xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ตู่” ไปต่อ ไม่รอแล้วนะ ตุน “กระแส” ลุ้นเก้าอี้ “นายกฯ” อีกสมัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปากบอก “รักกันจนตาย” แต่ภาษากายดูจะไม่ใช่

เมื่อ “2 ลุง” เปิดวิกประชันกัน ขยี้ปมดรามาความสัมพันธ์ “พี่น้อง 3 ป.” ให้เป็นขี้ปากชาวบ้านเข้าไปอีก
ทางหนึ่ง “น้องเล็ก” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควง “ชายกลาง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อ จ.เพชรบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ แผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเพชรบุรี และเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวตามแคมเปญ “ชะอำยิ้ม”

อีกทางหนึ่ง “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ก็ไปลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาบางบาล
วัน ว. เวลา น.ตรงกันเป๊ะ คิวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน
ทั้งที่เป็น “นายกฯ ตู่” ที่วางคิวไว้แล้ว หลังสัปดาห์ก่อนไปที่ จ.สมุทรปราการ-ชลบุรี วางคิวต่อเนื่องเน้นฐานเสียงพรรคพลังประชารัฐ เดิมตั้งใจไปเยือน จ.สุโขทัย ถิ่น สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ขัดข้องทางเทคนิค ต้องบ่ายหน้าโยกโลเคชันมาที่ “เมืองเพชร” ที่มี ส.ส.พลังประชารัฐ ทั้ง 3 เขต

จู่ๆ “รองฯ ป้อม” ที่ปกติถนัดนั่งจุ้มปุ๊กสั่งการที่ “วอร์รูม” มูลนิธิป่ารอยต่อฯ นึกครึ้มอยากลงพื้นที่กับเขาบ้าง จิ้มไปที่ “เมืองเก่า” แถมเลือกวัน-เวลาเดียวกันกับนายกฯ เสียด้วย

“ไม่มีปัญหา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐทุกคนต่างรู้ดีว่า ผมกับนายกไม่มีปัญหากัน จะมีแต่นักข่าวเท่านั้นที่คอยเสนอข่าวทะเลาะกัน ผมกอดคอกับนายกฯ สนิทสนมกันมา 50 กว่าปี นายกฯมาหาทุกวันที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใครจะไปทะเลาะกัน ข่าวที่ออกมาบ้าบอทั้งสิ้น จำไว้ให้ตายจากกัน เรา 3 ป. ถึงจะเลิกรักกัน บ้าบอมากกับข่าวทะเลาะกัน” คือคำให้สัมภาษณ์ของ “พี่ป้อม” ก่อนลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันก่อน

ส่วนสาเหตุที่ต้องแยกลงพื้นที่กับนายกฯ นั้นก็บอกว่า “เราเดินไม่ทันนายกฯ จึงไม่ลงพื้นที่ด้วย ก็แค่นั้น พูดกันไปเรื่อยว่าเราทะเลาะกัน ผมไปของผม จะได้พื้นที่มากกว่า”
พยายามพูดสยบข่าวยังไม่ทันขาดคำ ภาพการลงพื้นที่ของ 2 ลุงก็ออกมาสู่สายตาสาธารณชน ที่ชัดเจนว่างานนี้ “ตรวจแถว-วัดพลัง” กันแน่นอน

แม้ออกตัวว่าไม่ขัดแย้งกัน ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นการแยกกันลงพื้นที่ให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่ภาพที่ออกมาย่อมถูกมองเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในอารมณ์ “อมพระมาพูด” ก็ยังเชื่อยาก ซ่อนอาการ “ระหองระแหง” ไม่มิด
เมื่อบรรยากาศที่ จ.เพชรบุรี ของ “ลุงตู่” ดูจะกร่อยไปถนัดตา หากเทียบกับความครึกครื้นที่ จ.อยุธยา หมายของ “ลุงป้อม” ที่มีรัฐมนตรี และ ส.ส.พลังประชารัฐกว่าครึ่งร้อยชีวิต ไปร่วมต้อนรับกันพรึ่บ

