คอลัมน์ ศิลปะแห่งศรัทธา
โดย ARTMULET
สวัสดี ครับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงเรื่องราวประวัติและที่มาของ “พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล” อันเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของผลงานประติมากรรมเทวรูปองค์สำคัญๆ ที่สร้างขึ้นใหม่รวมทั้งพระพุทธรูปในชุด “มหาไตรภาคี” ซึ่งวัดขุนอินทประมูลนั้นเป็นวัดเก่าแก่สำคัญและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และผมได้เล่ามาถึงตอนที่ “พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล” ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ กระทั่งพระพุทธไสยาสน์และวัดขุนอินทประมูลเข้าสู่ยุคที่มีการเริ่มพัฒนาก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบันนี้
ในสัปดาห์นี้ผมจะขอกล่าวถึงเรื่องราวที่ต่อจากตอนที่แล้วดังนี้ครับ หลังจากกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดขุนอินทประมูลไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๐ และเริ่มการซ่อมแซมครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๙ แล้วมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง วัดขุนอินทประมูลในยามนั้นเป็นป่าทึบไม่มีประชาชนไปมามากนักจึงจัดให้เป็นที่อบรมพระนวกะโดยได้รับความอุปถัมภ์จากคหบดี พ่อค้า ประชาชน และได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างหลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จังหวัดสิงห์บุรี ท่านมีความเห็นว่างานอบรมพระนวกะนี้เป็นงานที่จะช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญยั่งยืนนาน ควรจะจัดสร้างสถานที่ให้มีความสะดวกและควรจะสร้างวิหารใหญ่คลุมองค์พระพุทธไสยาสน์ เพื่อป้องกันพระพุทธไสยาสน์จากแดดฝน โดยท่านเมตตาเป็นประธานในการจัดสร้างวิหาร โดยได้จัดงานวางศิลาฤกษ์ เพื่อหาทุนในการก่อสร้างได้ทุนมาประมาณสองล้านบาทเงินจำนวนนี้ได้นำฝากไว้ในธนาคารยังไม่ถูกนำมาใช้ ต่อมาโครงการอบรมพระนวกะได้มีการเปลี่ยนแปลงแยกย้ายกันไปอบรมกันเองในแต่ละอำเภอเนื่องจากมีความสะดวกกว่า
กาลต่อมามีผู้รับเหมาก่อสร้างอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองได้แจ้งต่อเจ้าคณะจังหวัดอ่างทองว่าควรนำเงินที่ได้จากการวางศิลาฤกษ์เมื่อคราวก่อนมาสร้างวิหารครอบพระพุทธไสยาสน์ได้แล้วโดยตนจะดำเนินการขออนุญาตกรมศิลปากรเพื่อก่อสร้าง เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงเริ่มลงมือก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างเกิดฝนตกหนักพระพุทธไสยาสน์ทรุดตัวพังลงมาเป็นบริเวณกว้าง เกิดเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายวันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงร่วมประชุมกันทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด กรมศิลปากร ก็ไม่อาจหาข้อยุติได้ ในที่สุด “พระครูวิเศษชัยวัฒน์” หรือ หลวงพ่อเสวย เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล ทำหน้าที่เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอ่างทองขณะนั้น หลวงพ่อท่านจึงรับอาสาเป็นธุระในการดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระพุทธไสยาสน์เพื่อไม่ให้องค์พระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองต้องมีความเสียหายมากไปกว่านี้ โดยก่อนที่ท่านจะรับภารกิจดังกล่าวนี้ท่านได้ไปปักกลดนั่งกัมมัฏฐานอยู่หน้าองค์พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล เมื่อหลวงพ่อท่านได้นั่งกัมมัฏฐานมาถึงช่วงเวลาสองยามของคืนที่ ๗ คืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด ได้มีร่างของชายรูปร่างสูงใหญ่แบบคนโบราณเดินมาหาท่านและบอกกับท่านว่า ท่านพระครูไม่ต้องหนักอกหนักใจอะไร หากท่านมีจิตศรัทธาที่จะรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระนอนและวัดแห่งนี้ จะมีคนที่เคยร่วมสร้างวัดนี้มาแต่กาลก่อน ตอนนี้กลับมาเกิดแล้วเขาจะมาช่วยท่านพระครูเอง ในเวลานั้นสุนัขในวัดไล่กัดแมว แมววิ่งหนีเข้ามาในกลดชนข้าวของกระจายไปทั่ว หลวงพ่อท่านหันมาอีกทีชายคนนั้นก็หายตัวไปแล้ว
รุ่งเช้าคุณดวงสมร วรฤทธิ์ ผู้อํานวยการกองแผนฯ สํานักงบประมาณ ได้โทรศัพท์มาหาหลวงพ่อเสวย และแจ้งว่าทราบข่าวพระพุทธไสยาสน์พังจากหนังสือพิมพ์แล้ว คิดว่าหลวงพ่อน่าจะต้องการความช่วยเหลือ หลวงพ่อท่านจึงเชิญมาวัดขุนอินทประมูล วันนั้นคุณดวงสมรได้มากับคุณจิรพรรณ นิรัติศัย รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและได้ร่วมกันหาแนวทางในการดําเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระพุทธไสยาสน์โดยเร่งด่วนเป็นอันดับแรกหลังจากนั้นค่อยทำการปรับภูมิทัศน์โดยรอบองค์พระฯ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ โดยให้จังหวัดเสนอขอใช้งบประมาณแผ่นดินในการดําเนินการและในระหว่างทำการบูรณะกรมศิลปากรก็พบว่า นอกจากองค์พระและซากวิหารที่สร้างครอบองค์พระแล้ว ยังพบแนวกําแพงแก้ว โดยรอบองค์พระออกมาอีกจําเป็นต้องทําการขุดค้นและอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวเอาไว้ คราวนี้จึงกลายเรื่องใหญ่ เนื่องจากแนวกําแพงแก้วที่กรมศิลปากรจะอนุรักษ์นั้นในตอนน้ันมีการสร้างอาคารสํานักงาน กุฎีสงฆ์ หอฉัน หอระฆัง หอสวดมนต์ อยู่บนแนวนั้นพอดี จึงต้องรื้ออาคาร และสิ่งก่อสร้างภายในวัดมากมาย
เมื่อหลวงพ่อท่านรับทำหน้าที่เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดขุนอินทประมูลแล้ว ท่านจึงดําเนินการก่อสร้างอาคารเหล่านั้นขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ได้รื้อออกไป โดยต้องใช้เวลากว่าสิบปีเหมือนเป็นการเริ่มต้นสร้างวัดใหม่ทั้งวัด เพื่อให้วัดขุนอินทประมูลมีความสมบูรณ์และเป็นระเบียบ แต่วัดขุนอินทประมูลที่ผ่านมายังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยมีการจัดสร้างพระอุโบสถมาก่อน ซึ่งพระอุโบสถนั้นถือเป็นหัวใจหลักของการเป็นวัด ดังนั้นหลวงพ่อท่านจึงมีดำริที่จะจัดสร้างพระอุโบสถขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สถานที่แห่งนี้ การสร้างพระอุโบสถนั้นจำเป็นต้องใช้ปัจจัยจำนวนมากมายมหาศาลเนื่องพระอุโบสถหลังดังกล่าวนี้หลวงพ่อท่านมีความตั้งใจจะให้มีขนาดใหญ่และมีความยาวขนาดเท่ากับองค์พระพุทธไสยาสน์ และเป็นพระอุโบสถ ๓ ชั้น เพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆของคณะสงฆ์ในฐานะที่วัดขุนอินทประมูล เป็นพุทธมณฑลจังหวัดอ่างทอง เป็นเรื่องที่แปลกเมื่อหลวงพ่อท่านมีดำริเช่นนี้ วันรุ่งขึ้น ดร.เถลิง เหล่าจินดา มหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากก็เกิดมีปฏิปทาที่จะหาที่เพื่อสร้างพระอุโบสถอยู่เช่นกัน จึงได้เดินทางมาปรึกษากับหลวงพ่อท่าน เมื่อหลวงพ่อท่านเห็น ดร.เถลิง เหล่าจินดา กำลังเดินเข้ามาหาท่านจึงเอ่ยปากขึ้นว่าเจ้าภาพสร้างโบสถ์ที่รออยู่มาแล้ว
ที่สุดแล้วพระอุโบสถของวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๖๙๐ ปีหลังจากพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูลได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นพระอุโบสถ ๓ ชั้น ที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร มีทั้งลิฟท์และบันไดเลื่อนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บรรดาญาติโยมทั้งหลาย ภายในพระอุโบสถยังปรากฎภาพจิตรกรรมร่วมสมัยหลากหลายรวมทั้งภาพผู้ที่มาร่วมงานทำบุญที่วัด โดยพระอุโบสถหลังนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จภายใน ๒ ปีเศษ โดยมี ดร.เถลิง เหล่าจินดา เป็นเจ้าภาพหลักดังที่หลวงพ่อท่านได้เอ่ยปากไว้ร่วมกับพ่อค้าประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายรวมทั้งคณะผ้าป่าที่ร่วมกันสมทบทุนสร้างพระอุโบสถและได้รับพระสมเด็จวัดขุนอินทประมูลที่ขุดได้จากกรุใต้ฐานองค์พระนอนกลับไปเป็นที่ระลึกในครั้งนั้นด้วย หลวงพ่อท่านกล่าวว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายได้นำมาทำบุญนั้นถือเป็นการแปรทรัพย์ภายนอกซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์หยาบให้เป็นทรัพย์ละเอียดเป็นเสบียงหนุนนำพาให้พบแต่ความสุขความเจริญทั้งในปัจจุบันชาติและอนาคตสืบต่อเนื่องกันไป
ภายหลังจากพระอุโบสถวัดขุนอินทประมูลสร้างเสร็จได้ไม่นาน หลวงพ่อท่านก็มีดำริว่าควรจะสร้างรูปหล่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ขนาดใหญ่ไว้หน้าพระอุโบสถ เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งสมเด็จโตท่านได้เคยมาบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลแห่งนี้ เมื่อท่านดำริเช่นนี้ไม่นานก็ปรากฎว่าได้มีคนพาโยมจากเมืองปากน้ำสมุทรปราการมาหาท่านเพื่อจะสอบถามว่าที่เมืองอ่างทองนี้มีวัดไหนจะสร้างพระใหญ่บ้างโยมต้องการเป็นเจ้าภาพ ในที่สุดรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี หล่อด้วยโลหะทองชนวนขนาดหน้าตัก ๓.๙๙ เมตร ประดิษฐานบนแท่นปูนปั้นหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ ตามคำแนะนำของ ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ประธานดำเนินงานจัดสร้างในครั้งนั้นก็เกิดขึ้นและในครั้งนั้นได้มีการจัดสร้างรูปหล่อและเหรียญหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ โตพรหมรังสี ซึ่งเป็นเหรียญหล่อประกอบที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามเป็นมากตั้งแต่เคยมีการสร้างกันมา ภายในบรรจุผงพุทธคุณ ซึ่งการจัดสร้างเหรียญหล่อประกอบในครั้งนั้นจัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๕๗ และถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่ทรงคุณค่าของ Artmulet ด้วยครับ
พระครูวิเศษชัยวัฒน์ หรือ หลวงพ่อเสวย ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดชัยมงคล จ.อ่างทอง ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง เนื่องจากวัดขุนอินทประมูลนั้นเป็นวัดที่ยังต้องพัฒนาในด้านต่างๆ อีกมากมาย ทั้งที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม ห้องสุขา ศาลาอเนกประสงค์ต่างๆ ซึ่งยังต้องใช้ปัจจัยอีกมาก Artmulet จะขอร่วมรังสรรค์ผลงานต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับพระศาสนาที่คงไว้ซึ่งความงดงามของศิลปะอันเกิดจากแรงศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเพื่อร่วมถวายเป็นพุทธบูชาและสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยาวนานสืบไป ขออำนาจบารมีแห่งองค์พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้แด่ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามเรื่องราวของท่าน รวมทั้งท่านทั้งหลายที่ติดตามและสนับสนุนผลงานของ Artmulet ให้ประสบความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลโดยทั่วกันทุกๆ ท่านเทอญ และในสัปดาห์หน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้นต้องค่อยติดตามนะครับ
สำหรับท่านที่สนใจผลงานประติมากรรมต่างๆ ของทาง Artmulet
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Inbox : Artmulet
Facebook Inbox : Artmulet Official
TikTok : Artmulet Official
Line Id : @artmulet
เว็บไซต์: www.artmulet.com
และที่วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง T. 0925577511
รายได้ร่วมจัดสร้างที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมและศาลาอเนกประสงค์ วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง