xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลุ้นระทึกเปิดประเทศ 1 ต.ค.นี้ รับศึกติดเชื้อพุ่ง “เวฟ 5” “หมอถาม” ใครทำพังต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งนำร่องเปิดประเทศเป็นที่แรก
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับถอยหลังเปิดประเทศตามเป้าหมายของ “รัฐบาลลุง” ในเดือนตุลาคมนี้ยังต้องลุ้น โดยตัวแปรหลักยังอยู่ที่การระดมฉีดวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ แต่ครั้นจะเลื่อนต่อเวลาออกไปอีกก็ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนเปิดการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งทำรายได้สำคัญหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นี่เป็นโจทย์ยากซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พยายามจะปรับจูนให้การควบคุมโรคและเดินหน้าเศรษฐกิจสมดุลกัน ตามม็อตโต้ที่ว่า “#หยุดโควิดแต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” มาตลอด 

ดังนั้น ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดวันที่ 14 กันยายน 2564  นายพิพัฒน์ รัชกิจประกา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงยืนยันเดินหน้าเปิดประเทศตามแผนเดิมในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ พร้อมเปิดการท่องเที่ยว 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่  และอีก 2 สัปดาห์ถัดจากนั้นจะเปิดท่องเที่ยวในอีก 21 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าการเปิดประเทศยังกำหนดวันชัดเจนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินของกรมควบคุมโรค อีกครั้ง

ขณะเดียวกันทาง  โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์  ได้วิเคราะห์สถานการณ์โควิด คาด เวฟ 5 มาแน่ และหนักกว่าเดิม พร้อมกับเตรียมรับมือปรับปรุงระบบเพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง โดยประเมินว่า กลางเดือนกันยายน ช่วง 15-16 กันยายน ตัวเลขรายวันอยู่แถวๆ ไหน ก็จะกลายเป็นตัวเลขต่ำสุดของเวฟ 4 นี้แล้ว แล้วมันก็คงจะทรงๆ อยู่ประมาณนั้นไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่กราฟจะเริ่มผงกหัวขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์การมาถึงของเวฟใหม่อีกรอบหนึ่ง

“..... การปรับตัวเพื่อรองรับขาลงของโควิดเวฟ 4 อย่างที่เห็นเป็นอยู่ แต่พวกเราที่นี่มีความเชื่อร่วมกันว่า ช้าหรือเร็ว เวฟที่ 5 ซึ่งจะมีขนาดของคลื่นสูงกว่าเวฟ 4 มาก จะมาถึงพวกเราแน่ ๆ .....” เพจโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุ

ตามมาด้วยเสียงของ  “หมอศิริราช”  ที่แสดงความห่วงใย โดย  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการเดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาไม่น่ากลัวเพราะทั่วประเทศก็เป็นสายพันธุ์นี้เกือบทั้งหมด ที่ห่วงคือสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

“หมอประสิทธิ์” เข้าอกเข้าใจว่าการเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวเป็นการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่อยากให้นำบทเรียนของ  “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  มาประกอบพิจารณาด้วย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และหากยกเลิกมาตรการกักตัวหรือ Quarantine ก็น่าเป็นห่วง เพราะการทำแซนด์บ็อกซ์ หมายถึงการดำเนินการบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด ไม่เกิดผลกระทบวงกว้างและสามารถยกเลิกหรือแก้ไขได้

อีกทั้งหากมองในทางวิชาการ การที่ไทยจะเปิดประเทศตามที่จะดำเนินการนั้น ถือว่าเปิดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เพราะการเปิดประเทศในต่างประเทศ หมายความว่า ประเทศนั้นมีการฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่สำหรับประเทศไทย ขณะนี้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยังแค่ 38% เข็ม 2 เพียง 18% เท่านั้น หากต้องการความแน่นอนว่าเปิดจริงมีความปลอดภัย ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 60% และ เข็ม 2 ต้องได้ 40-50% แต่จะเร่งฉีดตอนนี้ ก็คงไม่ได้ ความจริงหากจะเปิดประเทศ รออีกสัก 1 เดือนก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมจริงๆ
 “ใครทำอะไรต้องรับผิดชอบด้วย .... จากการนี้การทำงานของแพทย์ก็คงต้องกลับมาเหนื่อยกันอีก ยังแทบไม่ได้พักกันเลย ตอนนี้สิ่งที่ห่วงคือหากมีการกลับมาระบาดอีก เตียงผู้ป่วย เตียงไอซียูต้องเพียงพอ ไม่ควรต้องเผชิญกับเตียงไม่พออีก และหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อวัคซีน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว 

เมื่อมีเสียงทักท้วงจากหมอ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวฯ ได้หารือกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ถึงแผนการเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวในเดือนตุลาคน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ณ เวลานี้ คนกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้วประมาณ 30% ดังนั้น จะขอให้คนกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 70% ของประชากรก่อนจะเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกเขตเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

   ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งนำร่องเปิดประเทศเป็นที่แรก


ส่วนกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่พบการติดเชื้อเพิ่มนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันมีระบบเตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ดังนั้นไม่ใช่ว่าเจอปัญหาแล้วต้องหยุด ต้องยกเลิก ล่าสุดเตรียมเติมวัคซีนเข็ม 3 เข้าพื้นที่ภูเก็ต ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่รับบูสเตอร์โดสแล้ว เหลือคนในจังหวัดกำลังจัดหาวัคซีนเพิ่มเพิ่มภูมิคุ้มกัน รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่คณบดีแพทย์ฯ ศิริราช ออกมาทักท้วง เพราะในมุมมองของหมอย่อมยึดเอาความอยู่รอดปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้งและต้องมาก่อนเสมอ แต่ในมุมของ  “คณะรัฐบาลลุง” ที่บริหารประเทศ ซึ่งดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนด้วย ก็จำเป็นต้องหาทางสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กับการเดินหน้าเศรษฐกิจ ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา จึงเดินหน้าออกมาตรการเตรียมพร้อมเปิดประเทศ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็สรรหาวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาในเดือนตุลาคมนี้อีกหลายล้านโดส

ความมั่นใจรวมหมู่แรกสุดที่รัฐบาลลุงหนุนให้เกิดขึ้นคือเรื่องภาษีชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน ตามที่  นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้าง สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 หรือ 1.5 เท่า ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมาพร้อมกันนั้น ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยพุ่งเป้า 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยจะออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษ เช่น ยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน รวมถึงผู้ถือวีซ่าประเภท Smart Visa ทั้งหมดก็จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่นเดียวกัน

อีกมาตรการคือ การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าว สามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่างๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร

การบูทเศรษฐกิจด้วยมาตรการดังกล่าว ครม.ให้การบ้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสภาพัฒน์ คาดว่าภายใน 5 ปี (2565-2569) จะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท และสร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท

มาตรการดังกล่าว ยังจะทำให้ประเทศไทย มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอสำหรับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล

สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากการลดหย่อนภาษีจัดซื้อชุดตรวจ ATK แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ยังเปิดแผนการจัดหาวัคซีนในเดือนตุลาคม 2564 อีก 24 ล้านโดส โดยจะฉีดให้กับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป พร้อมกระจายให้ครอบคลุมประชากร 50% ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตามที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด19 ในเดือนตุลาคม 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีซิโนฟาร์มที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้ามาอีกประมาณ 6 ล้านโดส โดยภาพรวมกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคม แบ่งเป็นประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป 16.8 ล้านโดส, นักเรียนอายุ 12-17 ปีทั่วประเทศ 4.8 ล้านโดส ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม, กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม 0.8 ล้านโดส, หน่วยงานอื่น เช่น องค์กรรัฐ ราชทัณฑ์ 1.1 ล้านโดส และเข็มสามสำหรับคนฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 0.5 ล้านโดส

ปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีน 4 ชนิด คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม และ ไฟเซอร์ โดยปริมาณการฉีดที่มากที่สุด คือ แอสตร้าฯ รองลงมาคือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์

นายแพทย์โอภาส ยังให้ความมั่นใจในการฉีดวัคซีนโควิดว่า จากข้อมูลผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญได้รับพิจารณาแล้ว 416 ราย พบว่า ไม่เกี่ยวกับวัคซีน 249 ราย เช่น ติดเชื้อระบบประสาทและสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ส่วนอีก 32 ราย ไม่สามารถสรุปได้ ส่วนที่สรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนมี 1 ราย จากการฉีดไปเกือบ 40 ล้านคน ที่พบว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ เห็นได้ว่ามีส่วนน้อยที่พบกับอาการไม่พึงประสงค์ หากเทียบกับประโยชน์และความปลอดภัยของวัคซีน

ไม่เพียงแต่ต้องตั้งการ์ดสูงรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติเท่านั้น ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาดหนักและน่าห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ตัวเลขล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม (ศบค.อก.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานทั้งสิ้น 67,281 คน รักษาหายแล้ว 26,139 คน จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เพชรบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, และสมุทรสาคร โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ และพลาสติก ตามลำดับ

ล่าสุด ศบค.อก. กำลังอยู่ระหว่างผลักดันให้รัฐบาลรับข้อเสนอของเอกชนที่ขอความช่วยเหลือจากรัฐ ในเบื้องต้น คือ คำแนะนำ/แนวทาง Bubble & Seal การสนับสนุนวัคซีนและชุดตรวจ (Antigen Test Kit – ATK) และค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับสถานประกอบการและโรงงานฯ เป้าหมายที่ ศบค.อก.จะกำกับควบคุม คือ 1. โรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มีประมาณ 70,000 โรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ดูแล 2. สถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ประมาณ 70,000 โรงงาน มีกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ดูแล และ 3. แคมป์คนงาน เบื้องต้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีประมาณ 1,317 แคมป์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน ดูแล

สถานการณ์โดยรวมของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ เวลานี้ ยังน่าห่วง ความหวังที่จะได้เห็นจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันลดลงต่ำกว่าหมื่นคนยังคงริบหรี่ ขณะที่หลากหลายอาชีพต่างล้มหายต่างจาก อยู่กินด้วยความอัตคัดขัดสน อย่างภาพล่าสุด สังคมออนไลน์ต่างแชร์สภาพความเป็นอยู่ของอาชีพขับแท็กซี่ที่จอดรถแช่ทิ้งเนื่องจากไม่มีผู้โดยสาร ที่ผ่านมามีการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับการเหลียวแล กระทั่งมีการทำกิจกรรมปลูกผักสวนครัวบนหลังคาแท็กซี่ที่จอดทิ้งเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลให้หันมาดูแลและเยียวยา แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้อง

เพราะลำพังสภาพของ “รัฐบาลลุง” เวลานี้ก็อยู่ในโหมดอยู่ยากเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น