xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ซีรีย์ชีวิต “ขายไตแลกเงิน” เจาะกลุ่มคนดู “ใจดี-โอนไว” ภาพสะท้อนสังคมง่อยเปลี้ย -รัฐล้มเหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทั้งที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอยู่ในกระแสตลอดว่า “การขายอวัยวะเป็นเรื่องผิดกฎหมายในเมืองไทย” แต่กลับมีผู้คนออกมา “ติดป้ายประกาศขายไต” ถี่ขึ้นเรื่อยๆ นับเฉพาะในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีถึง 3 เคสติดต่อกัน ตั้งแต่กรณีชายสูงวัยประกาศขายไตยกครอบครัว และของดรับบริจาค เพื่อนำเงินไปเคลียร์หนี้สินจากการค้ำประกันให้คนใกล้ชิดจนถูกฟ้องร้องยึดบ้านที่ดินขายอดตลาด หลังเป็นข่าวดังหน่วยงานราชการยื่นมือเข้าช่วยเหลือทันที ไกล่เกลี่ยหนี้สิน

ตามมาติดๆ กับกรณีแม่ลูกป่วยออทิสติกประกาศขายไต เพื่อนำเงินไปใช้หนี้และเป็นค่ารักษาลูก หลังเป็นข่าวดัง ยอดเงินบริจาคทะลักหลายแสน ปลดหนี้ มีเงินก้อน

และกรณีล่าสุดที่เพิ่งตกเป็นข่าวดัง ชายเจ้าของโรงกลึงกระเตงลูกสาววัย 6 ขวบ โร่ถือป้ายประกาศขายไต ขอรับเงินบริจาค หวังหาเงินปลดหนี้และเป็นทุนการศึกษาลูก ซึ่งพอจะคาดเดาผลลัพธ์ได้ว่าสายธารน้ำใจน่าจะไหลทะลักเข้าบัญชี

หรือย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2564 กรณีเด็กหญิงวัย 12 ปี ประกาศขายไตหาเงินใช้หนี้ช่วยแม่ ซึ่งในครั้งนั้นยอดบริจาคถล่มทะลายทะลุหลักล้านเลยทีเดียว

แต่ต้องไม่ลืมว่า คนทุกคนล้วนกำลังเล่นละครชีวิตอยู่ ทุกคนเผชิญความยากลำบากแตกต่างกันไป โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ ผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญปัญหาทางการเงิน คิดหาหนทางสร้างรายได้ ดิ้นรนอย่างสุดกำลัง เพียงแต่พวกเขาไม่ได้เปิดม่านชีวิตสู่สายตาสาธารณะชน ไม่ได้ออกมาประกาศขายอวัยวะหรือปั่นดรามาจนเป็นกระแสสังคม กระทั่งได้รับโอกาสหยิบยื่นความช่วยเหลือและเงินบริจาคดังเช่นเคสดังๆ

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า “เทรนด์ขายอวัยวะ” กำลังมาแรงในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายประเทศไทยไม่สามารถซื้อขายไต หรืออวัยวะใดๆ ได้ เพราะอวัยวะไม่ใช่ทรัพย์ที่สามารถโอนกันได้ตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 มาตรา 150 ระบุว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ” ดังนั้น การซื้ออวัยวะใดๆ ภายในร่างกาย ถือเป็นผิดกฎหมาย หากมีการซื้อขายเกิดขึ้น การซื้อขายนั้นก็จะเป็นโมฆะตามกฎหมาย 

 หรือหากสถานพยาบาล หรือแพทย์คนใดทำการซื้อขายอวัยวะ ก็อาจมีความผิดตาม พรบ.สถานพยาบาล มาตรา 34 หรือ พรบ. อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ 

เพจเฟซบุ๊ก Doctor Kidney - ด็อกเตอร์คิดนี่ ตอบคำถามสุขภาพโรคไต ได้โพสต์ถึงประเด็นประกาศขายไตเพื่อหวังได้เงินมาสร้างชีวิตใหม่ ความว่าแม้อยากขายไตมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคัดเลือกทั้งความสมบูรณ์ของร่างกายและอวัยวะ ความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ขนาดญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ไตยังไม่แม็ทช์กัน

“นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว โรงพยาบาลไหนๆ ก็ไม่รับทำให้ทั้งนั้น เพราะผลลัพธ์ที่ได้ทั้งคนให้และคนรับมักดูไม่จืด คนที่รับก็ได้ของไม่ดี คนที่ให้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยไตวายในอนาคต”

ขณะที่ “ขวัญชนก วุฒิกุล” หนึ่งในกรรมการรายการทีเด็ดลูกหนี้ ออกอากาศทางช่อง 3 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการบริหารเงิน มองปรากฎการณ์ขายไตแลกเงินว่า ทุกครั้งที่มีคนออกมาประกาศ ก็ต้องมีข่าวออกมาเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มันผิดกฎหมาย และในความเป็นจริง คนที่ออกมาประกาศขายไตหรืออวัยวะ ก็ไม่มีใครขายได้จริง

“บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่า มันผิดกฎหมายหรือมันทำไม่ได้ เพียงแต่เขาก็คงถึงที่สุดแล้ว มันอาจจะเป็นการแสดงออกให้คนทั่วไปรับรู้ว่า ฉันถึงที่สุดแล้วนะ ไม่ไหวแล้วจริงๆ สำหรับบางคน ถ้ามีเกมให้เล่นอย่าง Squid Game เขาอาจจะยอมเสี่ยงชีวิตแบบในซีรีส์ก็ได้ แบบตายเป็นตายเพราะไม่รู้จะอยู่ยังไง ไปลุ้นเอาแบบนั้นก็น่าจะคุ้มกว่า ซีรีส์ของเกาหลีเรื่องนี้มันก็มาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนในเกาหลีที่สูงมากตอนนี้สัดส่วนน่าจะอยู่ที่ 103% ของจีดีพี ส่วนบ้านเรา สิ้นปีนี้คาดการณ์ว่า หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 93% ของจีดีพี มันสะท้อนว่า ปัญหาหนี้สินหนักหนาจริงๆ อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนออกมาประกาศขายอวัยวะแลกเงินทั้งๆ ที่ทราบว่าผิดกฎหมาย หรือไม่ทราบก็ดี ล้วนเป็นเรื่องของปัญหาทางการเงินทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวงรัฐที่ขาดกลไกที่มีประสิทธิแก้โจทย์ปัญหาปากท้องประชาชน”

ขวัญชนกมองว่า ปัญหาหนี้สินของประชาชน ต้องแยกเป็น 2 ส่วน เพราะวิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ส่วนแรก สำหรับคนที่เป็นหนี้ในระบบ อันนี้มีกลไกของรัฐช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีทั้งคลินิคแก้หนี้ ที่ช่วยดูแลเรื่องหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรเงินสด มีทางด่วนแก้หนี้ของแบงก์ชาติ ที่ช่วยดูแลให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงเจ้าหนี้ได้โดยมีแบงก์ชาติเป็นตัวกลาง เพราะบางกรณีลูกหนี้ไม่มีทางคุยหรือเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินได้เลย ล่าสุดยังมีมาตรการรวมหนี้ ที่ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งดอกเบี้ยสูง ไปรวมเป็นก้อนเดียวกับหนี้ที่มีหลักประกัน ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยลดลง คนเป็นหนี้ในระบบ ถึงจะน่าห่วง แต่ก็ยังพอมีทางแก้ไข ยังเจรจากับเจ้าหนี้ได้

ส่วนที่สอง คือ คนเป็นหนี้นอกระบบ อันนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะส่วนใหญ่เจรจากับเจ้าหนี้ไม่ได้อยู่แล้ว หนทางแก้ไขมีแค่ 2-3 ทาง หนึ่งคือ เราต้องมีรายได้ เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ สอง คือ หาทางกู้ในระบบมาใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งก็ยาก เพราะการกู้นอกระบบ มันบอกว่าเราไม่มีวินัยทางการเงินแล้ว สุดท้าย คือ ถ้าเจ้าหนี้นอกระบบเอาเปรียบมากๆ ก็ต้องใช้กลไกของรัฐ เช่น ต้องแจ้งความ ต้องร้องเรียนไปที่กระทรวงการคลัง ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งลูกหนี้ไม่ทำ เพราะเท่ากับประกาศสงครามกับเจ้าหนี้นอกระบบ และที่ผ่านมา ลูกหนี้ก็จะเห็นเจ้าหนี้นอกระบบเป็นที่พึ่งเสมอ เพราะเข้าถึงง่าย

“ความช่วยเหลือมันก็มีต้นทุนของมัน อย่างน้อยที่สุด เราควรช่วยคนที่เขาต้องการจริงๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นมันคุ้มค่าที่สุด และที่สำคัญคือ เราควรช่วยเหลือคนที่เขาพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ถึงที่สุดก่อน ที่น่าห่วงคือ พอเป็นกระแสว่า ทำแบบนี้ เดี๋ยวก็มีคนบริจาค หาเงินง่าย แต่พอมีเงินแล้วก็ใช้เงินไม่ถูกทาง ไม่ถูกวิธี สุดท้ายจากเศรษฐีเงินบริจาคก็อาจจะกลายเป็นหนี้ได้อีก แล้วถ้ามีตัวอย่างแบบนี้เยอะๆ ต่อไปคนช่วยก็ไม่อยากช่วย และคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ก็จะกลายเป็นไม่ได้รับความช่วยเหลือไปด้วย” ขวัญชนก วุฒิกุล ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

 แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เชื่อว่า... จะมีเคสประกาศขายไตแลกเงินเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งๆ ที่รู้แก่ใจว่าการซื้อขายอวัยวะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และไม่สามารถทำได้ในเมืองไทยก็ตาม 




กำลังโหลดความคิดเห็น