นักบวชในพระพุทธศาสนา มีชื่อเรียกหลายชื่อ และแต่ละชื่อมีความหมายเกี่ยวกับนักบวชพึงกระทำ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ภิกขุหรือภิกษุ อันได้แก่นักบวชเพศชายคือ ศีล 227 ข้อและภิกขุณีหรือภิกษุณีได้แก่ นักบวชเพศหญิงถือศีล 311 ข้อ
ทั้งภิกษุและภิกษุณีหมายถึงผู้ขอสิ่งของซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของนักบวชจากผู้ให้ด้วยศรัทธา
2. บรรพชิตหมายถึง ผู้งดเว้นจากภารกิจของผู้ครองเรือนหมายถึงคฤหัสถ์ ดังนั้น คำนี้จึงมักจะใช้คู่กันคือ บรรพชิตและคฤหัสถ์
3. สมณะหมายถึง ผู้สงบกาย วาจา และใจ
4. สามเณรและสามเณรีหมายถึง เหล่ากอของสมณะหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ที่จะสืบทอดความเป็นภิกษุและภิกษุณีในโอกาสต่อไปนั่นเอง
นักบวชในพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง จะต้องดำเนินชีวิตอยู่ของศีล สมาธิ และปัญญา คือ เริ่มต้นด้วยการรักษาศีลเพื่อควบคุมกาย และวาจาให้เป็นปกติ ไม่ถูกครอบงำด้วยการทุจริต และวจีทุจริต แล้วฝึกจิตด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้จิตมีสมาธิ สงบจากกิเลสและเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งตามความเป็นจริง
นักบวชที่เดินตามเส้นทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญาเท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ปัจจุบันนักบวชในพุทธศาสนาในประเทศไทย มีจำนวนไม่น้อยที่มิได้ประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ และปัญญา จะเห็นได้จากพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ เช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีถึง 2 ข่าวที่เกี่ยวกับพระภิกษุประพฤติตนเสื่อมเสีย ไม่ควรแก่สมณะ และเป็นโลกวัชชะ อันได้แก่ พระสุมหัวกันฉันหมูกระทะคู่กับเบียร์ และอีกข่าวเกี่ยวกับพระเอาของมาเยี่ยมผู้ต้องหาฆ่าคนโดยเจตนา ซึ่งทั้งสองข่าวเห็นแล้วทำให้ศรัทธาเสื่อมถอย
ทำไมนักบวชในพุทธศาสนาจึงประพฤติตนนอกลู่นอกทางแห่งพระธรรมวินัย และจะต้องแก้ไขอย่างไร?
ประการแรก ตอบได้ว่า การที่พระสงฆ์ในประเทศไทยเป็นเช่นนี้ อนุมานได้ว่า เกิดจากเหตุดังต่อไปนี้
1. ในการรับคนเข้ามาบวชในปัจจุบัน มิได้ยึดหลักพระธรรมวินัย โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักโดยเคร่งครัด
2. เมื่อบวชให้แล้ว อุปัชฌาย์ปล่อยปละละเลยไม่อบรมสั่งสอนตามพระวินัยที่ว่าด้วยหน้าที่ของอุปัชฌาย์จะพึงปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก
3. องค์กรปกครองทั้งในส่วนของเถรสมาคม และสำนักพุทธ ไม่มีศักยภาพในการปกครอง ขาดการสอดส่องดูแลและควบคุมความประพฤติของพระสงฆ์ ปล่อยให้เรื่องเกิดขึ้นแล้วค่อยเข้ามาแก้ และแก้แบบขอไปที
4. การจัดการศึกษาของสงฆ์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งไม่เน้นการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง ศึกษาแบบผิวเผิน โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติ จึงทำให้ผู้ที่ศึกษาไม่เข้าใจคำสอนของพุทธศาสนามากพอจะนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลในการดำเนินชีวิต เช่น การศึกษาปรัชญาทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งๆ ที่คำสอนของพุทธครอบคลุมในทุกด้าน และลึกซึ้งกว่าปรัชญาจากค่ายตะวันตก เพียงแต่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้า และทำการวิจัยอย่างจริงจังเท่านั้น
ส่วนแนวทางการแก้ไขแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านคือ
1. ด้านการปกครอง
องค์กรปกครองสงฆ์ทั้งเถรสมาคม และสำนักพุทธ จะต้องทำงานร่วมกันในด้านหลักการปกครอง แต่แยกกันในทางปฏิบัติคือ สำนักพุทธ จะต้องลงพื้นที่สอดส่องดูแลความประพฤติของพระภิกษุสามเณรอย่างใกล้ชิดในเขตพื้นที่การปกครองในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เมื่อพบว่าวัดใดมีพระสงฆ์กระทำผิดพระวินัย และพระสงฆ์จะต้องการสอบสวน และหาหลักฐาน ถ้าพบว่ามีเจตนาทำผิดจริง ก็จะต้องแจ้งฝ่ายปกครองสงฆ์คือ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล เพื่อดำเนินการตามพระวินัย ถ้าไม่ดำเนินการก็รายงานเหนือขึ้นไป แต่จะต้องทำอย่างจริงจัง
2. ในด้านการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ด้าน
2.1 ด้านการเรียน การสอนเกี่ยวกับคำสอนพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระวินัย และพระสูตร จะต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง และนำผลที่ได้มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
2.2 ด้านการเรียน การสอนวิชาประกอบ จะต้องเน้นวิชาการจะนำมาประกอบการเช่น ภาษาต่างประเทศ และวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น จะต้องเน้นการนำไปใช้ประกอบการเผยแผ่ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจและนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้