xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประกันโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” โคม่า ยอดเคลมพุ่งเสี่ยงล้มครืนทั้งกระดาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนกลับไปช่วง การแพร่ระบาดระลอกแรก ช่วงปี 2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19ในไทยไม่สูงทำให้หลายบริษัทขายประกันแบบ “เจอ จ่าย จบ” ฟันเบี้ยประกันเป็นล่ำเป็นสั่น โกยกำไรถ้วนหน้า แต่สถานการณ์กลับพลิกเมื่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ยอดเคลมประกันโควิดมีอัตราสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไตรมาส 3 ปี 2564 หลายบริษัทประกันเผชิญภาวะขาดทุนอย่างหนัก

 สำรวจผลประกอบการบริษัทประกันวินาศภัยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย งวดไตรมาส 3/2564 จำนวน 15 บริษัท พบรายงานผลประกอบการขาดทุนมี 10 บริษัท รวมขาดทุนสุทธิ 5,782 ล้านบาท ประกอบด้วย โดย บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) ขาดทุนสูงสุด 3,662 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) ขาดทุน 885 ล้านบาท, บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) ขาดทุน 662 ล้านบาท, บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ขาดทุน 332 ล้านบาท ฯลฯ เนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดส่งผลให้มูลค่ายอดเคลมสินไหมของประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด  

สถิติจากการร้องเรียนเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ณ วันที่ 3 ก.ย. 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,145 เรื่อง และประเด็นที่พบมากสุด คือ การที่บริษัทประกันภัย ยังไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ

ประเดิม  “โดมิโนตัวแรก” การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียนจากผู้ซื้อประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากการจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน ทั้งนี้ การปิดกิจการของ บริษัท เอเชียประกันภัยฯ เนื่องจากมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคงไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้รับหน้าที่ดูแลลูกค้าประกันฯ ประสานความร่วมมือไปยัง บริษัท ทิพยประกันภัย ให้ความคุ้มครองลูกค้าประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ ที่ยังไม่ครบอายุ รวมทั้งประกันภัยรถยนต์ของบริษัท เอเชียประกันภัย ฯ

ธุรกิจประกันสั่นคลอนต่อเนื่องด้วยการที่  “บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)”  ออกประกาศแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 โดยจะคืนเงินให้กับลูกค้า ต่อมา คปภ. ได้ใช้อำนาจนายทะเบียนประกัน ให้บริษัทสินมั่นคงประกัยภัย ยกเลิกประกาศยกเลิกกรรมธรรม์ลูกค้าโควิด ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการเอาผิดอย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าและธุรกิจโดนรวมของประกัน

และล่าสุดกรณี  “บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเคยเกิดปรากฎการณ์ผู้ยื่นเอาประกันฯ เจอ-จ่าย-จบ นับร้อยชีวิตบุกประท้วงทวงถามการจ่ายค่าสินไหมที่เป็นไปอย่างล่าช้า ส่ง SMS ให้ลูกค้า แจ้งให้เปลี่ยนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ เป็นภาวะโคมา ทุนประกันภัย 5 เท่า หรือกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ทุนประกันภัย 10 เท่า จากของเดิม หรือยกเลิกกรมธรรม์รับเงินคืนเต็มจำนวน ภายใน 7 วัน หากลูกค้าไม่ดำเนินการจะเปลี่ยนให้อัตโนมัติ โดย คปภ. ระบุชัดว่าบริษัทฯ สามารถเสนอทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัยได้ แต่ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หากไม่ยินยอมจะยังได้รับความคุ้มครองตามเดิม การขอปรับเงื่อนไขนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามภาคสมัครใจ ห้ามบังคับ

ตัวเลขล่าสุดมีกรมธรรม์ประกันโควิดรวมทั้งสิ้น 44 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยรวม 11,000 ล้านบาท มียอดเคลมทั้งระบบอยู่ประมาณ 25,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ซึ่งยังมีผลความคุ้มครอง เหลืออยู่ประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ ทุนประกันภัยเฉลี่ย 50,000 - 100,000 บาท ที่จะสิ้นสุดการรับประกันภายในเดือน มิ.ย. 2565

ทางด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนบริษัทสมาชิกที่มีประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ-จ่าย-จบ ให้ประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบจากกรมธรรม์ที่ยังมีผลคุ้มครองจนถึง มิ.ย. 2565 เนื่องจากยอดเคลมสินไหมทั้งระบบสิ้นเดือน ต.ค. 2564 สูงถึง 32,000 ล้านบาท พร้อมทั้งประเมินว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้อาจสูงถึง 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26-30% ของเงินกองทุนทั้งหมด หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในบริษัทประกันภัยที่มีประกันโควิด เจอ - จ่าย - จบ อีกหลายแห่ง

