COP26 เป็นโอกาสดีครั้งสุดท้าย (Last Best Chance) เพื่อกอบกู้โลกก่อนจะดิ่งสู่หายนะวิกฤตภูมิอากาศ (Climate Crisis) ของโลกใบเดียวของเรา จนกู่ไม่กลับ และมนุษย์จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่บนโลกที่ร้อนจี๋ถึง 50 องศาต่อไป
โอกาสดีครั้งสุดท้ายที่จะกอบกู้โลก เป็นคำพูดของจอห์น ฟอบส์ แคร์รี ซึ่งเป็นทูตด้านวิกฤตโลกร้อน และเป็นตำแหน่งใหม่ของ ครม.ไบเดนของสหรัฐฯ เป็นตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีด้วย
คำพูดนี้ได้รับการกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดการประชุมสุดยอดผู้นำที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ขณะนี้ ซึ่งใช้เวลาประชุมยาวมากถึงสองอาทิตย์ ตั้งแต่ 31 ตุลาฯ ถึง 12 พฤศจิกายน ซึ่งเหล่าผู้นำจะเข้าร่วมในอาทิตย์แรก เพื่อแสดงเจตนารมณ์หรือให้สัญญาว่า ประเทศของตนเห็นด้วยว่าโลกกำลังก้าวสู่วิกฤตโลกร้อนอย่างเต็มตัวด้วยปัญหาวิกฤตที่โหดร้าย และทำให้คนตายจำนวนมาก จากพายุรุนแรงกว่าที่เคยพานพบในทุกๆ ทวีป ขนาดนอร์เวย์ที่ไม่เคยเจอพายุหมุนทอร์นาโด ก็ยังเจอในบริเวณเมืองหลักที่มีประชากรหนาแน่น และการไหลบ่าของน้ำหลากที่เยอรมนีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้บ้านเรือนพังทลายคนตายเป็นจำนวนร้อยเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ และรวมทั้งน้ำทะเลหนุนของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนี้ ที่ระดับน้ำหนุนนี้สูงมากกว่าในอดีตหลายเท่า ซึ่งหลายคนอาจวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะกรุงเทพฯ ทรุดตัว (จากการแอบสูบน้ำบาดาล) แต่ต้องไม่ลืมว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากวิกฤตโลกร้อนก็มีน้ำหนักที่สำคัญ และทำให้กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญปัญหานี้รุนแรงมากขึ้นทุกๆ ปี จนบริเวณสองฝั่งเจ้าพระยาจะกลายเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ได้อีกต่อไป
ความร้อนระอุขนาด 45-50 องศาในดินแดนที่ไม่เคยพานพบคือ แถบภูมิอากาศอบอุ่น เช่น ฝั่งตะวันตกของแคนาดา, ของสหรัฐฯ, ของยุโรปหลายประเทศ, ของออสเตรเลีย, ของอินเดีย และเขตทะเลทรายของจีน จนทำให้เกิดไฟป่ารุนแรง และจะสูงเกิน 50 องศาด้วยซ้ำในดินแดนแอฟริกา ที่เผชิญกับความแห้งแล้งจนขุดหาน้ำไม่เจออีกต่อไป ทำให้เกิดการไหลบ่าอพยพของผู้คนหนีตายจากความอดอยากขาดอาหารและน้ำ แล้วพยายามทะลักเข้าไปอยู่ในดินแดนประเทศเพื่อนบ้านที่ยังพอมีน้ำและอาหาร เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างไม่เคยมีมาก่อนในขนาดมหาศาลเท่าใน พ.ศ.นี้ และจำนวนมากก็อพยพเพื่อหลบหนีเข้าเมืองไปยังทวีปยุโรปหรือสหรัฐฯ ไปสร้างปัญหาตึงเครียดทางการเมืองให้กับยุโรปและสหรัฐฯ อีกด้วย
ยังมีคำพูดที่กระตุ้นการขับเคลื่อนเพื่อให้ทั้งรัฐบาลและประชากรโลกต้องฉุกคิด และเห็นด้วยกับปัญหาสาหัสจากโลกร้อนขณะนี้ เพื่อผลักดันทั้งกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งกฎหมาย เพื่อหยุดหรือชะลอการเพิ่มความร้อนให้กับโลก ซึ่งจากการวิเคราะห์วิจัยของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ได้เฝ้าติดตามความร้อนของสถานการณ์โลกต่อเนื่อง คือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ขณะนี้ พ.ศ.นี้ เราได้เพิ่มความร้อนถัวเฉลี่ยถึง 1.1-1.2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
