ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่ “ขบวนการ 3 กีบ” ในทันที เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยให้การชุมนุมและคำปราศรัยของ “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งมี “นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็น “การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
การปราศรัยของทั้ง 3 คนนั้น พุ่งเป้าโจมตี “สถานบันพระมหากษัตริย์” อย่างรุนแรง แต่มูลเหตุสำคัญที่สุดเห็นทีจะหนีไม่พ้นแถลงการณ์ 10 ข้อ ที่ “รุ้ง-ปนัสยา” อ่านบนเวที คือ
1.ยกเลิก มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
2.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
3.ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561
4.ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์
6.ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียว
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
หากยังจำกันได้ ในการชุมนุมครั้งนั้น นอกจากข้อเรียกร้อง “ทะลุฟ้า” ทั้ง 10 ข้อแล้ว ยังมีการยกย่องเชิดชู “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล - ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” ที่เป็น 2 ผู้ต้องหาหนีคดีมาตรา 112 และลี้ภัยต่างประเทศ บนเวทีที่มีการฉายภาพทั้งคู่บนโปรเจกเตอร์ขนาดยักษ์ พร้อมข้อความและตราสัญลักษณ์ที่ส่อไปในทางหมิ่นสถาบัน
และแน่นอนว่า แถลงการณ์ 10 ข้อที่ “รุ้ง” ปนัสยา ได้อ่านในวันนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ “สมศักดิ์ เจียมฯ” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “ศาสดา” ของ “กลุ่มล้มเจ้า” เคยวิพากษ์ และเชิญชวนให้เกิดการอภิปรายในทางสาธารณะมาแล้วทั้งสิ้น
ที่สำคัญคือยังมีคำถามมีไปถึงแสงสีเสียงของเวทีคอนเสิร์ตขนาดย่อมๆ ที่ครบครัน หรือการจัดทำคลิป และกราฟิกต่างๆ บนเวที ที่ดูแล้วราคาค่างวดย่อมไม่ธรรมดา และเชื่อได้ยากว่า ใช้เพียงแค่เงินบริจาคที่เรี่ยไรกันมา สะท้อนว่ามี “นายทุน” อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน
ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้อยู่ตรงที่ในขณะที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันถ้วนหน้า แม้แต่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่ต้องออกมาขออภัยต่อสังคม โดย “ผศ.ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงเรื่องการชุมนุม พร้อมกล่าวขออภัยที่เนื้อหาในการชุมนุมบางส่วนเนื้อหาอาจเลยขอบเขต มีเพียงแต่ “ส.ส.พรรคก้าวไกล แกนนำคณะก้าวหน้า” ที่ถือเป็นเนื้อเดียวกันภายใต้การนำของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้ากลุ่มห้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมากางปีกปกป้อง “เนื้อหา” ที่ปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่า ไม่ได้เกินเลยจากที่กฎหมายกำหนด อาจจะรวมไปถึงกลุ่มคณาจารย์ 100 กว่าคนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการชุมนุม และเนื้อหาในวันดังกล่าวว่า อยู่ในกรอบกฎหมายเช่นกัน
เฉกเช่นเดียว “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า “ประเด็นอันตราย” ในสายตาคนทั่วไปเป็นแค่ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” เท่านั้น แล้วยังเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงม็อบเยาวชนอย่างมีวุฒิภาวะ
หรืออย่าง “อาจารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการกลุ่มก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึกกรณี 10 ส.ค.ย้อนรำลึกถึงความผูกพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี จนกลับมารับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ รู้จักกับความกระตือรือร้นของนักศึกษา พร้อมร่ายยาวไปถึง 10 ข้อเรียกร้องของ “ม็อบปลดแอก” ด้วยว่า เป็น “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ” ของบางคน บางกลุ่ม ที่ใครต่างก็เคยซุบซิบนินทากันกันใน “วงข้าว-วงเหล้า-วงสังคม” มาไม่มากก็น้อย
“ไม่ควรบิดเบือนให้พวกเขากลายเป็นพวกล้มเจ้า หรือชังชาติ หรือถูกล้างสมอง” ปิยบุตรว่าไว้อย่างนั้น
ที่พลาดไม่ได้อีกคน “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ทวีตข้อความว่า “ช่วยกันยืนยันว่า 10 ข้อเสนอของนักศึกษา ไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน ได้เวลาที่สังคมจะต้องคุยเรื่องนี้กันด้วยเหตุผลและหลักการ การแปะป้ายว่าชังชาติ หรือด่าทอด้วยอารมณ์ ไม่สามารถลบแผลที่เปิดออกแล้วได้”
จากนั้น “นายณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่และมีคำสั่งให้บุคคลทั้งสามเลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และในที่สุดก็มีคำวินิจฉัยในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
“ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้นจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้งการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม”
และ “ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุชัดด้วยว่า “...กระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย”
แน่นอน คำวินิจฉัยครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนต่อ “ขบวนการ 3 กีบ” อย่างหนัก โดยเฉพาะกับคำว่า “การล้มล้างการปกครอง” และคำว่า “มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ” ด้วย “ขบวนการ 3 กีบ” มิได้มีแค่ “ไมค์-ทนายอานนท์และรุ้ง” เท่านั้น หากยังหมายถึงทุกการเคลื่อนไหวที่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น รวมถึง “พรรคการเมือง” ที่ชูประเด็นปฏิรูปหรือเลิก “มาตรา 112” โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล” และหมายถึง “คณะก้าวหน้า” ของ “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และอาจารย์บูด-ปิยบุตร แสงกนกกุล” รวมถึงบุคคลและคณะบุคคลที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
นี่นับเป็น “ฉากทัศน์ใหม่” ที่ถือเป็น “บรรทัดฐาน” ของ “การเมืองการปกครองไทย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะนำไปสู่คดีความตามมาอีกเป็นพะเรอเกวียนเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกองค์กร์ในประเทศนี้
ถามว่า พวกเขาและขบวนการจะหยุดการเคลื่อนไหวไหม?
ตอบได้โดยไม่ลังเลเลยว่า “ไม่”
คำถามก็คือ แล้วนับจากนี้ความเคลื่อนไหวของ “ขบวนการ 3 กีบ” จะดำเนินต่อไปอย่างไร
หนึ่ง - สำหรับบรรดาแกนนำก็คงจะเดินหน้าปลุกปั่นต่อไปโดยตอกย้ำให้เห็นถึงความผิดปกติของการพิจารณาคดีตามความเชื่อของพวกเขา เช่นว่า กล่าวหาว่าเป็น “กระบวนการตุลาการภิวัฒน์” แล้วโหมกระพือให้กว้างไกลออกไปกว่าเดิมอีก และไม่เกรงกลัวว่าจะต้องติดคุกติดตะราง เพราะนั่นเป็นหมุดหมายของพวกเขาอยู่แล้ว
ทั้งนี้ “รุ้ง-ปนัสยา” ให้สัมภาษณ์หลังทราบคำวินิจฉัยว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ ล้วนเป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริตที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีความชอบธรรมและสามารถดำเนินอยู่ได้อย่างสง่างามตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
“ตนเองจะไม่เคารพในคำวินิจฉัยของศาล และเห็นว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจยอมรับได้ ในส่วนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขอยืนยันว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ย่อมเป็นไปเพื่อให้การส่งเสียงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นกัลยาณมิตร สามารถเป็นไปได้” รุ้งกล่าวและย้ำด้วยว่า “การยกเลิกมาตรา 112 เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าประชาชนอันเป็นแหล่งที่มาของประชาธิปไตย ย่อมเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนาและแก้กฎหมายทั้งปวง ตามมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” พร้อมยืนยันเดินทางรวบรวมรายชื่อในการผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 112 ต่อไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะสำเร็จ
ขณะที่ “อานนท์ นำภา” โพสต์ข้อความโดยระบุว่า “ลูกหลานชาวนา นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่มีแค่ไมค์ รถปราศรัย และแอคเคาต์เฟซบุ๊ก ได้กระทำการล้มล้างการปกครอง ด้วยคำพูด ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง มันก็คงไม่มีวันนี้”
