xs
xsm
sm
md
lg

หรือจะเป็น Perfect Storm?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


น้ำท่วมใหญ่ที่จีน
ไอเอ็มเอฟเพิ่งออกมาปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจขาใหญ่ของโลก เนื่องจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ และอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำคัญในการผลิต สำหรับโรงงานทั่วโลก นั่นคือ ตัวชิปอัจฉริยะซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการผลิตรถยนต์ และอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า และรวมถึงหุ่นยนต์ทุกชนิดที่ทำงานแทนมนุษย์ในโรงงานต่างๆ

การขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับราคาพลังงานที่พุ่งแรงสุดในรอบ 7 ปีทีเดียว ได้แก่น้ำมันดิบเบรนท์ ที่ยืนอยู่เหนือ 80 เหรียญ (ต่อบาร์เรล) มาได้ 1 เดือนแล้ว และกำลังไต่ไปสู่ 90 เหรียญภายในสิ้นปีนี้

เดิมธนาคารยักษ์สวิส (ยูบีเอส) ออกมาคาดการณ์ (ขณะที่ราคาอยู่แค่ 50-60 เหรียญเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว) ว่า มันจะไปถึง 80 เหรียญในฤดูหนาวนี้

ต่อมาโกลด์แมน แซคส์ ก็มาปรับคาดการณ์ว่า มันจะไปถึง 90 เหรียญภายในสิ้นปีนี้

หลังสุด ค่ายซิตี้กรุ๊ป ก็มาฟันธงว่า ตลอด Q4 และ Q1 (ปีหน้า) น้ำมันดิบโลกขาดอยู่ถึงวันละ 1 ล้าน 5 แสนบาร์เรล...ไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด และเขาต่อว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกพลัส ที่กลายเป็นจำเลย...ด้วยการใจแข็ง...ไม่ยอมเพิ่มการผลิตให้พอกับความต้องการของโลก (ก็เขากำลังโกยเงินมหาศาลขณะนี้!)

คือกลุ่มโอเปกพลัสได้ตกลงกันตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะเพิ่มการผลิตวันละ 4 แสนบาร์เรล โดยทยอยติดตามตรวจสอบในแต่ละเดือน จะมีประชุมเพื่อยังคงยืนตามข้อตกลงนี้ต่อไปหรือไม่

ด้านทำเนียบขาว ก็ถึงกับลงทุนยกหูโทรศัพท์ไปหว่านล้อมกดดันมกุฎราชกุมารซาอุฯ (MbS) เพื่อขอให้เพิ่มการผลิตให้มากกว่าวันละ 4 แสนบาร์เรล...เพราะขณะนี้น้ำมันตามปั๊มในสหรัฐฯ แพงขึ้นแกลลอนละ 1 เหรียญ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำเอาผู้บริโภคหน้าซีดกันไป เมื่อต้องเติมน้ำมันแพงหูฉี่ แม้หลายคนจะยังทำงานอยู่ที่บ้าน แต่น้ำมันก็เป็นต้นทุนสำคัญยิ่งในการขนส่งสินค้า...และเมื่อน้ำมันแพง ผู้ผลิตสินค้าก็จะผลักดันต้นทุนสูงนี้ไปยังผู้บริโภคนั่นเอง

ยิ่งที่อังกฤษจะเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะน้ำมันก็ราคาสูงขึ้นมากอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือ ขาดคนขับรถบรรทุกน้ำมัน (และรถบรรทุกทุกชนิด...ทั้งขนสินค้าออกจากท่าเรือ...ไปยังโรงงาน...หรือขนผัก ผลไม้ อาหารการกินไปยังโรงงานและร้านค้าต่างๆ)

สาเหตุที่ขาดคนขับรถบรรทุก (ที่ขับยากกว่าขับรถธรรมดาหลายเท่าตัว) เพราะเดิมอังกฤษจะได้คนขับรถบรรทุกมาจากหลายประเทศในสหภาพยุโรป เนื่องจากอังกฤษเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป...แต่เมื่อออกมาจากอียู ก็เกิดความยุ่งยากต่อการอนุญาตทำงานของคนขับรถบรรทุกเหล่านี้ เพราะจะไม่ง่ายอีกต่อไปต่อการข้ามฟากทำงานระหว่างคนอังกฤษและคนใน 27 ประเทศของอียู

ประกอบกับค่าจ้างต่ำมากสำหรับคนขับรถบรรทุก ซึ่งบริษัทอังกฤษก็กดค่าแรงสำหรับคนขับรถจากอียูที่จะมาทำงานที่อังกฤษ

ล่าสุด นายกฯ บอริส จอห์นสัน ยอมกลืนน้ำลายตนเอง ต้องอนุมัติคนให้ชาวอียูข้ามมาทำงานขับรถบรรทุกในอังกฤษ เห็นว่า 5 พันคนเปิดให้ชั่วคราว (3 เดือน) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขาดคนขับรถบรรทุก... ปรากฏว่ามีคนมาสมัครน้อยมากไม่ถึง 500 คน! และนายกฯ ลงทุนอ้อนวอนให้บริษัทต่างๆ เพิ่มค่าจ้างสวัสดิการให้คนขับรถ แต่ดูจะไม่ได้ผลเอาเลย

วิกฤตจากราคาพลังงานพุ่งอย่างรวดเร็วครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (พวกวัตถุดิบต่างๆ) ทั้งโลหะ และอโลหะขึ้นพรวด เนื่องจากมีการอั้นการผลิตตลอดช่วงระบาดหนักของโควิดเมื่อปีที่แล้ว จึงมีการลดการลงทุนในเหล่าผู้ผลิตวัตถุดิบ และเมื่อมีการผ่อนคลายกฎเข้มงวดเช่น ล็อกดาวน์ (หลังการพบและระดมฉีดวัคซีน) ทำให้ความต้องการวัตถุดิบพุ่งสูงในเวลาอันสั้น

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ วิกฤตโลกร้อนซึ่งกำลังทวีความรุนแรงสุดขีดขึ้นทุกวัน เห็นได้จากน้ำท่วม (จากฝนตกกระหน่ำติดต่อกันโดยไม่หยุด) และเกิดดินถล่ม ผู้คนต้องจมน้ำตายทั้งในยุโรปเหนือ (เยอรมนี, เบลเยียม เป็นต้น) และที่ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย เรียกว่าแทบทุกประเทศก็ต้องเผชิญต่อวิกฤตโลกร้อนกันถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้แต่บ้านเรา

รวมทั้งความแห้งแล้งจนเกิดไฟป่าในอีกหลายๆ จุดทั่วโลก ตั้งแต่ออสเตรเลีย, ยุโรป, สหรัฐฯ แคนาดา, อินเดีย, เกาหลีเหนือ, อินโดนีเซีย และไทย เป็นต้น

ฝนตกหนักและน้ำท่วมในจีนทำเอาเพดานเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของจีนพังทลาย และทำให้ปริมาณถ่านหินที่ผู้นำจีนกำลังเร่งให้ผลิตออกมาเพื่อมาผลิตไฟฟ้า ไม่งั้นวิกฤตไฟดับในหลายๆ มณฑลของจีนกำลังกระทบต่อการผลิตตามโรงงานต่างๆ ที่ต้องใช้ไฟฟ้าเดินเครื่อง

และข้อตกลงเพื่อหาทางสู้กับวิกฤตโลกร้อน กำลังถูกทำลายลง (แม้จะใกล้ประชุมครั้งที่ 26 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็ตาม) เพราะทั้งจีน และเยอรมนี ที่ได้ตั้งท่าจะลดการใช้ถ่านหินลงมาให้เหลือศูนย์แล้วหันไปใช้พลังงานทดแทนที่ไม่สร้างคาร์บอน ต้องกลืนน้ำลายตนเองขณะนี้ เพราะการใช้พลังงานใหม่ที่ไม่สร้างคาร์บอน; ยังมีปริมาณไม่มากพอกับความต้องการใช้พลังงานสูงมากหลังโควิด

ขนาด ปธน.สี สั่งเร่งให้เพิ่มปริมาณการผลิตถ่านหินทันที (จะซื้อพลังงานในทุกราคา!) เพื่อไม่ให้ไฟดับ

ดังนั้น แทนที่จะลดการใช้ถ่านหิน ก็กลับมาเร่งผลิตถ่านหินเพิ่ม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มวิกฤตโลกร้อนอย่างทวีคูณมากขึ้น

แม้ปริมาณคาร์บอนของโลกในปีที่แล้วจะลดวูบลงเพราะโรงงานต่างๆ ของโลก ได้หยุดการผลิต รวมทั้งการใช้พลังงานก็ลดลงมา ทำเอาท้องฟ้าสีใส, อากาศบริสุทธิ์, นกบินส่งเสียงร้องไพเราะ รวมทั้งเต่าทะเลก็มาวางไข่ที่ชายหาดอย่างสบายใจ

แต่พอเศรษฐกิจเริ่มขยับฟื้นขึ้น ความต้องการสินค้าต่างๆ ที่อั้นไว้ตลอดปี ก็ทำเอาโรงงานต่างๆ กลับมาเดินเครื่องเต็มที่ รวมทั้งการขนส่งที่ขวักไขว่สร้างมลพิษหนักกว่าก่อนโควิดเสียอีก

บางคนอาจมองว่าเป็นภาวะพายุถล่มโลกอย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect Storm)- ด้วยวัตถุดิบและพลังงานที่ราคาพุ่ง พร้อมๆ กับขาดแคลนชิป-ทำให้เงินเฟ้อพุ่งตามมา และราคาอาหาร ก็พุ่งตามด้วยซึ่งธนาคารกลางต่างก็จะขยับดอกเบี้ยขึ้นมาปราบเงินเฟ้อ-แต่ก็จะปราบแรงซื้อ (ที่กำลังทยอยลดลงอยู่แล้วจากข้าวของราคาแพงขึ้น) ไปด้วย พร้อมๆ กับวิกฤตโลกร้อนที่ดูจะหมดหนทางฟื้นฟูแล้วจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น