สกพอ.เปิดเวทีชูความสำเร็จต้นแบบแผนงานบูรณาการอีอีซีสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน พร้อมต่อยอดแผนงานฯ ปีงบประมาณ 2566 สร้างความร่วมมือรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ใช้งบคุ้มค่าสูงสุด เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้มั่นคง ยกคุณภาพชีวิตคนอีอีซีสมดุลและยั่งยืน
วันนี้ (19 พ.ย. 2564) ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมด้วย นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมเสวนา “เปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบแผนงานบูรณาการ สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” ผ่านระบบ Zoom meeting โดยมีวิทยากรที่ร่วมเสวนา เช่น นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สกพอ. ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน EEC-HDC ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการศึกษา สกพอ. นางสาวเพ็ญแข จันทร์สว่าง ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1 และนางธัญรัตน์ อินทร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านนโยบายและแผน สกพอ. ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จจากโครงการภายใต้แผนงานบูรณการอีอีซี ให้แก่ผู้เข้าร่วมรับฟังจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น กว่า 500 คน จาก 150 หน่วยงาน
การจัดเสวนาฯ ครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนแผนภาพรวมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรมผ่านแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจทิศทางการพัฒนาอีอีซี และแผนงานบูรณาการฯ นำเสนอโครงการที่ประสบผลสำเร็จ และการพัฒนาด้านอื่นๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานจัดทำข้อเสนอโครงการและงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเตรียมกำหนดเป้าหมาย แนวทาง ตัวชี้วัด ให้มีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายของแผนงานบูรณาการฯ ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
สำหรับการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สกพอ.ได้กำหนด 4 แนวทางตามภารกิจที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่
1) ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
2) พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร สู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม รองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
3) พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างระบบนิเวศเมืองด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อม
4) ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ แผนงานบูรณาการฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของ GDP ทั้งในระดับพื้นที่ และในภาพรวมของประเทศ
สำหรับแผนงานบูรณาการอีอีซีถือเป็นต้นแบบสร้างการมีส่วนร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาชน ตั้งแต่จัดทำแผน บริหารทรัพยากรร่วมกัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ด้วยแนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา” มุ่งเน้นใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด