xs
xsm
sm
md
lg

ศึกพรรคพลังประชารัฐ สัญญาณความแตกหักและจุดจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของอดีตผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) องค์ประกอบเริ่มแรกมาจากกลุ่มที่หลากหลาย อันได้แก่ แกนนำหลักของ คสช. อดีตรัฐมนตรีที่เคยร่วมรัฐบาล คสช. และอดีตนักการเมืองหลากพื้นที่และหลายกลุ่ม ภายใต้การชูธงให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคประสบความสำเร็จในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่สองก็ตาม เหตุผลหลักที่ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคือ การที่รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการเลือกสรรของคณะคสช. สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ยอมเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาล

กลุ่มที่มีบทบาทนำในช่วงแรกของ พปชร. คือกลุ่ม สี่กุมาร ภายใต้การนำของนายอุตม สาวนายน และมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้สนับสนุนหลัก กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอดีต กปปส. ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พลเอกประยุทธ์อย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร และเป็นกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทในการปูทางการเข้ามาสู่อำนาจของแกนนำ คสช. กลุ่มที่สามเป็นนักการเมืองที่เรียกกันว่ากลุ่มสาม ส. ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเป็นแกนนำ กลุ่มที่สี่คือกลุ่มนายธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งรวบรวมอดีต ส.ส.จากหลายพื้นที่เข้ามาร่วม ถือได้ว่าเป็นสายตรงของพลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจมากในสุดในพรรค และกลุ่มที่ห้าคือ กลุ่ม ส.ส. ภาคตะวันออก ซึ่งมีนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นแกนนำ กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากเป็นรัฐบาลไม่นานความขัดแย้งใหญ่รอบแรกก็เกิดขึ้น ความขัดแย้งจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค และการแยกตัวของกลุ่มสี่กุมารออกจากพรรค ความขัดแย้งนี้มาจากกลุ่มนายธรรมนัสไม่พอใจต่อบทบาทของกลุ่มสี่กุมารในการบริหารจัดการพรรค ด้วยในช่วงเลือกตั้งกลุ่มสี่กุมาร ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในพรรค เมื่อจัดตั้งรัฐบาลจึงเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น พวกเขาให้ความสำคัญกับบทบาทในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี มากกว่าบทบาทการบริหารพรรค ทำให้กลุ่มฝักฝ่ายอื่น ๆ ในพรรคเกิดความไม่พอใจ ด้วยรู้สึกว่าบรรดาแกนนำพรรคเหล่านั้นไม่ดูแลพรรค กลุ่มฝักฝ่ายในพรรคที่มีนายธรรมนัสเป็นแกนนำจึงร่วมมือกันกดดัน และปลดกลุ่มสี่กุมารออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมทั้งกดดันให้พลเอกประยุทธ์ปลดบรรดาสี่กุมารทั้งหมดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย

จากนั้น ผู้ทรงพลังอำนาจที่อยู่เบื้องหลังพรรคอย่างพลเอกประวิตร ได้เปิดตัวออกมาสู่เวทีการเมืองแบบรัฐสภาอย่างเป็นทางการด้วยการมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสียเอง และนายธรรมนัส มือขวาของเขาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ศึกยกแรกภายในพรรคจึงยุติลงชั่วคราว แต่แม้ว่าการที่นายธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรคแล้ว ซึ่งโดยประเพณีทางการเมืองแบบไทย ๆ มักจะถูกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญในรัฐบาล แต่เหตุการณ์ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เขายังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเช่นเดิม ด้วยพลเอกประยุทธ์ ไม่แต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการ นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังระหว่างนายธรรมนัส กับพลเอกประยุทธ์

ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นโควต้าของกลุ่ม กปปส. ต้องพ้นจากตำแหน่งจากดดีที่ถูกฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องการชุมนุมนุมทางการเมืองในปี 2556-57 นายกรัฐมนตรีก็ต้องปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง และเช่นเคย นายธรรมนัส ก็ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากพลเอกประยุทธ์ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการ นี่เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้ความแปลแยกระหว่างนายธรรมนัส กับพลเอกประยุทธ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น เหตุผลที่พลเอกประยุทธ์ไม่ยอมตั้งนายธรรรมนัส เป็นรัฐมนตรีว่าการ คาดว่ามาจากชื่อเสียงอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดในประเทศออสเตรเลียของนายธรรมนัส ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมรับนายธรรมนัส หากพลเอกประยุทธ์แต่งตั้งนายธรรมนัสให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงที่สำคัญ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมจะผิดหวังและอาจยกเลิกการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ดังนั้นเพื่อรักษาภาพลักษณ์และความนิยมเอาไว้ พลเอกประยุทธ์จึงตัดสินใจไม่ตอบสนองความปรารถนาของนายธรรมนัส