สมาคมวินาศภัยฯ ระบุถึงปัญหาการจ่ายสินไหมประกันโควิดที่พุ่งสูงขึ้นของ 16 บริษัทประกันวินาศภัยกําลังก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัยในอนาคตอันใกล้ หากบริษัทประกันเหล่านี้ประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินจนอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันในวงกว้างที่มีทั้งหมดกว่า 60 ล้านกรมธรรม์ ในปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มประสบวิกฤตขาดสภาพคล่อง เป็นไปได้สูงว่าอาจจะเผชิญชะตากรรมเดียวกับ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950

โดยเรียกร้องให้ คปภ. ทบทวนคำสั่งนายทะเบียน 38/2564 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนมาก ใช้สิทธิบอกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันโควิด ในกรณีเกิดผลการรับประกันตาม 3 เงื่อนไขดังนี้ 1.อัตราความเสียหายจากการรับประกันโควิด ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป 2 .ค่าสินไหมจากการรับประกันโควิด ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป 3. ค่าสินไหมจากการรับประกันโควิดเกินกว่า 10% ของเงินกองทุน เพื่อบริหารความเสี่ยงภาคธุรกิจประกันที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวม

พร้อมกับเสนอ 3 ทางเลือกเยียวยาผู้ทำประกัน ดังนี้ 1.ได้รับคืนเบี้ย 100% จากบริษัทประกันวินาศภัยที่ใช้สิทธิบอกเลิก แทนที่จะได้รับเบี้ยตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ 2.เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันโควิดฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของทุนประกันภัยในกรมธรรม์ประกันโควิดที่ถูกบอกเลิก และ 3.เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่าของทุนประกันภัยในกรมธรรม์ประกันโควิดที่ถูกบอกเลิก

 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายประกันภัยโควิด แบบเจอจ่ายจบ โดยเห็นตรงกันว่าจะดูแลคุ้มครองประโยชน์ผู้เอาประกันต่อไป ส่วนกรณียื่นข้อเสนอขอแจ้งปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ หรือความคุ้มครอง จะทำได้ในกรณีได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันเท่านั้น ห้ามบังคับ หรือเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ และหากบริษัทใดฝ่าฝืนจะมีความผิดโทษสูงสูดปรับไม่เกินครั้งละ 300,000 บาท ซึ่งประชาชนสามารถมาร้องเรียนได้ที่ คปภ.จะลงโทษอย่างเด็ดขาด

โดยทาง คปภ. จะไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ตามที่สมาคมประกันฯ ขอเสนอให้ยกเลิก เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคหลายล้านคนได้รับผลกระทบ และทำลายความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมภัยในภาพรวม

ขณะเดียวกัน จะมีการประเมินความทนทานภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลอง ของบริษัทประกันภัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบ และจะทดสอบเป็นรายบริษัทที่ขายประกันภัยโควิด ส่วนสถานะบริษัทประกันที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของ คปภ. 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ารับการผ่อนผันตามประกาศ คปภ. เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 ระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2564 ถึง 30 มิ.ย. 2565

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามย้อนกลับไปที่ คปภ. ทำไมถึงปล่อยให้บริษัทประกันขายกรมธรรม์จำนวนมากเกินกว่าที่เงินกองทุนจะรับได้ โดยเฉพาะประกันประเภท เจอ จ่าย จบ ที่รายอดเคลมกว่า 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26 - 30% ของเงินกองทุน ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดต้องไม่เกิน 10% ของเงินกองทุน

ในประเด็นนี้ คปภ. อธิบายว่าตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มาตรา 31 (2) กำหนดไว้ว่า การรับประกันอัคคีภัยรายเดียวหรือหลายรายรวมกัน “ห้ามรับ” เสี่ยงภัยเกิน 10% ของเงินกองทุน และการรับประกันภัยขนส่งต่อหนึ่งภัยห้ามเกิน 10% ของเงินกองทุน และการรับประกันวินาศภัยอื่นต่อลูกค้าหนึ่งรายห้ามเกิน 10% ของเงินกองทุน

 
ทว่า กรณีการรับประกันภัยโควิดไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้มีข้อห้ามอยู่ใน พ.ร.บ. และแต่ละบริษัทรับประกันภัยต่อทุนประกันต่อรายไม่ถึง 10% ของเงินกองทุน ดังนั้นไม่ผิดกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม การออกโปรดักต์ประกันของแต่ละบริษัทต้องบริหารความเสี่ยงตามกฎประกาศ คปภ. ต้องทำทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของตัวเอง เพื่อประเมินความเข้มแข็ง รวมทั้ง ระดับเงินกองทุนรองรับได้หรือไม่

 วิกฤตของธุรกิจประกันวินาศจะจบอย่างไรยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 




กำลังโหลดความคิดเห็น