xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จีน 1998

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การล่องใต้ของเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping’s southern tour) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของจีน
คอลัมน์ : ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 หลังเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 สิ้นสุดลง จีนถูกชาติมหาอำนาจจากเจ็ดชาติอุตสาหกรรมหรือกลุ่มจี-7 (G7) คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ บางชาติก็กล่าวประณามว่าจีนได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่จีนก็ยังคงยืนยันว่า การปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นกิจการภายในของตน ไม่ควรที่นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซง 

หลังจากนั้นอีกราว 2-3 ปี จีนได้ลดบทบาทในเวทีโลกของตนลง ข่าวคราวเกี่ยวกับจีนที่มีออกมาเป็นข่าวเรียบๆ ไม่มีอะไรที่ชวนให้ตื่นเต้นเหมือนกับตอนที่จีนประกาศปฏิรูปและเปิดประเทศ ที่เที่ยวได้เชิญชวนนานาประเทศให้ทำการค้าการลงทุนกับจีน

ช่วงที่ข่าวคราวของจีนเงียบหายไปนั้น กล่าวกันว่า เป็นช่วงเวลาที่บรรดาแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ) ต่างหันมาสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน ว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์นี้มีสาเหตุมาจากอะไร

 ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เป็นเพราะจีนปฏิรูปและเปิดประเทศเร็วเกินไป ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกหรือลัทธิเสรีนิยมหลั่งไหลเข้มมาในจีนเกินควบคุม และเมื่อเยาวชนคนหนุ่มสาวจีนรับเข้าไปจนเห็นดีเห็นงามปัญหาจึงเกิดขึ้น 

 อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เป็นเพราะจีนปฏิรูปและเปิดประเทศช้าไป จนก้าวไม่ทันเยาวชนคนหนุ่มสาวที่รับวัฒนธรรมตะวันตกหรือลัทธิเสรีนิยมอย่างเต็มที่ และ พคจ เองไม่ทำการควบคุมให้พอเหมาะจนเกิดปัญหาขึ้นมา 

ความเห็นที่ต่างกันดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครในแกนนำ พคจ เห็นว่านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นนโยบายที่ผิด ทุกคนต่างเห็นว่าเป็นนโยบายที่ถูกและจีนได้เดินมาถูกทางแล้ว ชั่วอยู่แต่ว่าจะเดินช้าหรือเดินเร็วเท่านั้น

ผลคือ แกนนำที่เห็นว่าจีนเดินช้าไปเป็นฝ่ายที่ได้รับการยอมรับ

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่า นับจากนี้ไปจีนจะต้องเร่งการปฏิรูปของตนให้กว้างและเร็วมากขึ้น แต่เป็นการเร่งที่พุ่งเป้าไปในทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แล้วควบคุมทางการเมืองให้มีเสถียรภาพเอาไว้อย่างมั่นคง อย่างหลังนี้หมายความว่า จีนจะไม่เปิดเสรีทางการเมืองดังก่อนหน้านี้อีก ซึ่งก็คือการยืนยันในระบอบเผด็จการโดย พคจ เอาไว้อย่างมั่นคงนั้นเอง

 จากนั้นในปี 1992 ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในจีน นั่นคือ การปรากฏตัวของเติ้งเสี่ยวผิง ที่ซึ่งได้หายไปจากข่าวสารนานนับปีหลังเหตุการณ์นองเลือด เติ้งได้ปรากฏตัวด้วยการเดินทางสัญจรไปทั่วพื้นที่ทางภาคใต้ของจีน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญภายใต้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ 

ในทุกๆ ที่ที่เติ้งได้เดินทางไปถึง เติ้งจะกล่าวคำชี้นำให้เร่งการปฏิรูปให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนให้เจริญรุดหน้าต่อไป และส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ก็คือ การเปิดรับเอาความรู้ทางด้านนี้จากโลกภายนอก

ระฆังใหญ่ผูกโบว์แดงที่ตลาดหุ้นเซินเจิ้นในปี 2551 เพื่อฉลอง 30 ปี การปฏิรูปเปิดประเทศ ที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ได้เกิดบนแผ่นดินใหญ่
คำชี้นำของเติ้งได้รับการบันทึกเอาไว้ในทุกที่ที่เขาเดินทางไปเยือน และทำให้เห็นว่า แม้เขาจะมีอายุในวัย 85 ในขณะนั้น แต่สติสัมปชัญญะยังคงแจ่มชัด เพียงแต่เชื่องช้าลงตามวัยเท่านั้น ที่สำคัญ เขาได้ทำให้ชาวโลกเห็นว่า เหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมินไม่ได้บั่นทอนฐานะผู้นำสูงสุด (paramount leader) ของเขาลงแม้แต่น้อย
 เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกกันต่อมาว่า การล่องใต้ของเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping’s southern tour) ซึ่งจีนถือเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของจีน 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การล่องใต้ของเติ้งเสี่ยวผิงในครั้งนั้นเท่ากับยืนยันว่า จีนจะต้องเร่งการปฏิรูปต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ปัญหาจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือแนวทางการปฏิรูปที่จีนพึงยึดถือ?

อันที่จริงแล้วจีนมิได้ประกาศอย่างชัดแจ้งถึงแนวทางการปฏิรูปของตนว่าคือแนวทางใด แต่สิ่งที่จีนยืนยันให้ได้ยินเสมอก็คือ จีนยังคงเป็นประเทศสังคมนิยม แต่เป็นสังคมนิยมแบบจีน (Socialism with Chinese characteristics) ที่อาจเหมือนหรือไม่เหมือนกับสังคมนิยมของชาติอื่น และอาจไม่จำเป็นต้องตรงกับนิยามที่มาร์กซและเลนินเคยให้ไว้ก็ได้

ประเด็นคำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า สังคมนิยมแบบจีน

ถึงแม้ประเด็นคำถามนี้จะตอบได้หลายทาง แต่ทางหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ นโยบายเศรษฐกิจของจีนเอง ว่าจีนจะยึดแนวทางใดในการพัฒนา เกี่ยวกับประเด็นนี้จีนได้ทำให้เห็นทุกปีหลังจากการล่องใต้ของเติ้งเสียวผิง แต่หากกล่าวในแง่การปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม และถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญที่จีนทำให้เห็นแล้วก็คือ การปฏิรูปในปี 1998

การปฏิรูปในปี 1998 มีอยู่หลายด้านด้วยกัน ในที่นี้จะหยิบยกด้านที่สำคัญมากล่าวถึง

แรกสุดคือ  การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก่อนปี 1998 จีนมีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็กทั่วประเทศราวสามแสนแห่ง ในจำนวนนี้มีอยู่ราวแสนแห่งที่ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด มีราวแสนแห่งที่ทรงตัวอยู่ได้ในแบบไม่ทำกำไร แต่ก็ไม่ขาดทุน และอีกราวแสนแห่งที่ทำกำไรทุกปีมาโดยตลอด

วิธีปฏิรูปของจีนก็คือ กลุ่มแรกที่ขาดทุนตลอดกาลจีนให้ยุบทิ้งทั้งหมด หรือขายให้กับเอกชนที่สนใจจะนำไปทำต่อในราคาที่ค่อนข้างถูก กลุ่มที่สอง จีนประกาศหาผู้ร่วมทุนกับภาครัฐ ใครจะถือหุ้นในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหนให้ตกลงกันเองระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ส่วนกลุ่มที่สาม รัฐจะยังคงให้เป็นกิจการของรัฐต่อไปด้วยการส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

การปฏิรูปในด้านต่อมาคือ  การปฏิรูปกระทรวงทบวงกรม ซึ่งก่อนปี 1998 จีนมีกระทรวงและคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวงอยู่ 41 หน่วย หลายหน่วยมีความซ้ำซ้อนกันจนเกินความจำเป็น และอีกหลายหน่วยไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

