คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
บางคนเห็นว่า สังคมคอมมิวนิสต์ของมาร์กซและเองเกลส์ (Marx and Engels) เป็นสังคมในอุดมคติที่ยากที่จะเกิดขึ้นจริง และน่าจะเป็นสังคมในจินตนาการมากกว่า แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า มันไม่ได้เกินจริง เพราะมาร์กซและเองเกลส์มีวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้จินตนาการลอยๆ ขึ้นมาตามใจชอบ พูดง่ายๆ ก็คือ มาร์กซและเองเกลส์อธิบายอย่างมีเหตุมีผล ดังนั้น แนวคิดเรื่องสังคมคอมมิวนิสต์จึงพลังดึงดูดให้คนสนใจและได้รับแรงบันดาลใจให้เดินหน้าปฏิวัติสังคมการเมืองเพื่อนำพามนุษยชาติไปถึงสังคมคอมมิวนิสต์ อันเป็นสังคมที่ผู้คนมีเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์และปลอดจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น
เราลองมาดูคำบรรยายวิถีชีวิตผู้คนในสังคมคอมมิวนิสต์ที่มาร์กซและเองเกลส์ได้เขียนไว้ในข้อเขียนที่ชื่อว่า The German Ideology กัน น่าจะดีกว่าการพูดถึงการปฏิวัติต่อสู้ทางชนชั้นที่จะต้องมีการประท้วงลุกฮือจนผู้คนต้องบาดเจ็บเสียชีวิต ล้มหายตายจากกันไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเส้นทางไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์นี้ไม่ได้ราบรื่นเหมือนเดินชมทุ่งลาเวนเดอร์ หลายคนอาจถอดใจ แต่ก็แปลกที่ก็มีคนจำนวนมากในโลกที่เชื่อในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และยอมเอาตัวเข้าร่วมการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างพลีชีพ ยอมเสียความสุขสบาย อนาคตการงานภายใต้โลกทุนนิยม เพราะพวกเขาเชื่อว่า การตายของพวกเขาจะทำให้ผู้คนต่างพากันเข้าร่วมในการต่อสู้มากขึ้น ตามคำขวัญที่ว่า “ตายสิบ เกิดแสน”
ในข้อเขียน The German Ideology ที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2388 สรุปภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมคอมมิวนิสต์ได้ดังนี้คือ ไม่มีใครที่จะต้องทำงานเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยมารก์ซและเองเกลส์ดูจะชี้ให้เห็นฝ่า ในสังคมปัจจุบัน คนในทุกระดับชั้น ต้องเลือกอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับเวลาตอนเราเด็กๆ ผู้ใหญ่มักถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ? เด็กที่พอรู้ความหรือมีพ่อแม่ทำอาชีพอะไรอยู่ ก็อาจจะตอบว่าอยากเป็นอาชีพตามพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ใกล้ตัว เช่น เป็นวิศวกร เป็นหมอ เป็นนักธุรกิจ ฯลฯ ส่วนเด็กที่ยังไม่ค่อยรู้ความก็อาจจะงง และผู้ใหญ่ก็ต้องให้ข้อมูลตัวเลือกและอธิบายอาชีพต่างๆ ให้ฟัง บางทีพ่อแม่ก็อาจจะซื้อขอเล่นชุดๆ เช่น ชุดเครื่องมือ ชุดอุปกรณ์การแพทย์ ชุดศิลปะเครื่องเขียน หรือพวกตุ๊กตุ่นตุ๊กตาที่เป็นรูปร่างหน้าตาเครื่องแบบอาชีพนั้นๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกได้วาดฝันอาชีพของตนในอนาคต
ตัวอย่างอาชีพที่กล่าวมานั้น เป็นอาชีพของชนชั้นกลางขึ้นไปเสียมากกว่า ดังนั้น ถ้าจะไปถามคำถามเดียวกันกันนี้กับลูกคนยากคนจนที่มีพ่อแม่เป็นชนชั้นใช้แรงงานเต็มตัวหรือกึ่งแรงงานกึ่งทักษะฝีมือ ก็น่าสนใจว่า เด็กๆ เหล่านั้นยังคิดอยากจะประกอบอาชีพตามพ่อแม่หรือเปล่า ถ้ายังไร้เดียงสา ก็อาจจะตอบอย่างใสซื่อว่า โตขึ้นอยากเป็นคนงานในโรงงานเหมือนพ่อแม่ แต่เมื่อเริ่มรับรู้ถึงค่านิยมในสังคมที่มีต่ออาชีพต่างๆ แล้ว ก็อาจจะไม่อยากจะโตขึ้นไปเป็นคนงาน !
