xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สมุนไพรไทย” เปิดเกมรุก “HUB สมุนไพรโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัจจุบันตลาดสมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่าราว 9.18 หมื่นล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ 

สำหรับตลาดสมุนไพรไทยเติบโตตามกระแสโลก ซึ่งกำลังให้ความสนใจสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาแผนโบราณ อาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น โดยมูลค่าการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอาหารเสริม มีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณ ตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกที่บริโภคสมุนไพรที่สำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอเมริกา เป็นต้น

ผลพวงจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 พบว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.3% ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 ล้านบาท เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยและพืชทางเลือกอื่นๆ ให้เป็นภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีค่าของประเทศไทย

นอกจากนี้ ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรจาก 1.8 แสนล้านบาท เป็น 3.6 แสนล้านบาท ในปี 2564 และให้ไทยเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ฯ เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทำให้ตลาดสมุนไพรไทยเติบโตก้าวกระโดด นับเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า จีน เติบโตเฉลี่ย 5.06%, ญี่ปุ่น 0.85% และเกาหลีใต้ 5.43%

สำหรับแผนการพัฒนาสมุนไพรไทยขับเคลื่อนโดย 3 กระทรวงหลัก ได้แก่  กระทรวงสาธารณสุข  ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าและคุณภาพของสมุนไพรไทย สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร และลดความยุ่งยากในการขออนุญาตผลิตของผู้ประกอบการ  กระทรวงพาณิชย์  ดูแลรับผิดชอบเรื่องการเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การออกงานแสดงสินค้า การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่ตลาดต่างประเทศ และ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เดินหน้าขยายพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรแบบอินทรีย์ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ สามารถขายได้ราคาดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่พืชสมุนไพร เพื่อจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจรภายใต้หลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการและความต้องการของเกษตรกร

  ทั้งนี้ สมุนไพรที่ได้รับความนิยมระดับ Product Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล กระชายดำ และใบบัวบก และที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง กระเทียม ฯลฯ อีกทั้ง กัญชง กัญชา ก็เป็นพืชสมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจ และในประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีที่สุดในโลก นับเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ 

สำหรับสมุนไพรไทยที่สร้างรายได้หลักๆ ประกอบด้วย ขมิ้นชัน, ไพล, บัวบก, กระชายดำ, ฟ้าทะลายโจร, กระชาย, กระวาน, ข่า, ขิง, คำฝอย, ตะไคร้, บุก, พริกไทย, ว่านชักมดลูก, กระเจี๊ยบแดง, เก๊กฮวย, ดีปลี, บอระเพ็ด, พญายอ, เพชรสังฆาต, มะระขี้นก, มะลิ, มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น เป็นต้น

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยมูลค่าการส่งออกสินค้าสมุนไพรไทย ปี 2563 พบว่า สินค้าพืชสมุนไพร (HS 1211) ได้แก่ พืชสมุนไพร มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน คิดเป็น 34.3% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 26.6% เวียดนาม 12.4% บังกลาเทศ 5.5% และเกาหลีใต้ 4.2% ขณะที่สินค้าสารสกัดจากสมุนไพร (HS 1302) ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ เมียนมา คิดเป็น 25.5% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 18.1% สหรัฐ 12.4% มาเลเซีย 9% และเวียดนาม 6 %

สถานการณ์การส่งออกสมุนไพรในตลาดโลกในปี 2563 ทั่วโลกมีการส่งออกสินค้าพืชสมุนไพร (HS 1211) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,526.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าพืชสมุนไพร อันดับที่ 40 ส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออก 0.4% ส่วนสินค้าสารสกัดจากสมุนไพร (HS 1302) มูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 6,455.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าสารสกัดจากสมุนไพร อันดับที่ 39 ส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออก 0.2% ทั้งนี้ สินค้าสมุนไพรไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก

 นพ.ธิติ แสวงธรรม  รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าหากประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐานของภูมิภาคอาเซียน และมีช่องทางการจัดจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพรทั้งแบบสดและแปรรูปที่ได้คุณภาพมาตรฐาน จะสามารถพัฒนาเรื่องสมุนไพรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และต่อยอดความเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศ อีกทั้งสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปี 2560 - 2564 ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดจนสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดสมุนไพรไทยมีการเติบโตสูงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งทางกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยฯ เร่งสร้างช่องทางในการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสมุนไพร เพื่อให้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เดินหน้าเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานสินค้า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงตลาดในช่องทางใหม่ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ PMHA (Prime Minister Herbal Award) และผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ PHP (Premium Herbal Product) ซึ่งกำลังขยายจำนวนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญผู้ประกอบการต้องก้าวให้ทันโลกยุคดิจิทัล เพื่อเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายมากขึ้น

 เฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยนำหลักการตลาดนำการผลิตมาใช้ 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากลเป็นที่ยอมรับของตลาดในการแปรรูปทุกผลิตภัณฑ์ 3. การส่งเสริมการใช้เพื่อการรักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน และ 4.การสร้างความเข้มแข็งทางด้านการบริหาร และนโยบายภาครัฐเพื่อให้การขับเคลื่อนสมุนไพรเป็นไปอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้สมุนไพรไทยมีการเติบโตก้าวหน้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาอุปสรรคสำหรับประเทศไทยในการที่จะพัฒนาส่งเสริมสมุนไพรก็คือเกษตรกร โดยภาครัฐและเอกชนหรือผู้ผลิตสมุนไพรจะต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผลิตสินค้าสมุนไพรที่มีคุณภาพ มีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ ซึ่งจะทำให้สมุนไพรไทยสามารถก้าวหน้าและมีการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากที่ผ่านมาสมุนไพรไทยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม แบบพื้นบ้านซึ่งทำให้ไม่สามารถสู้ทางด้านการตลาดกับสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ดี การนำสมุนไพรชิงความเป็นหนึ่งในตลาดโลกเป็นความท้าทายของรัฐบาล ต้องสร้างกลไกตั้งแต่ต้นทางการผลิตสร้างเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง จัดหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจปลูกสมุนไพรแบบเต็มรูปแบบ ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพ

และต้องสนับสนุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) สมุนไพรไทยมีจำนวนมากกว่า 100 ชนิด มีคุณค่าของสารต่างๆ ที่อยู่ในสมุนไพรมีจำนวนมากที่สามารถนำมาแปรรูปนำมาสกัดเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรของไทย เช่น กระท่อม มีสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมือน มอร์ฟีน ลดอาการปวดได้ การต่อยอดสู่การวิจัยพัฒนาจะเป็นแนวทางเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การพัฒนาสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณหลากหลายให้สู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ นับเป็นก้าวสำคัญในตลาดสมุนไพรโลกของไทย

 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพสมุนไพรไทย จะต้องยึดหลัก BCG Model ที่เน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและกฎเกณฑ์สากล ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานที่ดี สินค้าต้องตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ และปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย มีความปลอดภัย

ตลอดจนการทำตลาด สินค้าต้องมีจุดขาย มีเรื่องเล่า ที่มาที่ไป เพื่อสร้างความสนใจจากผู้บริโภค และต้องให้ความสำคัญกับการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยการตลาดออนไลน์ต้องทำการโฆษณาผ่านสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้และสนใจซื้อ ส่วนออฟไลน์ ก็ต้องทำ ทั้งการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลสรรพคุณของสมุนไพรไทย หรือทำแบบผสมผสานในรูปแบบไฮบริด

นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) เตรียมปูทางประไทยสู่ศูนย์กลางสมุนไพรโลก เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรองรับการเป็นศูนย์กลางสมุนไพรโลก นำผลิตภัณฑ์กัญชา และสมุนไพรต้านโควิด 19 มาจำหน่ายในเส้นทางการท่องเที่ยวนำร่องใน 4 เส้นทาง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, หนองคาย, เลย, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี (อภัยภูเบศร) และบุรีรัมย์ (โนนมาลัยโมเดล)

 ท้ายที่สุดแล้วกลไกการสนับสนุนส่งเสริมของรัฐ นับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญกำหนดทิศทางสมุนไพรไทยในตลาดโลก  




กำลังโหลดความคิดเห็น