xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มวลชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล


 ตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่นั้น คำที่มีความหมายเกี่ยวกับประชาชนที่คนรุ่นผมมักจะได้ยินและใช้อย่างคุ้นเคยคือคำว่า ราษฎร คำคำนี้คงใช้กันมานานแล้ว แต่จะกี่ปีผมไม่อาจทราบได้ แต่ที่พอจะเดาได้ก็คือ คำคำนี้พอจะกล้อมแกล้มว่าเป็นชื่อ “พรรคการเมือง” พรรคแรกของเมืองไทย 

 คือหมายถึงชื่อของคณะบุคคลที่ก่อการปฏิวัติ 2475 ที่เรียกกันว่า คณะราษฎร 

ตั้งแต่เข้าเรียนชั้นประถมจนถึงมัธยมคนรุ่นผมก็เริ่มสัมผัสกับคำว่า  ประชาชน เพิ่มเข้ามาอีกคำหนึ่ง แต่คำคำนี้มักใช้สื่อความหมายไปในทางสังคมมากกว่าทางการเมือง ไม่เหมือนกับคำว่า ราษฎร ที่ดูจะมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่า อย่างเช่นคำว่า  ผู้แทนราษฎร  นั้นเป็นคำที่เด็กรุ่นผมมักจะได้ยินอยู่เสมอ

แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปแล้ว คำว่า  ผู้แทนราษฎร แม้จะยังคงถูกใช้อยู่ดังเคยก็ตาม แต่ก็เริ่มมีคำที่มีความหมายคล้ายกันเกิดขึ้นคือคำว่า  มวลชน 

ผมไม่แน่ใจว่า ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ๆ และช่วงระหว่างปี 2500 ถึง 2501 ที่บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างเปิดนั้น คำว่า มวลชน ได้ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองแล้วหรือยัง แต่เท่าที่ตรวจดูจากหนังสือเก่าๆ ในยุคนั้น (เท่าที่ผมมีอยู่ในมือ) ไม่พบว่าการใช้คำนี้แต่อย่างไร

จะมีก็แต่คำว่า ประชาชน และคำว่า  มหาชน  ที่มีที่ทางในการใช้เพิ่มขึ้นมา นอกจากคำว่า ราษฎร ที่ใช้กันมาแต่เดิม ซึ่งบางทีอาจมีการใช้ก็ได้ แต่ผมอาจหาไม่เจอก็ได้

แต่ที่แน่ๆ คือ มวลชน นั้นเป็นคำที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผ่านไป และผมควรกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้า 14 ตุลาฯ ไม่กี่ปี คำว่า มวลชน ก็มีการใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่ใช้ในวงแคบๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ที่สำคัญ เป็นการใช้ในบริบททางการเมือง ที่ต่อมาการใช้ในบริบทนี้ก็ให้ปรากฏว่า ผู้ใช้มักจะเป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งหลัง 14 ตุลาฯ ถือเป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลกว้างขวางอยู่ในมหาวิทยาลัย ช่วงนี้เองที่หากลองค้นลงไปให้ลึกอีกเล็กน้อยก็จะพบว่า คำว่า มวลชน เป็นคำที่ปรากฏการใช้อยู่ในหลายที่หลายแห่งในหนังสือที่ฝ่ายซ้ายอ่านหรือ “ศึกษา” กัน

 และหนึ่งในหนังสือยอดฮิตที่ฝ่ายซ้ายถืออ่านก็คือ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง 

 สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เป็นผลงานคัดสรรบทนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตง อดีตผู้นำจีนคนแรกภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ จัดเป็นหนังสือชุดที่มีอยู่ด้วยกันห้าเล่ม และเมื่อแปลเป็นไทยแล้วจะถูกแบ่งเป็นเล่มละสองตอน คือหนึ่งเล่มแบ่งเป็นสองตอนเป็น “ตอนต้น” กับ “ตอนปลาย” ด้วยเหตุนี้ ในภาคภาษาไทยของหนังสือชุดนี้จึงมีอยู่สิบเล่ม 

ก่อนที่จะกล่าวอะไรต่อไปเกี่ยวกับคำว่า มวลชน ผมขอคั่นด้วยชื่อของเหมาเจ๋อตงก่อนว่า ทุกวันนี้มีการเขียนชื่อในพยางค์ที่สามของผู้นำท่านนี้อยู่สองแบบ แบบหนึ่งคือ ตุง  อีกแบบคือ  ตง  ในที่นี้จะเห็นได้ว่า ถ้าผมระบุชื่อหนังสือแล้วผมต้องระบุตามจริงเป็น  ตุง  แต่ถ้าผมเขียนโดยส่วนตัวของผมแล้วจะเป็น  ตง 

ที่ต่างกันสองแบบเช่นนี้ไม่ใช่ว่าใครถูกใครผิด แต่เป็นปัญหาการทับศัพท์ภาษาจีนที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในบ้านเรา ปัญหานี้มีประเด็นที่มีรายละเอียดให้ถกเถียงกันมากมาย จนทุกวันนี้ยังพบการทับศัพท์ภาษาจีนที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลแต่ละสำนัก

ผมซึ่งหากินกับเรื่องจีนมานานก็ประสบปัญหานี้อยู่ ถึงแม้ทางราชบัณฑิตจะมีเกณฑ์การทับศัพท์ออกมาให้ใช้แล้ว ผมก็ไม่ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ว่าไปเสียทั้งหมด ซึ่งถ้าจะถามถึงสาเหตุแล้วก็คงต้องเขียนเป็นบทความอีกชิ้นหนึ่งต่างหากออกไป

กลับมาที่  สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง อีกครั้งหนึ่ง อันที่จริงหนังสือชุดนี้ใช้คำว่า มวลชน อยู่หลายที่หลายแห่งจนดูเป็นปกติ แต่บทที่ใช้คำนี้แบบตรงๆ คือบทที่ว่าด้วย  “การปราบปรามพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติต้องดำเนินตามแนวทางมวลชน”  บทเหมานิพนธ์นี้มีขึ้นหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้แล้วราวสองปี

ชื่อบทความนี้ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า การจะปราบปรามพวกที่ต่อต้านการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น จะต้องเป็นไปตาม  “แนวทางมวลชน” ที่อยู่ข้างเดียวกับพรรค และวิธีการปราบปรามจะเริ่มจากจัดให้มีการประชุมมวลชนขึ้นมา

จากนั้นก็ให้ (มวลชน) ผู้ที่เป็นเจ้าทุกข์ร้องทุกข์ต่อที่ประชุมว่า ก่อนการยึดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ตนถูกเจ้าที่ดิน ข้าราชการ หรือนายทุนท้องถิ่นกดขี่ขูดรีดหรือข่มเหงอย่างไรบ้าง ระหว่างที่คำร้องทุกข์พรั่งพรูออกมานั้นจะมีผู้ปฏิบัติงานพรรคจดบันทึกคำร้องทุกข์เอาไว้ เมื่อการร้องทุกข์สิ้นสุดลง ที่ประชุมมวลชนก็จะพิจารณาตัดสินลงโทษคนที่ถูกกล่าวโทษคนนั้น

 ส่วนจะลงโทษอย่างไรนั้น งานนิพนธ์นี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติที่จะถูกประหารชีวิตนั้น จะต้องคุมให้อยู่ในอัตราส่วนที่กำหนด...ผู้ที่มีหนี้เลือดหรือมีอาชญากรรมอย่างอื่นที่ร้ายแรงที่สุด ถ้าไม่ประหารเสียก็ไม่อาจระงับความเคียดแค้นของประชาชนได้ หรือผู้ที่ยังความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างร้ายแรงที่สุด เหล่านี้จะต้องตัดสินประหารชีวิตอย่างเด็ดขาด และปฏิบัติการในทันที...” 

งานนิพนธ์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่สร้างความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงที่สุด ก็ให้มีโทษประหารเช่นกัน แต่ให้รอลงอาญาสองปี และให้บังคับใช้แรงงานเพื่อดูความประพฤติต่อไป ฯลฯ

จะเห็นว่า แนวทางการลงโทษผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติที่ผมยกมาแต่สังเขปนั้น เหมาอ้างว่าเป็นแนวทางมวลชน กล่าวอีกอย่างคือ เป็นแนวทางที่มวลชนต้องการ แต่ถ้าถามว่ามวลชนในความคิดของเหมาต้องมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นมวลชนได้ เรื่องนี้เหมาระบุในงานนิพนธ์อีกชิ้นหนึ่งที่ว่าด้วย  “เชื่อถือมวลชนส่วนใหญ่อย่างแน่วแน่”  ว่า มวลชนในทัศนะของตนคือประชากรร้อยละ 90 หรือร้อยละ 98 ของประเทศ

งานนิพนธ์ชิ้นแรกที่ผมยกมากล่าวถึงนั้น เหมาเขียนขึ้นในกลางปี 1951 ส่วนงานนิพนธ์ชิ้นหลังเขียนขึ้นราวปลายปี 1957 ทั้งสองชิ้นนี้จึงห่างกันราวหกปี ในแง่นี้จำนวนประชากรจีนในปี 1957 ย่อมเพิ่มขึ้นจากปี 1951