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหรืองานในระดับชนชั้นกลางขึ้นไปหรือในระดับชนชั้นล่าง ความแตกต่างเหล่านี้ถูกอธิบายไว้ว่าเป็น “การแบ่งงานกันทำ” หรือ “division of labour” ฟังเผินๆก็ดูดีอยู่หรอก เพราะความแตกต่างในอาชีพเกิดขึ้นเพราะเมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคมแล้ว ทำไมคนแต่ละคนจะต้องมาทำอะไรซ้ำๆ กันเพื่ออะไร เช่น แต่ละคนต้องปลูกข้าวเอง สีข้าวเอง ทำรองเท้า เสื้อผ้าเอง ฯลฯ นอกจากจะเสียเวลามะงุมมะงาหราไปโดยใช่เหตุแล้ว ยังไม่ได้ประสิทธิภาพประสิทธิผลอะไรอีกด้วย ถ้าแบ่งงานกันทำ ก็จะเกิดความชำนาญในงานนั้นๆ ขึ้น หรือแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกันไป จะด้วยโดยธรรมชาติของสภาพทางชีวภาพหรือภายใต้สิ่งแวดล้อม นอกจากความถนัดแล้ว คนเรายังชอบงานไม่เหมือนกัน
เมื่อแบ่งงานกันทำ เกิดความชำนาญ จึงสามารถมีผลิตผลหรือผลงานออกมาได้รวดเร็วขึ้น และประณีตมากขึ้น เพราะมาจากทั้งทักษะ ความถนัดและความชอบ และเมื่อทำงานนั้นไปนานๆ จนเข้าใจธรรมชาติของงาน ก็อาจจะนำไปสู่การพัฒนาอะไรต่อยอดจากสภาพที่เคยทำอยู่ได้ง่ายกว่าด้วยคนที่ทำอะไรหลายอย่างและไม่สามารถเกิดความชำนาญได้เร็วเท่ากับคนที่ทำอะไรอย่างเดียว
ในภาพรวมของสังคม สภาพการณ์แบบนี้ย่อมนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลผลิตและเม็ดงาน ซึ่งไม่มีสังคมใดๆ ในอดีตก่อนหน้าสังคมทุนนิยมสมัยใหม่จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตได้ขนาดนี้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่มนุษย์จะต้องทำอะไรเฉพาะซ้ำๆ ซากๆ ในอาชีพหนึ่งๆ ก็ดูไม่ต่างจากเครื่องจักรที่ทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ แม้ว่าตอนแรกๆ เขาหรือเธออาจจะยังไม่รู้สึกอะไร บางทีอาจจะชอบหรือสนุกด้วยซ้ำ แต่นานวันเข้า ก็กลายสภาพเป็นหุ่นยนต์เครื่องจักรไปโดยไม่รู้ตัว แถมยังถอนตัวหรือเปลี่ยนอาชีพยากด้วย เพราะมันเกิดความถนัดขึ้นมาแล้ว ครั้นจะไปเริ่มอาชีพหรืองานอื่นๆ ก็เท่ากับเป็นเด็กฝึกงานใหม่ บริษัทหน่วยงานห้างร้านที่ไหนจะมาจากคนอายุมากที่มีความเชี่ยวชาญด้านหนึ่งแล้วให้มาเริ่มงานใหม่ อันจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทของตน อีกทั้ง ใครหละจะลาออกจากงานที่ได้เงินเดือนสูงในระดับหนึ่งแล้ว เพื่อหนีความเบื่อหน่ายจากการเป็นเครื่องจักรหุ่นยนต์ของตนเพื่อไปเริ่มงานใหม่ ?
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงความชอบ ความชำนาญและความถนัด ก็เกิดคำถามว่า ใครบ้างชอบงานกรรมกร ? ใครบ้างชอบงานเก็บขยะ ขัดกระไดไชรูส้วม หรือปอกหัวหอม หั่นผัก ปอกมะละกอเป็นกะละมังๆทั้งวัน ? แล้วใครหรือที่เกิดมาเพื่องานเหล่านี้ ?