และเมื่อถึงปี ค.ศ. 2100 (อีก 79 ปี) ถ้าพวกเราชาวโลกยังใช้ทรัพยากรของโลกอย่างบ้าคลั่งอย่างปัจจุบัน อุณหภูมิความร้อนของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.7-3 องศาเซลเซียส ซึ่งมนุษย์จะไม่สามารถทำงานในที่กลางแจ้งได้ เพราะมันจะร้อนเกินไป และเราอาจต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาเพื่อป้องกันฝุ่นที่มาจากบริเวณแห้งแล้ง (ทะเลทราย) ที่จะเพิ่มพื้นที่มากขึ้น เป็นต้น ขณะที่เกาะแก่งต่างๆ จะจมน้ำ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ที่จะต้องเขยิบพื้นที่อยู่อาศัยเข้ามาในแผ่นดินมากยิ่งขึ้น
เลขาธิการสหประชาชาติ ได้หาคำพูดที่ทำให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงการทำร้ายต่อโลกด้วยน้ำมือของเราเองนี่แหละ โดยนายกูเตอร์เรส ได้เปรียบว่า เราทิ้งความโสโครกต่างๆ ลงแม่น้ำ แล้วไปทำให้มหาสมุทรเป็นเหมือนห้องส้วม (toilette) ของโลก และทำให้โลกโสโครกจนเกินที่ธรรมชาติจะรักษาความสมดุลอีกต่อไป และเราก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เมื่อปลาก็ตายหมด กระแสน้ำร้อนน้ำเย็นก็เปลี่ยนทิศทาง ทำให้เหล่าปลาเกิดความเวียนหัวไม่สมดุลและต้องหลงทางมาขึ้นหาดตายกันเป็นเบือ เป็นต้น
อดีตปธน.โอบามา มาพูดกดดันเรียกร้องให้รัฐบาลและชาวโลกต้องหันมาจริงจังกับการร่วมกันเพื่อปฏิบัติตามคำพูดสัญญาสวยหรูที่ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ออกมาพูดในเวทีนี้ และเขาก็เสียใจ 5 ปีที่ผ่านไป สหรัฐฯ ได้ถอยหลังเข้าคลอง ไม่ได้เดินหน้าทำตามคำมั่นที่สหรัฐฯ ได้ให้ไว้ช่วงที่เขาเป็น ปธน. (เพราะเป็นช่วงที่ทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015)
โอบามาได้เล่าด้วยว่า ลูกสาวสองคนของเขาซึ่งเป็นคนรุ่นต่อไป จะไม่ยอมซื้อหรือใช้สินค้าหรือบริการใดๆ ที่ทำให้โลกร้อน (โดยไม่พยายามลดกิจกรรมหรือไม่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยคาร์บอนเลย)
โอบามาตั้งข้อสังเกตว่า การประชุม COP26 นี้ ได้เห็นแรงกดดันเรียกร้องจากคนรุ่นต่อไป ที่อนาคตของพวกเขาจะต้องรับมรดกจากรุ่นพ่อแม่ที่ไม่จริงจังกับการแก้วิกฤตโลกร้อน ซึ่งเขาชื่นชม เกรตา ทุนเบิร์ก ที่ออกมาชี้ว่า การประชุมนี้เป็นแค่การสร้างภาพให้ผู้นำดูสวยหรูและจริงจังกับการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน แต่แท้จริงก็เป็นคำสัญญาลมๆ แล้งๆ (Promises, Promises หรือ Empty Promises) และถึงขนาดที่เรียกว่า Greenwash คือฟอกเขียว ซึ่งก็คล้ายๆ กับฟอกขาว (Whitewash) ที่มีการบิดเบือนพลิกจากคนที่ทำผิด กลายเป็นแก้ตัวหรือบิดเบือนกลบเกลื่อนว่าไม่ได้ทำผิด...แต่ฟอกเขียว คือ สร้างภาพว่า ตนเองตระหนักและจริงจังกับการสร้างกิจกรรมลดคาร์บอน และสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอน แต่แท้ที่จริงเป็นการอำพรางปิดบังกิจกรรมที่ยังเดินหน้าทำลายโลกของเราต่อไปนั่นเอง
ครั้งนี้ ยังได้เห็นประเทศเกาะแก่ง ที่จะจมน้ำก่อนใครเพื่อน เมื่อหิมะขั้วโลกละลายจากโลกร้อน (เพราะแก๊สเรือนกระจก พวกคาร์บอนไดออกไซด์ และเมทเธนได้ปกคลุมทั้งโลก และกั้นไม่ให้ความร้อนของโลกสามารถผ่านออกไปนอกโลกได้) พวกเขาได้รวมตัวกันเป็นแนวร่วมแข็งแกร่ง และได้ชี้ให้ชาวโลกเห็นว่า ถ้าการประชุมครั้งนี้ไม่มีการปฏิบัติการที่จริงจัง (ตามคำสัญญาที่สวยหรู) ก็หมายถึงการพิพากษา “ประหารชีวิต” พวกเขาชาวเกาะแก่งนั่นเอง เพราะในที่สุด น้ำจะท่วมเกาะที่พวกเขาอาศัยอยู่ จนต้องจมน้ำตายหมด