xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฉาวกระฉ่อนโลก ไทย HUB ถุงมือยาง (มือสอง) !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีสื่อดังต่างประเทศ CNN รายงานข่าวกรณีถุงมือยางใช้งานแล้วถูกส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ กว่า 10 ล้านชิ้น กระทบความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศอย่างหนัก แม้ทางการไทยบุกจับขบวนการลักลอบค้าถุงมือยางมือสองมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งสืบพบความเชื่อมโยงขบวนการข้ามชาติ แต่สุดท้ายตัวการใหญ่ยังคงลอยนวล สร้างความเสียหายทั้งในประเทศและระดับชาติมูลหลายร้อยล้าน 

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะถุงมือยางมีความต้องการสูงในตลาดโลก รายงานของ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มอยู่ที่ 420,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 17% จากปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 360,000 ล้านชิ้น

โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมีศักยภาพสูงในการผลิตถุงมือยางซึ่งประเทศไทยส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศมาเลเซีย อีกทั้งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฮับ (HUB) ถุงมือยางของโลก

เมื่อมองเห็นโอกาสทางธุรกิจทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมากเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมิจฉาชีพที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ตั้งฐานการผลิตในไทยส่งออกถุงมือยางใช้แล้วนับสิบๆ ล้านชิ้นไปยังทั่วโลก อีกทั้งท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดทำให้หลายประเทศนำเข้าถุงมือยางภายใต้กฎที่ผ่อนคลายขึ้น ดังนั้น ถุงมือยางทางการแพทย์ใช้แล้วปนเปื้อนจะไม่ถูกค้นพบจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าความเสียหายสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวของ CNN ระบุความว่าพบถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์แบบใช้แล้ว ทั้งสกปรกและเปื้อนคราบเลือด ถุงมือยางเหล่านี้ตรวจพบที่บริเวณโรงงานตามชานเมืองของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังพบมีภาชนะบรรจุน้ำผสมสีสำหรับย้อมถุงมือให้ดูใหม่ขึ้นด้วย โดยเจ้าหน้าที่ไทยเผยว่าแรงงานต่างด้าวพยายามจะทำให้ถุงมือดูมีสภาพใหม่เพื่อนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกตรวจพบ หน่วยงานสาธารณสุขไทยเคยเข้าบุกค้นโรงงานเหล่านี้มาแล้วแลยครั้ง

CNN รายงานต่อไปว่า มีโรงงานหลายแห่งในประเทศไทยทำเช่นนี้ พยายามทำเงินจากความต้องการใช้ถุงมือไนไตรที่ใช้สำหรับการแพทย์ที่กำลังมีความต้องการสูงทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบอดของโควิด-19

 ทั้งนี้ พบถุงมือแพทย์ที่สกปรกและผ่านการใช้แล้วนำเข้าจากประเทศไทยมายังสหรัฐฯ เป็นจำนวน 10 ล้าน โดยปรากฏรายชื่อที่เกี่ยวข้อง คือ “บริษัท Paddy the Room” ซึ่งจัดจำหน่ายถุงมือยาง และ “ยี่ห้อ SKYMED” ถุงมือยางทางการแพทย์ของ “บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด”  

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสาเหตุหนึ่งเนื่องจากการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ถูกระงับไว้ชั่วคราวในช่วงที่เกิดโรคระบาดอย่างหนัก ทำให้การจัดการกับการค้าผิดกฎหมายเป็นไปค่อนข้างยาก ซึ่งก่ออนหน้านี้ ช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564 บริษัทในสหรัฐฯ ได้เตือนหน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ ที่ทำหน้าที่ดูแลการนำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งกรมศุลกากร (CBP) และองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ถึงประเด็นการนำเข้าถุงมือที่มีลักษณะต่ำกว่ามาตรฐานมาจากบริษัทในไทยด้วย

ย้อนกลับไปช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ทางการไทยนำโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บุกตรวจค้น Paddy the Room พบถุงขยะกองโตเต็มไปด้วยถุงมือยางใช้แล้ว โดยโรงงานต่างชาติกำลังยัดถุงมือเก่าเข้าไปในกล่องถุงมือปลอมโดยใช้ “ยี่ห้อศรีตรัง” ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมืออย่างถูกต้องตามกฎหมายที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ขยายผลพบผู้เช่าชาวฮ่องกงแต่ไม่สามารถตั้งข้อหาได้ เพราะอ้างว่าเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่ได้รับจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังรอการตีกลับไปยังต้นทาง อย่างไรก็ตาม การจับกุมครั้งดังกล่าวไม่ได้ทำให้ Paddy the Room ยุติขบวนการลอบค้าถุงมือยางมือสอง

และสำหรับถุงมือยางปลอมยี่ห้อ SKYMED ของ บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด ที่ปรากฎในรายงานของ CNN ทางผู้บริหารออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ตีความได้ว่าถูกสวมรอยแอบอ้าง

นอกจากปัญหาลอบผลิตถุงมือยางมือสองในไทยไปต่างประเทศ ปัญหาเรื่องถุงมือยางยังมีอีกหลายกรณี  นายอุทัย สอนหลักทรัพย์  นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าถุงมือยางมีปัญหาอยู่หลายรูปแบบหลายกรณี อาทิ 1. หลอกลวงว่ามีถุงมือยางขาย แต่ไม่มีจริง หลอกเชิดเงินมัดจำ 2. หลอกลวงว่ามีถุงมือจากโรงงานขาย แต่เอาของจีน เวียดนาม มาเลยเซีย มายัดใส่กล่องว่าผลิตในประเทศไทย ที่ร้ายแรงยิ่งกว่า คือเอาของที่ใช้แล้วมายัดใส่กล่องขาย เช่น ที่ถูกจับได้เป็นข่าวใหญ่ SKYMED, PANYOS, PURE GLOVE เป็นต้น ซึ่งทางการควรสร้างความชัดเจน เปิดโปงขบวนการใครกระทำผิด บทลงโทษเปเป็นอย่างไร ประกาศให้สาธารณชนรับรู้จะได้ไม่โดนหลอกอีก หรือกรณีหลอกเอางินมัดจำจากต่างชาติ แต่ไม่ส่งสินค้าให้ ส่งสินค้าไม่มีคุณภาพ ส่งสินค้าที่ไม่ได้ผลิตในไทย ส่งสินค้าใช้แล้ว ส่งสินค้าที่มีใบรับรองปลอม

3. พวกโฆษณาแอบอ้าง โรงงานของคนอื่น ใบรับรองสินค้าผลิตภัณฑ์ของคนอื่น มาเป็นของตน แล้วหลอกขายเอามัดจำมาสร้างโรงงานของตนเองแล้วเชิดเงิน และ 4. พวกโฆษณาแอบอ้างว่ามีเครื่องจักร มีโรงงานรับจ้างผลิตให้ตนเอง หลอกขายมากเกินจริง เกินการผลิตของตนเอง ซึ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของโรงงาน บริษัท บุคคล จนกลายเป็นความเสื่อมเสียของการผลิตถุงมือยางพารา และยางสังเคราะห์ในประเทศไทย อันเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ และยากจะกู้กลับคืนมาได้ในระยะเวลาอันสั้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ความคืบหน้าล่าสุด  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการตรวจสอบถุงมือยางไปนอกราชอาณาจักร ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมศุลกากร กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ฯลฯ

โดยมีข้อสรุปใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับถุงมือยางทางการแพทย์ ขณะนี้เป็นคดีสำคัญซึ่งได้ดำเนินคดีทั้งหมด 15 คดี ในจำนวนนั้นรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Paddy the Room ด้วย ขณะนี้อัยการได้สั่งฟ้องแล้ว ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับถุงมือยางทางการแพทย์ยี่ห้อ SKYMED ที่ปรากฏบนข่าวของ CNN นั้น ที่ประชุมมอบให้ สตช. รับไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป จะเร่งรัดดำเนินการสืบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ สตช. เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นไม่พบนักกการเมืองหรือผู้มีสี เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีถุงมือยางทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่เป็นกลุ่มเอกชนที่เข้ามากระทำการดังกล่าว

2. ที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ความร่วมมือหรือบังคับใช้กฎหมายสำหรับสองกรณีที่ปรากฏในข่าว CNN โดยเคร่งครัดต่อไปด้วย