การทำงานหรือประกอบอาชีพอย่างเดียวซ้ำๆ ซากๆ จึงทำให้มนุษย์กลายสภาพเป็นเครื่องจักร เกิดการแหนงหน่ายแปลกแยกกับตัวเองและสภาพแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว แม้ว่างานนั้นจะถูกให้ค่าจากสังคมว่าดีปานใดก็ตาม จนนักวิชาการสายมาร์กซิสต์บางคนยืนยันว่า อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันเป็นผลพวงที่เกิดจากการแบ่งงานกันทำและโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ส่วนงานที่สังคมด้อยค่า ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ! คนที่ทำงานแบบนั้น ย่อมจะต้องทุกข์ทรมานหลายเท่ากว่าคนที่ทำงานสูงๆ ซึมเศร้าโดยไม่รู้สาเหตุ เครียด แปลกแยก ท้อแท้ชีวิต และเช่นกันที่นักวิชาการสายมาร์กซิสต์บางคนจึงนำมาอธิบายสาเหตุที่ชนชั้นล่างหาทางผ่อนคลายโดยการกินเหล้า ซึ่งจะว่าไปแล้ว พวกทำงานสูงๆ ที่ต้องเครียดและรับผิดชอบกับงานที่โยงใยเงินมูลค่ามหาศาลก็ต้องกินเหล้าเพื่อคลายเครียด แต่คนระดับนี้มักจะมีโอกาสและมีเงินที่จะลาไปเปลี่ยนบรรยากาศพักผ่อนในสถานที่แปลกๆ ใหม่ๆ เช่น ต่างประเทศ หรือหมู่เกาะอะไรสักอย่าง แต่แน่นอนว่า ชนชั้นล่างไม่สามารถทำได้ อย่างดีก็กลับบ้านปีใหม่สงกรานต์เท่านั้น
มนุษย์ในสังคมทุนนิยมจึงกลายเป็นเครื่องจักรหุ่นยนต์โดยไม่รู้ตัว และต้องจมปลักกับอาชีพการงานเพียงเพื่อเป็นฟันเฟืองกลไกให้การผลิตแบบทุนนิยมมันขยายตัวเดินหน้าและประโยชน์ตกอยุ่แก่นายทุนที่น่าจะสบายกว่าใคร แต่จริงๆ แล้ว นายทุนเองก็ตกเป็นชิ้นส่วนของระบบการผลิตแบบนี้โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนกลับนึกถึงคำของรุสโซ นักคิดคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อมาร์กซ แต่มาร์กซต้องนำความคิดของรุสโซไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้ก้าวหน้ามากขึ้น คำกล่าวที่ว่านั้นก็คือ “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนทุกแห่งอยู่ในพันธนาการ ใครที่คิดว่าตัวเป็นนาย กลับเป็นทาสเสียยิ่งกว่า”
ด้วยเหตุนี้ ใน The German Ideology มาร์กซและเองเกลส์จึงเขียนว่า “ทันทีที่เกิดการกระจายแรงงาน มนุษย์แต่ละคนจะต้องมีกิจกรรมในพื้นที่เฉพาะหนึ่งๆ (ทำงานเฉพาะทาง/ผู้เขียน) และต้องถูกบังคับให้เป็นเช่นนั้น และไม่สามารถหนีตีจากมันไปได้เลย เขาจะต้องเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นายพราน ชาวประมง คนเลี้ยงแกะ หรือนักวิจารณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และจะต้องเป็นเช่นนั้นไปตลอด ถ้าเขาไม่อยากเสียช่องทางในการหาเลี้ยงชีพ”
จะสังเกตได้ว่า มาร์กซยกตัวอย่างอาชีพทั้งในสังคมเกษตรกรรม อย่าง นายพราน ชาวประมง คนเลี้ยงแกะ และต่อมาจนถึงอาชีพนักวิจารณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ เช่น นักวิจารณ์กีฬา ดนตรี แฟชั่น อาหาร ฯลฯ สื่อให้เห็นถึงสภาวะการแบ่งหรือกระจายงานที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สังคมก่อนหน้าทุนนิยมแล้ว แต่มาเข้มข้นซอยย่อยการแบ่งงานกันทำอย่างสุดขีดในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่
ฟังเผินๆ เป็นเรื่องดีที่คนมีอาชีพใหม่ๆ แปลกๆ ที่แต่เดิมไม่มี หรือไม่สามารถหาเงินได้ แต่ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ อาชีพใหม่ๆ ที่เกิดจากการแบ่งงานกันทำเพื่อให้เกิดความชำนาญพิเศษนี้กลับกลายเป็นช่องทางทำมาหากินได้ ทุกอย่างที่เคยเป็นงานอดิเรกหรือทำไปเพลินๆสนุกๆ กลับกลายเป็นงานอาชีพที่จริงจังเคร่งเครียดเอาเป็นเอาตาย แต่หาได้เงิน ! แล้วมันจะไม่เครียดกันได้อย่างไร ?!
แต่ในสังคมคอมมิวนิสต์ มาร์กซและเองเกลส์บรรยายว่า “แต่ในสังคมคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครจะต้องอยู่ในสภาพที่ต้องทำงานเฉพาะเช่นนั้น แต่แต่ละคนสามารถทำอะไรได้ในสายงานอะไรก็ตามที่เขาต้องการ สังคมจะเป็นตัวควบคุมการผลิตทั่วไป และดังนั้น จึงทำให้เป็นไปได้ที่ คนหนึ่งจะทำอะไรอย่างหนึ่งวันนี้ และอีกอย่างในพรุ่งนี้ ล่าสัตว์ตอนเช้า ตกปลาตอนบ่าย เลี้ยงวัวตอนเย็น นั่งวิจารณ์หลังข้าวเย็น อย่างที่ใจต้องการ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็น นายพราน ชาวประมง คนเลี้ยงวัว หรือนักวิจารณ์....”
ฟังดูแล้ว ก็เป็นวิถีชีวิตที่น่าสบายจิตใจปลอดโปร่งดีอยู่ ไม่ใช่หรือครับ ? คำถามคือ แล้วต้องทำอย่างไร จึงจะเกิดสังคมแบบนั้นได้ ?
ถ้าไม่รู้ว่ามาร์กซตอบคำถามนี้อย่างไร ก็อย่าเพิ่งลบหลู่ !