ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
หลังจากที่จีนประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1978 ไปแล้ว จีนได้ปรับระบบเศรษฐกิจภายในของตนให้มีความเสรีและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนที่จะต้องดีขึ้นกว่าเดิม แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ไม่ละเลยที่จะศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากทุกประเทศเท่าที่จะหามาได้
ในด้านหลังนี้เองที่ทำให้จีนเปิดกว้างให้กับการต้อนรับแนวคิดและแนวทางพัฒนาของประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง และโดยไม่เลือกว่าประเทศนั้นจะมีระบอบการปกครองอะไร จีนก็พร้อมที่จะรับมาศึกษาเสมอ
การศึกษาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของจีนดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และโดยที่ยังมิได้เลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ด้วยเหตุที่การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในยุคนี้มีความยืดหยุ่นและเสรี และไม่ยึดมั่นแต่เศรษฐกิจสังคมนิยมเพียงแนวทางเดียว ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนจึงดีขึ้นเป็นลำดับ
จนกล่าวได้ว่า ดีขึ้นกว่ายุคก่อนปี 1978 อย่างมาก
และแล้ววันหนึ่งในเดือนกันยายน 1988 เจ้าจื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้นได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งต่อไปหลักคิดของเขาจะได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาของจีนอย่างมีนัยสำคัญ
บุคคลผู้นี้คือ มิลตัน ฟรีดแมน
มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedmans, 1912-2006) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1976 หากมองจากฐานะนี้ก็ย่อมไม่แปลกที่จีนจะเปิดรับความคิดของเขามาศึกษา ดังเช่นที่จีนเองก็เปิดรับแนวทางจากสำนักหรือบุคคลอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
ประเด็นก็คือว่า ฟรีดแมนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) หลักคิดนี้มีแนวทางหลักๆ โดยสรุปคือ การยกเลิกการควบคุมของรัฐ (Deregulation) การปล่อยเสรีทางการค้าและการเงิน (Liberalization) และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของภาคเอกชน (Privatization) ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างมุ่งโจมตีอำนาจการควบคุมและแทรกแซงของรัฐหรือ “ระบบเสรีนิยมที่มีการกำกับดูแล” โดยตรง
เหตุดังนั้น ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงมีผู้นิยามว่าคือ ทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์การเมืองในภาคปฏิบัติที่เสนอว่า สวัสดิภาพของมนุษย์จะได้รับการส่งเสริมดีที่สุด ก็ด้วยการปลดปล่อยเสรีภาพและทักษะในการประกอบการของปัจเจกบุคคล โดยอยู่ในกรอบทางสถาบันซึ่งมีลักษณะโดดเด่น ดังนี้...
มีสิทธิในกรรมสิทธิ์เอกชนที่เข้มแข็ง มีตลาดเสรีและการค้าเสรี บทบาทของรัฐคือการสร้างและธำรงรักษากรอบทางสถาบันที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติดังกล่าว
ยกตัวอย่างเช่น รัฐต้องรับประกันคุณภาพและความมั่นคงของเงินตรา รัฐต้องวางโครงสร้างและกลไกของกองทัพ การรักษาความมั่นคง ตำรวจและกฎหมาย ที่เอื้อต่อการรักษาสิทธิในกรรมสิทธิ์เอกชน
