xs
xsm
sm
md
lg

การปรับความเข้าใจหรือแค่แก้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา (แค่ 15 วันหลังการถอนออกอย่างทุลักทุเลของกองทัพอเมริกันชุดสุดท้ายจากอัฟกานิสถาน) มีการประกาศอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยของการตั้งกลุ่มใหม่ทางความมั่นคงที่ชื่อ Aukus (อ่านว่า ออกัส) อันประกอบด้วย ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ และอังกฤษ (โดยเอาตัวอักษรแรกของประเทศทั้ง 3 มารวมกัน เพื่อให้เปล่งเสียงได้ง่ายขึ้น) ซึ่งกลุ่มร่วมมือด้านความมั่นคงนี้ จะเป็นกลุ่ม 3 สหายที่ตัดย่อส่วนมาจากกลุ่มความมั่นคง 5 ตา (Five Eyes-ประกอบด้วย อังกฤษ, สหรัฐฯ แคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)-ซึ่งได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข่าวกรองมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2-และเป็นประเทศร่วมเป็นร่วมตายกันมาตลอดสงครามโลกครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2, สงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์, สงครามต่อต้านการก่อการร้ายอัลกออิดะห์, สงครามต้านการก่อการร้ายไอซิส เป็นต้น

2 ใน 3 สหายใหม่นี้ อยู่ในกลุ่มความมั่นคง 4 สหายด้วย (คือกลุ่ม Quad ประกอบด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย, อินเดีย และญี่ปุ่น) ได้แก่ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย...ซึ่งในกลุ่ม Quad นี้เป็นกลุ่มที่ผนึกกำลังดูแลความมั่นคง (จากจีน) กินขอบเขตทั้งสองมหาสมุทรคือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งได้ให้ความหมายของกลุ่ม Quad ว่า ดูแลความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก...แต่อังกฤษเป็นประเทศที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตทั้งสองมหาสมุทรนี้ แม้จะเคยเป็นเจ้าอาณานิคมในหลายประเทศที่อยู่ในเขตน่านน้ำอินโด-แปซิฟิก...ไม่ว่าจะเป็นหลายประเทศในเอเชียใต้ ตั้งแต่อินเดีย, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, ปากีสถาน และในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พม่า, มาเลเซีย, สิงคโปร์-รวมทั้งเป็นประเทศแม่ของเครือจักรภพได้แก่ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์...รวมทั้งเกาะแก่งน้อยใหญ่ในแปซิฟิก

อังกฤษนั้น เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ และมีอดีตอาณานิคมของตน-ซึ่งภายหลังยังได้คงเป็นสมาชิกอยู่ในประเทศเครือจักรภพ-ในอินโด-แปซิฟิก-ซึ่งยังใกล้ชิดกับอังกฤษทั้งด้านการค้า, การลงทุน และความมั่นคง-ทำให้นายกฯ บอริส จอห์นสัน-หลังผลักดันจนอังกฤษออกมาจากสหภาพยุโรปสำเร็จ-ก็พยายามยื่นมือกลับมาหาอดีตอาณานิคมในภูมิภาคเอเชีย เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้าและการลงทุน

แต่เมื่อสหรัฐฯ ตั้งกลุ่ม Quad อย่างจริงจังขึ้น ทำให้อังกฤษปรารถนาจะเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย เพียงแต่ก็ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อังกฤษอยู่คนละน่านน้ำ-น่านฟ้าจากอินโด-แปซิฟิก แม้อังกฤษจะชี้แจงว่า ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษก็อยู่ในอินโด-แปซิฟิกหลายประเทศทีเดียว

ดังนั้น การตั้งกลุ่มออกัสจึงเป็นหนทางสะดวกที่อังกฤษ หรือขาใหญ่ตัวจริงในอดีตของเขตอินโด-แปซิฟิก, จะเข้ามาร่วมมีบทบาทในการปิดล้อมจีน (จากการเติบโตทุกวันทุกคืน จนฝ่ายโลกทุนนิยมเสรีต้องมาให้ความสนใจที่จะสกัดกั้นไม่ให้จีนเติบโตจนกำลังจะแซงหน้าและคุกคามพี่ใหญ่ทุนนิยมเสรีอย่างสหรัฐฯ ได้)

การประกาศเมื่อ 15 กันยายนตั้งกลุ่มออกัสนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบก่อนการประกาศ เสมือนไม่ได้มีการวางแผนก่อน-เป็นระยะเวลานาน-แต่อาจเกิดขึ้นหลังชื่อเสียงของสหรัฐฯ ดูจะย่อยยับลงหลังภาพการอพยพผู้คนอเมริกัน และชาติพันธมิตรที่ตาลีตาลานออกมาจากคาบูลของอัฟกานิสถาน-ซึ่งข่าวการประกาศจัดตั้งกลุ่มออกัสก็ได้ทำหน้าที่ “กลบ” ข่าวความเสียศักดิ์ศรีของสหรัฐฯ กรณีถอนทัพจากคาบูล-ไปได้ระดับหนึ่งทีเดียว-เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของความเกรียงไกรยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง

ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ หวงนักหวงหนา และได้ยอมขยายให้เพื่อนตายมหามิตรร่วมรบอย่างอังกฤษได้รับรู้เพียงประเทศเดียวเท่านั้น-สหรัฐฯ ก็ได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อเสนอขายให้แก่ออสเตรเลีย เพื่อจัดสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ถึง 12 ลำ จะทำรายได้ให้สหรัฐฯ ก้อนโต ขณะที่อังกฤษสามารถเข้ามาร่วมในกลุ่มสกัดกั้นจีนได้เต็มที่ในดีลนี้...แม้จะต้องหักหลังฝรั่งเศสที่ได้ทำสัญญาขายเรือดำน้ำ (ขับเคลื่อนด้วยดีเซล) ถึง 12 ลำมูลค่า 62,000 ล้านเหรียญ ให้กับออสเตรเลีย

ประกอบกับสหรัฐฯ อาจคลางแคลงใจว่า ฝรั่งเศสกำลังเหยียบเรือสองแคมที่ปันใจให้กับจีน และรัสเซียด้วย

ฝรั่งเศสโกรธมากกับการถูกหักหลังครั้งนี้ เพราะไม่เพียงต้องสูญเสียรายได้มหาศาลที่ต้องหายวับไปกับตา ก่อนการเลือกตั้ง ปธน.ฝรั่งเศสในปีหน้า; ข้อตกลงความมั่นคงออกัสยังมองไม่เห็นความสำคัญของฝรั่งเศส ที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งฝรั่งเศสก็ยังมีสายสนกลในเชื่อมโยงกับประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม, ลาว, กัมพูชา-ซึ่งฝรั่งเศสก็เหมือนถูกทอดทิ้งตกสำรวจกับการจัดตั้งกลุ่มออกัสด้วย

เพื่อรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของฝรั่งเศส ที่ถูกบูลลี่จากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จึงประกาศเรียกทูตฝรั่งเศสกลับจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย และประณามสหรัฐฯ ที่ไม่ส่งสัญญาณให้ฝรั่งเศสให้รับรู้ถึงการตั้งกลุ่ม 3 สหายนี้ขึ้น

สำหรับวิธีการของ ปธน.ไบเดนที่จะปรับความเข้าใจกับฝรั่งเศสก็คือ โทรศัพท์พูดจากับ ปธน.มาครง ทันทีเป็นเวลานาน และนัดกับมาครงว่า จะขอพบส่วนตัวก่อนการประชุมสุดยอด G20

เพราะไบเดนได้เน้นมาตลอดว่า เขาจะปรึกษาและขับเคลื่อนไปพร้อมกับพันธมิตร-ไม่ไปเดี่ยว (แบบ ปธน.บุชที่โจมตีอิรักในปี 2003) หรือแบบทรัมป์ที่จะถอนตัวออกจากองค์กรพหุภาคีแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนาโต, ยูเอ็น, องค์การอนามัยโลก, องค์การการค้าโลก ฯลฯ

แต่กับฝรั่งเศส-ที่เป็นพันธมิตรมากว่า 250 ปีกลับมาหักหลังกันเสียดื้อๆ

ดังนั้น ก่อนการประชุม G20 เพียง 1 วัน ไบเดนลงทุนไปพบกับมาครงที่สถานทูตฝรั่งเศสที่กรุงโรม พูดคุยปรับความเข้าใจกันถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งมีถึง 1 ชั่วโมงที่อยู่กันแค่สองต่อสอง แล้วออกเป็นแถลงการณ์ร่วมยาวที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลายด้าน

คำแถลงของไบเดนหลังการประชุมกับมาครงน่าสนใจมาก เพราะไม่มีคำว่า “ขอโทษ” แต่เขากลับอธิบายกับทั้งโลกว่า การกระทำของสหรัฐฯ ดูจะ “Clumsy” หรือซุ่มซ่ามไม่เหมาะสม และไม่เป็นการกระทำที่สง่างาม (Disgraceful) และบอกเป็นนัยว่า สหรัฐฯ ได้ทราบว่าออสเตรเลียได้แจ้งล่วงหน้าให้ฝรั่งเศสทราบแล้ว

ส่วนมาครงก็ออกมาแถลงด้วยใบหน้าไม่เปื้อนยิ้มว่า การพบกันครั้งนี้ก็ช่วยได้บ้าง โดยสหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะร่วมปกป้องสหภาพยุโรป ที่สำคัญคือ มาครงบอกว่า จะต้องดูถึงการกระทำในอนาคตด้วยว่าจะสร้างความน่าเชื่อถือไว้วางใจกับฝรั่งเศสได้หรือไม่

มาครงบอกว่า “ความไว้ใจก็เหมือนค-ว-า-ม รั-ก เพราะการประกาศออกมาต่อสาธารณะเป็นสิ่งที่ดีงามแน่นอน แต่บทพิสูจน์ตามกาลเวลานั้นจะยิ่งสำคัญกว่า”

บาดแผลที่เกิดกับฝรั่งเศสมหามิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ครั้งนี้ร้าวลึกมาก และยังแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวเองของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ทิ้งได้กับมหามิตร เห็นประจักษ์การถอนทหาร (และประชาชนของประเทศมหามิตร) ออกจากคาบูล รวมทั้งการหักหลังสลัดทิ้งฝรั่งเศสอย่างเลือดเย็นในการแอบจัดตั้งกลุ่มออกัสในครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น