3. ได้สอบถามกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ที่เข้าร่วมการประชุมว่า กรณีที่เป็นข่าวใน CNN จะมีผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ การค้าและการส่งออกระหว่างไทยกับสหรัฐฯหรือไม่? กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพราะที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ร่วมมือกันดำเนินการในกรณีพบสิ่งผิดกฎหมายทุกกรณีไม่มียกเว้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า การค้าและการส่งออกไม่คิดว่าจะมีผลกระทบ โดยพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย.พบว่าการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯขยายตัวอย่างดี ถึง 111.3% มูลค่าถึง 36,457 ล้านบาท

และ 4. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา ในการส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์ไปยังประเทศสหรัฐฯ รวมทั้ง ประเทศอื่นๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะทำตลาดการส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์ ทำรายได้เข้าประเทศให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่อไป

สำหรับประเด็นปัญหาลอบผลิตถุงมือยางมือสองในไทย  ภญ.สุภัทรา บุญเสริม  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่ามีการดำเนินการตรวจค้นอย่างน้อยสิบครั้งในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คาดว่าถุงมือใช้แล้วจำนวนมหาศาลถูกรวบรวมมาจากจีนหรืออินโดนีเซีย ส่งมาประเทศไทยเพื่อซัก ตากแห้งและบรรจุใหม่

นอกจากนี้ มีการตั้งคำถามว่าถุงมือยางมือสองจำนวนหนึ่งอาจเล็ดรอดมากจากการกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ของสถานพยาบาลต่างๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม อย. ระบุว่ามีเครือข่ายบุคคลและบริษัททุจริตในประเทศไทยที่ทำงานร่วมกันเพื่อทำกำไรจากถุงมือยางที่มีความต้องการทั่วโลก

 นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล  นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะหากผู้ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป แบนประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย ไม่ใช่แค่ไทย และสมาคมฯ เคยรายงานเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีการนำไปขยายผลต่อ ซึ่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายใหญ่คงไม่มาก เพราะมีความน่าเชื่อและคู่ค้าสั่งซื้อมานาน แต่ผู้ผลิตรายเล็กหรือรายใหม่อาจมีผลกระทบ เพราะต่างประเทศจะเข้มงวดหรือจับตาเป็นพิเศษ

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ระบุว่าความต้องการใช้ถุงมือยางตลาดโลกปี 2563 เพิ่มขึ้น 20% อยู่ที่ 3.6 แสนล้านชิ้น โดยในปี 2564 คาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ทั้งนี้ มีการผลักดันผู้ผลิตถุงมือยางของไทยให้ขยายการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทุกด้าน โดยมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 20% จาก 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีเป้าหมายสูงสุดที่ 40% ในอนาคต หลังจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างมาเลเซียขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง รวมทั้ง จีนที่เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกใกล้เคียงกับไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์ของ  กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ไตรมาสแรกของปี 2564 ปริมาณการส่งออกถุงมือยางไทยอยู่ที่ 6,494 ล้านคู่ ขยายตัว 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยอยู่ที่ 1,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 230% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 นับเป็นการขยายตัวอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา U.S. Customs and Border Protection (CBP) ได้ประกาศยุติการนำเข้าถุงมือยางจากทุกโรงงานของบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซียและของโลก จากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นอานิสงส์ให้ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น มีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางในสหรัฐอเมริกา จากเดิมสัดส่วน 15%

กำลังการผลิตถุงมือยางของไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านชิ้น และจะทำให้ไทยมีกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม ณ สิ้นปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 56,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 22% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางรายใหญ่ของไทย การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งไทยและต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์เป็นโอกาสที่ดีของยางพาราไทย โดยน้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยาง ถือเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรหรือเครือข่ายของสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพในการลงทุนเครื่องจักร และมีความรู้ในการ แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น ซึ่งโรงงานแปรรูปน้ำยางข้นที่มีศักยภาพอาจขยายสู่การผลิตถุงมือยาง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยรัฐต้องเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยาง

ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบน้ำยางข้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือย่างปริมาณมาก ซึ่งไทยมีศักยพภาพในการส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 ของโลก

 ดังนั้น หมุดหมายประเทศไทยกับการเป็นฮับ (HUB) ถุงมือยางของโลก และห้วงวิกฤตอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ไทยกำลังถูกตั้งคำถาม การสร้างความเชื่อมั่นและกู้ภาพลักษณ์ประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องจัดการเป็นการเร่งด่วน 



กำลังโหลดความคิดเห็น