วันนั้น “หัวหน้าป้อม” เดินทางมาพร้อมกับ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ โดยมี “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), “เฮียสันติ” สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ที่ระยะหลังถูกมองว่าเป็น “ทีมนายกฯ”, “ปลัดแบงค์” อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ “ป๋ายักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ร่วมขบวน

ขาดไม่ได้ “ลูกเลิฟ” ที่ถูกมองเป็นชนวนความขัดแย้งของ 2 ลุง อย่าง “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่วันนี้ยังเหลือหมวก ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค รวมทั้ง “เจ๊แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาแกนนำหลายคนสวม “แจ็กเก็ตตราไก่” ปีเกิด "นายป้อม" คล้ายส่งสัญญาณประกาศว่าเป็น “ทีมลุงป้อม”

ขณะที่ ส.ส.ก็มา “เช็คชื่อ” ทั้ง กทม.-กลาง-เหนือ-อีสาน อาทิ กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี, นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์, สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา, ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร, บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก, ภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก, โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี, สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม., กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม., กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม., ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม., ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม., ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม., ยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 2 ส.ส.ในพื้นที่จากพรรคภูมิใจไทย เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร-สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ให้การต้อนรับด้วย

ขาดเพียง ส.ส.ใต้ ที่อาจมองว่า หากเดินทางจากภาคใต้แล้วไม่แวะต้อนรับคณะนายกฯ ที่ จ.เพชรบุรี ก็คงดูไม่งามเท่าไร

ตัดภาพไปที่ “เมืองเพชร” คณะของ “ลุงตู่-ลุงป๊อก” ก็มี “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ “โกเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากพรรคภูมิใจไทย ที่ไปดูในส่วนของมาตรการท่องเที่ยว

ส่วน ส.ส.ก็มาเฉพาะโซนจังหวัด เพชรบุรี-ราชบุรี-กาญจนบุรี ไปร่วมปฏิบัติภารกิจ แถมมากันไม่ครบอีกต่างหาก

ขนาด “เจ๊เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ผู้ที่ยามทำหน้าที่ในสภาฯ สวมบทองครักษ์พิทักษ์ลุงตู่อย่างสุดลิ่ม และมีชื่อว่าต้องไปต้อนรับนายกฯ ที่ จ.เพชรบุรี เพราะอยู่โซนจังหวัดใกล้เคียง กลับแหกโผโผล่ไปเช็ดถูบันไดต้อนรับ “ลุงป้อม” ที่เมืองกรุงเก่า

ยังดีได้ 2 ส.ส.ประชาธิปัตย์ “เสี่ยมุ่ง” อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และ “สาวตั๊น” จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไปปฏิบัติภารกิจใกล้กัน แวะมาร่วมขบวน นับแล้วนับอีกสรุปมี ส.ส.แค่ 9 หน่อมาร่วมต้อนรับนายกฯ

แถมสีหน้าสีตา ส.ส.พลังประชารัฐ ดูจะไม่ค่อยแช่มชื่น เหมือนมาแต่ตัว ใจลอยไปอยู่ที่อยุธยา

ว่ากันว่า ก่อนถึงวันดีเดย์ 2 ลุงลงพื้นที่ มีการโทรศัพท์เช็กชื่อ ส.ส.รายคนว่า จะเลือกไปงานไหน ทำเอา ส.ส.น้อยใหญ่ว้าวุ่นใจ ไม่รู้จะยืนข้างฝ่ายใด คนหนึ่งก็นายกฯ อีกคนก็หัวหน้าพรรค ไม่มีชอยส์ให้กาถูกทุกข้อ-รักทั้ง 2 คน

ถึงขั้น ส.ส.เพชรบุรี 2 ใน 3 คนเตรียมใบรับรองแพทย์ ทำทีไม่ออกมาต้อนรับนายกฯ เลยทีเดียว ก่อนมีบัญชาจาก “ป่ารอยต่อฯ” ให้แบ่ง ส.ส. 3 จังหวัดไปต้อนรับนายกฯ อย่างพร้อมเพรียง

เท่ากับว่ายกแรกของการวัดพลัง “น้องตู่” เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ และเป็น “พี่ป้อม” ที่ดูเหนือกว่าอย่างชัดเจน

สะท้อนได้ว่า “ใคร” ตัวจริงเสียงจริงของรัฐบาล

อีกด้านยังเป็นการสะท้อนผลพวงสะสมของการไม่ดูดำดูดีมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับ ส.ส. แถมเบ่งกล้ามข่มใส่ “นักเลือกตั้ง” มาตลอดระยะที่อยู่ในอำนาจของ “ประยุทธ์”

หลังจบศึกวัดพลังยกแรก แล้ว “ทีมนายกฯ” คงต้องสรุปบทเรียนกันยกใหญ่ จะปล่อยผ่านแบบไม่คิดอะไรมาก คงเป็นไปไม่ได้

มิพักต้องพูดถึงคำที่ “หลวงพ่อป้อม” โพล่งออกมาว่า จะมีการเลือกตั้งปีหน้า ก่อนแก้เกี้ยวลิ้นพันกันว่าหมายถึง “ปีหน้า ปีโน่น” เผอิญตรงกับที่ “ผู้กองธรรมนัส” ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ สั่งการให้ ส.ส.ลงพื้นที่เพื่อเตรียมตัวเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งหมายถึงปี 2565

สวนทางกับคำพูด “นายกฯ ตู่” ที่พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “อีกปีกว่าๆ จะเลือกตั้งพร้อมกันไหม” ปีกว่าๆ ที่ว่าก็คือ ครบเทอมต้นปี 2566

แต่ไม่ว่าอย่างไรการที่คณะ 2 ลุงลงพื้นที่ และมีการประกาศว่าจะลงพื้นที่ต่อเนื่องหลังจากนี้ก็เหมือนโหมโรงมุ่งสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าไปในตัว

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พร้อม “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ แผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเพชรบุรี และเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวตามแคมเปญ “ชะอำยิ้ม”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ส.ส.พลังประชารัฐเดินทางไปร่วมอย่างเนืองแน่น
โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” ที่ต้องยอมรับว่าระยะหลังกระแสนิยมตกฮวบฮาบ หลังเผชิญวิกฤตประดังเข้ามารอบด้าน บวกกับปัญหาทางการเมืองที่มาผสมโรงด้วย
การปรับตัวลงพื้นที่เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส.-นักเลือกตั้ง ให้มากขึ้นก็เป็นหนทางในการปิด “จุดอ่อน” ในเรื่องไม่มีฐาน ส.ส.ในมือ เพราะที่ผ่านมาต้องยืมจมูก “พี่ป้อม” ผ่าน “ผู้กองนัส” จนเกือบทำให้เจ๊งคาเก้าอี้ น็อกคาสภาฯ มาแล้วเมื่อศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ต้องเริ่มคิดใหม่ ปรับตัวใหม่

ขณะเดียวกัน “ลุงป้อม” ที่ต้องยอมรับว่า อยู่ในช่วงโรยราตามวัย หากไม่มีฐานพรรคพลังประชารัฐอยู่ ก็อาจจะ “ขาลอย” ถูกตัดขาดออกจากวงวารอำนาจได้ทุกเมื่อ

จึงต้องมีการเดินหมาก “วางสนุก” ขวาง “บิ๊กตู่” เข้ามาฮุบพรรคพลังประชารัฐ ทั้งการดึง “ทีมกบฏ” ไว้ข้างตัว ทั้งที่รู้ว่า “น้องเล็ก” อาฆาตแค้นอยากให้ตะเพิดออกไปให้พ้นวงจร เสริมทัพด้วย “บิ๊กน้อย-พล.อ.วิชญ์” มาเป็นประธานคณะกรรมการบุทธศาสตร์พรรค ซึ่ง “บิ๊กตู่” ย่อมรู้ดีถึงชื่อชั้นความไว้วางใจของ “พี่ป้อม” ต่อ “พี่น้อย” ที่อดีตเคยเป็นคู่เทียบเบียดชิงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กันมา

แถมยังปรับทัพส่งคนของตัวเองยึดเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์พรรค กันท่าก๊วนสามมิตรฝั่ง “ลุงตู่” ฮุบเก้าอี้สำคัญ

ทั้ง “ทีมหอกข้างแคร่” ทั้ง “อดีตคู่แข่ง” ลอยหน้าลอยตาอยู่ในพรรค ก็เหมือนแปะป้าย “ประยุทธ์ห้ามเข้า” ไปโดยปริยาย

เมื่อเข้ามายึดพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ ก็มีกระแสข่าวว่า “น้องตู่-พี่ป๊อก” อาจปรับแผนไปตั้งพรรคใหม่เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ทำให้ “ค่ายพลังประชารัฐ” ต้องขยับตีกันพื้นที่ฐานเสียงเช่นกัน เป็นที่มาของ “ศึกวัดพลัง” นั่นเอง

ทว่า เกมนี้ต้องดูกันยาวๆ แม้ว่านาทีนี้ “ทีมลุงป้อม” อาจดูขี่อยู่พอสมควร ด้วยเครือข่ายที่กว้างขวางกว่า และความสัมพันธ์กับ ส.ส.ที่แนบแน่นกว่า แต่หากถึงเวลาจริงต้องเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โจทย์สำคัญของ “ทีมพี่ใหญ่” คือ ตัวแคนดิเดตนายกฯ ที่วันนี้ยังไม่เห็นใครที่จะขึ้นมาเป็นคู่เทียบ “น้องตู่” ได้

ถอดรหัสจากคำให้สัมภาษณ์ของคีย์แมนอย่าง “ธรรมนัส” ที่ถูกถามถึงการสนับสนุน “บิ๊กตู่” ในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งก็ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โยนไปเพียงว่าอยู่ที่ “หัวหน้าป้อม”

เพราะถ้า “พี่ป้อม” จะแตกหักกับ “น้องตู่” ก็จำต้องมีตัวเลือกคนที่จะมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งสามารถช่วยเรียกคะแนนได้และจะต้องประกาศให้เห็นอย่างเป็นทางการก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เพราะแม้โครงสร้างการเมืองไทยยังเป็นแบบเดิมๆ ระบบ “บ้านใหญ่” ในแต่ละจังหวัดยังมีศักยภาพ แต่ก็ไม่อาจมองข้ามชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เหมือนเช่นการเลือกตั้งครั้งที่ผานมาซึ่งต้องยอมรับว่า ชื่อของ “ลุงตู่” มีส่วนสำคัญต่อชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ

กลายมาเป็นข้อได้เปรียบของ “ประยุทธ์” ที่มั่นใจว่า ตัวเองยังไปต่อได้ เพราะนาทียังไม่มีใครเป็นตัวแทนฝ่ายอำนาจ 3 ป.ที่ดีกว่าตัวเอง ขาดไปก็เพียงฐาน ส.ส.ที่ต้องปั้นขึ้นมาไว้เอง แทนระบบผ่าน “นายหน้า” ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มั่นคง-ยั่งยืน

หลังจากนี้ก็เชื่อว่า “ประยุทธ์” จะเดินหน้าตุน “กระแส” สร้างฐาน ส.ส.ของตัวเองแบบถี่ยิบ

แม้ว่า ผล “นิด้าโพล” ที่ถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการตั้งพรรคของตนเองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้าจะดูไม่เป็นบวกเท่าที่ควร โดย ส่วนใหญ่ 58.24% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย

ตามเหตุผลที่ว่า “ประยุทธ์” บริหารงานล้มเหลว ขาดภาวะผู้นำ ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ถึงเวลาที่ท่านควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว

แต่หากดูในอันดับ 2-3 ที่รวมแล้วกว่า 30% ที่เห็นด้วยและค่อนข้างเห็นด้วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมือง

ให้เหตุผลว่า “ประยุทธ์” มีความสามารถในการบริหารและ มีความเด็ดขาด กล้าที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดี และคาดว่าสามารถดูแลสมาชิกพรรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจน ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งภายในประเทศชาติ หากจัดตั้งพรรคของตนเองจะได้มีอำนาจมาดูแลบริหารงานอย่างที่สามารถเลือกสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อเปลี่ยนมุมมองดูโพลฉบับนี้ ก็ย่อมเป็นกำลังใจให้ “บิ๊กตู่”มั่นใจว่ายังไปต่อได้

ไม่เท่านั้นตลอดช่วงปีกว่าจากนี้ยังมี “ตัวช่วย” ที่เชื่อว่า คะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” จะกระเตื้องขึ้นได้ ตั้งแต่แนวโน้มการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ที่คาดว่าจะคลี่คลายได้ หลังจากที่วาระการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำเร็จในช่วงปลายปี คาบเกี่ยวถึงต้นปี 2565

นำไปซึ่งการเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านเครื่องยนต์สำคัญ ทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งการันตีได้ว่าเศรษฐกิจประเทศจะเป็น “ขาขึ้น” อย่างแน่นอน เพราะคงลงมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ตามมาด้วยช่วง ธ.ค.64-พ.ย.65 ที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) 2022 มีวาระการประชุมไม่ต่ำกว่า 15 กรอบ แน่นอนว่าการเปลี่ยนรัฐบาลกลางคัน อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ เท่ากับ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ตีตั๋วลาดยาวไปจนถึงอย่างน้อยปลายปี 2565

อีกทั้งวงประชุมเอเปก ไม่เพียงสร้างความร่วมมือทางด้านต่างๆ แล้วยังเป็นโอกาสดีในการกู้เครดิตของ “ประยุทธ์” ในด้านคยวามเชื่อมั่นและการยอมรับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ

และล่าสุดการขยายเพดานเงินกู้เพิ่ม เป็น 70% ทำให้รัฐบาลสามารถกู้เพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้าน ที่เหมือน “ตุนกระสุน” ไว้ล่วงหน้า ตั้งแท่นไว้ขนาดนี้ คงไม่อยากให้ใครมา “ชุบมือเปิบ”

หรือสำคัญที่สุดในยามเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ชัดเจนว่าหลายกลุ่มไม่ประสงค์ดีต่อ “สถาบันเบื้องสูง” ก็ยิ่งทำให้ “บิ๊กตู่” นายทหารบูรพาพยัคฆ์ ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในภารกิจสำคัญนี้

กระทั่งหาก “เกมสั้น” เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ตั้งยุบสภา ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายใน ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ก็ยังถือว่า “ประยุทธ์” ภาษีดีกว่าตัวเลือกที่มี หรือที่ยังไม่ปรากฏตัวอยู่ดี

ทั้งหลายทั้งปวง เป็นเหตุให้ “บิ๊กตู่” มี Passsion ตีธงลงพื้นที่ แบบ “ไปต่อ ไม่รอใครแล้วนะ” เวลาที่เหลือก็ทำทุกวิถีทางในการตุนทั้ง “กระแส-กระสุน” ให้มากที่สุด เพื่อรอลงสนามเลือกตั้ง

แม้เส้นทางอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ถือว่าทางสะดวกในการลุ้นคั่วเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย.





กำลังโหลดความคิดเห็น