ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข่าวใหญ่ในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเดือดสุดๆ คือการปักหมุดโครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพลที่ “พี่ใหญ่แห่งป่ารอยต่อ” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบ VDO conference เคาะผ่านฉลุย
ในการประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมในวันดังกล่าวนั้น มีการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) หรือ อีไอเอ จำนวน 5 โครงการ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) 2018 เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน, เชื่อมโยงการคมนาคม และเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนของประชาชน ได้แก่ (1) โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สายอำเภอหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ของกรมทางหลวง (4) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำญวน จังหวัดพะเยา ของกรมชลประทาน และ (5) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน เมื่ออีไอเอผ่านบอร์ดสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติโครงการตามขั้นตอนต่อไป
ในข้อห่วงกังวลต่อ “โครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล” นั้น นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า ในส่วนของ ทส.กังวลเรื่องความลึกของการขุดอุโมงค์และต้องใช้พื้นที่ป่าสงวน ส่วนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ ขณะนี้ได้กันพื้นที่ไว้แล้ว 800 ไร่ รวมทั้งเตรียมแผนปลูกป่าทดแทน
ทันทีที่บอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติอีไอเอโครงการผันน้ำยวมฯ ทาง มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และเครือข่าย ซึ่งเฝ้าติดตามคัดค้านโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่ารัฐบาลไม่รับฟังเสียงทักท้วงของคนในพื้นที่และภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวและร่วมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และไม่รับฟังเสียงสะท้อนถึงความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการ ความไม่ถูกต้องของข้อมูลใน EIA รวมถึงการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ขณะเดียวกัน เพจของชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม TU (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้โพสต์ข้อความคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เช่นเดียวกันกับมูลนิธิสืบฯ และยังเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรกเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศน์ ฯลฯ
โครงการผันน้ำยวมฯ เป็นหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิสืบฯ และเครือข่าย เรียกร้องให้มีการยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และขอให้ทบทวนนโยบายการจัดการน้ำทั้งประเทศเพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน ซึ่งตามเอกสารสรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4 /2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน นั้น มีการรายงานความก้าวหน้าผลการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 5 กลุ่ม สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งสิ้นถึง 77 โครงการด้วยกัน
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่าโครงการกว่า 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย เขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร เจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด จุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ปลายทางของปากอุโมงค์ก่อนน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล พื้นที่นี้ห่างจากสันเขื่อนภูมิพลราว 10 กิโลเมตร เป็นเขตรอยต่อระหว่าง จ.เชียงใหม่ กับ จ.ตาก
ในอีไอเอระบุว่า โครงการฯ ขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 3,467 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น) พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง (อุทยานแห่งชาติแม่เงา) มีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องปลูกป่าทดแทน 7,283 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากลำพูน 3-สบเมย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศขยายพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบกลับไม่มีอยู่ในรายงานอีไอเอ
ข้อมูลจากอีไอเอ ระบุด้วยว่า ด้านทรัพยากรสัตว์ป่า การอพยพของสัตว์ป่ามีเพียงนกเท่านั้น 15 ชนิด มีสัตว์ป่าคุ้มครอง 153 ชนิด ด้านสิ่งมีชีวิตในน้ำได้มีการตั้งข้อสังเกตระบุว่า เนื่องจากชนิดปลาของทั้งสองฝั่งอุโมงค์ส่วนใหญ่แล้วแม้จะเป็นชนิดที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็เป็นปลาพื้นถิ่นของสองลำน้ำที่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน อาจทำให้มีลักษณะทางพันธุกรรมต่างกัน โดยเฉพาะปลาลุ่มน้ำสาละวิน เช่น ปลาพลวง ปลากดหัวเสียม ปลากระสูบขีดสาละวิน หากมีการหลุดเข้าไปในอุโมงค์ส่งน้ำ อาจส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ
ส่วนมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาวิจัยหาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปลาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปลาคม (ปลาพลวง) ปลากดหัวเสียม การลำเลียงปลาที่จับได้จากท้ายเขื่อนไปปล่อยเหนือเขื่อนเพื่อช่วยการอพยพย้ายถิ่น เช่น ปลาสะแงะ (ตูหนา) ปลากดหัวเสียม
เอกสารของกรมชลประทาน ระบุว่า โครงการนี้จะเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าให้เขื่อนภูมิพล เฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี ทั้งยังช่วยเพิ่มการผลิตน้ำประปา การประมงในเขื่อนและการท่องเที่ยว ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีไม่เกิน 30 ราย ขณะที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ระบุว่ามีประชาชน 36 หมู่บ้านได้รับผลกระทบและไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
ความน่าสนใจของเมกะโปรเจกต์ผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล นอกจากผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ รวมทั้งขาดการมีส่วนของร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่นับเรื่องที่ชาวบ้านโวยว่าถูกแอบอ้างชื่อใส่ในรายงานอีไอเอแล้ว
ประเด็นสำคัญที่น่าจับตาอย่างยิ่งยังอยู่ที่การมี “ดีลลับ” ระหว่าง “รัฐบาลลุง” กับกลุ่มทุนจีน ตามที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้ประสานกับบริษัท ต้าถัง ทุนรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์ส่งให้กับรัฐบาลไทย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย จีนจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสองโครงการไม่เกิน 3 ปี และถ้าน้ำยังไม่พอจีนก็พร้อมจะสร้างแนวส่งน้ำสาละวินมาให้อีก
แถมนายวีระกร ยังเคลมอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการที่จะให้ทุนจีนเข้ามาช่วยก่อสร้างนี้แล้ว
“กรมชลประทาน ได้ออกแบบคร่าวๆ ไว้เดิมใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เวลา 7 ปี แต่ทางวิสาหกิจจีนตอบมาว่าเขาใช้งบเพียง 4 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียง 4 ปี เรื่องนี้ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ และท่านประวิตร(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) ที่นั่งอยู่ด้วยกัน ท่านบอกว่าเอาเลย ถ้าเขาทำให้เราก่อน เราไม่ต้องเสียอะไร เราไม่ต้องลงทุนเอง หากต้องลงทุนเองตอนนี้ รัฐบาลไม่พร้อม หากทางจีนจะทำ ท่านบอกเดินหน้าเต็มที่เลย ผมไฟเขียวให้เลย ...... ” นายวีระกร ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ตามรายงานของ “สำนักข่าวชายขอบ”
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งตามคำให้สัมภาษณ์สื่อของนายวีระกร คือ จีนกำลังจะลงทุนเมืองอุตสาหกรรมในพม่า บริเวณแถวนั้น ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน หากลากเส้นจากสบเมยไปยังกรุงเนปิดอว์ จะเห็นว่าแค่ 80 กิโลเมตร จุดที่ทำเมืองอุตสาหกรรมก็ใกล้ตรงนี้ ตอนนี้ได้ประสานงานกับรัฐบาลพม่าแล้ว โดยจะทำเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไปใช้ในเมืองอุตสาหกรรมและส่วนหนึ่งขายให้รัฐบาลไทย
ล่าสุด ในวงเสวนาออนไลน์ “โปรเจกต์ยักษ์ - ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย" เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าวรีพอร์ทเตอร์และIMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง นายวีระกร คำประกอบ ซึ่งเข้าร่วมเสวนาในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ยังเล่าถึงเบื้องหลังการดีลกับบริษัทวิสาหกิจจีนว่า เมื่อรู้ว่ามีโครงการ อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ ประสานงานจนบริษัทจีนมีความสนใจ ทำเรื่องมาถึงกมธ. บอกว่าบริษัทสนใจมาลงทุน ในชั้นต้นคุยว่าบริษัทจีนจะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน และได้ผลประโยชน์ตอบแทนในการขายน้ำที่สูบข้ามภูเขา ต้นทุน 4 หมื่นล้านบาท และก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี มีความชำนาญมากกว่าและมีเครื่องมือพร้อม ได้คุยกับอธิบดีกรมชลประทาน ว่าหากรายงงาน EIA ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปลายปีก็คงได้เจรจา อย่างไรก็ตาม สทนช.จะเป็นผู้คิดว่าจะลงทุนอย่างไร ประมูลอย่างไร เปิด TOR ให้ประมูลได้ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะบริษัทจีนนี้เท่านั้น
“โครงการในเฟส 1 การเอาน้ำยวมสูบข้ามมาได้ 1,795 ล้าน ลบ.ม./ปี เฟสต่อมาเติมน้ำโดยสูบจากแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีปริมาณน้ำท่า 130,000 ล้านต่อปี โดยแม่น้ำสาละวินมีน้ำไหลแรงทั้งปีแม้ในหน้าแล้ง เอาไม้ไผ่ปักลงไป ไม่มีทางที่จะถึงก้นแม่น้ำ ....” นายวีระกร กล่าว
รองประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า สำหรับเขื่อนแม่น้ำยวม น้ำจะท่วมขึ้นมาเพียง 4 เมตร ซึ่งท่วมนิดเดียวไม่ถึงบ้านคน ระดับน้ำสูงสูดไม่มาก ต่ำกว่าระดับน้ำในฤดูฝนของลำน้ำยวม ส่วนปัญหาคือพื้นที่ทิ้งดิน (จากการขุดเจาะอุโมงค์) 4 จุด ทิ้งแล้วจะบดอัดและใช้หน้าดินดีปูทับมาเพื่อปลูกป่า
“จุดที่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม 13 กม. น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเมย ลงแม่น้ำสาละวิน ไหลออกพม่า ไม่ใช่ของไทยแล้ว แทนที่จะปล่อยน้ำทิ้ง 3,000 ล้านลบ.ม. ทำไมไม่สูบเข้ามาประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. และสูบในหน้าฝน หลักเกณฑ์คือผันน้ำเฉพาะเดือนมิถุนายน-มกราคม เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำเยอะ น้ำทิ้งไปเฉยๆ คนไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำส่วนนี้ การระบายเพื่อรักษาสมดุลนิเวศวิทยาท้ายน้ำนั้นมีการคำนวณ 182 ลบ.ม./วินาที ในช่วงเฉพาะฤดูฝน หากน้ำน้อยก็ต้องรักษานิเวศท้ายน้ำ ซึ่งเหลืออีกเพียง 13 กม. เท่านั้น” นายวีระกร กล่าว
เมื่อนายวีระกร ให้ความมั่นอกมั่นใจว่าน้ำจะท่วมนิดเดียวไม่ถึงบ้านคน ตัวแทนชาวบ้านที่ร่วมเสวนาก็สวนหมัดว่า นายวีระกร เอามาโชว์ เป็นรูปที่บ้านของตนเอง (บ้านท่าเรือ อ.สบเมย) ในฤดูฝนน้ำขึ้นสูงมาก ไม่ทราบว่า ส.ส.เคยลงพื้นที่ในฤดูฝนหรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่น้ำจะไม่ท่วมกว่านี้ หากมีการกั้นเขื่อนแม่น้ำยวม
ตัวแทนชาวบ้าน ยังบอกด้วยว่า กระบวนการจัดทำอีไอเอ ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีการจัดล่ามแปลภาษา ชาวบ้านพยายามนำเสนอข้อมูลข้อกังวล เช่น ผลกระทบจากการขุดเจาะอุโมงค์ ทำหนังสือไปยังกรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง แต่ในรายงานอีไอเอกลับไม่คำนึงถึงข้อทักท้วง หากอีไอเอนี้มีมาตรฐานเคารพสิทธิของประชาชนจะไม่ผ่านอย่างแน่นอน
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตั้งคำถามว่า การคำนวณพื้นที่ชลประทานต้องเป็นไปตามความจริง การอ้างตัวเลขพื้นที่ชลประทานเพิ่มเป็นล้านไร่ เป็นข้อมูลเกินจริง การลงทุน 71,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าสามปี ในขณะที่วัสดุก่อสร้างราคาแพงขึ้นตลอด และยังต้องรวมค่าไฟฟ้าจากการสูบน้ำอีก การคำนวณต้นทุนต้องคิดตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ใช่คิดเฉพาะค่าก่อสร้าง โครงการเดิมจึงยกเลิกไปเพราะไม่คุ้ม
ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การผันน้ำข้ามลุ่ม ต้องฟังประชาชนทั้งสองลุ่มน้ำ และเข้าคณะกรรมการทั้งสองลุ่มน้ำด้วย หากดึงจีนมาร่วมแล้วเก็บค่าน้ำไม่ได้ ก็ต้องเอางบประมาณแผ่นดินมาจ่าย ส่วนที่บอกว่านายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร เห็นด้วย ก็ยังไม่เคยได้ยินจากปากของนายกฯหรือรองนายกฯ เลย
ส่วนประเด็นที่อ่อนไหวและเป็นปัญหา นายหาญณรงค์ ชี้ว่า จุดทิ้งดินของโครงการเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน และเป็นพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งในรายงาน EIA ก็ไม่ระบุ ทั้งบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ บ้านแม่งูด อ.ฮอด สำหรับการสูบน้ำจากแม่น้ำยวม ตามตัวเลขก็คือต้องสูบไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งต่อปีจะมีปัญหาตลิ่งพัง
สมาคมแม่น้ำแห่งชีวิต พลิกปูมแนวคิดการผันน้ำโขงและสาละวินลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 โดยโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 2535 เมื่อรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โครงการผันน้ำนี้ ประกอบด้วยการสร้างเขื่อน คลองและอุโมงค์ส่งน้ำครอบคลุมสาขาหลักของแม่น้ำสาละวินทั้งหมดที่ไหลจากฝั่งไทย ได้แก่ น้ำปาย น้ำยวม และสาขาของน้ำเมย เช่น แม่ละเมา โครงการทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
โครงการผันน้ำดังกล่าว แปลงร่างกลับมาอีกครั้งในชื่อ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแก่เขื่อนภูมิพล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 อนุมัติงบประมาณ 186 ล้านบาทให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ศึกษาวางแผนคัดเลือกโครงการ การศึกษาความเหมาะสมขั้นรายละเอียดและการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียดพร้อมงาน ประชาสัมพันธ์โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินลงเขื่อนภูมิพล 3 โครงการ โดย พพ. ว่าจ้าง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ บริษัท เซาท์อีสต์เอเชียเทคโนโลยี และบริษัท โพเทนเชียล เอ็นจิเนียริ่งฯ ทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2548 แต่ยังไม่ผ่านการเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ล่วงมาถึงสมัยรัฐบาลทหาร ได้ปลุกชีพโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ได้เห็นชอบในหลักการเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน มาสู่เขื่อนภูมิพล โดยให้กรมชลประทาน ร่วมกับ กฟผ. และกระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการศึกษานำน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินเข้าสู่เขื่อนภูมิพล เป็นที่มาของการว่าจ้างมหาวิทยานเรศวร และบริษัทปัญญา คอนซัลแตนส์ จำกัด มาศึกษาโครงการและอีไอเอ อีกครั้ง
นั่นหมายความว่า “นายกฯลุง” เห็นด้วยกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ส่วน “ดีลลับ” กับทุนจีนที่จะมาควักตังค์สร้างให้อย่างที่นายวีระกร ว่าไว้ว่าทั้ง “นายกฯลุง” และ “พี่ใหญ่แห่งป่ารอยต่อ” เปิดไฟเขียวโร่ จะใช่หรือไม่ รอติดตามดูว่า “ครม.ลุง” จะเคาะผ่านโครงการนี้หรือไม่