xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลือกตั้ง “บัตร 2 ใบ” แลนด์สไลด์ vs มือ ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภูมิทัศน์การเมืองไทยชัดเจนขึ้น

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หรือฉบับ “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ”
ทำให้หลังจากนี้จะเข้าสู่โหมดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ความ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” จะมาลงรายละเอียดกันในกฎหมายตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์ ว่าจะใช้แบบเบอร์เดียวทั้งประเทศ หรือจะเป็นแบบแยกเบอร์รายเขต ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจและตัดสินใจของประชาชน

ตลอดจนวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หลังจากกติกาฉบับใหม่กำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ว่าจะยึดแบบปี 2554 หรือยึดแบบปี 2562

โดยในปี 2554 จะคำนวณเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหารด้วย 100 คน ขณะที่ในปี 2562 จะนับแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือเวอร์ชั่นปัดเศษ ที่นับคะแนนรวมของพรรคการเมืองทั้งหมดมาคำนวณหา ส.ส.พึงมี

ประเด็นนี้น่าจะประลองกำลัง หยั่งเชิง กันอีกยาวในช่วงการจัดทำกฎหมายลูก เพราะแต่ละพรรคยังเห็นไม่ตรงกัน ด้วยต่างพรรคต่างก็หวังสูตรที่เป็นบวกกับตัวเองมากที่สุด แต่เหนือสิ่งอื่นใดดูแล้ว สูตรที่เข้าป้ายน่าจะเป็นสูตรที่ “ผู้กำหนดเกม” ตั้งธงเอาไว้ให้ตัวเองได้เปรียบในสนามเลือกตั้งมากที่สุด

อย่างไรก็ดี กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคน 1 ใบ เลือกพรรค 1 ใบ ตามสมการที่ผ่านมา ผลลัพธ์คือ พรรคขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบ เพราะมีฐานคะแนนระดับพื้นที่ เมื่อได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมากตามไปด้วย

ไม่เท่านั้นยังอาจมีราการ “ฆาตกรรมหมู่” บรรดาพรรคเล็ก-พรรคปัดเศษ ตามกระแสข่าวประเภท “เขาเล่าว่า” ที่ออกมาจาก “เฮียหมา” พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ที่มีบทบาทเป็น “ดีลเมคเกอร์พรรคเล็ก” ระบุว่า ได้ยินว่าในร่างกฎหมายลูกที่จะแก้ไข และเสนอต่อรัฐสภานั้น จะเขียนเกณฑ์การคำนวณคะแนน เพื่อให้ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ใช้ระดับเปอร์เซ็นต์ มากถึง 5% จากเดิมที่หารือกันไว้แค่ 1%

คำนวณตามผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2562 เท่ากับว่าแต่ละพรรคต้องมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากถึง 1.7 ล้านเสียง ถึงจะได้สัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากยึดตามเกณฑ์นี้จริง ไม่เพียงแต่พรรคเล็กจะสลบเหมือด พรรคขนาดกลางมีชื่อ อย่าง “เสรีรวมไทย-เศรษฐกิจใหม่-ประชาชาติ-เพื่อชาติ-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา” ก็หมดสิทธิ์จะได้ส่วนแบ่งที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์

แม้ไม่เห็นด้วยกับการอัปเพดานเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่ “พิเชษฐ” ที่ถือเป็นระดับเซียนการเมืองที่รู้ทิศทางลม ก็เลือก “หนีตาย” อัตวิบากกรรมทำการยุบพรรคตัวเอง เตรียมเข้าซบพรรคพลังประชารัฐในอีกไม่นานนี้ตาม “ไพบูลย์โมเดล” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เป็นการสะท้อนแนวโน้มบรรดา “พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว” ที่คงกระเสือกกระสนหนีตายกันก่อนเลือกตั้งครั้งต่อไป

เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนั้นเอื้อ “พรรคใหญ่” แบบเต็มๆ ไม่แปลกที่ตลอดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะได้เห็น “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย” เข้ากันดัง “คอหอยลูกกระเดือก” ทั้งที่อยู่กันคนละขั้ว

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 แพทองธาร ชินวัตร



“ค่ายทักษิณ” พรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นพรรคที่ดี๊ด๊ามากที่สุด เห็นได้จากอาการปลาได้น้ำที่เด้งรับทันที ถึงขั้นประกาศกร้าวจะทวงความยิ่งใหญ่ สร้างปรากฎการณ์ “แลนด์สไลด์” เหมือนที่เคยทำได้ในกติกานี้ ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่น “ไทยรักไทย-พลังประชาชน” ต่อเนื่องมาถึง “เพื่อไทย” เมื่อปี 2554
ยิ่งถึงขั้นลงทุนส่งทายาทตระกูลชินฯตัวจริงเสียงจริง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นตัวชูโรง หวังใช้ความละม้ายคล้าย “อ้ายษิณ” โกยแต้มภาคเหนือ-อีสาน แบบกวาดเรียบ

