xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ตอนที่ ๒ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ ศิลปะแห่งศรัทธา
โดย ARTMULET

 สวัสดีครับ 
 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงเรื่องราวประวัติและที่มาของ  “องค์พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูลและวัดขุนอินทประมูล”  อันเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของผลงานประติมากรรมและองค์พระพุทธปฏิมาองค์สำคัญต่างๆ รวมทั้งพระพุทธรูปในชุด  “มหาไตรภาคี”  ซึ่งวัดขุนอินทประมูลนั้นเป็นวัดเก่าแก่สำคัญและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และผมได้เล่ามาถึงตอนที่ “พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล” ได้ถูกพม่าบุกเข้าปล้นเอาพระเกศทองคํา เผาพระวิหาร และองค์พระพุทธไสยาสน์เสียหายทั้งหมด เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒ ในปีพ.ศ. ๒๓๑๐ ตามคำบอกเล่าในบันทึกคําให้การชาวกรุงเก่า

ในสัปดาห์นี้ผมจะขอกล่าวถึงเรื่องราวในตอนต่อไปดังนี้ครับ วัดขุนอินทประมูลถูกทอดทิ้งให้ร้าง จมอยู่ในป่าโคกวัดนานเกือบ ๑๐๐ ปี ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แก่พม่ารามัญ ล่วงมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงระหว่างปีพ.ศ.๒๓๘๕ – ๒๔๑๐ พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ในปีพ.ศ.๒๓๘๕ ขณะท่านอายุได้ ๕๔ ปี ตอนนั้นท่านอยู่วัดมหาธาตุ มีผู้มาบอกข่าวว่าโยมมารดาอยู่ทางเหนือป่วยหนัก ท่านจึงนั่งเรือขึ้นไปแต่ไม่ทันโยมมารดาถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนท่านจึงจัดพิธีฌาปนกิจแก่โยมมารดา ครั้นเมื่อเสร็จงานเรียบร้อยแล้วท่านจึงแบ่งทรัพย์มรดกของโยมมารดาแก่บรรดาญาติๆ โดยทั่วกันแล้ว ทรัพย์ที่ยังเหลือก็นํามาบูรณปฏิสังขรณ์ พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ทำอยู่หลายปีจึงแล้วเสร็จ เป็นพระนอนศิลปะแบบสุโขทัยที่มีพุทธลักษณะงดงามและยาวมาก กอปรกับบริเวณที่แห่งนี้เป็นที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงใช้จําพรรษาอยู่หลายเพลาทำให้ท่านมีจิตที่แน่วแน่ไปในโลกุตรธรรม ตลอดรัชสมัยของแผ่นดิน พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคําบอกเล่าของพระครูปลัดสัมภิพัฒน์ (ช้าง) หรือพระธรรมถาวรพระราชาคณะ ผู้เป็นหลานรับใช้ใกล้ชิดท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตั้งแต่ครั้งพระธรรมถาวร (ช้าง) ยังเป็นสามเณร ตามบันทึกสัมภาษณ์ของ มหาอํามาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) เหตุการณ์ล่วงมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประวัติสำคัญเกี่ยวกับท่านเจ้าประสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี วัดระฆัง เช่นกันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๐ เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เดินทาง ขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่สร้างพระพุทธรูปนั่ง พระมหาพุทธพิมพ์ ณ วัดเกศไชโย อําเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ครั้งนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก สมเด็จฯ ท่านให้ชาวบ้านผู้ติดตามแจวเรือลัดทุ่งมานมัสการ พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลและพักค้างคืนอยู่ ณ บริเวณโคกวัดเป็นเวลา ๑ คืน หลังจากสมเด็จฯ ท่านกลับไปวัดระฆังแล้วท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรเรื่องพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ให้ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงทราบ ครั้นเมื่อถึงสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ท่านจึงได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลถึง ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ และวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ.๑๒๗)


วัดขุนอินทประมูลเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอีกครั้งเมื่อมีพระอธิการสร้าง ธีรปัญโญ มาครองวัดเป็นเจ้าอาวาสแต่งตั้งองค์แรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และได้ซื้อที่ดิน ขยายอาณาเขตวัดออกไปทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเริ่มมีการสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ อาทิ กุฏิสงฆ์ กุฏิเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ เป็นต้น กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดขุนอินทประมูลไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และเริ่มการซ่อมแซมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดําเนินมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และพ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ เสด็จพระราชดําเนินมานมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ในปี พ.ศ.๒๕๑๙

หากจะกล่าวถึงพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ในด้านประติมากรรมและความศรัทธาแล้วถือได้ว่าพระเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสนท์แบบก่ออิฐถือปูนที่มีขนาดใหญ่ที่มีความงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งด้วยพระพักตร์ที่งดงามทรงแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อยเมื่อมองดูแล้วจะรู้สึกถึงพระเมตตาที่มีอยู่ในพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์นี้เป็นอย่างยิ่งทีเดียวทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือส่วนพระเกศมาลาหันไปทิศตะวันออก มีสีขาวทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับความศรัทธาจากมหาชนผ่านกาลเวลามาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมเวลาถึงวันนี้กว่า ๖๙๔ ปีล่วงมาแล้ว


เรื่องราวของวัดขุนอินทประมูล และพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล ยังมิได้จบลงเพียงเท่านี้ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านที่เคารพและท่านที่ติดตามผลงานของ ARTMULET โปรดติดตามเรื่องราวกันต่อในสัปดาห์หน้าและขอบคุณทุกๆ ท่าน ด้วยความเคารพมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

สำหรับท่านที่สนใจผลงานประติมากรรมต่างๆ ของทาง Artmulet
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Facebook Inbox : artmulet
Facebook Inbox : artmulet official
Line Id : @artmulet
เว็บไซต์: www.artmulet.com
และที่วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง T. 0925577511 

รายได้ร่วมจัดสร้างที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมและศาลาอเนกประสงค์ วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง




กำลังโหลดความคิดเห็น