอนแบบดิจิทัลของโรงเรียนเขตเมืองพัทยา และศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติ เป็นต้น
3.แผนสิ่งแวดล้อม อาทิ จัดสร้างสวนหย่อม Pocket Park เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง คุ้มครองป่าชายเลนผืนเดียวของพัทยาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และดูแลต้นไม้ใหญ่ทั่วเมืองพัทยา เป็นต้น
4.แผนเทคโนโลยี อาทิ การสร้าง Big Data รวมข้อมูลแบบครบวงจรเพื่อใช้ในการบริหารเมือง ครอบคลุมด้านความปลอดภัย สาธารณสุขแบบดิจิทัล ฯ
และ 5.แผนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การสร้างรถรางเบา (Tram) เพื่อรองรับพื้นที่อีอีซี บริหารจัดการนำเบ็ดเสร็จ แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน การพัฒนาระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ประชาชน เป็นต้น
โดยแผนปฏิบัติต่าง ๆจะดำเนินงานร่วมกับภาคีสำคัญ เช่น คณะกรรมการอีอีซี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมโยธาธิการ ฯ ตลอดชนชุมชนต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง
“พัทยามีทั้งโอกาสและปัญหา แต่จากการที่ภาคส่วนต่าง ๆมาร่วมคิดและมาร่วมทำ จึงเห็นโอกาสว่าเราพร้อมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเติบโตได้ดีกว่าเดิมในอนาคต มีเป้าหมายร่วมกันว่าพัทยาจะแข็งแรงกว่าเดิม” นายสนธยา กล่าว.