ถึงขนาดหลายวงในพรรคเริ่มกระเซ้าจับจองกระทรวงกันแต่เนิ่นๆ แล้วด้วยซ้ำ

ขณะที่ “ค่ายหลวงพ่อป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ก็แสดงความมั่นใจว่า กติกานี้จะเป็นคุณกับตัวเองมากกว่ากติกาบัตรเขย่ง ถึงยอมเลือกทางเดินนี้ ทั้งที่หลายคนเตือนว่า เป็นการเตะหมูเข้าปากหมาให้อริขั้วตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ชำนิชำนาญการกติกานี้มากกว่าใครเพื่อน

จนหลายคนเกาหัวแกรกว่า ไปเอาความมั่นใจมาจากไหน

มองไม่ยากว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค ที่ “ซื้อ” กติกาบัตร 2 ใบ ก็เพราะเชื่อมั่นในลูกน้องสุดที่รักอย่าง “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค มาก ถึงขั้นยอมหัก “น้องตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยังเชื่อว่าบัตรใบเดียวที่ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” น่าจะยังดีกว่า

ตามคิวที่ “ผู้กองนัส” ควง “มาดามแหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค รุกคืบเปิดสาขาตามจังหวัดต่างๆ แบบวันต่อวัน เด้งรับกติกาใหม่ โชว์ให้เห็นถึงความมั่นใจว่า ปะทะดาบในสนามเลือกตั้งกับพรรคเพื่อไทยได้แบบไม่เป็นรองแน่

ดูแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึง น่าจะเป็น “บิ๊กแมตซ์” ของ 2 พรรคใหญ่อย่าง “พลังประชารัฐ” กับ “เพื่อไทย” โดยตรง

ขณะที่ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ในซากของ “อนาคตใหม่” น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ขยาดกติกานี้มากที่สุด แม้ครั้งก่อนจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร และได้เสียงมามากกว่า 6.2 ล้านเสียงก็ตาม

เพราะ “พรรคสีส้ม” รู้อยู่เต็มอกว่า ที่ยืนอหังการอยู่กลางสภาได้ทุกวันนี้ เพราะวิธีการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม”

พรรคก้าวไกลไม่มีฐานเสียงระดับพื้นที่ ส.ส.แบบแบ่งเขต ครั้งก่อนที่ได้เป็นอานิสงส์จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ดังนั้น เมื่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่เป็นที่พึ่งหวังได้ ต้องมาฝากผีฝากไข้กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่เมื่อเจอวิธีการนับคะแนนแบบอื่น ไม่มีทางที่จะได้เป็นกระบุงเหมือนปี 2562 แน่

ตามที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) มาดีดลูกคิดนั่งคำนวณเล่นๆ โดยใช้ฐานคะแนนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ปรากฏว่า “ค่ายเพื่อไทย” จากครั้งก่อนที่กวาด ส.ส.แบบแบ่งเขตได้มากถึง 136 คน แต่ไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเลย เพราะชนเพดาน ส.ส.พึงมี ตามกติกาใหม่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 22 คน

ในวงเล็บว่า พรรคเพื่อไทยส่ง ส.ส.เขตเพียงแค่ 238 เขตจาก 350 เขตเท่านั้น เพราะหลบให้พรรคไทยรักษาชาติ ตามสูตร “แตกแบงก์พัน” แต่ผิดคิวทันทีที่พรรคสาขาโดนยุบ คิดตามบัญญัติไตรยางค์ ในกติกาใหม่พรรคเพื่อไทยสามารถโกยคะแนนพรรคได้ทั้ง 400 เขต แม้จะไม่ส่ง ส.ส.ไม่ครบก็ตาม ก็เท่ากับว่า มีโอกาสในการกวาดคะแนนเพิ่มขึ้นอีกถึงเกือบเท่าตัว

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 พรเพชร วิชิตชลชัย
ด้านพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ป็อปปูล่าร์โหวตหนก่อน 8.4 ล้านเสียง จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นจาก 19 คน เป็น 24 คน พรรคอนาคตใหม่ที่ปัจจุบันคือ พรรคก้าวไกล จะลดจาก 50 คน เหลือแค่ 18 คนเท่านั้น

เท่ากับว่าพรรคก้าวไกลอาจยังดำรงอยู่ในสภา แต่จะเหลือสถานะแค่ “ไม้ประดับ” เท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมพลพรรคสีส้มจึงพยายามดิ้น เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของสูตรเลือกตั้ง และต้องการกลับไปใช้วิธีการนับคะแนนแบบปี 2562

แม้กติกาใหม่จะออกมาสำหรับเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่อย่างที่ทราบ ยังต้องมีการลงรายละเอียดกันอีกพอสมควร หากไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง จึงไม่มีแนวโน้มที่จะ “ยุบสภา”

ถึงเกมในสภาผู้แทนราษฎรจะดูเหมือนจะฟาดฟันกันแรง มีการเขย่านับองค์ประชุมบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการหยั่งเชิงหวังตีกินทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้กะเอาล่อเอาเถิดหาทางล้มรัฐบาล ให้น็อกคาสภาอย่างที่กองเชียร์-กองแช่ง ส่งเสียงเย้วๆอยู่ข้างเวที

อย่างที่ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ “นายหัวเมืองตรัง” ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บอกกลายๆ ต้องภาวนาอย่าให้มีการยุบสภาในช่วงนี้ เพราะจะยุ่งเหยิงทันที เนื่องจากกฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ อาจต้องใช้ร่างกฎหมายฉบับ ก.ก.ต.ประกาศเป็นพระราชกำหนด โดยไร้การมีส่วนของ ส.ส.ในการร่างกติกา

แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทย ขาใหญ่ฝ่ายค้าน ที่ “ฝันหวาน” จะใช้กติกาในการพลิกขั้วอำนาจย่อมต้องการเข้าไปมีส่วนในการออกแบบกติกาปลีกย่อยที่ตัวเองไกด้ประโยชน์มากที่สุด

ไทม์ไลน์การร่างกฎหมายลูกนี้เอง ถือเป็น “ยันต์คุ้มภัย” ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้สะกดวิญญาณขั้วตรงข้ามได้จนกว่าจะมีการประกาศใช้ เพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าลองดีมากนัก เกิด “บิ๊กตู่” ฟิวส์ขาด มือลั่นกดปุ่มยุบสภาขึ้นมา แผนแลนด์สไลด์พังทันที

เกมในสภาฯ หลังจากนี้คงหนักไปทาง “ยียวนกวนประสาท” สาดน้ำลายกันพอหยอกเอิน ชิงเหลี่ยมนับองค์ประชุมทำให้ขายขี้หน้า เสียรังวัดกันบ้าง แต่ไม่เอาเป็นเอาตาย เพราะพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันใน “ประโยชน์ร่วม” ยื้อกันไป อย่างน้อยๆ ต้องให้กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้แล้ว

โดยไทม์ไลน์ที่ “เนติบริกร” กางเอาไว้คือ ประมาณเดือน ก.ค.65 หรือราวครึ่งปีก่อนจะครบเทอมสภาฯชุดปี 2562

ช่วงระหว่างนี้ที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ก็เตรียมความพร้อมวอร์มร่างกายกันไปก่อน ใครมีปัญหาภายในก็ไปจัดการกันให้เรียบร้อย สะเด็ดน้ำ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้ “ผู้กองนัส” พยายามทำให้เห็นว่า พรรคนี้คือ “พรรคบิ๊กป้อม”

ดูจากการปราศรัยในระหว่างเปิดสาขาพรรคที่ จ.ขอนแก่น ไม่นานมานี้ “เลขาฯ นัส” พูดถึงแต่ “หัวหน้าป้อม” ไม่แวะเอ่ยถึง “บิ๊กตู่” ที่คาดว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐสักคำ ย้ำให้เห็นกันชัดๆ อีกครั้งว่า ปัญหาคาใจยังไม่จบ

น่าสนใจไม่น้อยกับ ข่าวคราวการตั้ง “พรรคสำรอง” ที่ยังออกมาต่อเนื่อง ทั้งที่ “บิ๊กป้อม” พูดแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐกับ “บิ๊กตู่” จะไม่แยกจากการกัน ตลอดจนกติกาใหม่ ไม่เอื้อกับสูตรแตกแบงก์พัน หรือพรรคเกิดใหม่ แต่ความเคลื่อนไหว “พรรคอะไหล่” กลับไม่เคยหมดไป

อย่างในคิวล่าสุด โผล่มาอีก 2 ยี่ห้อ ยี่ห้อแรก “พรรคพลัง” ที่เชื่อมโยงกับ “บิ๊ก ณ.” ที่อ้างว่าเป็นคนดังผู้มากบารมี ดีกรีขั้นเทพ มือประสานสิบทิศ

“พรรคพลัง” กับ “บิ๊ก ณ.” ถูกจับโยงว่า จะมีมาเป็นฐานที่มั่นใหม่ให้กับ “บิ๊กตู่” แต่ก็ผิดวิสัยการเปิดตัวพรรคการเมืองที่ต้องเปรี้ยงปร้างให้ฮือฮา แต่นี่ลับๆล่อๆ จนป่านนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า “บิ๊ก ณ.” ที่ว่าคือใคร

ส่วนอีกยี่ห้อคือ “พรรคไทยสร้างสรรค์” ที่ฐานข้อมูลทางการเมือง รายงานตรงกันเป็นเครือข่ายของ “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ไปจดตั้งพรรคไว้เพื่อแสตนบายด์ เผื่อถูกเรียกให้ใช้เป็นคานไว้หาม “บิ๊กตู่” สมัยยังขึ้นหม้อเป็น รมว.ศึกษาธิการ

ทว่าเพิ่งได้รับการรับรองจาก กกต. ทั้งที่พับโปรเจ็กต์ไปแล้ว หลัง “เสี่ยตั้น” หลังตกสวรรค์จากคดี กปปส. ตลอดจนแนวโน้มการใช้กติกาบัตร 2 ใบ ที่ทำให้พรรคอะไหล่แทบจะหมดประโยชน์

ความไม่สมเหตุสมผลของพรรคไทยสร้างสรรค์มีเพียบ โดยเฉพาะข่าวที่ว่า มืองานของ “ลุงตู่” ทั้ง “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมทหาดไทย และ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชันจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะไปเป็นคีย์แมนของค่ายนี้

เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า “ปลัดฉิ่ง” ก็ปั้นพรรคสำรองอยู่ และคืบหน้ากว่าพรรคไทยสร้างสรรค์เสียอีก ส่วน “บิ๊กแป๊ะ” กับ “บิ๊กตั้น” ก็ขบเหลี่ยมกันในประเด็นสนาม กทม.ก่อนหน้านี้ จนไม่น่าจะมาจับมือกันได้ กระทั่งตัว “เสี่ยตั้น” เองที่หลุดวงโคจรรัฐบาลไป ก็คงไม่มีกะจิตกะใจมาปั้นนั่งร้านให้กับ “บิ๊กตู่” ในช่วงนี้

จึงต้องถือว่าข่าวพรรคสำรองโผล่ออกมาเป็นแบบผิดธรรมชาติ ทั้งที่ 3 ป. พยายามสร้างภาพเคลียร์กันแล้ว

คล้ายกับเป็นหมาก “ด้อยค่า” พล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามจะยึดพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่สำเร็จ แพ้ “ผู้กองนัส” จนต้องพยายามไปหาทางตั้งพรรคใหม่ จนน่าจะเป็นความเคลื่อนไหวทางจิตวิทยา ปั่นกันให้ “ใครบางคน” ควันออกหูเท่านั้น

เพราะสุดท้ายแล้ว “บิ๊กตู่” กับ “พลังประชารัฐ” แยกจากกันไม่ได้

แน่นอนว่า พรรคนี้ “บิ๊กป้อม” เป็นคนดูแลปลุกปั้น แต่ภาพจำของคนที่มีต่อพรรคพลังประชารัฐคือ “บิ๊กตู่” การแตกแบงก์พันเป็นแบงค์ร้อยอย่างไรก็ไม่มีใครในองคาพยพได้ประโยชน์

ไม่อย่างนั้นคงไม่พับโปรเจ็กต์พรรคของ “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ไป ทั้งที่ “ลง” ไปเยอะแล้ว

ตามรูปการณ์แล้ว “บิ๊กตู่-พลังประชารัฐ” คงต้องเป็นผีเน่าโลงผุกันต่อ แม้ในใจจะต่อต้านก็ตาม

แม้กระแสนิยมจะไม่ค่อยดีนัก แต่ว่ากันด้วยเรื่อง “ไม้เด็ด” ฝั่งนี้ยังมีมากกว่า ต่อให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จะมองว่าตัวเองป๊อบปูล่ากว่าก็ตาม

อย่าลืมว่า 2 พรรคใหญ่ มีชนักปักหลังที่สำคัญอยู่ โดยเฉพาะ “คดียุบพรรค” โดยพรรคเพื่อไทยถูกยื่นยุบพรรคเอาไว้หลายสำนวน ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลิปทักษิณคุยกับสมาชิกในงานวันเกิด “เฮียเกรียง” เกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรค ที่พูดถึงการวางยุทธศาสตร์และแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย หรือกรณีตั้ง “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นผู้อำนวยการพรรค ทั้งที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ผลจากการถูกพิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หรือที่น่าจับตากรณี “ทุนข้ามชาติ” ผ่านสายสัมพันธ์ของระดับ “นาย” ที่ไปผูกเสี่ยวกับ “นายทุน” ที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย

เป็นข้อหาคนนอกครอบงำ และรับเงินต่างชาติ ที่อาจเป็นเหตุให้ “ค่ายนายใหญ่” ไม่ได้ร่วมแข่งในการเลือกตั้งสมัยหน้าก็เป็นได้

ขณะที่พรรคก้าวไกล คดีอยู่ในมือ กกต. หลัง “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นยุบเอาไว้ ฐานให้การสนับสนุนม็อบ 3 นิ้ว ล้มล้างการปกครอง ก็ค้ำคออยู่

หาก “บังเอิญ” คดีที่ทั้ง 2 พรรคถูกร้องยุบพรรค มีการวินิจฉัยหลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ก็น่ากลัวไม่น้อยว่าบรรดาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคจะไม่สามารถหาพรรคใหม่ได้ทัน เพราะกฎหมายกำหนดว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วัน ถึงจะลงสมัคร ส.ส.ได้

อาจกลายเป็นเดจาวูซ้ำรอย “ไทยรักษาชาติ” ก็เป็นได้

ถึงเวลานั้นคะแนนอาจกระจายไปที่พรรคพันธมิตร เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่บุญหล่นทับได้คะแนนพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็คงไม่สามารถกดปุ่มเทคะแนนให้กันได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รูปการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต้องสืบว่า “ค่ายพลังประชารัฐ” ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

หรือหากไม่ต้อง “ชกใต้เข็มขัด” ปล่อยให้ “ค่ายดูไบ” เดินแผนแลนด์สไลด์จนเข้าวินชนะเลือกตั้ง แต่ก็ยังมี “พรรค ส.ว.” 250 เสียง ที่ไม่ระคายผิวจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “ไอติมบูด” ที่โดนตีตกไปแบบไม่ได้ลุ้น ที่ยังอยู่ค้ำบัลลังก์ “ลุงตู่”

เป็นพรรค ส.ว.ที่ยังมีอิทธิฤทธิ์ตามบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือจนกว่าจะถึงเดือน เม.ย.2565 ไม่ว่าจะเลือกนายกฯกี่ครั้ง ส.ว.ก็ยังมีสิทธิโหวตนับเป็นองค์ประชุม 250 จาก 750 เสียง

โจทย์ของแผนแลนด์สไลด์คือต้องทำที่นั่ง ส.ส.ให้ได้เกิน 375 เสียง ถึงจะสามารถยึด “ตึกไทยคู่ฟ้า” ศูนย์กลางอำนาจบริหารประเทศได้

แม้ครั้งหนึ่งพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ” จะสามารถแลนด์สไลด์ได้ถึง 377 ที่นั่งเมื่อการเลือกตั้ง 2548 ก็ตาม

แต่ด้วยภูมิทัศน์การเมืองไทยตอนนี้ก็ใช่ว่าจะสร้างปรากฎการณ์ได้อีกคำรบ

เพราะถึงกระแสความนิยมรัฐบาลจะต่ำเตี้ยติดลบเพียงใด แต่ความเด่นชัดของ “ประยุทธ์” ในฐานะ “ทหารเสือราชินี” ผู้ปกปักษ์รักษาสถาบันเบื้องสูงก็เด่นชัดกว่าตัวเลือกอื่นๆ และมีเสียงสนับสนนุนอยู่ไม่น้อย

เปรียบเหมือนละครไวรัลที่ “ตัวเอก” ปลอมตัวเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ถูกกดหัวตลอดทั้งเรื่อง แต่ตอนจบก็ “หักมุม” ให้กลายเป็นผู้ชนะ และเฉลยภายหลังว่าเป็น “ผมคือประธานบริษัท”

ในทำนองเดียวกับ “ลุงตู่” ที่ระยะหลังต้องบอกว่า เพลี้ยงพล้ำมีแต่ทรงกับทรุด ถูก “บูลลี่-ด้อยค่า” สารพัด จนทำท่าจะไปต่อไม่ไหว แต่ก็มี “ไม้เด็ด” ทั้งชนักปักหลังคู่แข่ง หรือตัวช่วยอย่างพรรค ส.ว. เป็น “จุดหักมุม” ให้พลิกกับมาชนะได้

ทว่าตามไดอะล็อก “ลุงตู่” คงบอกว่า “ผมได้เป็นนายกฯ อีกสมัยนะจ๊ะ”.




กำลังโหลดความคิดเห็น