อย่างไรก็ตาม จากการบริหารงานที่รวมศูนย์อำนาจ เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ทั้งที่ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพ และมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ก็ปรากฎออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การตกต่ำของเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมือง และการลดลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในประเทศ ทำให้การชุมนุมขับไล่พลเอกประยุทธ์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง ความนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำลงตามลำดับ เช่นเดียวกันกับความนิยมของพรรคพลังประชารัฐ ในท่ามกลางกระแสการขับไล่พลเอกประยุทธ์ของกลุ่มการเมืองที่หลากหลายนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าแกนนำบางคนของพรรคพลังประชารัฐบาลคนที่ขัดแย้งกับพลเอกประยุทธ์จะให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองและสื่อมวลชนบางแห่งในการขับไล่พลเอกประยุทธ์ด้วย

ภายใน พปชร. ความขัดแย้งระหว่างนายธรรมนัส กับพลเอกประยุทธ์ ทวีความเข้มข้นมากขึ้น และแสดงออกมาชัดเจนในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กลุ่มนายธรรมนัสพยายามรวบรวม ส.ส.เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ และมีความเป็นไปได้สูงว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเอาพลเอกประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่ภายใต้การรับรู้ของพลเอกประวิตร หัวหน้าพรรค เพราะหากกลุ่มนายธรรมนัส ทำสำเร็จ โฉมหน้าการเมืองไทยก็จะเปลี่ยนแปลง และอาจมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทนพลเอกประยุทธ์ แต่กลุ่มนายธรรมนัสประสบความล้มเหลว ทั้งที่คุมเสียงข้างมากในพรรค และมีพลังเพียงพอในการโค่นล้มพลเอกประยุทธ์ได้ สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวน่าจะมาจากความโลเลของผู้ทรงอำนาจที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มนายธรรมนัส ที่ยังไม่สามารถตัดสายพันสัมธ์เก่าแก่ที่ยาวนานระหว่างตนเองกับพลเอกประยุทธ์ได้

พลเอกประยุทธ์รักษาตำแหน่งเอาไว้ได้อย่างเฉียดฉิว ด้วยคะแนนไว้วางใจในลำดับรองสุดท้ายในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาการแค้นนี้ต้องชำระจึงเกิดขึ้นตามมา ภายในไม่กี่วันหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ออกคำสั่งปลดนายธรรมนัส และรัฐมตรีช่วยอีกคนที่ใกล้ชิดกับนายธรรมนัสออกจากตำแหน่ง โดยไม่ปรึกษาหารือกับพลเอกประวิตร ผู้เป็นหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด การปฏิบัติการณ์ปลดแบบสายฟ้าแลบของพลเอกประยุทธ์เป็นเสมือนการไว้หน้าและไม่เกรงใจพลเอกประวิตรแม้แต่น้อย

หลังจากนั้น ปฏิบัติการกดดันเพื่อให้นายธรรมนัสพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหัวหอกของการเคลื่อนไหวคือ กลุ่มส.ส.ในพรรคที่แนบแน่นกับพลเอกประยุทธ์ และมีความเป็นไปได้สูงว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวปลดนายธรรมนัส เพราะเขาอาจรู้สึกไม่มั่นคงในอำนาจ หากนายธรรมนัส คู่ขัดแย้งหลักของเขาดังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพราะตำแหน่งนี้สามารถชี้นำและกำหนดทิศทางการลงมติของ ส.ส.จำนวนมากในพรรคได้ เมื่อใดที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า ร่างกฎหมายนั้นอาจถูกคว่ำได้ และนั่นหมายถึงจุดจบของรัฐบาลและการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์

การเคลื่อนไหวเพื่อเอานายธรรมนัสออกจากตำแหน่งจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น กลุ่ม ส.ส.ที่แนบแน่นกับพลเอกประยุทธ์หลายคนลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และหากกรรมการลาออกเกินครึ่งหนึ่ง กรรมการบริหารพรรคทั้งชุดก็พ้นสภาพไปทันที และหมายถึงการหลุดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคของนายธรรมนัสด้วย นอกจากวิธีการนี้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการโน้มน้าวจูงใจให้พลเอกประวิตร ทอดทิ้งนายธรรมนัส เพราะหากพลเอกประวิตรละทิ้งนายธรรมนัสเมื่อไร เมื่อนั้นก็ถึงจุดจบของนายธรรมนัสใน พปชร. แต่ก็หมายถึงจุดจบของ พปชร. และรัฐบาลด้วยก็ได้