และเมื่อดูจากประชากรจีนในปี 1951 ที่มีอยู่เกือบๆ 500 ล้านคนแล้ว คนที่ไม่ใช่มวลชนในทัศนะของเหมาก็จะมีอยู่ราว 5 ล้านคน ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลในยุคนั้นที่ระบุว่า คนที่จัดเป็นชนชั้นเจ้าที่ดิน ชาวนารวย และนายทุนในช่วงนั้นก็มีอยู่ประมาณนั้น

คำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วคนที่มิใช่มวลชนเหล่านี้จะถูกประหารชีวิตไปกี่คน? และที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า การถูกประหารชีวิตของคนเหล่านี้เป็นไปตามแนวทาง “มวลชน”

ตอนที่ฝ่ายซ้ายไทยหลัง 14 ตุลาฯ ยึดแนวทางมวลชนตามเกณฑ์ของเหมานั้น เป็นการยึดตามเพราะซ้ายไทยใกล้ชิดกับซ้ายจีน และเมื่อซ้ายจีนยึดประเทศจีนได้ ซ้ายไทยก็เลยมีซ้ายจีนเป็นต้นแบบ ดังนั้น มวลชนในทัศนะของซ้ายไทยจึงไม่ต่างกับซ้ายจีน แต่ที่แตกต่างอย่างมากก็คือ พัฒนาการของมวลชนของซ้ายจีนกับซ้ายไทย โดยมวลชนของซ้ายจีนเป็นมวลชนจริงที่สัมผัสจับต้องได้ เป็นมวลชนที่อยู่ข้างซ้ายจีนด้วยจำนวนมหาศาล

ในขณะที่มวลชนของซ้ายไทยไม่เพียงไม่อยู่ข้างซ้ายไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นมวลชนที่ติดข้างจะกลัวอะไรที่ซ้ายๆ ในแง่ที่เป็นลัทธิทางการเมืองอีกด้วย และคงเป็นด้วยเหตุนี้ที่ซ้ายไทยจึงได้สลายตัวไปตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ที่ยังไม่สลายก็คือ มวลชน

 คำว่า มวลชน ทุกวันนี้ไม่ได้ถูกใช้ในบริบททางการเมืองอีกต่อไป บางกรณีก็ถูกใช้อย่างค่อนข้างเป็นทางการและเป็นราชการ เช่น สื่อสารมวลชน ขนส่งมวลชน เป็นต้น แต่ที่ใช้ในทางการเมืองก็ยังมีอยู่ เพียงแต่น้อยกว่าคำว่า ประชาชน เท่านั้น 

ที่สำคัญ มวลชนไม่ใช่คำที่ใช้กันเฉพาะในหมู่ฝ่ายซ้ายอีกต่อไป

อย่างเช่นการชุมนุมของกลุ่มคนที่ถูกเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า สามนิ้ว นั้น ก็ไม่ได้ใช้คำว่ามวลชน แต่เลือกย้อนกลับไปใช้คำว่า  ราษฎร  เพื่อให้มีนัยเกี่ยวประหวัดไปถึงคณะราษฎรในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่จะเป็นเพราะไม่ได้ชูคำว่า มวลชน หรือไม่อย่างไร ไม่ทราบได้ สิ่งที่เห็นก็คือ การชุมนุมของพวกสามนิ้วมีสิ่งที่เรียกว่า  “มวลชน” น้อยมาก

 ถ้าเหมามาเห็นเข้าก็ต้องบอกว่า การชุมนุมของพวกสามนิ้วมิใช่การชุมนุมมวลชน หรือถ้าใช่มวลชนนั้นก็ต้องเป็นมวลชนที่มีคุณภาพด้วย 

 เพราะเหมาซึ่งเป็นนักอ่าน นักคิด นักเขียน และนักกวีด้วยนั้น หากมาเห็นการใช้ภาษาของพวกสามนิ้วแล้วก็คงต้องส่ายหน้าเมื่อพบว่า พวกสามนิ้วทั้งชายและหญิงนิยมใช้อวัยวะเพศชายในการด่า หรือใช้ภาษาไทยอย่างผิดๆ เช่นเขียนคำว่า แก้แค้น เป็น แก้แคล้น, ลุกเป็นไฟ เป็น รุกเป็นไฟ, ภราดรภาพ เป็น ภารดรภาพ  

 สำหรับเหมาแล้ว การต่อสู้ที่ปราศจากมวลชนที่มีคุณภาพย่อมยากที่จะได้รับชัยชนะ 


กำลังโหลดความคิดเห็น