xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมประชาธิปไตยโลกที่ไร้ประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างพรรครีพับริกันกับพรรคเดโมแครตมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดคือ พรรคเดโมเครตให้ความสำคัญกับประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประเทศอื่น ๆ ในโลกมากกว่าพรรครีพับริกัน เมื่อโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครตขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ยังไม่ทันข้ามปีสหรัฐอเมริกาก็ได้จัดประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2564


โดยพื้นฐานทางอุดมการณ์การเมือง สหรัฐอเมริกาให้คุณค่ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก และดูเหมือนมีความพยายามสนับสนุนส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่น ๆ ด้วย แต่อาจมีความเข้มข้นในการสนับสนุนแตกต่างในแต่ละยุคสมัย และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สำคัญอย่างน้อยสองประการคือ อย่างแรกเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ครองอำนาจภายประเทศ หากรีพับริกันมีอำนาจ การสนับสนุนก็ดูเหมือนจะมีความเจือจาง แต่หากเดโมแครตมีอำนาจการสนับสนุนก็ดูเหมือนจะเข้มข้นมากขึ้น และอย่างที่สองคือน้ำหนักของผลประโยชน์ที่จะแลกเปลี่ยนกับจุดยืนเชิงอุดมการณ์

นั่นคือ แม้ว่าบางประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แต่หากสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์จากผู้ปกครองประเทศนั้นมากพอทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มสนับสนุนผู้ปกครองประเทศนั้น โดยมองข้ามระบอบการเมืองของประเทศนั้นไป แต่หากประเทศใดสหรัฐฯ มีประโยชน์ร่วมกับผู้ปกครองประเทศนั้นน้อย ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มให้น้ำหนักกับจุดยืนประชาธิปไตยมากในความสัมพันธ์กับประเทศนั้น ๆ เช่น สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ร่วมกับประเทศพม่าไม่มากนัก ในความสัมพันธ์กับพม่า สหรัฐฯ จะใช้ประเด็นความเป็นประชาธิปไตยเป็นหลักในการพิจารณาระดับความสัมพันธ์กับพม่า

เมื่อมีข่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ได้เชิญประเทศต่าง ๆ ประมาณ 110 ประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยในเดือนธันวาคม 2564 ประเทศที่ได้รับเชิญเป็นประเทศที่ใช้ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งหมด ส่วนประเทศที่ไม่ได้รับเชิญ มีทั้งประเทศที่ใช้ระบอบสังคมนิยม ระบอบราชาธิปไตย และระบอบประชาธิปไตย สำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบอบประชาธิปไตย หากสหรัฐอเมริกาไม่เชิญเข้าร่วมก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่บางประเทศที่ดูเหมือนใช้ระบอบประชาธิปไตย เช่น ประเทศไทย และสิงคโปร์ กลับไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วย เป็นสิ่งที่น่าประหลาดอยู่พอสมควร แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า เกณฑ์ที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการคัดเลือกว่าจะเชิญหรือไม่เชิญประเทศใดนั้น ไม่ได้ใช้แต่เพียง เปลือกนอกของรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังได้พิจารณาในเชิงคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นด้วย

เจตจำนงของสหรัฐอเมริกาในการจัดประชุมครั้งนี้ที่ประกาศออกมาคือ เพื่อหยุดยั้งการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย และการพังทลายของสิทธิเสรีภาพทั่วโลก ซึ่งมีหัวข้อของการประชุม 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) การต่อต้านอำนาจนิยมเผด็จการ 2) การต่อสู้กับการทุจริต และ 3) การส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน อันที่จริงสามารถกล่าวได้ว่า การจัดประชุมครั้งนี้ถูกขับเคลื่อนจากนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน ที่เคยแถลงว่า จะให้สหรัฐอเมริกากลับมาเป็นผู้นำประเทศประชาธิปไตยระดับโลกเพื่อเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจนิยมเผด็จการที่นำโดยจีนและรัสเซีย

การที่สหรัฐฯ ไม่เชิญประเทศไทยไปร่วมประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย มองว่า เป็นเรื่องการเมืองที่ต้องการเล่นงานกันและกัน และยังระบุว่า “ประเทศอาเซียนที่เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง ไม่ได้รับเชิญเช่นกัน (ประเทศสิงคโปร์)” ขณะที่ส.ส. ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย มองว่า การที่สหรัฐฯ ไม่เชิญประเทศไทย สร้างผลกระทบทางลบแก่ภาพลักษณ์ของประเทศ การมองแบบนี้ดูจะเข้าลักษณะองุ่นเปรี้ยวเสียมากกว่า เพราะเท่าที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ดูเหมือนให้ความสำคัญกับการยอมรับจากประเทศตะวันตกอยู่มากทีเดียว การที่ไม่ได้รับเชิญจึงเท่ากับเป็นการเสียหน้าอย่างรุนแรง สำหรับรัฐบาลที่เคยประกาศว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียมองการจัดประชุมและการเลือกเชิญบางประเทศครั้งนี้ว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายในการแบ่งแยกประเทศในโลกออกเป็นสองฝ่าย และกำหนดให้ตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนจีนและรัสเซียเป็นฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม และประเทศจีนดูเหมือนมีความไม่พอใจต่อการประชุมนี้ค่อนข้างมาก เพราะสหรัฐฯ เชิญไต้หวันเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะประเทศหนึ่ง ทั้งที่จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน การกระทำของสหรัฐในมุมมองของจีนจึงขัดแย้งกับนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลจีนอย่างสิ้นเชิง

