พุทธศาสนาได้แก่พระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และได้ทรงบัญญัติไว้ให้พุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติเพื่อลดละกิเลส
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 ในการปกป้องรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งในส่วนที่เป็นพระวินัยหรือศีล ด้วยการงดเว้นในส่วนที่เป็นข้อห้าม และทำตามในส่วนที่อนุญาต
ในส่วนที่เป็นพระธรรม จะต้องปกป้องรักษาด้วยการศึกษาค้นคว้า และนำไปปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน จะต้องขจัดสิ่งแปลกปลอมที่มีผู้นำเข้ามาสอน โดยอ้างว่าเป็นพุทธพจน์ออกไป
พระวินัยหรือศีลคืออะไร และมีจำนวนเท่าใด?
พระวินัยหรือศีล เป็นคำสอนซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นข้อห้าม และส่วนที่เป็นอนุญาต ศีลเป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ถือปฏิบัติหลุดพ้นจากกิเลสอย่างหยาบ อันได้แก่กายทุจริต หรือการทำชั่วทางกาย และวจีทุจริตได้แก่ การกระทำชั่วทางวาจา
ศีลมีมากน้อยตามเพศและภาวะของพุทธบริษัทดังนี้
ศีล 227 ข้อสำหรับพระภิกษุหรือนักบวชเพศชาย 311 ข้อสำหรับภิกษุณีหรือนักบวชเพศหญิง 8 ข้อสำหรับอุบาสกและอุบาสิกา
ส่วนพระธรรมนั้น สำหรับพุทธบริษัททุกเพศ ทุกวัยสามารถศึกษาค้นคว้า และปฏิบัติตามได้ แต่จะได้รับผลจากการปฏิบัติมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายาม และปุพเพกตปุญญตาคือ บุญวาสนาที่ทำไว้ในปางก่อน
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และมีวัดวาอารามนับหมื่นวัด และมีพระภิกษุสงฆ์นับแสนรูป จึงนับได้ว่า เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายเถรวาทหรือหินยาน
ที่สำคัญเหนืออื่นใด พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะทรงไว้ ซึ่งทศพิธราชธรรม จึงทำให้สถาบันพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวตลอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของคำว่า ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในชาติที่ใครๆ จะล่วงละเมิดมิได้ และถ้ามีใครสักคนหรือกลุ่มสักกลุ่มก้าวล่วง ก็จะถูกคนไทยส่วนใหญ่หรือทั้งชาติรุมประณามว่าเป็นคนไม่รักชาติ
แต่วันนี้และเวลานี้ พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจากการกระทำของพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุซึ่งเป็นสาวกผู้สืบทอดศาสนาโดยตรง และอยู่ในเพศภาวะของนักบวช มีศีล 227 ข้อและเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก แต่กลับทำตัวและประพฤติตนเยี่ยงคฤหัสถ์เช่น โฆษณาสินค้า และแสดงธรรมในทำนองตลกโปกฮาประสาชาวบ้านที่เล่นตลกเป็นอาชีพเข้าข่ายอเนสนาแสวงหาลาภสักการะ โดยวิธีไม่สมควรแก่เพศภาวะของนักบวชในพุทธศาสนา ทำให้เสื่อมศรัทธาของผู้พบเห็น ซึ่งเคร่งครัดในพระศาสนา ครั้นมีผู้ทักท้วงก็ออกมาตอบโต้แบบเอาสีข้างเข้าถู จึงเท่ากับต้องอาบัติในทำนองรู้แล้วแต่ขืนทำ เข้าข่ายอลัชชีคือเป็นภิกษุที่ไม่ละอายต่อบาป
ล่าสุดได้มีการปลดพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัด 3 รูปออกจากตำแหน่ง และได้มีพระภิกษุรวมไปถึงคฤหัสถ์รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้ มส.ทบทวนมติ นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่แสดงถึงการไม่เข้าถึงธรรมคือโลกธรรม 8 ข้อที่ว่า มียศเสื่อมยศ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎอนิจจังมีได้ก็เสื่อมได้ กล่าวคือ เมื่อผู้แต่งตั้งเห็นว่าสมควรก็แต่งตั้ง และเมื่อเห็นว่า ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งก็ถอดถอนโดยไม่มีการพิจารณาในเรื่องพระธรรมวินัย แต่พิจารณาในเรื่องของศักยภาพในด้านการปกครอง จึงเป็นเรื่องธรรมดาของกฎอนิจจังคือ เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงและแตกดับ
ถ้าผู้ที่ถูกถอดถอนเข้าถึงธรรมข้อนี้ จะเป็นทุกข์เป็นร้อนกับของนอกกายทำไม เมื่อมันเกิดได้ มันก็เสื่อมได้ และก็ดับได้ ปล่อยไปเถิดพระคุณเจ้าอย่าออกมาชุมนุม จะตกเป็นเครื่องมือของนักปลุกระดมทางการเมืองให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาโดยเปล่าประโยชน์ และควรจะต้องยึดหลักพุทธพจน์ที่ว่า สุทธิ อสุทธิ ปจฺจตฺตํ นาญโญ อญญํ วิโสธเย แปลโดยใจความ ความบริสุทธิ์ และความไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่มีใครทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะต้องยึดหลักกฎแห่งกรรมที่ว่า ใครทำกรรมใดไว้ ก็จะต้องรับผลของกรรมนั้น ถ้า มส.ทำผิด กรรมก็ตกที่ มส. ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด จะไปเดือดร้อนจากผลที่คนอื่นทำด้วยเล่า