“สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไผ่ใกล้เมืองมิถิลา ลำดับนั้น พระกิมพิละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่ยั่งยืน ในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานไปแล้ว (ตรัสตอบว่า) “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน”
ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน มีนัยตรงกันข้าม นี่คือพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎก ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ 22
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น ได้บอกอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนาจะเสื่อมหรือเจริญรุ่งเรือง หลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้วก็คือ การกระทำของพุทธบริษัท 4 นั่นเอง
วันนี้และเวลานี้ พุทธศาสนาในประเทศไทย กำลังเสื่อมถอยจากเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นได้จากพฤติกรรมพระภิกษุที่ประพฤตินอกรีตนอกรอย เริ่มตั้งแต่ดื่มสุรา เสพยาเสพติด ซึ่งเป็นอาบัติเล็กน้อย แต่เป็นโลกวัชชะคือ โลกติเตียนไปจนถึงมั่วสีกา และอวดอุตริมนุสธรรมซึ่งเป็นอาบัติทำให้ขาดจากความเป็นพระ
นอกจากการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยชัดเจนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการแสดงพฤติกรรมแสวงหาความนิยมชมชอบจากคนรุ่นใหม่ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นทางโซเชียล มีเดีย จนโด่งดังกลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ที่ห่างไกลวัด และประพฤติปฏิบัติสวนกระแสประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิม พระภิกษุที่ประพฤติเช่นนี้ ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นต้องอาบัติหนักหรือครุกาบัติ อันได้แก่ปาราชิก และสังฆาทิเสส แต่ก็ไม่เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธมามกะที่ต้องการเห็นพระสงฆ์มีสาวกของพระพุทธองค์ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อลดละกิเลส มิใช่เพื่อแสวงหาการยอมรับจากกระแสสังคมของปุถุชนดังที่ปรากฏให้เห็นจากการกระทำของพระนักพูดสององค์ที่มีคนเข้ามาติดตามจำนวนแสนอยู่ในขณะนี้
ในขณะที่มีประชาชนติดตามฟังพระสองรูปจากแสน แต่มีคนจำนวนเท่ากันหรือมากกว่ากำลังติเตียนพฤติกรรมของพระสองรูปดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการเห็นพุทธศาสนาเสื่อม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าไม่ต้องกังวลให้มากพุทธศาสนาจะไม่เสื่อม เพราะคนกลุ่มน้อยที่ประพฤติตัวทำตนเป็นคนเหนือคนในทางที่ผิดธรรมวินัย และสวนทางกับคำสอนอันเป็นสัจธรรมของพระพุทธเจ้านั่นเองที่จะเสื่อม ทั้งนี้ขอให้ยึดพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับศาสนา หลักธรรม และสาวกในปาสาทิกสูตรดังนี้
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงศาสนาหลักธรรมคำสอน และสาวกแบ่งออกเป็นประเภทดังนี้
1. ศาสดาไม่ดี หลักธรรมไม่ดี แม้สาวกจะดีก็เป็นที่ติเตียนทั้ง 3 ฝ่ายใครปฏิบัติตามก็ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก
2. ศาสดาไม่ดี หลักธรรมไม่ดี แม้สาวกจะดีคือปฏิบัติตามก็เป็นที่ติเตียนทั้ง 3 ฝ่าย ใครทำความเพียรตาม ก็ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก
3. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกไม่ดี ศาสดาและหลักธรรมย่อมได้รับการสรรเสริญ แต่สาวกถูกติเตียนใครปฏิบัติตาม ก็จะประสบบุญเป็นอันมาก
4. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกดี ย่อมได้รับการสรรเสริญ 3 ฝ่าย ใครทำความเพียรตาม ก็ประสบบุญเป็นอันมาก
5. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกไม่เข้าใจเนื้อความ (แห่งธรรม) แจ่มแจ้ง เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็เดือดร้อนภายหลัง
6. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกเข้าใจเนื้อความ (แห่งธรรม) เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง
จากนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า สภาวะที่พุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอยู่นี้ เข้าข่ายในข้อ 3-6 โดยแบ่งเป็นปัจจัยลบ 2 ข้อคือ ข้อ 3 และข้อ 5 ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของภิกษุที่กระทำผิดพระวินัย เริ่มตั้งแต่ดื่มเหล้า เสพยาเสพติด และพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น ฝักใฝ่การเมืองด้วยการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นอาบัติเบา แต่เป็นโลกวัชชะไปจนถึงการกระทำผิดวินัยขั้นให้แรง เช่น มั่วสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นอาบัติหนักหรือครุกาบัติต้องพ้นจากความเป็นภิกษุ
ส่วนที่เข้าข่ายเป็นปัจจัยบวกตามข้อ 4 และข้อ 6 จะเห็นได้จากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบของภิกษุ โดยเฉพาะฝ่ายอรัญวาสีหรือที่เรียกว่า พระป่า
ด้วยเหตุที่พระสงฆ์ในประเทศไทยมีทั้งดี และไม่ดี พุทธศาสนิกชนจึงต้องเลือกทำบุญโดยการให้ทานแก่ปฏิคาหกคือผู้รับที่มีศีลสมบูรณ์ เพื่อให้ได้บุญมาก และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้พุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นาน เพื่อเป็นเนื้อนาบุญของโลกต่อไปตราบนานเท่านาน
ส่วนพระภิกษุที่เป็นปัจจัยลบ ทำให้พุทธศาสนาเสื่อม เนื่องจากเป็นตัวการบั่นทอนศรัทธา เป็นปัญหาที่ฝ่ายปกครองสงฆ์คือ เถรสมาคม และสำนักพุทธจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยใช้พระธรรมวินัย และ พ.ร.บ.สงฆ์เป็นเครื่องมือในการจัดการ ด้วยการทำสังคายนาตามรูปแบบของสังคายนาครั้งที่ 3 ที่พระโมคคัลลีบุตรเป็นผู้ดำเนินการ