xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิภาค อาชีพ และวัยกับการสนับสนุนพรรคการเมือง (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

อาชีพเป็นตัวแปรสำคัญที่บรรดานักวิชาการทางรัฐศาสตร์ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมมาอย่างยาวนาน โดยทั่วไปอาชีพเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะผลประโยชน์จากทรัพยากรอันมีค่าของสังคมจะได้รับการจัดสรร แบ่งปันแก่อาชีพใดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมือง แต่ละอาชีพจึงให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่ได้รับการประเมินว่ามีความสามารถในการจัดสรรผลประโยชน์แก่อาชีพของตนเองได้มากที่สุด

ผลประโยชน์ที่กล่าวถึง ไม่ใช่เป็นเพียงผลประโยชน์เชิงรูปธรรมเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงผลประโยชน์ระยะยาว และผลประโยชน์ที่เป็นนามธรรมด้วย เช่น โอกาสในการพัฒนาตนเองให้บรรลุศัยภาพขั้นสูงสุดของปัจเจกบุคคล โอกาสในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจในอนาคต ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกทางการเมือง เป็นต้น

นิด้าโพลได้จำแนกกลุ่มอาชีพที่ใช้เป็นฐานการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองออกเป็น 7 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือ กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่สองคือพนักงานเอกชน กลุ่มที่สามเป็นเจ้าของธุรกิจ อาชีพส่วนตัว และอาชีพอิสระ กลุ่มที่สี่เป็นเกษตรกรและประมง กลุ่มที่ 5 เป็นรับจ้างทั่วไปและผู้ใช้แรงงาน กลุ่มที่ 6 คือ พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้เกษียณอายุและคนว่างงาน และ กลุ่มที่ 7 เป็นนักเรียนและนักศึกษา

แต่ละกลุ่มอาชีพมีการรับรู้และประเมินพรรคการเมืองแต่ละพรรคแตกต่างกัน หากพวกเขาประเมินว่าพรรคการเมืองใดที่มีแนวโน้มตอบสนองผลประโยชน์ และมีอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองสอดคล้องกับตนเอง พวกเขาก็ย่อมมีแนวโน้มสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคนั้น แน่นอนว่า ในแต่ละกลุ่มอาชีพก็ย่อมมีคนบางส่วนที่ยังไม่อาจสรุปความคิดของตนเองได้อย่างชัดเจนว่าสนับสนุนพรรคการเมืองใด และในการสำรวจของนิด้าโพลคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนไม่น้อยทีเดียว มีอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของ แต่ละอาชีพทีเดียว

กลุ่มอาชีพที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองจากบรรดากลุ่มอาชีพทั้ง 7 กลุ่ม คือ กลุ่มพนักงานเอกชน รองลงมาคือ กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ที่ประหลาดใจคือ กลุ่มอาชีพเกษตรและประมง กลับเป็นกลุ่มที่ตกผลึกทางความคิดมากที่สุดในบรรดากลุ่มอาชีพทั้งหลาย โดยมีผู้ที่ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเพียงร้อยละ 24.66 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดระหว่างกลุ่มอาชีพต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็หมายความว่า กลุ่มเกษตรกรและประมงกว่าร้อยละ 75 ที่มีความชัดเจนทางความคิดแล้วว่า ตนเองสนับสนุนพรรคการเมืองใด

สำหรับสัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลมากที่สุด เมื่อเทียบกับการสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ นักเรียนและนักศึกษา (ร้อยละ 32.2) กลุ่มพนักงานเอกชน (ร้อยละ 24) และกลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐ (ร้อยละ 21.51) ส่วนกลุ่มอาชีพที่มีสัดส่วนสนับสนุนพรรคก้าวไกลเป็นลำดับสองคือ กลุ่มอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัวและอาชีพอิสระ (ร้อยละ 17.87) และกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป และผู้ใช้แรงงาน (ร้อยละ 13.16) อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากพ่อบ้าน/แม่บ้าน/ผู้เกษียณอายุ และ อาชีพเกษตรกร/ประมง ในสัดส่วนค่อนข้างน้อย (ร้อยละ 8.94 และ 7.77 ตามลำดับ)




พรรคก้าวไกลยังไม่เคยเป็นรัฐบาล และไม่มีกลุ่มอาชีพใดที่ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการบริหารประเทศของพรรคนี้ แต่นโยบายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่พรรคนี้นำเสนอช่วงการเลือกตั้งปี 2562 และบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรทั้งการอภิปรายและการเสนอกฎหมายในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีความสอดคล้องกับความคิด ความเชื่อและอุดมการณ์ และสร้างความหวังแก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และพนักงานเอกชนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่า ทั้งสามกลุ่มนี้เป็นฐานคะแนนเสียงหลักของพรรคก้าวไกล ขณะที่กลุ่มเกษรกรและประมง ซึ่งเป็นชาวบ้านมีฐานคิดในการสนับสนุนพรรคการเมืองแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ปัจจัยหลักที่ทำกลุ่มนี้สนับสนุนพรรคการเมืองใด คือประสบการณ์จริงที่พวกเขาได้รับจากนโยบายและการบริหาร ส่วนเรื่องความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องรองลงไป ด้านกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/ผู้เกษียณอายุนั้นเป็นกลุ่มที่มีความคิดยึดติดกับสภาพเดิมเป็นหลัก ไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ดังนั้นย่อมเป็นธรรมดาที่กลุ่มนี้ไม่ไว้วางใจกับข้อเสนอเชิงนโยบายที่พวกเขาคิดว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทย

สำหรับสัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากที่สุด เมื่อเทียบกับการสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ มี 4 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรและประมง (ร้อยละ 30.41) กลุ่มรับจ้างและผู้ใช้แรงงาน (ร้อยละ 27.96) กลุ่มเจ้าของธุรกิจส่วนตัวและอาชีพอิสระ (ร้อยละ23.08) และ กลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้านและเกษียณอายุ (ร้อยละ 21.49) การที่สัดส่วนของทั้งสี่กลุ่มอาชีพสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะกลุ่มเหล่านี้ต่างเคยได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นรูปแบบจากนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยมาก่อน กลุ่มเกษตรกรได้รับประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าว กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ประโยชน์จากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/และเกษียณอายุได้ประโยชน์จากนโยบายประกันสุขภาพทั่วหน้า ขณะที่กลุ่มเจ้าของธุรกิจเอกชนและอาชีพอิสระมีความเชื่อมั่นในฝีมือการบริหารเศรษบกิจของประเทศในภาพรวมของพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ นั่นเอง

สำหรับสัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในลำดับสองเมื่อเทียบกับพรรคอื่น ๆคือ นักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 23.73) ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 15.59) และ พนักงานเอกชน (ร้อยละ 13.82) ฐานคิดในการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยของกลุ่มเหล่านี้น่าจะมาจากความเชื่อถือในฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในอดีตของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

สัดส่วนของกลุ่มอาชีพแต่ละอาชีพที่สนับสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ นอกเหนือจากสองพรรคข้างต้นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ที่พอมีนัยสำคัญอยู่บ้างคือ สัดส่วนของกลุ่มอาชีพ 2 กลุ่มที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ อันได้แก่ กลุ่มอาชีพเกษตรกรและประมง และกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้านและเกษียณอายุ ทั้งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นลำดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย โดยสัดส่วนของกลุ่มเกษตรกร/ประมงที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอยู่ที่ร้อยละ 15.02 และกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/ผู้เกษียณอายุอยู่ที่ร้อยละ 13.62 ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐน้อยที่สุดคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะภาพลักษณะและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคนี้คือ อนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาในยุคปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย และสัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐน้อยเป็นลำดับรองลงมาคือกลุ่มเจ้าของธุรกิจเอกชนและอาชีพอิสระ นั่นอาจเป็นเพราะกลุ่มนี้ไม่เชื่อมั่นในฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำนั่นเอง

ที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนของแต่ละกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีกลุ่มอาชีพใดเลยที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เกินร้อยละ 10 สัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุดคือ กลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้านและผู้เกษียณอายุ แต่ก็มีเพียงร้อยละ 9.79 เท่านั้น แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือ ในการสำรวจครั้งนี้ไม่มีกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา แม้แต่คนเดียวที่ระบุว่าสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์

ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผสมผสานระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตย์ในอดีตมีทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเสรีนิยม ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอทางสายกลาง แต่ก็ประสบปมปัญหานั่นคือ ในมิติของความเป็นอนุรักษ์นิยม ก็เป็นอนุรักษ์นิยมที่ไม่เข้มข้นเท่าพรรคพลังประชารัฐ จึงสูญเสียฐานเสียงส่วนนี้ให้แก่พลังพลังประชารัฐไป ส่วนในมิติของเสรีนิยมก็เป็นเสรีนิยมที่เจือจางกว่าพรรคก้าวไกล จึงทำให้สูญเสียความนิยมจากกลุ่มแก่พรรคก้าวไกล สิ่งที่เหลืออยู่ของพรรคประชาธิปปัตย์ก็คือ ความนิยมส่วนบุคคล และความเข้มแข็งของกลไกหัวคะแนนของส.ส.ในบางพื้นที่ สำหรับภาพรวมในเชิงอุดมการณ์ของพรรคที่เคยเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งในอดีตนั้น เวลานี้เลือนลางจางหายไปจนยากที่จะสัมผัสได้

สำหรับพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคกล้า และภูมิใจไทยนั้น แต่ละพรรคได้นับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ระหว่าง 4 พรรคนี้ กล่าวได้ว่า พรรคเสรีรวมไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ พรรคเสรีรวมไทยดูเหมือนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มเจ้าของธุรกิจเอกชนและอาชีพอิสระมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ พรรคไทยสร้างไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพเกษตรกรและประมง และกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ มากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ ส่วนพรรคกล้าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มพนักงานเอกชนสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ด้านพรรคภูมิใจไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเกษตรกรและประมงมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ และเช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาแม้แต่คนเดียวในการสำรวจครั้งนี้

ข้อสังเกตอีกประการคือ ในการสนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้น แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีเสียง ส.ส.ค่อนข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับมีคะแนนนิยมต่อพรรคน้อยเป็นอย่างยิ่ง น้อยกว่าพรรคการเมืองที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอย่างพรรคกล้าและพรรคไทยสร้างไทยเสียอีก โดยทั่วไป ในทางทฤษฎีการเลือกตั้ง คะแนนนิยมของพรรคการเมืองจะมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้รับ แต่ในกรณีประเทศไทยนั้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่สามารถสรุปเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปได้ กลับมีข้อยกเว้นบางอย่าง สำหรับพรรคการเมืองบางพรรค ที่แม้จะมีคะแนนนิยมในภาพรวมต่ำ แต่ด้วยการใช้กลยุทธ์พิเศษและซับซ้อนในการเลือกตั้ง จึงทำให้ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคจำนวนมากได้รับชัยชนะในเขตเลือกตั้ง (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น