xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ญี่ปุ่นคนที่ 100

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น
เพิ่งจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแอลดีพี (Liberal Democratic Party ซึ่งเป็นพรรคแกนนำเก่าแก่ของญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยผู้ชนะก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพรรคตั้งแต่สมัยบิดา และคุณปู่ทีเดียว เขาคือนายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีต รัฐมนตรีต่างประเทศ (ช่วง 2012-2017)

ชัยชนะในตำแหน่งหัวหน้าพรรค เป็นหลักประกันว่าเขาจะเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 100 ของญี่ปุ่น เพราะพรรคแอลดีพีมีเก้าอี้ในสภาเป็นเสียงข้างมาก

ในการเลือกตั้งภายในพรรคที่จะได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ปรากฏว่า ต้องทำกันถึง 2 รอบ เพราะในรอบแรกไม่มีผู้ชนะเด็ดขาดที่มีเสียงเกินครึ่ง มิหนำซ้ำ ผู้ชนะคือนายคิชิดะ ได้คะแนนเหนือคู่แข่งคือ นายทาโร โคโนะ แค่ 1 เสียง ซึ่งสะท้อนถึงฐานเสียง (ภายในพรรคเอง) ของนายโคโนะที่สนับสนุนอย่างหนาแน่น เพราะนายโคโนะมีคะแนนนิยมนอกพรรคค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยนายโคโนะมีแฟนคลับในโซเชียลมีเดียของเขาถึง 2 ล้าน 5 แสนคน และมีตำแหน่งล่าสุดในรัฐบาลของนายกฯ ซูกะ (ที่เพิ่งประกาศไม่ลงสู้ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพีอีกต่อไป เนื่องจากคะแนนนิยมของเขาลดลงฮวบฮาบจาก 70%-เมื่อเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายอาเบะเมื่อปีที่แล้ว-เหลือแค่ 20% ต้นๆ หลังการระบาดของโควิด จนมีคนญี่ปุ่นติดเชื้อและตายจำนวนมาก ในช่วงที่นายกฯ ซูกะไม่ฟังเสียงประท้วงของประชาชน ที่ไม่ต้องการให้จัดแข่งโอลิมปิกฤดูร้อนช่วงโรคระบาดหนัก) เป็น รมต.วัคซีน เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาคอขวดในการเร่งฉีดวัคซีนให้คนญี่ปุ่นจนสำเร็จ

นายกฯ ญี่ปุ่นคนที่ 100 นับตั้งแต่นายกฯ คนแรกในปี ค.ศ. 1885 (136 ปีมาแล้ว) ในยุคเมจิ-แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีนายกฯ เข้ารับตำแหน่งจำนวนถึง 61 คน ภายในเวลา 76 ปี...นั่นคือ ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกฯ บ่อยมาก-มีไม่ถึง 10 ท่านที่ดำรงตำแหน่งถึง 4 ปี และนายกฯ อาเบะก็เป็นผู้ทำลายสถิติอยู่ถึง 4 สมัย (เพราะมีการประกาศยุบสภาด้วย) และใน 3 สมัยสุดท้ายที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2012, 2014, 2017 นายกฯ อาเบะดำรงตำแหน่งบริหารยาวนานติดต่อกันถึง 7 ปีกับ 266 วัน นับเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ยาวติดต่อกันนานที่สุดของญี่ปุ่น-ชนะอดีตนายกฯ ซาโตะ (ช่วง 1964-1972 ที่ดำรงตำแหน่งนาน 7 ปีกับ 242 วัน)

ในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม นายคิชิดะก็ผ่านการลงคะแนนในสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้าเฝ้าจักรพรรดิในการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในฐานะหัวหน้ารัฐบาลในวันอังคารที่ 5 ตุลาคมนี้เอง

คณะรัฐมนตรีของเขา ประกอบด้วย รัฐมนตรีกว่าครึ่งที่มาจากมุ้งใหญ่ของอดีตนายกฯ อาเบะ และอดีตรัฐมนตรีคลังสมัยนายกฯ อาเบะ คือ นายทาโร่ อาโสะ ซึ่งก็เคยดำรงตำแหน่งนายกฯ มาแล้ว (ช่วง 2008-2009) รวมทั้งเลขาธิการ ครม.ก็มาจากทั้งสองมุ้งใหญ่นี้เอง