อีกทั้งต้องรับประกันการทำงานของตลาดอย่างเหมาะสม การรับประกันนี้รวมถึงการใช้กำลังบังคับในกรณีที่จำเป็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในภาคส่วนที่ไม่มีตลาดดำรงอยู่ เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ การศึกษา การดูแลสุขภาพ ความมั่นคงทางสังคม หรือมลพิษสิ่งแวดล้อม ก็ต้องสร้างตลาดขึ้นมารองรับ
และถ้าจำเป็นก็ต้องอาศัยการดำเนินการของภาครัฐ
นอกเหนือจากภารกิจดังกล่าวนี้แล้ว รัฐก็ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายอะไรอีก และเมื่อสร้างตลาดขึ้นมาแล้ว รัฐก็พึงเข้ามาแทรกแซงในระดับต่ำสุด
จากนิยามดังกล่าวทำให้เห็นว่า แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของลัทธิเสรีนิยมใหม่จะสำเร็จได้นั้น รัฐจะต้องปล่อยเสรีให้แก่ภาคเอกชนอย่างสุดๆ และปัจเจกชนก็พึงมีเสรีภาพอย่างสุดๆ ด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญ หากการปล่อยเสรีอย่างถึงที่สุดดังกล่าวยังไม่ประสบผลเพราะมีอุปสรรคขัดขวาง สิ่งที่แนวทางนี้เสนอก็คือ การให้รัฐใช้กำลังบังคับ (ถึงแม้จะย้ำว่า “ในกรณีที่จำเป็น” ก็ตาม) หรือที่ใช้อีกภาษาหนึ่งที่ฟังดูดีว่า “ถ้าจำเป็นก็ต้องอาศัยการดำเนินการของภาครัฐ” ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า จะทำเช่นที่ว่าได้ก็มีแต่ “การให้รัฐใช้กำลังบังคับ” เท่านั้น
โดยสรุปแล้ว สารัตถะทางการเมืองของลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็คือ อำนาจนิยม
กล่าวอีกอย่าง มีแต่อำนาจนิยมเท่านั้นที่จะยังความสำเร็จให้แก่แนวทางเสรีนิยมใหม่ได้ ที่สำคัญ อำนาจนิยมนี้ไม่จำเป็นจะต้องมีแต่ในรัฐเผด็จการเท่านั้น แม้แต่รัฐเสรีประชาธิปไตยก็สามารถใช้อำนาจนิยมได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงไม่เป็นที่ต้อนรับของนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิชาการสายสังคมนิยมมาร์กซิสต์ ด้วยถึงที่สุดแล้วหลักคิดนี้เอื้อต่อการสะสมทุนของผู้ประกอบการชนชั้นนายทุน มากกว่าที่จะเห็นแก่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานหรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงแค่การสังเขปหลักคิดลัทธิเสรีนิยมใหม่พอให้ได้เข้าใจ แต่ภายใต้หลักคิดนี้ของฟรีดแมนในขณะที่เขาได้พบปะสนทนากับเจ้าจื่อหยางนั้น ความน่าสนใจจึงบังเกิด ว่าถ้าเช่นนั้นแล้วฟรีดแมนได้สนทนาอะไรกับเจ้าจื่อหยาง
จากการเปิดเผยของฟรีดแมนในภายหลังทำให้ทราบว่า เขาแนะนำผู้นำจีนว่าอย่าได้หวั่นไหวต่อแรงกดดันใดๆ ในอันที่จะแปรรูปกิจการต่างๆ ของรัฐให้เป็นเอกชนและให้ความสำคัญกับตลาดเสรี และหากจำเป็นก็ต้องทำการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยฉับพลัน (Shock Therapy)
ควรกล่าวด้วยว่า อันที่จริงแล้วการไปจีนของฟรีดแมนในปี 1988 นั้น ไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เขาเคยไปมาแล้วก่อนหน้านั้นหลายปี ส่วนการไปครั้งนี้ (1988) เขายังได้พบกับ เจียงเจ๋อหมิน ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเซี่ยงไฮ้ และเขายังได้บรรยายให้กับมหาวิทยาลัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในต่างกรรมต่างวาระอีกด้วย
ที่สำคัญ การที่เขาได้พบกับเจ้าจื่อหยางนั้น ไม่ได้อยู่ในกำหนดการเยือนจีนของเขามาก่อน เป็นการเชิญไปพบแบบกะทันหันโดยที่เขาไม่ได้ตั้งตัว แต่เขาก็ยินดีไปโดยมีทางการจีนเป็นเจ้าภาพ การพบกับเจ้าจื่อหยางในครั้งนั้น ทั้งสองได้ใช้เวลาสนทนาแลกเปลี่ยนกันราวสองชั่วโมง
การได้เข้าพบปะสนทนากับเจ้าจื่อหยางในครั้งนั้นจะส่งผลเช่นใด ย่อมยังไม่เห็นผลในทันทีทันใดอย่างแน่นอน และหลังจากที่ฟรีดแมนเดินทางกลับไปแล้ว เราทราบในปลายปีเดียวกันนั้นว่า ฟรีดแมนมีความหวังกับการปฏิรูปของจีนอยู่ไม่น้อย
และเราทราบแน่ๆ ว่า ในปีถัดมาคือ 1989 ได้เกิดการชุมนุมของนักศึกษาขึ้นที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินนานเป็นแรมเดือน และเจ้าจื่อหยางได้แสดงความเห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้ชุมนุม โดยในคืนวันหนึ่งขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอยู่นั้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้พบกับการมาเยือนของเจ้าจื่อหยางและนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงโดยไม่คาดฝัน
หลี่เผิงมีท่าทีที่เย็นชา ขณะที่เจ้าจื่อหยางได้กล่าวขอโทษนักศึกษาที่เขามาเยือนช้าไป นักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า เจ้าจื่อหยางน้ำตาคลอ เวลานั้นไม่มีใครเข้าใจน้ำตาหยดนั้นของเจ้าจื่อหยาง ทุกคนตระหนักแต่เพียงว่า เจ้าจื่อหยางพูดออกมาด้วยความจริงใจ
ตราบจนเช้ามืดของวันที่ 4 มิถุนายนปีนั้น กองกำลังทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็ได้เข้ากวาดล้างการชุมนุมของนักศึกษา ถึงแม้ในตอนนั้นจะเหลือนักศึกษาอยู่ไม่มาก แต่การปราบปรามที่ต่อเนื่องถึงสายวันนั้น ก็ทำให้นักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิตหลายร้อยราย บางที่ประเมินว่าน่าจะถึงหลักพัน
ไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าจื่อหยางก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง โดยเขาถูกกล่าวหาว่ามีความคิดเสรีนิยมสุดโต่ง และหนึ่งในข้อกล่าวหาก็คือ เขาได้รับเอาหลักคิดเสรีนิยมของฝรั่งคนหนึ่งมาใช้ ซึ่งแม้ทางการจีนจะมิได้เอ่ยชื่อว่าฝรั่งคนนั้นคือใคร แต่ก็รู้กันโดยนัยว่าคือ ฟรีดแมน
และนั่นก็คงเป็นความหมายของหยดน้ำตาที่นักศึกษาได้เห็นจากดวงตาของเขาในคืนวันนั้น
ฟรีดแมนไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอันใดกับเรื่องที่เจ้าจื่อหยางถูกลงโทษ หรือการสลายการชุมนุมที่เป็นไปอย่างนองเลือด ซึ่งจะว่าไปแล้วอาจจะสอดคล้องกับหลักคิดเสรีนิยมใหม่ที่ส่งเสริมอำนาจนิยม เราทราบในชั้นหลังต่อมาว่า ผลงานของฟรีดแมนและนักวิชาการสายเสรีนิยมใหม่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีน แล้วมันก็ถูกตีพิมพ์หลายครั้งในจีน
ส่วนเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินกลายเป็นเหตุการณ์ที่ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป และถูกห้ามมิให้พูดถึงมาจนทุกวันนี้
จนอีกราวสิบปีต่อมาเราก็ทราบว่า หลังจากที่จีนเปิดใจกว้างศึกษาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจากทุกมุมโลกแล้ว ในที่สุดจีนก็จิ้มลงมาที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่
เหตุฉะนั้น การเยือนจีนของฟรีดแมนในปี 1988 จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญของจีน