xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (37): Utopia---อุตตรกุรุ---Pharmakon

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รุสโซ
 คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

จากที่ได้เล่าถึงสภาพสังคมอุดมคติของ “อุตตรกุรุทวีป” ซึ่งเป็นตำนานของอินเดียโบราณที่กล่าวถึงสังคมที่ปราศจากซึ่งความเหลื่อมล้ำ เพราะในอุตตรกุรุทวีป ไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ไม่ว่าในทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งครอบครัวก็ไม่มีเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นจริง และเมื่อไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ก็ไม่มีใครมีอะไรมากหรือน้อยกว่าใคร และเมื่อพูดถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยไม่มีครอบครัว ผู้ที่ศึกษาปรัชญาการมืองตะวันตกก็ย่อมจะนึกถึงนักคิดทางการเมืองอย่าง เพลโตและรุสโซ  เป็นอย่างน้อย แต่สำหรับเพลโต เขาได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ the Republic โดยให้ตัวละครในหนังสือกล่าวถึงการอบรมเลี้ยงดูผู้ที่จะเติบโตมาเป็นผู้ปกครองที่เที่ยงธรรมว่า จะต้องเลี้ยงดูเด็กเหล่านั้นรวมกัน ไม่ให้เติบโตขึ้นมาภายใต้การเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ของตน แต่จะเลี้ยงแบบรวมกัน เพื่อเด็กเหล่านั้นจะไม่บ่มเพาะความเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ครอบครัวตัวเอง แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในแง่นี้ การเติบโตมาในโรงเรียนประจำก็น่าจะมีส่วนบ่มเพาะให้เกิดความรู้รักสมัครสมานสามัคคีเอื้อเฟื้อกันและกัน แต่ถ้าเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันและกันจนไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วมที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของการเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน การบ่มเพาะแบบนี้ก็ดูจะขัดกับเป้าหมายของการสร้างผู้นำที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ของครอบครัวตัวเอง

แต่ของรุสโซนั้น การเติบโตมาอย่างไม่มีครอบครัว ไม่ได้เกิดจากการวางแผนสร้างคนเหมือนอย่างของเพลโต แต่การไม่มีครอบครัวนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มที่มีมนุษย์อุบัติขึ้นมาในโลก สภาวะแรกเริ่มในปรัชญาการเมืองของรุสโซนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ  “สภาวะธรรมชาติ”  
เพราะอะไร รุสโซถึงบอกว่า มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติถึงอยู่อย่างไม่มีครอบครัว ? ผมได้อธิบายไปในตอนที่แล้ว และหลังจากที่อธิบายไป ปรากฏว่า มีผู้อ่านที่ใช้นามว่า Theeraporn Piemviriya สงสัยว่า ที่ผมเอาเรื่องรุสโซมาเขียนนั้น ผมต้องการสื่อสารอะไร ? (ผู้อ่านใช้คำว่า อย่างไร ? แต่ผมเดาว่าน่าจะหมายถึงว่า มาเล่าเรื่องธรรมชาติมนุษย์ที่อยู่กันโดยไม่มีครอบครัวไปเพื่ออะไร) ผมก็ตอบไปว่า ต้องการเล่าถึงคำอธิบายการกำเนิดครอบครัวของนักปรัชญาการเมือง ที่เห็นต่างๆ กัน
และขอเพิ่มเติมในที่นี้ว่า ในขณะที่ อุตตรุกุรุเป็นสังคมในอุดมคติที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นสังคมที่ไม่มีครอบครัว สภาวะธรรมชาติของรุสโซไม่ใช่สังคมอุดมคติ แต่เป็นภาวะแรกเริ่มสุดของมนุษย์ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การมีสังคม ซึ่งในแง่นี้ สภาวะธรรมชาติของรุสโซจึงต่างจากอุดตรกุรุทวีป
แต่ที่เหมือนกันก็คือ การไม่มีครอบครัว และการไม่มีครอบครัวทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ !
แม้มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติของรุสโซจะไม่มีครอบครัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีเพศสัมพันธ์กัน เฉกเช่นเดียวกันกับคนในอุตตรกุรุที่ยังมีเพศสัมพันธ์กัน แต่อยู่ด้วยกันเพียงเจ็ดวัน ก็แยกย้ายกันไปอยู่อย่างอิสระ มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติของรุสโซก็เช่นกัน มีอะไรกันแล้วก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตเสรีเหมือนก่อนที่จะมีอะไรกัน

 การที่มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติของรุสโซต้องมีอะไรกันนั้น ก็เพราะความต้องการทางเพศเป็นความต้องการเพียงหนึ่งเดียวที่มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ด้วยตัวเอง ส่วนความต้องการอย่างอื่นนั้น มนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้อย่างพอเพียงและมีความสุขแล้ว จึงทำให้มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับมนุษย์คนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาอาศัยหรือแก่งแย่งเบียดเบียนกันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ สาเหตุที่มนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้อย่างพอเพียง ก็เพราะในสภาวะธรรมชาติแรกเริ่ม ความต้องการของมนุษย์มีเพียงน้อยนิด อันเป็นความต้องการทางชีวภาพ ไม่ใช่ความต้องการทางอารมณ์จิตใจที่ยากที่จะเติมเต็มได้ และด้วยเหตุที่ความต้องการทางเพศของมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติเป็นความต้องการทางชีวภาพและเป็นไปตามฤดูกาล ทำให้เติมเต็มได้ง่าย และไม่ยึดมั่นผูกพันมากมายอะไร มนุษย์ชายและหญิงเมื่อตอบสนองความต้องการทางเพศกันและกันแล้วก็จบกันไป ความต้องการทางเพศทำให้มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ก็เป็นปฏิสัมพันธ์ในช่วงสั้นๆ แล้วก็ไม่สัมพันธ์กันต่อไป 

อริสโตเติล “มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม”
และจากที่เล่ามานี้ ผู้ฟังที่ใช้ชื่อว่า  Apple Pojamarn  ตั้งข้อสังเกตต่อความคิดดังกล่าวของรุสโซว่า  “ไม่แน่ใจว่ารุสโซกำลังพูดถึงพฤติกรรมของมนุษย์หรือสัตว์กันแน่ค่ะ แต่ที่แน่ๆชักจะรู้สึกไม่ค่อยชอบความคิดของรุสโซค่ะ”  
จริงเลยครับ ! ในความคิดของรุสโซ มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ ดังที่เขาเรียกมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติของเขาว่า “คนป่าหรือคนเถื่อน” หรือ savage แต่ไม่ใช่คนป่าเฉยๆนะครับ คำเต็มของเขาคือ “noble savage” หรือมีผู้แปลเป็นไทยว่า “คนป่าผู้ทรงเกียรติ” 

ทำไม “ทรงเกียรติ” ?
เพราะมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติของรุสโซที่คุณ Apple Pojamarn ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่ชิงดีชิงเด่นกับใคร เพราะพอเพียงในความต้องการของตัวเอง แต่เมื่อเทียบกับมนุษย์ในสภาวะที่อยู่กันเป็นสังคมแล้วแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์อีกต่อไปและมีอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง มนุษย์ที่อยู่กันเป็นสังคมกลับเต็มไปด้วยความกระหายอยาก เปรียบเทียบกัน ริษยาแก่งแย่งกัน หวงแหนเป็นอ้างความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ มนุษย์ในสังคมอารยะจึงไม่ใช่  “คนป่า”  แต่ก็ไม่มีเกียรติเหมือนคนป่าผู้ทรงเกียรติหรือมนุษย์ในสภาวะแรกเริ่ม

ผู้อ่านที่แสดงความเห็นมา มักจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่รุสโซบอกว่า ในสภาวะแรกเริ่ม มนุษย์ไม่อยู่กันเป็นครอบครัว และจริงๆ แล้ว ไม่ปฏิสัมพันธ์กันเลยด้วยซ้ำ อย่างคุณ Theeraporn Piemviriy ที่มีจ้อสงสัยข้างต้น ก็ให้ความเห็นมาอีกว่า

 “ความจริงสัตว์ ก็มีฝูง มีลำดับชั้น มีการปกครองในฝูง เหมือนคน มีครอบครัวนะครับ” 

คือ คุณ Theeraporn Piemviriya ต้องการบอกว่า ถ้าจะเปรียบมนุษย์เหมือนสัตว์อย่างที่คุณ Apple Pojamarn แต่สัตว์ก็อยู่กันเป็นฝูง มีจ่าฝูงเหมือนคน และมีครอบครัวเหมือนคน ดังนั้น ธรรมชาติของมนุษย์จึงไม่น่าจะเป็นอย่างที่รุสโซเข้าใจ

 ผมคิดว่า รุสโซน่าจะตอบคุณ Theeraporn Piemviriya ว่า จริงอยู่ที่สัตว์ก็มีฝูง แต่เป็นเฉพาะสัตว์บางชนิดเท่านั้น เพราะถ้าพิจารณาให้ดี จะพบว่า การดำเนินชีวิตของสัตว์นั้น แบ่งออกได้เป็นสามประเภทใหญ่ นั่นคือ หนึ่ง สัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง เช่น ผึ้ง ปลวก มด ฯลฯ สอง ที่อยู่กันเป็นคู่ เช่น นกเงือก (เป็นสัตว์ที่อยู่กันเป็นคู่ ที่ผู้คนนึกถึงได้ก่อนสัตว์อื่นๆ) ละมั่งแอฟริกา หงส์ หนูแคลิฟอร์เนีย ปลาเทวดาฝรั่งเศส นกอัลบาทรอส บีเวอร์ ฯ สาม อยู่เดี่ยวๆ เช่น ปลากัด เสือดาวหิมะ หมีขั้วโลก ตุ่นปากเป็ด นกอีก๋อยโดดเดี่ยว ( Tringa solitaria ) (ถ้าตั้งชื่อแบบนี้ ก็น่าจะหมายความว่า มีนกอีก๋อยที่ไม่โดดเดี่ยวด้วย !) กวางมูส ตุ่น ปลาสิงโต แพนด้าแดง (ขอขอบคุณ https://board.postjung.com/1235542) 

 ดังนั้น สัตว์ในโลกจึงไม่ได้อยู่กันเป็นฝูงหรืออยู่กันเป็นครอบครัวเสมอไป แล้วแต่ชนิดของสัตว์ ซึ่งในความเห็นของรุสโซ มนุษย์โดยธรรมชาติไม่ใช่สัตว์รวมฝูงหรือสัตว์ที่อยู่กันเป็นครอบครัว แต่น่าจะเป็นสัตว์ที่อยู่โดดเดี่ยวลำพังมากกว่า ในขณะที่นักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณอย่างอริสโตเติลเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทอยู่รวมกันเป็นฝูง ดังวรรคทองที่เป็นที่รู้จักกันดีของเขา นั่นคือ “มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม” (จริงๆแล้ว อริสโตเติลใช้ว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์การเมือง)  
คงเดากันได้ว่า รุสโซกับอริสโตเติลถือเป็นคู่กัดกันในทางปรัชญาการเมือง คนหนึ่งบอกว่า ครอบครัวไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์ แต่อีกคนบอกว่า ใช่ !

