สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แปลโดยความว่า สังขารคือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ไม่เที่ยง (คือเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และแตกตัวในที่สุด) ธรรม (คือสภาวะที่ดำรงอยู่) เป็นอนัตตา (คือไม่มีตัวตน เป็นเพียงการรวมตัวกันของปัจจัยต่างๆ) และไม่มีใครบังคับสั่งการไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับได้) นี่คือ พุทธพจน์ซึ่งเป็นสัจธรรม และแบ่งเป็นระดับคือ
1. สมมติสัจจะ คือ ความจริง โดยสมมติเรียกกันหรือโลกบัญญัติ เพื่อความเข้าใจตรงกันในการสื่อสาร อันได้แก่ชื่อของสรรพสิ่ง ทั้งที่เดิมรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอยู่และสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสผ่านทางอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
2. ความจริงโดยปรมัตถ์ (Utimate reality) หรืออันติมสัจจะ ได้แก่ความจริงที่อยู่เหนือสมมติ
ความจริงทั้งสองระดับที่ปรากฏอยู่ในคำสอนในภาคส่วนต่างกันดังนี้
1. ความจริงโดยสมมติ ปรากฏอยู่ในคำสอนในส่วนที่เป็นพระสูตร ซึ่งพุทธองค์ได้ทรงสอนโดยบุคคลาธิษฐานคือ ยกตัวบุคคลขึ้นมาเป็นตัวตนรองรับคำสอน เช่น สอนว่าคนทำดีย่อมได้ดี และคนทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เป็นต้น
2. ปรมัตถสัจจะ หรือความจริงโดยปรมัตถ์ได้ปรากฏอยู่ในคำสอนส่วนที่เป็นอภิธรรม ซึ่งด้วยเจตสิกรูปนิพพานอันเป็นธรรม ล้วนไม่มีบุคคลตัวตนเราเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้น ผู้ที่เป็นพุทธแท้ มิใช่เป็นพุทธเพียงระบุในทะเบียนราษฎร ว่านัยคือพุทธจะต้องศึกษา ค้นคว้า และทำความเข้าใจคำสอนทั้งสองระดับดังกล่าวข้างต้น และนำไปปฏิบัติโดยเฉพาะพุทธบริษัทที่เป็นนักบวช ทั้งนี้เพื่อมิให้เชื่ออย่างผิดๆ พูดผิด และทำผิด ที่สำคัญจะได้ไม่สั่งสอนผู้อื่นให้คล้อยตามในสิ่งที่ผิด ส่วนพุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ คงจะไม่มีเวลาในการศึกษาค้นคว้าเท่ากับนักบวช จะทำได้อย่างมากก็แค่เลือกรับฟัง และเลือกเชื่อในสิ่งที่เป็นคำสอนของพระพุทธ โดยไม่มีความคิดเห็นของผู้สอนแปลกปลอมเข้ามา ด้วยเจตนาแสวงหาลาภสักการะ ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในหลายๆ สำนักในขณะนี้
แต่ในความเป็นจริง เวลานี้ได้มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นบรรพชิตคือ นักบวชและที่เป็นคฤหัสถ์ ไม่รู้ ไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ไม่รู้ ไม่เข้าใจพระวินัย ประพฤติปฏิบัติตนอย่างผิดๆ เป็นที่เสื่อมศรัทธาของชาวพุทธผู้พบเห็น และไม่เข้าใจธรรมดีพอ จึงทำให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เมื่อมีปัจจัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มาเบียดเบียน จะเห็นได้จากกรณีเจ้าคณะจังหวัด 3 รูปที่ถูกปลดจากตำแหน่ง และเกิดการชุมนุมประท้วง และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมด้วย
ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง ก็แปลว่า พระทั้ง 3 รูปที่ถูกปลดจากตำแหน่ง และคฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้เคารพนับถือพระภิกษุทั้ง 3 รูปนี้ ไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่าด้วยโลกธรรม 8 ประการ จัดเป็น 4 คู่คือ
1. มีลาภ เสื่อมลาภ
2. มียศ เสื่อมยศ
3. สรรเสริญ นินทา
4. สุข ทุกข์
ทั้ง 4 คู่นี้เป็นสัจธรรมคือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎแห่งอนิจตา ดังนั้น เมื่อตั้งได้ก็ถอดถอนได้ ไม่มีอะไรแน่นอน ทั้งนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถ้าผู้ถูกปลดเข้าใจธรรมะข้อนี้ ก็จะต้องปล่อยวางและยึดติดให้ตนเองเป็นทุกข์