หากถูกพลเอกประวิตรทอดทิ้ง แม้นายธรรมนัสอาจประสบความยากลำบากในเส้นทางการเมืองบ้าง แต่ดูเหมือนเขายังมีไพ่ให้เล่นอีกหลายใบ เพราะเขายังมีอิทธิพลต่อต่อ ส.ส.ในพปชร.จำนวนมาก ไพ่ตายใบหนึ่งคือ การให้ ส.ส.ในสังกัดกลุ่มตนเองลงมติคว่ำร่างกฎหมายรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลลาออก หรือยุบสภาผู้แทน เขาก็อาจนำกลุ่มของเขาไปสังกัดพรรคการเมืองที่เตรียมเอาไว้ หรืออาจเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ได้ และด้วยศักภาพ ความเชี่ยวชาญในการทำงานมวลชน และทรัพยากรทางการเมือง มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคที่เขาเป็นผู้นำอาจเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางในการเลือกตั้งครั้งหน้า และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า
แต่ดูเหมือนว่า พลเอกประวิตร ตระหนักอยู่ไม่น้อยว่า นายธรรมนัสเป็นหมากสำคัญทางการเมืองของตนเอง การสลัดนายธรรมนัสทิ้งไป ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะจะทำให้กลุ่มส.ส.ที่แนบแน่นกับพลเอกประยุทธ์ ขึ้นมากุมอำนาจพรรค ซึ่งเท่ากับเป็นการบั่นทอนอำนาจตนเองภายในพรรคด้วย สถานการณ์เช่นนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงปรารถนามากนักสำหรับพลเอกประวิตร

แต่ในมุมของพลเอกประยุทธ์ การดำรงอยู่ในตำแหน่งสำคัญอย่างเลขาธิการพรรคของนายธรรมนัส ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเขาเองก็ไม่มีวันลืมและไม่อาจอภัยกับสิ่งที่นายธรรมนัสพยายามเอาเขาลงจากตำแหน่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา รวมทั้งไม่ไว้ใจและหวาดระแวงต่อบทบาทในสภาของกลุ่มนายธรรมนัสด้วย แต่ฐาน ส.ส. ภายในพรรคของพลเอกประยุทธ์นั้นเทียบไม่ได้กับฐานของนายธรรมนัส และดูเหมือนพลเอกประวิตรก็ยังคงสนับสนุนนายธรรมอยู่อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นโอกาสที่กดดันให้นายธรรมนัสพ้นจากตำแหน่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ยิ่งนานวัน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลเอกประยุทธ์กับกลุ่มนายธรรมนัสก็ยิ่งมีความแหลมคมมากยิ่งขึ้น แม้ว่าพลเอกประวิตรจะพยายามไกล่เกลี่ยและประสานความขัดแย้งนี้อย่างต่อเนื่อง แต่รอยร้าวนี้ดูเหมือนยากที่จะประสานได้ สถานการณ์ขณะนี้ ดูเหมือนชัดเจนแล้วว่านายธรรมนัส ยังคงรักษาตำแหน่งเลาธิการพรรคเอาไว้ได้ และนั่นก็คือความพ่ายแพ้ภายในพรรคของกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ นั่นเอง คำถามคือ พลเอกประยุทธ์จะยอมถอย ซึ่งทำให้ตนเองเสียหน้าหรือเสียรังวัดทางการเมือง หรือจะตัดสินใจแตกหักโดยการไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ และยุบสภา

ความขัดแย้งภายใน พปชร. ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เป็นตัวอย่างของแบบแผนการเมืองแบบดั้งเดิมของสังคมไทย พรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยการรวบรวมกลุ่มที่มุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองแบบเฉพาะหน้าระยะสั้น และมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มักจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน ความขัดแย้งภายใน ซึ่งมีสาเหตุจากการแย่งชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมักขยายตัวจนนำไปสู่การล่มสลายของพรรคนั้นในที่สุด และคาดว่า อีกไม่นาน กรณีพรรคพลังประชารัฐก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่มเข้าไปในหน้าประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจในสังคมการเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น