"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
คนส่วนมากชอบความชัดเจน ความแน่นอน ชอบสิ่งที่อธิบายและคาดการณ์ได้ เพราะทำให้สามารถรู้ว่าต้องเตรียมการและปฏิบัติอย่างไรในการตอบสนองกับสถานการณ์ที่เผชิญหน้า ความชัดเจนและสิ่งที่อธิบายได้มักทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจและสบายใจแก่ผู้คน ขณะที่ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนมักจะสร้างความรู้สึกอึดอัด สับสน ไม่สบายใจ อันเป็นอารมณ์ที่คนส่วนมากต้องการหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าความชัดเจนและแน่นอนเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย เพราะชีวิตดำเนินไปด้วยแบบแผนอย่างสม่ำเสมอ เต็มไปด้วยความซ้ำซากจำเจ ปราศจากสิ่งท้าทายที่มากระตุ้นให้เกิดความเร้าใจและมีชีวิตชีวา เมื่อทุกสิ่งสามารถอธิบายแล้ว การใช้ความคิดก็มีความจำเป็นลดลง การอภิปรายและการถกเถียงอย่างมีชีวิตชีวาก็ขาดหายไป ด้วยไม่มีสิ่งใดที่ต้องแสวงหาอีกต่อไปนั่นเอง ในแง่นี้ เรากล่าวได้ว่า ความชัดเจนและแน่นอน ในด้านหนึ่งทำให้มนุษย์ปฏิบัติงานและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสะดวกราบรื่น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจกลายเป็นสิ่งกัดกร่อนพลังชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ได้
ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนอันเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่ชอบ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องปฏิบัติหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ข้าราชการคงไม่ชอบกับสถานการณ์ที่นโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลมีความคลุมเครือ เพราะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงสามารถตอบสนองที่ตรงความต้องการของรัฐบาลได้ หรือหากนโยบายและมาตราการไม่แน่นอนก็ยิ่งสร้างความสับสนอลหม่านในการปฏิบัติตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับในทางการเมือง ในเวลานี้ ผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็คงตกอยู่ในภาวะอึดอัดไม่มากก็น้อย ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี เพราะยังไม่ชัดเจนและแน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์ จะเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่ ต่างกับผู้สนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สามารถตัดสินใจกระทำด้วยความมั่นใจ เพราะทราบกระจ่างชัดเจนแล้วว่า พลเอกประวิตร เล่นการเมืองต่อไปอย่างแน่นอน
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าความคลุมเครือและความไม่แน่นอนเป็นเรื่องปกติ และอาจมีบางส่วนอาจชื่นชอบด้วยซ้ำไป เพราะว่าความคลุมเครือเป็นปริศนาที่กระตุ้นให้เกิดการคิด การทดลอง การแสวงหา และการสร้างสรรค์ รวมทั้งก่อให้เกิดกิจกรรมทางสังคมนานาประการตามมา ด้านความไม่แน่นอนเป็นการสร้างความเสี่ยง อันเป็นอารมณ์ที่ปลุกเร้าความรู้สึกตื่นเต้น และความมีชีวิตชีวาแก่มนุษย์ เห็นได้จากมีผู้คนจำนวนมากชอบทำให้ตนเองเข้าไปอยู่ในภาวะความเสี่ยง ดังเช่น การเล่นพนัน การแข่งกีฬา และการแข่งขันในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ลองคิดดูว่า หากสิ่งเหล่านี้มีความแน่นอนเสการแข่งขันจะมีความหมายใดเล่า ความตื่นเต้นเร้าใจและความมีชีวิตชีวาก็จางหายไป ในแง่นี้เรากล่าวได้ว่า ด้านหนึ่งความคลุมเครือเป็นอาหารของความคิดและเป็นยากระตุ้นความเร้าใจของชีวิต แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นยาพิษที่สร้างความมึนงงและสับสนให้แก่การปฏิบัติ
ในโลกของความเป็นจริงมนุษย์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลาย บางเรื่องก็มีความชัดเจนและแน่นอน แต่อีกหลายเรื่องกลับเต็มไปด้วยคลุมเครือและไม่แน่นอน แต่ละคนพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญหน้า และนำมาเป็นแนวทางในการปรับตัว เพื่อให้ตนเองสามารถอยู่รอดและอยู่อย่างสะดวกสบาย ควบคู่ไปกับการมีความตื่นเต้นเร้าใจ มีชีวิตชีวาและสามารถบรรลุเป้าหมายที่แต่ละคนต้องการ
สิ่งที่มนุษย์เชื่อมั่นว่ามีความชัดเจนและแน่นอนมาก จนต้องบัญญัติคำว่า “กฎ” (Law) มาใช้กับสิ่งเหล่านั้นคือ กฎคณิตศาสตร์ และกฎธรรมชาติบางประการที่มีการค้นพบด้วยการวิจัย เช่น กฎแรงโน้มถ่วง กฎการเคลื่อนที่ของวัตถุ กฎการเคลื่อนที่ของแสง กฏการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น แม้แต่ในทางสังคมศาสตร์ก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาสร้าง “กฎ” ขึ้นมา เช่น กฎวิภาษวิธีเชิงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์ก กฎอุปสงค์และอุปทานของระบบทุนนิยม กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตยของพรรคการเมือง เป็นต้น
กฎคณิตศาสตร์และกฎธรรมชาติบางอย่างที่มนุษย์รู้จักมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และยืนยงยาวนานตราบเท่าที่จักรวาลยังดำรงอยู่ อย่างไรก็ตาม มีเรื่องราวของชีวิต ธรรมชาติ โลก และจักรวาลอีกเหลือคณานับที่มนุษย์ไม่รู้ หรือรู้แบบผิวเผินและคลุมเครือ ส่วนกฎทางสังคมนั้นมีเสถียรภาพน้อยกว่า มีช่วงอายุที่สามารถใช้คำว่า “กฎ” กับสิ่งนั้นสั้นกว่ากฎธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการบางกลุ่มจึงไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า “กฎ” ในทางสังคมศาสตร์ เพราะคำนี้มีนัยของความแน่นอนและชัดเจนสูง ขณะที่ปรากฎการณ์ทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำที่มีการเสนอให้ใช้เพื่อทดแทนคือ “กฎเกณฑ์” (Rule) ด้วยคำนี้มีนัยว่า “เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา” มิใช่ เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ
นอกเหนือจากการวิจัยอย่างเป็นระบบแล้ว ความชัดเจนและแน่นอนมีแหล่งที่มาจากการรับรู้การสังเกต การเชื่อมโยงด้วยเหตุผล และการสรุปโดยอาศัยความคิดเชิงตรรกะ เมื่อผู้คนสังเกตสิ่งใด โดยอาศัยประสบการณ์ในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังแล้ว พวกเขาก็อาจพบแบบแผนความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่อย่างสม่ำเสมอของสิ่งนั้น ทั้งยังเห็นกระบวนการก่อตัว การดำรงอยู่ และการสิ้นสลายของปรากฎการณ์ธรรมชาติและปรากฎการณ์ทางสังคมที่เป็นจุดสนใจ ทำให้พวกเขาเข้าใจอย่างกระจ่างและสามารถคาดการณ์เรื่องเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง
จากประสบการณ์ของการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ มนุษย์สามารถพบกฎหลายอย่าง เช่น กฎการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล แบบแผนการขึ้นและลงของน้ำทะเลที่สัมพันธ์กับลักษณะของดวงจันทร์ สำหรับประสบการณ์จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พวกเขาก็เข้าใจ “กฎเกณฑ์” หลายอย่างที่ดำรงอยู่ในสังคม ดังในสังคมไทย มีกฎเกณฑ์จำนวนมากที่ผู้คนเรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการที่มาจากการกำหนดของอำนาจการเมือง และกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการที่มาจากอำนาจวัฒนธรรม
กฎเกณฑ์ที่เป็นทางการเป็นสิ่งที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีสถานภาพทางอำนาจเหนือมนุษย์กลุ่มอื่นในสังคมเป็นผู้สร้างขึ้นมา กฎเกณฑ์เหล่านี้รู้จักกันในนามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติงาน ส่วนกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการมาจากอำนาจวัฒนธรรม ในรูปแบบของ จารีต ประเพณี บรรทัดฐาน และวิถีประชา เช่น การเคารพผู้มีอาวุโสกว่าในสังคมไทย กฎเกณฑ์การตอบแทนบุญคุณ กฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ (การบนบานศาลกล่าว) กฏเกณฑ์การช่วยเหลือพวกพ้อง กฎเกณฑ์การให้สินบน กฏเกณฑ์การย้ายพรรคของ ส.ส. กฎเกณฑ์การลงมติในรัฐสภา กฎเกณฑ์การซื้อขายเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
สิ่งที่ถูกทำให้เป็นกฏเกณฑ์เป็นสิ่งที่มีความชัดเจนและแน่นอน ไม่ว่ากฎเกณฑ์นั้นจะเป็นแบบทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในสนามของเหตุการณ์ หรือการเป็นคนวงในของแวดวงเหล่านั้นจะเข้าใจกฎเกณฑ์ในเรื่องนั้นมากกว่าผู้ที่อยู่ในวงนอก เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้เป็นอย่างดี และเป็นความจริงที่ว่า ผู้คนสามารถเลือกไม่กระทำตามกฎเกณฑ์หรือเลือกละเมิดกฎเกณฑ์ได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่ละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคม ก็มักจะได้รับผลกระทบทางลบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามมาเสมอ
ความคลุมเครือและความไม่แน่นอน เป็นสภาวะที่ยังไม่มีใครรู้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับแบบแผนของเหตุการณ์นั้น ด้วยเป็นเหตุการณ์ใหม่ที่ยังไม่สามารถสังเกตความสัมพันธ์เชิงแบบแผนได้แน่ชัด หรือบางกรณีมีการทำลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เดิม แต่ยังไม่ได้สร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือบางกรณีกฎเกณฑ์เดิมกำลังถูกท้าทายด้วยกฎเกณฑ์ใหม่ ในบางสังคม การต่อสู้ระหว่างผู้ที่สนับสนุนและยึดถือกฎเกณฑ์เดิม กับผู้ที่สนับสนุนกฎเกณฑ์ใหม่อาจใช้เวลายาวนาน ซึ่งทำให้ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนดำรงอยู่อย่างยาวนานตามไปด้วย
ในปัจจุบัน สังคมไทยมีความคลุมเครือและความไม่แน่นอนดำรงอยู่ในหลายปริมณฑล ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ครอบครัว ชุมชน สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละปริมณฑลมีต่างมีสถานการณ์หลายลักษณะ ได้แก่ กฎเกณฑ์เก่ากับกำลังถูกท้าทายและกำลังต่อสู้กับกฎเกณฑ์ใหม่ กฎเกณฑ์เก่าไร้ประสิทธิภาพและขาดประสิทธิผล และอยู่ในระหว่างการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ และกฎเกณฑ์เก่าถูกกัดกร่อนและทำลายด้วยโรคระบาดร้ายแรง และกำลังปรับตัวแสวงหากฎเกณฑ์ใหม่มาใช้แทน
ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์เป็นโอกาสและเป็นเวทีในการระดมความคิดการอภิปราย และการถกเถียงของผู้คนในสังคม หากเวทีแห่งการสนทนาเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยไม่ถูกขัดขวางหรือปราบปรามจากผู้มีอำนาจรัฐที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์เก่าเสียก่อน ก็จะทำให้การเกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ และการพัฒนาภูมิปัญญาที่สำคัญของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
มีความเป็นไปได้ว่า ผลลัพธ์ของการจัดการความคลุมเครือและความไม่แน่นอนอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการปรับปรุงกฎเกณฑ์เก่าที่สร้างปัญหาหรือไร้ประสิทธิภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเกิดการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ จำนวนมาก ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งอาจเป็นกฎเกณฑ์ที่มีคุณค่าทางศีลธรรมมากขึ้น มีสมรรถนะในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ให้แก่ผู้คนในสังคม มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมโดยรวมได้
ถึงจุดนี้เห็นได้ว่า ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนเป็นอาหารของความคิด เป็นแรงกระตุ้นที่สร้างความมีชีวิตชีวาแก่ผู้คน แต่อาจสร้างความมึนงงและสับสนแก่ผู้ปฏิบัติ ส่วนความชัดเจนและความแน่นอนนั้นเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพให้แก่การปฏิบัติ ทว่า มักขัดขวางการพัฒนาปัญญาและบั่นทอนความรื่นรมย์ของชีวิต