xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“รัฐบาลลุง” ทำมึน นายหน้า “ทำเงิน” ปล่อยแรงงานเถื่อนทะลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ช่วงเวลา “ทำเงิน” ของขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว กับช่วงเวลา “ทำมึน” ของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาแรงงานต่างด้าว ใช่คนละเรื่องเดียวกันหรือไม่ เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ได้เวลาขับเคลื่อนและต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของหลายธุรกิจไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดีเหมือนกับแผนรับนักท่องเที่ยวที่ตีปี๊บกันสนั่นเมือง 

ทว่า กระทรวงแรงงาน มหาดไทย กลาโหม และหน่วยงานความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ กลับอืดอาดชักช้าจนน่าสงสัยว่าการส่งส่วยแรงงานเถื่อนขึ้นหน่วยเหนือยังไม่ถึงเป้าหรือกระไร กระทั่งข่าวคราวแรงงานเถื่อนทะลักเข้ามายังไทยตามแนวตะเข็บชายแดนไม่เว้นแต่ละวัน ค่านายหน้าสะพัดหัวละ 2- 3 หมื่นบาท พร้อมกับภาพความเอน็จอนาถแรงงานเถื่อนถูกทิ้งกลางป่าอดอยากหิวโซระหว่างรอเวลาลักลอบเข้าเมืองชั้นใน รวมถึงการขนย้ายแบบเร่งรีบทำให้เกิดอุบัติเหตุเจ็บตายกันหลายราย

ขณะที่อารมณ์ของผู้คนในสังคมไทยต่างหวาดผวาขนาดหนักว่าแรงงานเถื่อนจะนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดในระดับซูเปอร์คลัสเตอร์หรือไม่ เพราะการลักลอบเข้ามาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองใดๆ บทเรียน “ตลาดกุ้ง-มหาชัย”  ย่านเมียนมาร์ทาวน์ในไทยที่ต้องปิดเมืองกันไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสั่นประสาท อย่าลืมว่าระดับพ่อเมืองสมุทรสาครขณะนั้นยังเกือบเอาชีวิตไม่รอด

คำถามจากสังคมที่ดังขึ้นเรื่อยๆ และฉงนสนเท่ห์ที่รัฐบาลปล่อยให้ปัญหาลักลอบขนแรงงานเถื่อนเกิดขึ้นก่อนและหลังประกาศเปิดเมืองโดยไม่มีแผนรองรับ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาลุกลามบานปลายใหญ่โต จนอาจวนลูปเดิมคือต้องล็อกดาวน์กันขนานใหญ่อีกครั้งหรือไม่ ทำให้ “รัฐบาลลุง”  งัวเงียตื่นขึ้นมาสั่งทำเอ็มโอยูนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายนำเข้าระบบเพื่อรองรับการเปิดเมืองเดินหน้าเศรษฐกิจ ซึ่งแรงงานต่างด้าวนี่แหละที่แข็งขันขับเคลื่อน โดยกระทรวงแรงงาน จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และจะนำเรื่องเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ฉายภาพว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องงดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบเอ็มโอยู ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กระทั่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศอนุญาตให้แรงงานอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ มีผลตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้แรงงานผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องภายใน 30 วัน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนแรงงาน

การอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายดังกล่าว เปรียบเหมือนการปล่อยผีนอกจากจะมีแรงงานที่อยู่ใต้ดินเอาขึ้นมาบนดินแล้ว ยังเป็นช่วงจังหวะที่ขบวนการลักลอบเร่งขนแรงงานเถื่อนเข้ามาและถือโอกาสขึ้นทะเบียนไปในคราวเดียวกัน

นายสุชาติ ตอบคำถามถึงการแก้ปัญหาการลักลอบข้ามแดนของแรงงานต่างด้าวว่า ตามปกติถ้าไม่นำเข้าตามเอ็มโอยูก็จะมีการลอบข้ามเข้ามาทุกวันอยู่แล้ว ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้มงวดสกัดกั้นตามแนวชายแดน และให้ภาคแรงงานประสานไปยังต้นทางอย่าลอบเข้ามาช่วงนี้จะถูกจับและเสียเงินฟรี รอให้ผ่าน 30 วัน ขึ้นทะเบียนในประเทศให้จบเสียก่อน โดยคาดว่าจะมีประมาณแสนคน เป็นกลุ่มที่ทำงานในสถานประกอบการอย่างไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นจะเปิดนำเข้าตามเอ็มโอยู ซึ่งสถานประกอบการมีความต้องการประมาณ 2 แสนคน

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ต่างเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอเปิดให้นำเข้าตามเอ็มโอยู และเสนอต่อศบค. ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 คาดว่าจากนี้ 30 วันจะสามารถนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยูได้

 กระทรวงแรงงาน เตรียมวัคซีนไว้ 4 - 5 แสนโดส เพื่อฉีดให้แก่แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว โดยแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีนยังไม่ครบจะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วย ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 ค่ารักษา (กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ COVID-19) โดยมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารวม 9,700 – 26,720 บาท 

