xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สำรวจมิติใหม่การศึกษาไทย เลิกกำหนดเวลาเรียนปริญญา จับตา “บัณฑิตจบใหม่” ว่างงานสะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ระบบการศึกษาไทยกับเปลี่ยนแปลงอย่างน่าจับตา หลังคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) มีมติ “ยกเลิกกำหนดเวลาเรียนปริญญา” จากเดิม ป.ตรี เรียน 4 ปี ไม่เกิน 8 ปี, ป.โท 2 ปี ไม่เกิน 5 ปี และ ป.เอก 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ปรับเป็นไม่จำกัดเวลาจบ แต่หากเกรดไม่ถึงเกณฑ์ถูกรีไทร์เช่นเดิม 

สำหรับมติยกเลิกการกำหนดเวลาเรียนปริญญาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้เหตุผลว่าเพื่อตอบโจทย์การเรียนของนักศึกษาในบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป จากรูปแบบเดิมทุกคนรีบเรียนรีบจบ แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน ให้ความสำคัญกับรูป  การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning 

ดังนั้น การกำหนดระยะเวลา ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคน เพราะระหว่างเรียนเด็กอาจไปทำงาน หรือหาประสบการณ์ต่างๆ ข้างนอกห้องเรียน ออกไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยวหาประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ตัวเอง และกลับมาเรียนหนังสือก็จะได้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรจำกัดการศึกษาด้วยเวลา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีการรีไทร์อยู่ หากเรียนไปแล้วแต่ผลการเรียนไม่ถึงเงื่อนไข แต่หากเรียนได้ผลการเรียนดี แต่ถึงระยะเวลาที่กำหนดก็สามารถเรียนต่อได้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกจาก อว. ไม่มีกรอบของเวลา ซึ่งมหาวิทยาลัยก็สามารถกำหนดเงื่อนไขของตัวเองได้

ประเด็นนี้มีการร่วมหารือตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) มีมติให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา จากเดิมกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษาแ ระดับปริญญาตรี 4 ปี ไม่เกิน 8 ปี ปริญญาโท 2 ปี ไม่เกิน 5 ปี และปริญญาเอก 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี โดยพิจารณาใช้อำนาจตามข้อ 17 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และข้อ 18 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้ตลอดจนพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการ

ขณะเดียวกัน กมอ. วางหลักเกณฑ์รูปแบบการศึกษาระดับปริญญาตรี อาจจะสามารถเรียนจบได้ภายใน 2 ปี ซึ่งยังติดข้อจำกัดทางกฎหมาย อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวคือตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ความหลากหลายทางความคิดให้สิทธิเลือกสำหรับกลุ่มที่คิดว่ารีบเรียนรีบจบแล้วไปเรียนอย่างอื่นดีกว่า

กล่าวสำหรับการยกเลิกกำหนดเวลาเรียนปริญญา เป็นหนึ่งในโครงการ 12 เดือน 12 ดี ของกระทรวงฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ  นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป มองว่าการกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคน ทั้งในการเรียนรู้องค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน ไม่ควรจำกัดการศึกษาด้วยเวลา

 ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) เปิดเผยว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการปลดล็อก เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และสั่งสมองค์ความรู้ใหม่ๆ เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต หาประสบการณ์ได้มากขึ้น ประโยชน์ทางวิชาการ เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บางทีหลักสูตร การเรียน อาจจะไม่ก้าวทัน แต่หากเรามียืดระยะเวลาเรียน เด็กก็สามารถเลือกเรียนได้มากขึ้น อาจจะไปทำงานเอกชน หรือสตาร์ตอัพ เด็กจะสามารถรู้ว่าต้องกลับมาเรียนในสาขาวิชาอะไรเพื่อต่อยอด เพื่อจะได้เกิดนวัตกรรม งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้จากการปลดล็อกในครั้งนี้

น่าสังเกตว่าหากระดับอุดมศึกษาของไทยไม่มีกรอบกำหนดเวลาจบการศึกษาจะมีปัญหาตามหรือไม่

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะจัดการอย่างไรกับระบบการเรียนระดับปริญญาที่ไม่กำหนดระยะเวลาจบ หรือกรณีนิสิตนักศึกษาตกค้างในระบบจะผลกระทบกับสถาบันการศึกษาหรือไม่อย่างไร

ในอีกมุมหนึ่ง การครองสภาพนิสิตนักศึกษาเป็นระยะเวลายาวนานนั้น เช่น จากหลักสูตรที่เดิมใช้เวลาเรียนในกรอบ 4 ปี 6 ปี แต่ผู้เรียนใช้เวลา 10 ปี อาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าเรียนไปเพื่ออะไร และคงแปลกพิลึกกับการเรียนนานเท่าไหร่ก็ได้ เพียงแค่มีผลการเรียนตามเกณฑ์เพื่อไม่ให้ถูกรีไทร์ และจ่ายเงินค่าบำรุงการศึกษา เพื่อรักษาสถานภาพนิสิตนักศึกษาเอาไว้ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

อีกประเด็นที่น่าจับตา คือ สถานการณ์บัณฑิตจบใหม่ตกงานสะสม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 กระทบโดยตรงกับตลาดวัยแรงงาน

 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจแนวโน้มการว่างงานในกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานร้อยละ 14 หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงานร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กจบใหม่จำนวนมากทักษะไม่ตรงกับตลาดแรงงานต้องการ 

ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 สถานการณ์การว่างงานของประชาชนคนไทยยังอยู่บนความเสี่ยง อัตราการว่างงาน อยู่ที่ระดับ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาส 1 ของปี 2564 คิดเป็นผู้ว่างงานทั้งสิ้นราว 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง

 โดยเฉพาะ “กลุ่มผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อน” หรือ “ผู้ที่จบการศึกษาใหม่” มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10.04% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%  

หากพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 3.18% และ 3.44% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง

 แม้ภาพรวมตลาดแรงงานเเม้จะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ทว่า ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ผู้ที่ว่างงานหางานลดลงเนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลำเนา ซึ่งมีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้นโดยอาศัยทักษะความรู้เฉพาะตัว




กำลังโหลดความคิดเห็น