ย้อนกลับมาที่กลุ่มอาเชียนมี 3 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศ ลาว พม่า บรูไน และเวียดนาม ไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่สหรัฐฯไม่เชิญ เพราะประเทศเหล่านั้นมิได้มีรูปแบบการปกครองประชาธิปไตย แต่มี 3 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งรูปแบบการปกครองดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตย เพราะผู้บริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

กรณีสิงคโปร์นั้นดูน่าสนใจกว่าอีกสองประเทศ เพราะมีการเลือกตั้งต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่เคยมีการรัฐประหาร หรือความรุนแรงทางการเมืองที่เด่นชัด แต่กลับไม่รับการเชิญจากสหรัฐ ฯ อย่างไรก็ตามเมื่อมองลึกลงไปในประเทศสิงคโปร์ สิ่งที่คนทั่วไปรับรู้ได้คือ แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่การบริหารประเทศกลับมีลักษณะอำนาจนิยมสูง มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนที่อาจสูงกว่ามาตรฐานที่สหรัฐฯ ยอมรับได้ ทั้งยังไม่ค่อยเคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมืองประเทศตนเอง รวมทั้งท่าทีของสิงคโปร์ต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าก็ดูเหมือนไม่ค่อยชัดเจนและอาจมีแนวโน้มยอมรับสนับสนุนด้วยซ้ำไป ซึ่งแตกต่างจากท่าทีของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียแสดงการไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างชัดเจน

ประเทศกัมพูชามีสถานการณ์การเมืองคล้ายคลึงกับสิงคโปร์ นั่นคือ แม้ว่าผู้นำกัมพูชามาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสเป็นอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นผู้ปกครองก็ใช้กฎหมายเล่นงานพรรคฝ่ายค้านอย่างเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง การบริหารก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการใช้ระบบพวกพ้องเครือญาติและการทุจริต รวมทั้งมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และบั่นทอนสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

ประเทศไทยดูเหมือนมีอาการหนักกว่าทั้งสิงคโปร์และกัมพูชา นั่นคือ ไทยมีรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร ในรัฐสภาก็มีสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งจากฝ่ายเผด็จการ (วุฒิสมาชิก) เกือบครึ่งของรัฐสภา การเลือกตั้งก็มีการใช้อำนาจรัฐในการกดดันคู่แข่ง มีการทุจริตและการซื้อเสียงอย่างแพร่หลาย มีการใช้กฎหมายเล่นงานพรรคฝ่ายค้านอย่างไม่เป็นธรรม คล้ายคลึงกับประเทศกัมพูชา มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางต่อเนื่องกันหลายปี และทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2564 มีการใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักนิติธรรมเป็นเนืองนิจ มีการทุจริตสูง และที่สำคัญคือ การแอบสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณีรัฐมนตรีต่างประเทศไทยไปเยือนประเทศพม่าเมื่อไม่นานมานี้

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในสายของสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยอย่างรุนแรง มีการล่มสลายของเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และผู้นำประเทศในปัจจุบันก็ไม่มีเจตนารมณ์ และไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว สหรัฐฯจึงตัดสินใจไม่เชิญประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโลก

เป็นความจริงที่ว่า ตั้งแต่ประเทศไทยมีการรัฐประหารปี 2557 ประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของประชาชนถูกทำลายลงอย่างมาก แม้ว่ามีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังจากเลือกตั้งปี 2562 แต่สิ่งที่ถูกทำลายและสิ่งที่ได้รับการกู้คืนไม่ได้สัดส่วนกัน นั่นคือถูกทำลายเกือบทั้งหมด แต่กู้คืนได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น และภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์การเสื่อมลงของประชาธิปไตยก็มิได้ถูกหยุดยั้งลงแต่อย่างใด ดังคงดำเนินต่อไปในหลากหลายมิติ กล่าวได้ว่า หากประเทศไทยยังมีเครือข่ายของกลุ่ม 3 ป. ครองอำนาจนำการบริหารประเทศอยู่ ความหวังของการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างจริงจัง การต่อสู้กับการทุจริตที่ฝังลึกในระบบการเมืองและระบบราชการอย่างเข้มข้น และการเคารพสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ก็คงริบหรี่และดับลงภายในไม่ช้า

การที่สหรัฐฯ ไม่เชิญประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดประชธิปไตยโลก ซึ่งจัดขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก จึงมีนัยที่บ่งบอกว่า ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยไทยเป็นการรับรู้กันอย่างกว้างขวางในระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่รับรู้และสัมผัสได้ หากแต่คนในประเทศอื่น ๆ ก็สามารถรับรู้ถึงความเสื่อมถอยนี้ได้ไม่ต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น