วิธีปฏิรูปของจีนคือ จีนได้ยุบกระทรวงและคณะกรรมาธิการที่ซ้ำซ้อนลง และปรับกระทรวงหรือคณะกรรมาธิการบางชุดให้มีหน้าที่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น จากเหตุนี้ จึงมีกระทรวงและคณะกรรมาธิการถูกยุบไปจนเหลืออยู่ 29 หน่วยจากที่มีอยู่แต่เดิม 41 หน่วย

นอกจากการปฏิรูปที่สำคัญดังกล่าวแล้วก็ยังมี  การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ ซึ่งเป็นกิจการด้านความมั่นคงอีกด้วย แต่การปฏิรูปที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่ครอบคลุมชีวิตของชาวจีนอย่างทั่วด้านก็คือ  การปฏิรูปสวัสดิการ 

 ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่า ก่อนปี 1998 นั้น สวัสดิการของจีนเป็นสวัสดิการแบบสังคมนิยม ในที่นี้จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ จากที่เพื่อนชาวจีนคนหนึ่งเล่าให้ฟังคือ สวัสดิการด้านการศึกษา ซึ่งสำหรับรัฐสังคมนิยมแล้วการศึกษาแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลยก็ว่าได้ หรือถ้ามีก็ถูกอย่างยิ่ง จนเรียกได้ว่า ชาวจีนทุกคนแทบจะเรียน “ฟรี” จนถึงระดับอุดมศึกษาก็ว่าได้ 


เพราะฉะนั้นแล้ว สวัสดิการด้านอื่นๆ จึงแทบไม่ต้องกล่าวถึง แต่นั่นก็หมายความว่า รัฐในฐานะที่เป็นผู้ให้สวัสดิการเหล่านี้ย่อมต้องใช้ต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง หากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น ดังนั้น จีนจึงยกเลิกสวัสดิการแบบสังคมนิยมทั้งหมด แล้วใช้ระบบประกันสังคมแทน

ระบบประกันสังคมของจีนไม่เหมือนกับของชาติอื่นๆ (เช่นไทย) เพราะของจีนนั้นจะครอบคลุมในแทบทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่การศึกษา ซึ่งภายใต้ระบบนี้ย่อมหมายความว่า ชาวจีนจะต้องจ่ายส่วนหนึ่งและรัฐจ่ายอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า ทุกอย่างจะไม่ฟรีดังแต่ก่อน และทำให้คนจีนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ วิธีปฏิรูปจึงคือ รัฐได้เพิ่มเงินเดือนให้กับชาวจีนเพื่อให้มีกำลังที่จะจ่าย กล่าวอีกอย่างคือ รัฐไม่ได้ผลักภาระให้กับประชาชนแบบไร้เยื่อใยหรือแบบให้ไปตายเอาดาบหน้าโดยไม่รับผิดชอบ

หลังการปฏิรูปในปี 1998 ผ่านไปไม่กี่ปี จีนก็ประกาศว่า การปฏิรูปในปี 1998 ของตนประสบความสำเร็จด้วยดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจของจีนเสรีอย่างเต็มที่ และมันได้ส่งผลต่อจีนในประการหนึ่งก็คือ เมื่อเศรษฐกิจเสรีแล้ว องค์การการค้าโลกจึงยอมรับจีนเป็นสมาชิกในปลายปี 2001 ในที่สุด

และนับแต่นั้นมา จีนก็มุ่งไปสู่การค้าเสรี จนกลายเป็นวาระหนึ่งที่ผู้นำจีนจะถือติดตัวไปเจรจากับประเทศต่างๆ ที่ผู้นำจีนได้เดินทางไปเยือน

จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปในปี 1998 นั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ การปฏิรูปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่นั้นเอง และทำให้เห็นว่า หลังจากที่จีนใช้เวลาเลือกแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแนวต่างๆ นานนับสิบปีแล้ว ในที่สุดจีนก็เลือกแนวทางเสรีนิยมใหม่

 และทำให้เห็นว่า การเดินทางไปเยือนจีนของมิลตัน ฟรีดแมนในปี 1988 ได้แสดงผลให้เห็นในปี 1998 นี้เอง





กำลังโหลดความคิดเห็น