หลังได้ตำแหน่งนายกฯ นายคิชิดะได้ประกาศเจตนารมณ์จะยุบสภาในวันประชุมสภาฯ วันสุดท้ายคือ วันปิดสมัยประชุมสภาฯ นั่นเอง ได้แก่วันที่ 14 ตุลาคมนี้ และจะเปิดให้มีการเริ่มหาเสียงได้ในวันที่ 19 ตุลาคม

ที่สำคัญคือ วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเป็นวันสุดท้ายของเดือนตุลาคม คือวันที่ 31 ทั้งๆ ที่ตามตารางการเลือกตั้งทั่วไปนี้ น่าจะทำได้จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนด้วยซ้ำ

จะเห็นได้ว่า นายกฯ คิชิดะกำหนดการหาเสียงและวันลงคะแนนรวดเร็วมาก ซึ่งก็เป็นช่วงนาทีทองที่เขาไม่ต้องการให้พรรคฝ่ายค้านได้มีโอกาสตั้งตัวได้ทัน ทำให้พรรคแอลดีพีของเขามีความพร้อมยิ่งกว่าพรรคอื่นๆ ทีเดียว

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมนายกฯ คิชิดะ จึงมีเวลาอยู่ในตำแหน่งด้วยอำนาจเต็มแค่ 9 วันเท่านั้น (หลังจากนั้นจะรักษาการ)

ก็เพราะเขาเข้ามาเป็นนายกฯ ที่อาจอยู่ในตำแหน่งในเวลาน้อยนิด แต่ก็เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ (ครบวาระที่จะต้องเลือกตั้งหานายกฯ คนใหม่-เนื่องจากหมดวาระ 4 ปีของนายกฯ อาเบะนั่นเอง และเมื่ออาเบะอยู่ไม่ครบ 4 ปี อาเบะไม่ได้ยุบสภา-ในปี 2020 แต่ส่งไม้ต่อให้นายกฯ ซูกะ และต่อมาเป็นคิชิดะ)

ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด และผู้เสียชีวิตของประเทศญี่ปุ่นลดลงฮวบฮาบ (หลังจากระดมฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง-เพราะมัวแต่ชักช้าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้) ซึ่งคิชิดะไม่ต้องการเสี่ยงให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ที่อากาศจะเริ่มหนาวขึ้น และโควิดชอบระบาดในฤดูหนาวนั่นเอง

แม้จะบริหารอำนาจเต็มแค่ 9 วัน แต่นายกฯ คิชิดะ ก็ประกาศนโยบายใหญ่โต ชนิดจะแปลงโฉมเศรษฐกิจญี่ปุ่นทีเดียว เขาใช้คำว่า New Capitalism ซึ่งฟังดูแล้วก็ดูจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ที่จะให้น้ำหนักมายังครัวเรือนในการมีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ซึ่งจะต่างกับนโยบายเศรษฐกิจของอาเบะ ที่มีลูกธนู 3 ดอก (ดอกเบี้ยต่ำ, ภาษีธุรกิจต่ำ, งบประมาณเพิ่ม, เน้นการลงทุนภาคธุรกิจ) ซึ่งเป็นการให้ภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการจ้างงาน

ดูว่า คิชิดะ จะเป็นแบบ Compassionate Conservatism คือ อนุรักษ์ที่มีหัวจิตหัวใจคิดถึงคนจนมากขึ้นมาหน่อยรึเปล่า?

ไม่แน่ใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทาง ปธน.สี ของจีน ประกาศนโยบายร่ำรวยร่วมกัน (Common Prosperity) หรือเปล่า?

นโยบายใหญ่โตนี้ คงทำไม่สำเร็จใน 9 วันแน่ๆ และก็คงต้องบอกแก่ประชาชนญี่ปุ่นว่า ถ้าเขาได้กลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง เขาจะเดินไปสู่การสร้างญี่ปุ่นให้เท่าเทียมกันยิ่งขึ้นนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น