แต่ถ้าเป็นมนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์ที่อยู่ลำพังโดดเดี่ยวอย่างที่รุสโซเชื่อ คำวิจารณ์ของผู้อ่านบางท่านที่ว่า “ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่ง อุตตรกุรุ เพลโต้ หรือ รุสโซ ต่างก็เป็นผู้ชายใช่ไหมคะ ย่อมไม่เข้าใจ bond ระหว่างแม่กับลูกอย่างแท้จริง ทำไมหมาแม่ลูกอ่อนถึงดุร้ายนัก ทำไมเด็กที่ถูกอุปถัมภ์ในครอบครัวที่ดีจึงพยายามเสาะหาแม่ที่แท้จริง ทั้งที่เธอทิ้งพวกเค้าไปอย่างไม่ใยดี หรือ ทำไมแม่จึงต้องขโมยอาหารไปให้ลูกตาดำๆ ที่กำลังอดที่บ้าน อะไรเหล่านี้ ผู้ชายย่อมไม่เข้าใจ ยอมรับว่ามีแม่บางคนที่เห็นแก่ตัวเองมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับไม่ใช่เหรอว่า มนุษย์ มีความแตกต่าง คนที่ถูกเลี้ยงดูมาไม่ดี จิตใจก็จะหยาบ ไม่ละเมียดละไมกับความรู้สึกเหล่านี้” จึงไม่ใช่ประเด็น !
เพราะสัตว์ที่ธรรมชาติกำหนดมาให้อยู่ลำพัง แม้ว่าแม่จะเลี้ยงลูกมันไปสักพัก (ในกรณีที่ต้องเลี้ยงให้แข็งแรงก่อน) แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง มันก็จะแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตอิสระตามธรมชาติ และจะเห็นได้ว่า แม้ว่าหมาแม่ลูกอ่อนจะดุร้ายหวงลูก แต่เมื่อลูกมันโต มันก็กลับดุร้ายแย่งอาหารลูกมันเอง

และในกรณีของคน ที่แม่ขโมยอาหารไปให้ลูกตาดำๆ ที่กำลังอดที่บ้าน รุสโซคงกล่าวว่า ไม่เพียงแต่แม่เท่านั้น แต่ก็มีพ่อที่ขโมยหรือปล้นเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงลูกด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือพ่อที่อาทรต่อลูก มันไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติที่มีเพียงความต้องการทางชีวภาพเท่านั้น แต่ความผูกพันอาทรเป็นเจ้าของเจ้าของลูกเต้านั้น เกิดจากความต้องการทางอารมณ์จิตใจที่พัฒนาขึ้นทีหลังจากที่มนุษย์มาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวแล้ว
อ้าว ! ไหนรุสโซบอกว่า ในสภาวะธรรมชาติ หรือโดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง แล้วไฉนตอนนี้ ถึงจะมาบอกว่ามนุษย์มีพัฒนาการอยู่กันเป็นครอบครัว !?

หลายคนคงชักจะงงๆ กับรุสโซ เหมือนอย่างที่คุณ  Kaew Sitt  โพสต์ความเห็นมาเมื่อวันอังคารที่ 28 กันยาฯ ว่า  “งงๆ กับแนวคิดของรุสโซค่ะ เข้าไม่ถึงนักปรัชญาว่า จะหาเหตุผลอธิบายเรื่องมีครอบครัวให้ยุ่งยากทำไม...ในเมื่อการมีครอบครัวหรือการอยู่รวมกันเป็นสังคมมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์..” 

เข้าใจว่า การที่คุณ Kaew Sitt กล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะเธอเชื่อว่า โดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตต้องสืบสานเผ่าพันธุ์ มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต ก็ย่อมต้องสืบสานเผ่าพันธุ์ และเมื่อมาสืบพันธุ์กัน ก็ต้องอยู่กันเป็นครอบครัว

รุสโซไม่ปฏิเสธว่า โดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องสืบสานเผ่าพันธุ์ ดังที่เรารู้ๆกันว่า คุณสมบัติพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตคือ การสืบพันธุ์ เพราะก้อนหินสืบพันธุ์ไม่ได้ แต่รุสโซก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การสืบพันธุ์ของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การอยู่กันเป็นครอบครัวนั้น....ไม่ใช่ !

 ตอนหน้า จะให้รุสโซเล่าต่อว่า หลังจากหญิง-ชายมีอะไรกันในสภาวะธรรมชาติแล้ว เมื่อหญิงตั้งครรภ์ เธอจะใช้ชีวิตตามลำพังอย่างไร ? แล้วครอบครัวเกิดขึ้นได้อย่างไร ? 



กำลังโหลดความคิดเห็น