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มีงานไม่มีรายได้เดินทางกลับบ้านไป 3-4 แสนคน เมื่อธุรกิจเริ่มเปิดจึงเกิดความขาดแคลนแรงงาน เกิดการสมยอมนำเข้ามา คนที่เคยปล่อยออกไปก็ต้องดึงกลับ แต่ส่วนหนึ่งได้กระจายไปตามที่ต่างๆ หรือหลบอยู่กับนายจ้างอย่างไม่ถูกต้อง

รศ.ดร.ยงยุทธ มองว่า การเปิดจดทะเบียนทุกครั้งจะเป็นแรงดึงดูดให้มีการลักลอบนำเข้า เพราะช่วงนี้เจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดในการจับกุม บางคนหาช่องนำคนข้ามชายแดนเสียค่าใช้จ่าย 2 หมื่นบาท มีนายหน้าพามาส่งนายจ้าง เมื่อรัฐบาลเปิดจดทะเบียนก็เข้าไปฟอก แต่ก็เป็นการเอาคนที่อยู่ใต้ดินเข้าระบบด้วย ถือเป็นการกวาดบ้านทั้งคนเก่าที่ยังจดทะเบียนไม่จบหานายจ้างไม่ได้ซึ่งยังตกค้างอีกมาก และคนใหม่ที่เข้ามาอีก ถ้าปล่อยไว้ยอดใต้ดินจะเพิ่มมากขึ้น จึงต้องทำให้ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรให้เข้าระบบใน 30 วัน และต้องมองถึงความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการค้ามนุษย์

ข้อมูลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง และการเคลื่อนแรงงานโดยผิดกฎหมาย ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ระบุว่า ตั้งแต่ 1-31 ตุลาคม 2564 มีผู้หลบหนีเข้าเมืองตามชายแดนไทย 10,870 คน แบ่งเป็น เมียนมา 5,782 คน, กัมพูชา 3,692 คน, ลาว 726 คน ขณะที่การจับกุมในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ต่างล้นทะลัก

เฉพาะวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 จับกุมได้หลายจุด กล่าวคือ จุดที่ 1 ทหารกองกำลังสุรสีห์จับแรงงานเมียนมาลักลอบเข้าเมือง บริเวณ บ้านท้ายเหมือง หมู่ 3 ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จำนวน 29 ราย เป็น ชาย 24 หญิง 5 ระบุจ่ายค่านายหน้าคนละ18,000 – 20,000 บาท

จุดที่ 2 เจ้าหน้าที่จับกุมแรงงานเมียนมา ที่บ้านกระทะทอง หมู่ 5 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จำนวน 97 ราย เป็นชาย 54 ราย หญิง 43 ราย ทั้งหมด มาจาก จ.ย่างกุ้ง, จ.พะโค, จ.เมาะลำใย, จ.ทวาย, จ.ยะไข่ และ จ.มะกเว ประเทศเมียนมา เพื่อไปทำงานที่ จ.ปทุมธานี, จ.สมุทรสาคร, จ.ระยอง, และ จ.นครปฐม เสียค่าหัวคนละ 15,000 – 20,000 บาท

จุดที่ 3 บ้านประตูด่าน หมู่ 14 ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี จับกุมแรงงานเมียนมา 33 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 12 ราย เสียค่านายหน้าคนละ19,000 บาท และจุดที่ 4 บริเวณเหมืองแร่จริน บ้านห้วยน้ำขาว หมู่ 2 ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรีจับกุมแรงงานเมียนมา จำนวน 35 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 9 ราย ทั้งหมดจ่ายค่าหัวคนละ 28,000 บาท จะไปทำงานที่มหาชัย

ต่อมา วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 มีจับกุมสองจุดใหญ่ คือ จุดที่ 1ทหารชุดควบคุมกรมทหารพรานที่ 13 สระแก้ว จับกุมชาวกัมพูชา ลักลอบเข้าเมืองบริเวณบ้านทับพริก ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 34 คน เป็นชาย 18 คน หญิง 16 คน ให้การว่า เดินทางมาจาก จ.บันเตียเมียนเจย จะไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ทำงานโรงงานไก่ จ.สระบุรี, รับจ้างส่งของ จ.ชลบุรี และไปทำประมงที่ จ.ระยอง เสียค่าหัวให้นายหน้าคนละ 2,000-7,000 บาท

ส่วนจุดที่ 2 จับกุมชาวกัมพูชา ที่บริเวณบ้านคลองน้ำใส หมู่ 1 ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน ให้การว่า มาจาก จ.บันเตียเมียนเจย และ จ.ตโบงฆมุม ประเทศกัมพูชา จะไปทำงานในกรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี เสียค่านายหน้าคนละ 7,000 บาท

และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทหารกองกำลังผาเมือง จับกุมแรงงานเมียนมา 61 คน บริเวณชายแดน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นชาย 24 คน หญิง 24 คน เด็กชาย-หญิง 13 คน

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563, วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเมื่อวันที่ 28 กันยายน2564 เปิดโอกาสให้แรงงานเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงให้นายจ้างขออนุญาตให้แรงงานทำงานโดยถูกกฎหมาย และอยู่ทำงานจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ส่วนข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าว ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เมื่อเดือนกันยายน 2564 มีแรงงานต่างด้าวในไทยที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศ 2,374,501 คน




กำลังโหลดความคิดเห็น