ส่วน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ออกแถลงการณ์เสียใจยิ่ง ที่ศาลรธน.มองข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ คือล้มการปกครอง ชี้เป็นการกระทำที่ผิดพลาดอันจะส่งผลเสียอย่างประเมินค่ามิได้ต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และสอง-สำหรับบรรดา “ผู้ร่วมชุมนุม” เชื่อว่า ก็คงไม่แตกต่างออกไปจากเดิมมากนัก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถหยุดยั้งได้อย่างแน่นอน ขนาดมีประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามออกนอกเคหสถานก็ยังเอาไม่อยู่ดังที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา เผลอๆ อาจจะ “มุ่งหน้าทะลุฟ้า” หนักขึ้นไปกว่าเดิมเพราะเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมหรือถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นต้น ดังที่มีเสียงขู่ว่า คำวินิจฉัยนี้อาจนำไปสู่ “สงครามกลางเมือง” ก็เป็นได้ ซึ่งดูทรงแล้ว ยังมองไม่เห็นว่า จะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ ตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมก็ไม่มากนักและไม่สามารถจุดประเด็นอะไรให้ใหญ่โตได้ ยิ่งเกี่ยวข้องกับ “สถาบัน” ด้วยแล้ว เห็นทีจะมีแต่ “นักรบหน้าจอโทรศัพท์และจอคอมพิวเตอร์” เสียมากกว่าที่จะเคลื่อนลงถนน
ที่แน่ๆ ก็มีปฏิบัติการตอบโต้ให้เห็นมาแล้ว เช่น การที่เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญถูก “แฮก” หลังมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวออกมา
หรือปฏิบัติการโลกล้อมประเทศที่เห็นได้ชัดว่าดำเนินการควบคู่กันไป โดยในวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก็ปรากฏว่า ที่ประชุม “การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ”(Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรียก “คณะผู้แทนรัฐบาลไทย” ไปชี้แจงเรื่อง ม.112 ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นายณฐพรผู้ร้องระบุเอาไว้ว่า “ปัจจุบันมีกระบวนการชักศึกเข้าบ้าน นำองค์กรต่างชาติเข้ามาดำเนินการกับประเทศไทย”
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับ “พรรคก้าวไกล” เพราะชัดเจนแล้วว่า จะมีการนำผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นขอ “ยุบพรรคก้าวไกล” และโอกาสที่จะถูกยุบจริงๆ ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงยิ่ง
ทั้งนี้ นายณฐพร ซึ่งเป็นผู้ร้องอธิบายเอาไว้ว่า กระบวนการหลังจากนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอัยการที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปดำเนินคดีอาญา โดยยืนยันว่าจากคำวินิจฉัยจะทำให้คำร้องเอาผิดและยุบพรรคก้าวไกลดำเนินการได้ หลังได้ยื่นคำร้องกับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)” ไว้ตามมาตรา 92 เชื่อว่า กกต.จะขอคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยไปดำเนินการ เนื่องจาก “พรรคการเมือง และ ส.ส.ของพรรคดังกล่าว” ให้การสนับสนุนทางการเงิน และการประกันตัวผู้ต้องหา รวมถึงอ้างว่ามีการไปร่วมชุมนุม ถือเป็นความผิด
“เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการล้มล้างการปกครอง กกต. ก็น่าจะต้องสรุปสำนวนว่าการสนับสนุนผู้ชุมนุมของ ส.ส. และผู้บริหารพรรคก้าวไกลก็ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นกัน”นายณฐพรวิเคราะห์
หรือหมายความว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสารตั้งต้นในการฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้กระทำในทุกๆ องคาพยพที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า ผลคำวินิจฉัยดังกล่าวจะมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร ทั้งตำรวจ, อัยการ และศาลยุติธรรมด้วย หากพบบุคคลที่กระทำพฤติกรรมตามที่ศาลวินิจฉัย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาว่ามีพรรคการเมืองใดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายด้วยหรือไม่ เพราะจะโยงกับลักษณะของมาตรา 92(1) และ (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
ส่วนกรณีที่พบนักการเมืองเข้าร่วมการชุมนุมและอาจเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจะมีความผิดด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์ตอบว่า เป็นหน้าที่ของ กกต.ต้องพิจารณา แต่จะเข้าข่ายผิดหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี โดยทางกฎหมายนั้นมีฐานที่พิจารณาได้คือ “ความผิดตามกฎหมายอาญา และผิดจริยธรรมของนักการเมือง” ที่กำหนดให้เป็นค่านิยมหลัก ต่อการยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่า พรรคการเมืองสายตรงของกลุ่มนี้ถูกยุบไปแล้ว 1 พรรคคือ “พรรคอนาคตใหม่” และนำมาซึ่งการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของ “คณะกรรมการบริหารพรรค” จากนั้นก็มีการตั้ง “พรรคก้าวไกล” แล้วผลัดเปลี่ยนตัวผู้นำจาก “เสี่ยเอก-อาจารย์บุตร” มาเป็น “เสี่ยทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตจน์” และ “ชัยธวัช ตุลาธน” แล้วถ้า “พรรคก้าวไกล” ถูกยุบอีก นั่นหมายความว่า “ตัวละครทางการเมือง” จะหายไปอีกไม่น้อย
คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลนอกจาก “เสี่ยทิมและชัยธวัช” ประกอบด้วย ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมชาย ฝั่งชลจิตร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เบญจา แสงจันทร์อภิชาต ศิริสุนทร่และสุเทพ อู่อ้น
ทว่า คงไม่อาจหยุดอะไรพวกเขาได้ เพราะดูทรงแล้ว ก็น่าจะมีการตั้ง “พรรคใหม่” แล้วมี “ตัวละครใหม่” โผล่ขึ้นมาสืบทอดอุดมการณ์
แต่ถ้าไม่ถึงขั้นยุบพรรค อาจเป็นความผิดเฉพาะ “ตัวบุคคล” ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลประกาศด้วยความมั่นใจว่าคดีที่เกิดขึ้นและจะเกิดตามานับจากนี้จะไม่ทำให้ “พรรคถูกยุบ” อย่างแน่นอน
“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล นำ ส.ส.ของพรรค แถลงถึงประเด็นเรื่อง “ยุบพรรค”ว่า การที่ ส.ส.ของพรรคไปช่วยประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมือง หรือพรรคเสนอแก้ไขมาตรา 112 นั้น ไม่เข้าข่ายยุบพรรค เพราะเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่กังวลแต่ก็ไม่ประมาท แต่หากพรรคเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็ให้สังคมเตรียมตัว เพราะถ้ากระบวนการแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำ จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ในอนาคต
นอกจานี้ เลขาฯ พรรคก้าวไกลยังวิเคราะห์ด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นการแบ่งเส้นทางการเมืองอย่างสุดขั้ว และทำให้สถานการณ์ทางการเมืองตรึงเครียดเพิ่มมากขึ้น
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า แล้วจะส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงหรือไม่
มีแน่ๆ เพียงแต่จะไปในทิศทางไหนเท่านั้น
แล้วถ้าสมมติว่า สุดท้ายแล้วยุบพรรคก้าวไกลจริงๆ ย่อมต้องหมายความว่า พรรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง นักการเมืองพรรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง และจะหมายถึงคนที่เลือกพรรคนี้จะมีแนวคิดล้มล้างการปกครองด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองไทยในรูปลักษณ์ไหนบ้าง
ขณะเดียวกัน จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลไปถึง “คณาจารย์มหาวิทยาลัย” ที่เคยลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ 10 ข้อ เช่น ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ที่มีความเห็นว่า การแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ข้อเสนอของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญา แต่ก็อาจมีความตีความได้ว่า ส่วนหนึ่งของ “ขบวนการล้มล้าง” และอาจมีผู้นำไปฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย
ที่สำคัญคือ คงต้องติดตามต่อไปว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายและผูกพันต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น เพราะจะทำเป็นนิ่งเฉยเลยผ่านไม่ได้ ทว่า สุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร น่าจะเป็น “มหากาพย์” ที่ไม่อาจกระพริบตาได้เลยทีเดียว.